จากประชาชาติธุรกิจ
เมื่ออาการป่วยถามหา สิ่งแรก ๆ ที่เราทำคือ หายา มารับประทาน แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่ายาชนิดนั้นมีคุณภาพเพียงพอ หรือปลอดภัยต่อการใช้หรือไม่ ภก.ศ.ดร.สมพล ประคองพันธ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเภสัชศาสตร์ ให้ความรู้ในเรื่องของยาไว้ว่า ยาที่มีคุณภาพดีมีหลายองค์ประกอบเข้ามาเกี่ยวข้อง เริ่มตั้งแต่การสร้างคุณภาพในทุกขั้นตอน การผลิต การเก็บรักษา การขนส่ง และการส่งมอบยาคุณภาพ โดยโรงพยาบาลหรือร้านยา การรับมอบยา และการรักษาคุณภาพยา จนกระทั่งได้ใช้ยานั้นโดยผู้บริโภค ซึ่งองค์ประกอบที่สำคัญเหล่านี้ประกอบด้วย
1.การผลิตยาคุณภาพ โดยสถานที่ผลิตยาต้องมีมาตรฐานตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต หรือที่เรียกว่า ′GMP′ (Good Manufacturing Practice) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประกันคุณภาพ ครอบคลุมถึงสถานที่ผลิต อุปกรณ์เครื่องจักร บุคลากร วัสดุ เอกสารต่าง ๆ และสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการการผลิตทุกขั้นตอน ตั้งแต่การนำวัตถุดิบเข้าในสถานที่ผลิต ผ่านขั้นตอนการผลิตต่าง ๆ มีการตรวจสอบความถูกต้องทุกขั้นตอน แม้การปฏิบัติตาม GMP จะมีขั้นตอนรายละเอียดมากมาย และมีค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นต้นทุนที่แตกต่างกันในแต่ละแหล่งผลิต เปรียบเสมือนโรงแรมระดับ 4 ดาว ย่อมมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าระดับ 2 ดาว การเลือกซื้อยาจากแหล่งใดจึงต้องคำนึงถึงคุณภาพควบคู่ไปกับราคาด้วย
2.การกระจายยา ยาที่ออกจากผู้ผลิตจะถูกส่งไปยังสถานพยาบาล ร้านยา และหน่วยงานที่มีหน้าที่ส่งมอบยาให้แก่ผู้ใช้ กระบวนการเหล่านี้จำเป็นต้องมีระบบประกันคุณภาพทุกขั้นตอน จึงจะมั่นใจว่ายายังคงคุณภาพ ระบบนี้ เรียกว่า ′วิธีปฏิบัติที่ดีในการจัดจำหน่าย′ (GDP : Good Distribution Practice) ซึ่งบริษัทที่มีมาตรฐานต้องถือปฏิบัติ การเลือกยาเข้าร้านยาหรือสถานพยาบาลจึงควรซื้อตรงจากผู้ผลิตหรือบริษัทที่ เชื่อถือได้ รู้ที่มาที่ไปของยาที่นำมาจำหน่าย
3.การส่งมอบยา เมื่อโรงพยาบาลหรือร้านยาได้รับยาจากผู้ผลิต จะมีการตรวจรับ การจัดเก็บ และการส่งมอบซึ่งดูแลโดยเภสัชกร ถ้าเป็นโรงพยาบาลจะมีระบบประกันคุณภาพ (HA : Hospital Accreditation) ถ้าเป็นร้านยาจะเป็น ร้านยาที่ผ่านการรับรอง ′ร้านยาคุณภาพ′ (GPP : Good Pharmacy Practice) ซึ่งมีหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติที่ชัดเจนในการส่งมอบยา แต่ขณะนี้จำนวนร้านยาคุณภาพยังมีน้อย ไม่กระจาย ทั่วประเทศ ผู้ใช้ยาจึงควรเลือกซื้อยาจากร้านที่มีเภสัชกรอยู่ประจำ เพราะเภสัชกรมีความรู้แหล่งที่มาและคุณภาพของ ยาที่เลือกเข้าร้าน มีการเก็บรักษาในภาชนะดั้งเดิมภายใต้อุณหภูมิและสภาวะแวดล้อมที่กำหนด ช่วยให้ยาคงคุณภาพได้จนถึงวันสิ้นอายุของยา รู้วิธีการเก็บยาแบ่งบรรจุ และมีมาตรฐานการปฏิบัติในการส่งมอบยาคุณภาพให้แก่ผู้ป่วย
4.การรับมอบยา เมื่อได้รับมอบยามาแล้ว ควรตรวจสอบยาที่ได้รับ หากมีข้อสงสัยให้ถามเภสัชกรทันที ถ้ามียาจากแหล่งผลิตหลายแห่งให้เลือก ควรขอคำแนะนำจากเภสัชกร ยาที่อยู่ในภาชนะเดิมจากโรงงานควรมีสภาพสมบูรณ์ ตรวจสอบวันสิ้นอายุของยาที่ฉลาก และหากเป็นยาแบ่งบรรจุ ต้องทราบชื่อยา ความแรง วันสิ้นอายุ วิธีใช้ การเก็บรักษา ตลอดจนผลที่จะได้รับ และอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยา หากไม่เคยใช้ยานั้น ควรขอเอกสารกำกับยาสำหรับผู้ป่วย (patient information leaflet) ด้วย หรือปรึกษาแพทย์และเภสัชกร แม้จะมีขั้นตอนยุ่งยากไปสักนิด แต่นี่คือ ′ยาคุณภาพ′ ขนานแท้ !!