สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ยก เกาะระ-กระพระทอง-เกาะกระ แรมซาร์ไซต์ระดับโลก

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

“พื้นที่ชุ่มน้ำ” มีความหมายครอบคลุมถึงแหล่งน้ำเกือบทุกประเภท อย่างพื้นที่ป่าชายเลน ป่าพรุ หนอง บึง สนุ่น ทุ่งนา ทะเลสาบ และแม่น้ำ ล้วนแต่เป็นแหล่งเพาะขยายพันธุ์สรรพชีวิตในระบบนิเวศ สร้างวงจรชีวิตให้เวียนหมุนไปจนเปรียบได้ว่า พื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นเสมือน “ครรภ์มารดาของแผ่นดิน” นั่นเอง
อาจกล่าวได้ว่า คน พืชและสัตว์ ต่างตั้งต้นชีวิตจากพื้นที่ชุ่มน้ำ ก่อนขยับขยายเคลื่อนย้ายขยายวงจรชีวิตออกไปยังที่อื่นๆ

ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา ให้ขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำเกาะระ เกาะพระทอง จ.พังงา และเกาะกระ จ.นครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ โดยได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ประสานงานกับสำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่อดำเนินการขึ้นทะเบียน รวมทั้งเผยแพร่ถึงคุณค่าความสำคัญและประโยชน์ของพื้นที่ซึ่งได้รับการขึ้น ทะเบียน

คำถามก็คือหลัง ครม. มีมติดังกล่าวแล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้ นิรวาน พิพิธสมบัติ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) อธิบายว่า ตามอนุสัญญาแรมซาร์ หรืออนุสัญญาพื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่ใดถูกประกาศแล้วหมายความว่า ต่อไปนี้พื้นที่ดังกล่าวไม่ได้มีระบบนิเวศน์ที่สำคัญเพียงแค่ระดับชุมชนอีก แล้ว แต่กำลังสำคัญระดับที่สูงขึ้นตามลำดับจนถึงระดับโลก เป็นระบบนิเวศที่มีคุณสมบัติเฉพาะที่ทั้งโลกต้องช่วยกันดูแล ต้องเข้ามาศึกษาในสิ่งที่พื้นที่นั้นมี

แล้วคนในชุมชนจะได้รับผลกระทบหรือไม่ นิรวาน อธิบายว่า “ก่อนจะมีการประกาศให้พื้นที่ใดเป็นแรมซาร์ไซต์จะต้องผ่านการศึกษาวิจัยราย ละเอียดของความสำคัญในระบบนิเวศของพื้นที่นั้นมาแล้วจึงจะถูกประกาศ โดยก่อนหน้านี้คณะสำรวจสำนักความหลากหลายทางชีวภาพของ สผ. ได้ลงสำรวจพื้นที่เกาะระเกาะพระทอง และบริเวณใกล้เคียง

รวมทั้งได้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกับตัวแทนชุมชน ซึ่งได้ดำเนินการภายหลังกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเสนอให้ขึ้นทะเบียน เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ เพราะพบว่าพื้นที่บริเวณนี้มีคุณค่าและความสำคัญในด้านการอนุรักษ์ความหลาก หลายทางชีวภาพอย่างมาก”

“มีป่าดิบชื้นปกคลุมบริเวณที่เป็นเขา ประดับไปด้วยหลากพันธุ์ไม้ เช่น ยางยุง ยางปราย ขันทอง ไม้เรือนยอด มีส่วนที่เป็นป่าชายเลน ซึ่งเป็นผืนยาวติดต่อกันตั้งแต่ตอนเหนือไปทางใต้ นอกจากนี้ยังพบการแพร่กระจายของหญ้าทะเลบริเวณทิศตะวันออกของเกาะระ ซึ่งความสำคัญของแหล่งหญ้าทะเล คือเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งเลี้ยงตัวอ่อน แหล่งหลบซ่อนศัตรูและเป็นแหล่งหากินของสัตว์ทะเลนานาชนิด กระทั่งเป็นแหล่งหากินของสัตว์ทะเลขนาดใหญ่ อย่าง เต่าทะเล และพะยูนอีกด้วย”

“ยังถือเป็นแหล่งประกอบอาชีพของชุมชน โดยคนในชุมชนนั่นเองที่ได้ร่วมกันดูแลรักษาพื้นที่มาโดยตลอด มีการอนุรักษ์กวางป่า อนุรักษ์นกเงือกและนกตะกรุม การจัดทำป่าชายเลนชุมชน เป็นแหล่งศึกษาของนักวิจัยทั้งในด้านสัตว์น้ำ สัตว์ป่า แม้กระทั่งด้านธรณีวิทยา การขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระดับนานาชาติก็เหมือนการจดทะเบียนให้นานา ชาติยอมรับ และขณะนี้กำลังเรียบเรียงรายละเอียดด้านเอกสารเพื่อยกให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ระดับโลกแห่งใหม่ เป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของโลกต่อไป”

นิรวาน อธิบายภาพรวมความสำคัญของแรมซาร์ไซต์ว่า พื้นที่ชุ่มน้ำที่ถูกยกระดับความสำคัญนั้นแบ่งออก 4 ระดับ คือ มีความสำคัญระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ระดับนานาชาติ และสุดท้ายคือระดับโลก ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นอนุสัญญาแรมซาร์หรืออนุสัญญาพื้นที่ชุ่มน้ำ ไปเมื่อปี 2541 โดยได้ปฏิบัติตามพันธสัญญาด้วยการกำหนดและวางแผนการดำเนินงานเพื่อใช้ ประโยชน์จากพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างชาญฉลาด ร่วมแลกเปลี่ยน ช่วยเหลือ รวมถึงได้รับการช่วยเหลือด้านต่างๆ จากประเทศผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการแผนอนุรักษ์

อย่างไรก็ดี ในปี 2538 อนุกรรมการพื้นที่ชุ่มน้ำได้มีการจัดทำฐานข้อมูลพื้นที่ชุ่มน้ำในประเทศไทย พบว่ามีพื้นที่ชุ่มน้ำรูปแบบต่างๆ กระจายกันอยู่ทั่วประเทศ มีเนื้อที่ประมาณ 26.36 ล้านไร่ หรือประมาณ 6.75% ของพื้นที่ประเทศ จำแนกเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ 61 แห่ง ระดับชาติ 48 แห่ง และระดับท้องถิ่น 19,295 แห่ง ในจำนวนดังกล่าวมีพื้นที่ที่มีความสำคัญเร่งด่วน ควรเสนอเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระหว่างประเทศ และเป็นพื้นที่ที่สมควรได้รับการฟื้นฟูและคุ้มครองโดยเร่งด่วนรวมอยู่ด้วย

“การเข้าไปจัดการพื้นที่ต้องทำตาม ‘แผนการอนุรักษ์จัดการพื้นที่’ ซึ่งแผนดังกล่าวนั้นขึ้นอยู่กับระดับความสำคัญและความจำเป็นต่อพื้นที่นั้นๆ เช่นหากประชาชนหรือองค์กรในพื้นที่ต้องการจัดการพื้นที่เองและมีแผนจัดการ พื้นที่อยู่แล้วก็ดำเนินการเองได้หรือหากมีความจำเป็นเร่งด่วนการฟื้นฟูต้อง การความช่วยเหลือจากภาครัฐสามารถขอให้ สผ.เข้าไปร่วมมือกับชุมชนก็ทำได้เช่นกัน” นิรวาน กล่าว

นักวิชาการสิ่งแวดล้อม อธิบายต่อว่า ข้อบังคับตามอนุสัญญาฯ จะไม่มีการเข้าไปละเมิดอำนาจอธิปไตยของภาคีสมาชิก ซึ่งเป็นเจ้าของดินแดนนั้นๆ ซึ่งหมายความว่า ในกรณีที่ได้กำหนดขอบเขตพื้นที่ครอบคลุมตามอนุสัญญาฯ แม้จะเป็นที่อยู่อาศัยหรือชุมชนจะไม่มีการเวนคืนที่ดินบริเวณดังกล่าว

อนุสัญญาฯ จะเน้นเรื่องแผนการจัดการพื้นที่เป็นหลัก การระบุขอบเขตการประกาศพื้นที่จะครอบคลุมพื้นที่ทางระบบนิเวศที่มีคุณสมบัติ ตรงตามอนุสัญญาฯ ไม่จำเป็นว่าต้องมีขนาดพื้นที่หรือผู้ที่เป็นเจ้าของ ดังนั้นแม้แต่พื้นที่ของเอกชนก็สามารถเสนอให้ประกาศเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำได้ โดยจะไม่มีการเวนคืนที่ดินบริเวณที่ถูกประกาศ

นอกจากนี้ ชุมชนหรือผู้อยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าวยังสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์จาก พื้นที่ได้ ภายใต้ข้อกำหนดขอบเขตของกฎหมายของประเทศ ซึ่งเป็นผู้ดูแลพื้นที่นั้นๆ เช่น ในประเทศไทยหากชาวบ้านต้องการเข้าไปทำประมงในพื้นที่ก็สามารถทำได้ภายใต้ กฎหมายประมง เช่น ห้ามจับในฤดูวางไข่เพื่อให้พื้นที่นั้นมีโอกาสได้ฟื้นตัวเอง ชนิดของเครื่องมือจับตามที่ระบุ วิธีการจับ เช่น การห้ามจับปลาโดยใช้ยาเบื่อ การระเบิดปลา ใช้ไฟฟ้าชอร์ต ฯลฯ

ทั้งนี้ การอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติและระดับชาติในประเทศ ไทยมีรายละเอียด ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 1 ส.ค. 2548 ซึ่งระบุมาตรการ หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ หน่วยงานสนับสนุน เพื่อการอนุรักษ์พื้นที่ โดยมีรายละเอียดข้อบังคับสำคัญๆ เช่น เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เขตที่ต้องดำเนินการฟื้นฟูระบบนิเวศ โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องจัดทำแผนแม่บทการจัดการพื้นที่ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว สร้างจิตสำนึกและปลูกฝังความรู้ ความเข้าใจในคุณค่าให้กับชุมชนมีส่วนร่วมในการวางแผนการจัดการ มีการควบคุมและป้องกันมลพิษจากแหล่งกำเนิดประเภทต่างๆ

“ข้อห้ามที่สำคัญที่สุดและห้ามอย่างเด็ดขาดก็คือการถมพื้นที่ แม้แต่การขุดหรือสร้างสิ่งปลูกสร้างใดๆ หากได้รับการพิจารณาว่า ไม่กระทบต่อความเปลี่ยนแปลงที่มีผลให้พื้นที่เสื่อมโทรมลง ได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานที่ดูแลก็สามารถที่จะกระทำได้ จะเห็นว่าไม่ได้มีการห้ามใช้พื้นที่ ชาวบ้านสามารถเข้าไปใช้ได้ พื้นที่ชุ่มน้ำบางแห่งที่ถูกยกให้มีความสำคัญระดับนานาชาติ เช่น ปากแม่น้ำกระบี่ จ.กระบี่ มีชุมชนอยู่ก่อนจะประกาศเป็นแรมซาร์ไซต์ แต่ชุมชนก็ยังอยู่ได้

โดยชุมชนต้องตกลงร่วมกันว่าจะจัดการการใช้พื้นที่ร่วมกันเพื่อรักษา พื้นที่ของตัวเองไว้ โดยในส่วนนี้มีการสนับสนุนทางวิชาการไปบอกคนในพื้นที่ว่า ระบบการจัดการต่างๆ ประกอบด้วยอะไรบ้าง มีปัจจัยที่ทำให้พื้นที่เสื่อมโทรมลงหรือไม่ อย่างไร ต้องฟื้นฟูด้วยวิธีไหน ฯลฯ หากมองตรงนี้แล้วถามว่า การประกาศเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ คืออะไร ก็น่าจะตอบได้อย่างชัดเจนว่า เป็น ‘เครื่องมือในการเข้าไปจัดการเพื่ออนุรักษ์พื้นที่’ นั่นเอง” นิรวาน กล่าว

ทั้งหมดนี้ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมได้ตอกย้ำว่า “เกาะระเกาะพระทองเกาะกระ” คือมรดกควรค่าแก่การอนุรักษ์มากกว่าการทำลายหรือแบ่งปันเป็นสมบัติส่วนตัว ของใครคนใดคนหนึ่งได้อีกต่อไป

 

 

 

 

Tags : เกาะระ กระพระทอง เกาะกระ แรมซาร์ไซต์ระดับโลก

view