จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : ดร.ไสว บุญมา
ความเหลื่อมล้ำหลายอย่างถูกอ้างถึงว่าเป็นปัจจัยที่เมืองไทยจะต้องปฏิรูป รวมทั้งด้านทรัพย์สิน ด้านรายได้ ด้านการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐาน
ด้านโอกาสในการศึกษา การรักษาพยาบาลและอำนาจทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกด้านหนึ่งซึ่งอาจสำคัญยิ่งกว่าด้านอื่น นั่นคือ ความเหลื่อมล้ำในความรู้ความเข้าใจในปัจจัยพื้นฐานของวิวัฒนาการและปัญหาของโลกและของไทย คนไทยซึ่งส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนาน่าจะตระหนักถึงความสำคัญของการค้นหาปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาเพราะแก่นของพุทธศาสนาคืออริยสัจสี่ แต่ก็มักไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เท่าที่ควรทำให้ส่วนใหญ่ตกอยู่ในบ่วงอวิชชาซึ่งนำไปสู่การแก้ปัญหาไม่ถูกจุด ขอยกตัวอย่างที่ค่อนข้างยาว
ผู้คนส่วนใหญ่ไม่เคยใส่ใจกับปัจจัยพื้นฐานที่ขับเคลื่อนวิวัฒนาการของสังคมในปัจจุบันซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 4 อย่างคือ ทรัพยากร จำนวนประชากร การใช้ทรัพยากรของแต่ละคน และเทคโนโลยี
โลกใบนี้มีทรัพยากรจำกัดเป็นสัจธรรมซึ่งจะละเมิดมิได้จนกว่ามนุษยชาติจะสามารถใช้เทคโนโลยีใหม่เดินทางไปขนมาจากโลกอื่น ณ วันนี้โอกาสที่จะทำเช่นนั้นได้ยังไม่มี ยิ่งกว่านั้นปริมาณของทรัพยากรยังลดลงเรื่อยๆ เพราะมนุษย์เรานำมาใช้ให้หมดไปอีกด้วย จากวันที่บรรพบุรุษของมนุษย์ถือกำเนิดขึ้นมา ประชากรโลกได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนในขณะนี้มีจำนวนกว่า 6 พันล้านคน แต่ละคนใช้ทรัพยากรเพื่อดำรงชีวิตเป็นสัจธรรมอีกข้อหนึ่งซึ่งจะละเมิดมิได้ นับจากวันที่เรามีเทคโนโลยีใหม่ในรูปของการรู้จักทำเกษตรกรรมแทนการเก็บของป่าและล่าสัตว์เมื่อราวหมื่นปีที่ผ่านมา มนุษย์เราแต่ละคนใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้นแบบไม่หยุดยั้งซึ่งแสดงออกมาทางการขยายตัวของเศรษฐกิจ
เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่มนุษย์เราคิดค้นขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ มันมีคุณอนันต์ แต่ก็มักแฝงโทษมหันต์มาด้วย โทษบางอย่างมองเห็นได้ง่าย แต่บางอย่างมองไม่ค่อยเห็น เช่น เทคโนโลยีด้านนิวเคลียร์ซึ่งสามารถผลิตพลังงานได้สูงมาก แต่เป็นอาวุธร้ายที่อาจทำลายทุกอย่างบนผิวโลก สารเคมีที่ใช้ในการเกษตรช่วยผลิตอาหารได้มาก แต่หากใช้แบบไม่ระวัง มันจะสร้างผลกระทบร้ายแรงต่อแหล่งน้ำและทำลายคุณภาพของดิน เทคโนโลยีที่ใช้ในการรักษาพยาบาลทำให้เราอยู่ได้นานขึ้น แต่การอยู่นานต้องใช้ทรัพยากรในการรักษาพยาบาลในอัตราสูง เพราะผู้สูงวัยเจ็บไข้ได้ป่วยในอัตราที่สูงกว่าผู้มีอายุน้อย
ปัจจัยเหล่านี้ยังผลให้มีการแย่งชิงทรัพยากรกันอย่างกว้างขวางและอย่างเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ วิธีแย่งชิงกันบางอย่างอาจมองเห็นได้ง่าย แต่บางอย่างอาจมองไม่ค่อยเห็น เช่น การยึดครองของคนอื่นโดยตรงทั้งในระดับบุคคล กลุ่มชนและระดับประเทศซึ่งนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้ง ความขัดแย้ง สงครามและความฉ้อฉลด้วยกลยุทธ์ต่างๆ รวมทั้งการรับสินบนและการเอื้อประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้องของผู้บริหารประเทศผ่านนโยบายของรัฐ การใช้กำลังทรัพย์เพื่อกว้านซื้อทรัพยากรก็เป็นวิธีแย่งชิงอย่างหนึ่ง
การแย่งชิงเกิดขึ้นทั้ง ที่คนส่วนใหญ่มีทุกอย่างที่ร่างกายต้องการแล้ว มันเกิดขึ้นเพราะพวกเราส่วนใหญ่ซึ่งล้วนยึดความสุขเป็นจุดหมายในชีวิตคิดไม่ ถึงว่า หลังจากร่างกายได้รับการตอบสนองเบื้องต้นแล้ว การใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้นทั้งเพื่อการบริโภคในชีวิตประจำวัน และเพื่อการสะสมวัตถุไม่ทำให้ความสุขเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เรื่องแนวนี้มีมาอยู่แล้วในคำสอนของศาสนา ทว่าไม่ค่อยมีคนเชื่อเพราะมันเป็นนามธรรมที่จับต้องไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีการยืนยันจากการค้นคว้าและวิจัยที่จับต้องได้ในแนววิทยาศาสตร์ แล้ว ผลของการค้นคว้าและวิจัยอาจหาอ่านได้ในหนังสือสามเล่มคือเรื่อง The Progress Paradox: How Life Gets Better While People Feel Worse ของ Gregg Easterbrook เรื่อง The Paradox of Choice: Why More Is Less ของ Barry Schwartz และเรื่อง Happiness: Lessons from a New Science ของ Richard Layard หากหาอ่านไม่ได้ หรือไม่ต้องการอ่านรายละเอียด อาจไปอ่านบทคัดย่อภาษาไทยในหนังสือชื่อ “กะลาภิวัตน์” และในเว็บไซต์ของสโมสรหนอนหนังสือชื่อ www.bookishclub.com นอกจากนั้น มูลนิธิเศรษฐกิจใหม่ในอังกฤษได้สรุปผลการค้นคว้าและวิจัยใหม่ๆ ออกมาเผยแพร่เมื่อตอนปลายปี 2551 ซึ่งคอลัมน์นี้กล่าวถึงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ข้อสรุปมีใจความว่า หลังจากร่างกายมีปัจจัยเบื้องต้นครบแล้ว ความสุขไม่ได้มาจากการบริโภคเพิ่มขึ้น หากมาจากการมีความสัมพันธ์อันดีกับผู้ที่อยู่รอบข้างและการมีเพื่อน การมีความเคลื่อนไหวเช่นการออกกำลังกายอยู่เป็นนิจ การมีความช่างสังเกตและสติสัมปชัญญะ การเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา และการให้ด้วยใจบริสุทธิ์ นอกจากปัจจัยในห้าหมวดหมู่นั้นแล้ว ยังมีปัจจัยรองลงไปที่ยังไม่ได้กล่าวถึงอีกสามด้านคือ ด้านอาหาร ซึ่งควรประกอบด้วยอาหารที่มีความจำเป็นต่อร่างกายและในปริมาณที่มีความสมดุล ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งการค้นคว้าพบว่าผู้ที่อยู่ใกล้ธรรมชาติมีความสุขมากกว่าผู้ที่อยู่ไกล ธรรมชาติ และด้านการงาน ซึ่งการค้นคว้าพบว่าการทำงานที่มีความพอใจทำให้เกิดความสุขเพิ่มขึ้น
ลองจินตนาการดูว่า ถ้าการปฏิรูปทำให้ความเหลื่อมล้ำต่างๆ ดังที่กล่าวถึงในตอนต้นลดลงไปอย่างมีนัยสำคัญ และทุกคนมีรายได้เพียงพอต่อการซื้อหาสิ่งที่จะนำมาสนองความต้องการของร่าง กาย แต่คนส่วนใหญ่ยังแสวงหามาบริโภคและมาสะสมต่อไป เพราะไม่ตระหนักว่าการกระทำเช่นนั้นจะไม่มีวันก่อให้เกิดความสุขแล้วอะไรจะ เกิดขึ้น ? แน่ละ การทะเลาะเบาะแว้งและการแย่งชิงกันย่อมดำเนินต่อไปพร้อมกับการทำลายทรัพยากร และระบบนิเวศน์ ด้วยเหตุนี้ การปฏิรูปจะต้องเน้นการลดความเหลื่อมล้ำทางด้านความรู้ความเข้าใจเรื่อง ปัจจัยพื้นฐาน พร้อมกับการนำไปสู่การปฏิบัติด้วย นั่นหมายถึง การรู้จักพอทั้งในด้านการบริโภครายวันและด้านการสะสมวัตถุ หากมีทรัพย์สินและรายได้ที่เกินนั้นไปก็ควรบริจาคให้แก่สังคมในแนวที่มหา เศรษฐี 40 คนได้ทำ ซึ่งคอลัมน์นี้และสื่อต่างๆ ได้อ้างถึงในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว