จากประชาชาติธุรกิจ
คลัง เตรียมมาตรการชุดสอง "ลดภาษีหักค่าเสื่อม 100% ในปีแรก" เข้า ครม.ภายในตุลาคมนี้ หวังพยุงผู้ส่งออกต่อเนื่อง แลกสูญเสียรายได้เข้ารัฐ 10,000 ล้านบาท พบแค่ครึ่งเดือนแรกที่ผ่านมา ทุนนอกทะลักตลาดหุ้น-ตราสารหนี้กว่า 120,000 ล้านบาท ถือเป็นปัจจัยหนุนบาทแข็งไม่เลิก ธุรกิจอ้อย-น้ำตาล ขึ้นแท่นเหยื่อรายล่าสุด
หลัง จากคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติมาตรการลดผลกระทบค่าบาท และมาตรการชะลอการไหลเข้าของเงินทุน ต่างประเทศ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา กระทรวงการคลังกำลังพิจารณามาตรการพยุงผู้ส่งออกชุดที่สองออกมา โดยคาดหวังว่ามาตรการใหม่จะแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้
หวัง withholding tax ชะลอทุนไหลเข้า
นาย กรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง แถลงว่า ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า ขึ้นอย่างรวดเร็วในเดือนที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งคือ มาตรการชะลอเงินทุนไหลเข้า ให้ยกเลิกสิทธิพิเศษให้ นักลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาซื้อพันธบัตรรัฐบาล ได้รับการยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. 2553 เป็นต้นไป
นาย กรณ์อธิบายว่า สิทธิพิเศษการยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ให้นักลงทุนต่างชาติ เป็นไปตามนโยบายในอดีตที่ต้องการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ จึงต้องการให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาซื้อพันธบัตรรัฐบาล แต่ขณะนี้มีเพียงพอแล้ว โดยช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา สัดส่วนการถือครองตราสารหนี้โดยนักลงทุนต่างชาติอยู่ที่ 10% หรือ คิดเป็นมูลค่ากว่า 120,000 ล้านบาท จากเดิมสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 3% เท่านั้น และ นักลงทุนต่างประเทศเองใช้ตลาดตราสารหนี้ และพันธบัตรรัฐบาลเป็นที่พักเงิน จึงเห็นว่าควรจะปรับสิทธิ์ลดลงให้เท่ากับนักลงทุนไทย ส่วนนักลงทุนต่างประเทศที่ซื้อพันธบัตรรัฐบาลก่อนหน้านี้จะได้รับสิทธิ์ยก เว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% คงเดิม
รมว.คลังกล่าวยอมรับว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะทำให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลลดลง เพราะค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น 1 บาท จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ลดลง 0.4% ซึ่งการจัดเก็บรายได้ก็จะต้องลดลงตามสัดส่วนของจีดีพีเช่นกัน แต่รัฐบาลยังไม่มีความกังวลในเรื่องนี้ ส่วนราคาสินค้าเกษตรที่อ้างว่าลดลงตามค่าเงินนั้นไม่เป็นความจริง เพราะราคาข้าวในรูปเงินดอลลาร์ปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้นการที่เห็นว่ามีการซื้อสินค้าราคาถูกจากเกษตรกรเป็นการกดราคาต่ำกว่า ความเป็นจริง ซึ่งรับไม่ได้ เพราะเป็นการเอาเปรียบชาวนา
กระตุ้นปรับโครงสร้างการผลิต
นาย ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กำลังพิจารณาการนำรายจ่ายจากการนำเข้าเครื่องมาหักค่าเสื่อมได้ 100% ในปีแรก จากปัจจุบันสามารถหักค่าเสื่อมได้ 20% ภายใน 5 ปี เพื่อกระตุ้นภาคส่งออกปรับโครงสร้างการผลิต ในส่วนนี้หากดำเนินการอาจทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 10,000 ล้านบาท แต่เพื่อช่วยให้ผู้ส่งออกอยู่ได้ก็ยอมที่จะสูญเสีย
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาจะยกเว้นภาษีการนำเข้าเครื่องจักรที่ไม่สามารถ ผลิตได้ในประเทศ จากปัจจุบันจัดเก็บในอัตรา 1-3% โดยนายประสิทธิ์ระบุว่า จะพิจารณาปรับลดได้ต่ำลงมากที่สุด รวมถึงภาษีอื่น ๆ ในภาพรวม เช่น ภาษีน้ำมัน ก็มีการดูอยู่
"มาตรการดังกล่าวคาดว่าจะพิจารณาศึกษาได้ ข้อสรุปและเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายใน ต.ค.นี้ แต่มีข้อสังเกตจากการพูดคุยกับสภาอุตสาหกรรมฯและสภาหอการค้า พบว่า ความจำเป็นที่ผู้ส่งออกต้องการมากที่สุดคือมาตรการชุดแรกที่ผ่าน ครม.วานนี้ (12) โดยเฉพาะเอสเอ็มอีประมาณ 10,000 ราย เพราะส่วนใหญ่มีปัญหาสภาพคล่อง" นายประดิษฐ์กล่าว
ชี้มาตรการใหม่เป็นผลดีทางจิตวิทยา
ผู้ สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของตลาดภายหลังคณะรัฐมนตรีอนุมัติมาตรการสกัด การแข็งค่าของเงินบาท พบว่า ค่าเงินบาทยังคงเดินหน้าแข็งค่าต่อเนื่อง โดยตลอดเวลาทำการของวันที่ 12 ต.ค. เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 29.95-30.08 บาท/ดอลลาร์
ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ณ วันที่ 12 ต.ค. มีการปรับตัวลดลงทุกกลุ่มอายุ เมื่อเทียบกับวันก่อนหน้า เช่น พันธบัตรอายุ 3 ปี อัตราผลตอบแทนอยู่ที่ 2.51% ลดลงจาก 2.55% อายุ 5 ปี อยู่ที่ 2.60% ลดลงจาก 2.75% อายุ 10 ปี อยู่ที่ 3.10% ลดลงจาก 3.12% และอายุ 15 ปี อยู่ที่ 3.39% ลดลงจาก 3.43% โดยตลอดวันนักลงทุนทุกประเภทมีการซื้อสุทธิ รวมกันที่ 30,013.73 ล้านบาท
นาย เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า มาตรการที่ออกมาไม่สามารถสกัดการแข็งค่าของเงินบาทได้ เพราะกระทบต่ออัตราผลตอบแทนที่นักลุงทนต่างชาติค่อนข้างน้อย เนื่องจากเป็นการเก็บภาษีบนอัตราดอกเบี้ยและกำไรจากการขายพันธบัตร (capital gain) ซึ่งปกติในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น
นักลงทุนจะไม่มีกำไรจาก capital gain ดังนั้นภาษีที่เก็บก็จะอยู่บนดอกเบี้ยเท่านั้น
"ยก ตัวอย่างเช่นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปัจจุบันอยู่ที่ 2% ถ้าเก็บ 15% บน 2% ก็เท่ากับหายไป 0.3% แต่เทียบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เฉพาะ 3 เดือน ที่ผ่านมาก็ 8% แล้ว ดังนั้นส่วนที่เขาเสียไปถือว่าน้อยมาก ดังนั้นมาตรการนี้จึงมีผลเชิงจิตวิทยาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น"
นาง สาวอาภาภรณ์ แสวงพรรค รองผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ดีบีเอส วิคเคอร์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวทำให้มีความชัดเจนต่อตลาดลงทุน และเป็นผล ทางจิตวิทยาว่าตลาดหุ้นจะไม่มีมาตรการร้ายแรงภายในเข้ามากระทบในช่วงนี้ จึงเชื่อว่าจะเห็นเม็ดเงินต่างชาติยังทยอยเข้ามาลงทุนอีกจำนวนมาก ประกอบกับล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐเตรียมจะอัดฉีดสภาพคล่องเข้ามาในระบบเป็นรอบ ที่ 2 จึงยิ่งกดดันให้เงินต่างชาติไหลออกไปลงทุนนอกประเทศ ซึ่งประเทศที่ต่างชาติจะเลือกลงทุนยังเป็นประเทศในเอเชียมากกว่า ซึ่งยิ่งทำให้ประเทศสหรัฐและยุโรปอ่อนค่าลงอีกเมื่อเทียบกับค่าเงินในสกุล เอเชีย
ในแง่สัดส่วนนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทยมีสัดส่วนลดลงต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2548 ที่อยู่ 28% ของมูลค่าการซื้อขายรวม แต่ปัจจุบันในปี 2553 มีสัดส่วนเฉลี่ยที่ 19% เทียบเท่ากับสิ้นปีก่อน ทั้งนี้ปัจจัยที่ส่งผลต่อการลดลงนอกจากภาวะตลาดหุ้นที่เปลี่ยนแปลงตามตัวแปร ภาวะเศรษฐกิจโลกและการเมืองไทย ยังมีปัจจัยพอร์ตโบรกเกอร์เข้ามามีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากในปีนี้จาก 5 ปีก่อนอยู่ที่ 4% มาอยู่ที่ 13% ในปีนี้ และปัจจัยมูลค่าการซื้อขายที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงในปีนี้ด้วย
ขณะที่ ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ยอดคงค้างพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ และพันธบัตร ธปท. ณ สิ้น ก.ย. 2553 มีจำนวน 5,015,288 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้น ธ.ค. 2552 ที่มีจำนวน 4,316,956 ล้านบาท หรือ 16.17% โดยพันธบัตร ธปท.เพิ่มขึ้นมากที่สุด 24% หรือมียอดคงค้าง 2,219,731 ล้านบาท รองลงมาคือพันธบัตรรัฐบาล 13.32% หรือ มียอดคงค้าง 2,442,397 ล้านบาท ขณะที่พันธบัตรรัฐวิสาหกิจมีจำนวนลดลง 5.19% หรือมียอดคงค้าง 352,860 ล้านบาท
ราคาอ้อยขั้นต้นไม่ถึง 1,000 บาท/ตัน
ปัญหา บาทแข็งค่าได้ส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตรหลายรายการ โดยล่าสุด เป็นสินค้าเกษตร กลุ่มอ้อยและน้ำตาล นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 เปิดเผยว่า ผลกระทบอาจจะทำให้ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิต 2553/2554 ไม่ถึง 1,000 บาท/ตันตามที่ได้มีการคาดหมายไว้ในตอนแรก ต้องหารือกันว่าจะแก้ไขกันอย่างไร
"เมื่อเทียบกับการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2552/2553 ใช้ฐานอัตราแลกเปลี่ยนที่ 33 บาท/เหรียญสหรัฐ ซึ่ง เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทุก ๆ 1 บาท/เหรียญสหรัฐ จะมีผลทำให้ราคาอ้อยลดลงประมาณ 27 บาท/ตัน ดังนั้นเมื่อเงินบาท อยู่ที่ 30 บาท/เหรียญสหรัฐ เท่ากับทำให้ราคาอ้อยหายไปกว่า 80 บาท/ตัน"
นาย ประกิต ประทีปะเสน ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า หากเงินบาทแข็งค่ามาอยู่ที่ระดับ 29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ราคาอ้อยขั้นต้นจะลดลงเหลือ 942.24 บาทต่อตัน ซึ่งเมื่อเทียบกับราคาอ้อยขั้นต้นของฤดูการผลิตปี 2552/2553 ที่ 965 บาทต่อตัน จะทำให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้ลดลงเกือบ 23 บาทต่อตันอ้อย และยิ่งหากนำไปเปรียบเทียบกับราคาอ้อยขั้นสุดท้ายของ ฤดูการผลิตปี 2552/2553 ซึ่งคาดว่าเฉลี่ยทั่วประเทศจะสูงถึง 1,102 บาทต่อตันอ้อย ก็จะเห็นว่าต่ำกว่ากันถึงประมาณ 160 บาทต่อตันอ้อย