จาก โพสต์ทูเดย์
ตัวอย่างวัฒนธรรมลองของยังมีอีกมากที่ยกกระบวนการแก้ไขรัฐ ธรรมนูญเพียงบางช่วงมาให้เห็น ก็เพื่อเป็นอุทาหรณ์ว่า “ยิ่งลองยิ่งเละ” หรือ “ยิ่งแก้ยิ่งกลุ้ม”
โดย...ทวี สุรฤทธิกุล
วัฒนธรรม “ลองของ” เป็นส่วนผสมของนิสัยชอบลองของใหม่กับนิสัยชอบการพนันขันต่อและนิสัยขี้เล่น ท้าทายชอบความสนุกสนาน อันเป็นลักษณะนิสัยที่สำคัญของคนไทยจำนวนมาก ที่ปราชญ์บางท่านเชื่อว่านี่คือ “วัฒนธรรมประจำชาติ” เลยทีเดียว
วัฒนธรรมนี้มีจำนวนมากขนาดไหนและแสดงออกอย่างไรนั้น สามารถดูได้จากการเมืองไทย จากการที่คนไทยมีพฤติกรรมต่างๆ อยู่ในกระบวนการทั้งหลายของระบบการเมืองไทย เป็นต้นว่า การปฏิวัติรัฐประหาร การเลือกตั้ง การตั้งพรรคการเมือง และการร่างรัฐธรรมนูญ
เมื่อวันที่ 9–11 พ.ย.ที่ผ่านมา ในงาน “3 วันสร้างประชาธิปไตยเข้มแข็ง” ที่เป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างที่เล่าให้ฟังในบทความนี้เมื่อวันเสาร์ก่อนมาแล้วว่า ประชาชนที่โทร.เข้ามาส่วนใหญ่ถึง 7 ใน 10 คน ต้องการที่จะให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ โดยที่ทุกคนเชื่อว่า “จะทำให้การเมืองไทยดีขึ้น” และบางคนก็ให้ความเห็นค่อนข้างแรงว่า “แก้อย่างไรก็ได้ ขอให้แก้เถอะ เพราะของเก่ามันแย่ (ใช้คำที่แรงกว่านี้) เต็มที”
เกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญนี้ หลายท่านคงพอจะทราบว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรัฐธรรมนูญน่าจะมากที่สุดใน โลก อย่างฉบับ 2550 ที่ใช้อยู่กันในปัจจุบันนี้ก็เป็นฉบับที่ 19 แล้ว และหลายฉบับก็มีการแก้ไขมากบ้างน้อยบ้าง โดยหลักการของการแก้ไขตามทฤษฎีสากลน่าจะเป็นเพราะความไม่เข้าท่าหรือใช้งาน แล้วไม่ได้เรื่องในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญนั้น แต่ตามทฤษฎีของพี่ไทย กลับเป็นเรื่องของ “อำเภอใจ” หรืออารมณ์ของผู้มีอำนาจมากกว่า
ใครที่ถามว่า ทำไมทุกครั้งที่มีการปฏิวัติรัฐประหาร ทหารต้องฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง ก็ขอให้อ่านย่อหน้าที่ผ่านมานี้ ที่ขยายความได้ว่า การฉีกรัฐธรรมนูญ (ทั้งที่ไม่จำเป็นต้องฉีก เพราะถ้าหากจะทำอย่างสุภาพก็สามารถระงับใช้บางมาตราหรือระงับใช้รัฐธรรมนูญ ทั้งฉบับไว้ก่อนก็ได้ แต่คงเป็นวัฒนธรรมของทหารไทยด้วยว่า การฉีกรัฐธรรมนูญคือความเหี้ยมหาญอย่างหนึ่งที่จะทำให้คนไทยสยบต่ออำนาจของ กองทัพ!) เป็นการแสดงความสะใจของ ผู้นำทหารนั่นเอง
เช่นเดียวกันการแก้ไขรัฐธรรมนูญของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองล้วนๆ อย่างที่มีการแก้รัฐธรรมนูญหลายๆ ฉบับ รวมทั้งฉบับ 2550 ที่รัฐบาลจะแก้เพียง 2 ประเด็นนี้ด้วย
ย้อนอดีตไปในปี 2522 ที่มีการเลือกตั้งหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2521 ที่รัฐ ธรรมนูญฉบับนั้นให้เลือกแบบ “พวงจังหวัด” คือแต่ละจังหวัดจะมี สส.เท่าไหร่ก็ตาม ให้มีเขตเลือกตั้งเพียงเขตเดียว แล้วลงคะแนนเลือก สส. “ยกพวง” ไปทั้งจังหวัดนั้น เหตุผลของคณะผู้ร่างก็เพื่อสร้างเสริมระบบพรรคและให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ (ตอนนั้นยังไม่มี “ธุรกิจการเมือง” จึงยังไม่มีวัตถุประสงค์ในเรื่องป้องกันการซื้อเสียง)
ระหว่างนั้นมีการเลือกตั้งซ่อม สส.หลายครั้ง ครั้งที่โด่งดัง (ในด้านความเลวร้าย) มากที่สุดก็คือการเลือกตั้งซ่อมที่ จ.ร้อยเอ็ด ในเดือน ส.ค. 2524 ที่เป็นการต่อสู้ระหว่าง “ของใหญ่” คือพรรคการเมืองใหญ่อย่างพรรคกิจสังคมที่นำโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กับพรรคการเมือง (เทียม) ชื่อพรรคชาติประชาธิปไตย ที่ตั้งขึ้นมารองรับอำนาจของทหารใหญ่ คือ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ อดีตผู้นำในการยึดอำนาจ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ในปี 2520 ซึ่งในการเลือกตั้งซ่อมที่ร้อยเอ็ดครั้งนั้นท่านก็ลงเลือกตั้งเพื่อพิสูจน์ “บารมี” ของท่านด้วย
ด้วยความยิ่งใหญ่ของผู้สมัครทำให้วัฒนธรรม “แพ้ไม่ได้” ถูกงัดออกมาใช้ทุกรูปแบบ ขนาดที่มีการเดินแจกเงินให้เห็นกันจะจะในตอนฟ้าแจ้งๆ ก็ไม่มีใครกล้าจับ ขนาดที่มีคนจะขึ้นไปแจ้งความที่โรงพัก ตำรวจก็ไม่รับแจ้ง เพราะทันทีที่รู้ว่ามีคนจะมาแจ้งความ ตำรวจทั้งโรงพักนั้นก็แตกฮือออกไปเสียจากโรงพัก อ้างว่าต้องไปดูแลความสงบเรียบร้อยในการเลือกตั้ง และเช่นเดียวกันเมื่อคู่ต่อสู้จะขึ้นไปฟ้องผู้ว่าราชการจังหวัดให้จัดการ กรมการจังหวัดที่รวมถึงตัวผู้ว่าราชการจังหวัดด้วยนั้นก็หนีหน้าไปจากศาลา กลางจนหมดสิ้น!
“โรคร้อยเอ็ด” คืออัปฉายาของการเลือกตั้งในครั้งนั้น และทุกครั้งต่อมาที่มีการทุ่มซื้อเสียงอย่าง “ฉิบหายวายป่วง” ไม่ว่าที่ใดก็จะได้ชื่อว่า “โรคร้อยเอ็ดระบาดอีกแล้ว” ตลอดมา เพราะเพียงเพื่อให้นายทหารคนเดียวได้เป็น สส. ก็มีการใช้เงินซื้อเสียงหลายสิบล้านบาท (สมัยนั้นก๋วยเตี๋ยวราคาชามละ 3-5 บาทเท่านั้นเอง) ประมาณว่าใช้เงินกันถึง 50 ล้านบาท!
ที่ต้องใช้เงินมากมายขนาดนั้น ก็ด้วยเหตุผล 2 สิ่ง หนึ่ง คือ วัฒนธรรมแพ้ไม่ได้อย่างที่กล่าวมา และสอง คือ เขตเลือกตั้งทั้งจังหวัดนั้นใหญ่มาก เมื่อจะต้องซื้อเสียงก็ต้องใช้เงินซื้อทั้งจังหวัด!
ดังนั้น ในการแก้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจึงแก้ได้เพียงมาตราเดียว คือแก้เขตเลือกตั้งให้เล็กลง แต่ว่าการเลือกตั้งต่อมาก็ไม่สามารถแก้ปัญหาเสถียรภาพของรัฐบาลได้ แถมยังมีการแข่งขันขนาดหนักทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง ก่อนเลือกตั้งคือการใช้ “โรคร้อยเอ็ด” คือใช้เงินโปรยหว่านปูทางเข้าสู่สภา และหลังเลือกตั้งก็คือการใช้เงินซื้อขายตำแหน่งทางการเมือง โดยเฉพาะในการแต่งตั้งรัฐมนตรี ทำให้เกิดวัฒนธรรม “ถอนทุน” จนถึง “การตั้งกองทุน” เพื่อใช้ในกิจกรรมดังกล่าว รวมทั้งการสร้างบารมีและการรักษาฐานอำนาจให้ตนเอง “ยิ่งใหญ่” อยู่เสมอ
เราเรียกระบบนี้ว่า “ธุรกิจการเมือง” หรือ “ธนาธิปไตย” ที่กัดกร่อนการเมืองไทยเรื่อยมา กระทั่งกลายเป็น “บุฟเฟต์คาบิเนต” และทหารต้องออกมายึดอำนาจในปี 2534 นั้น แต่ทหารกลุ่มดังกล่าวก็ไม่ได้สร้างประชาธิปไตย กลับจะเสวยสุขในอำนาจนั้นต่อโดยการสนับสนุนของพรรคสามัคคีธรรม (ไม่ทราบว่าเป็นการรวมตัวกันของธรรมด้านดีหรือเลว) จนถูกประชาชนออกมาขับไล่ในเหตุการณ์เดือน พ.ค. 2535
รัฐธรรมนูญ 2540 คืออีกตัวอย่างหนึ่งของการลองของใหม่ เพื่อจะแก้ไขปัญหา “ธุรกิจการเมือง” แต่ก็เจอ “เจ้าพ่อธุรกิจการเมือง” มาทำให้บ้านเมืองเละเทะ จนทหารต้องออกมาปฏิวัติ (อีกครั้ง) เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 และร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ในทำนอง “ลิควิด เปเปอร์” ลบล้างคำผิดในบางเรื่องของรัฐธรรมนูญก่อนนั้น
ตัวอย่างวัฒนธรรมลองของยังมีอีกมากที่ยกกระบวนการแก้ไขรัฐ ธรรมนูญเพียงบางช่วงมาให้เห็น ก็เพื่อเป็นอุทาหรณ์ว่า “ยิ่งลองยิ่งเละ” หรือ “ยิ่งแก้ยิ่งกลุ้ม”
ปราชญ์บางท่านจึงว่าประวัติศาสตร์ของสังคมไทยก็คือการอยู่กันอย่าง “มั่วๆ” นี่แหละ!