จาก โพสต์ทูเดย์
เรียกได้ว่ามีแนวโน้มจะเกิด “บิ๊กแบง” หรือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของวงการภาษีเงินได้
โดย...ทีมข่าวการเงิน
เรียกได้ว่ามีแนวโน้มจะเกิด “บิ๊กแบง” หรือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของวงการภาษีเงินได้
เมื่อนายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร ประกาศโมเดลภาษีใหม่ในช่วง 5 ปีข้างหน้า
หนึ่ง คือ หั่นภาษีเงินได้นิติบุคคล และบุคคลธรรมดา
สอง คือ การหั่นสิทธิประโยชน์ทางภาษีของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ที่ให้กับต่างชาติ
(ยังไม่นับข้อเสนอแบบกลัวๆ กล้าๆ ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือแวต ที่เก็บอยู่ 7%)
เหตุผลที่สรรพากรหยิบขึ้นมาปรับโครงสร้างภาษีก็คือการปัดกวาดเช็ดถูการจัดเก็บรายได้ที่ยังลักลั่นอยู่
ข้อกังขาก็คือบริษัทต่างชาติเข้ามาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ 78 ปี
นายสาธิต กล่าวว่า ต่างชาติบางคนมาอยู่ในประเทศไทย 30 ปี ไม่เคยเสียภาษีเงินได้แม้แต่บาทเดียว ลองคิดดูว่ายุติธรรมหรือไม่
เอสเอ็มอีของไทยลงทุนเท่าไหร่ เมื่อมีกำไรต้องเสียภาษีสูงลิบลิ่ว 30%
ช่วง 45 ปีหลังจึงมีเสียงเรียกร้องว่าฝนตกไม่ทั่วฟ้า และอยากให้มีการรื้อความไม่เป็นธรรม
โมเดลที่สรรพากรยกมาคือ ยกเลิกการยกเว้นภาษีนิติบุคคลให้แก่บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ราว 200-300 บริษัท
จะช่วยให้ระดับภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัททั่วๆ ไปอยู่ที่ 18% จากปัจจุบันอยู่ที่ 30%
ทำให้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลดมาอยู่ที่ 25% จากปัจจุบันเก็บในอัตราก้าวหน้าที่ 37%
ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มเท่าเดิมที่ 7% เท่ากับไม่ต้องไปขึ้นภาษีให้คนส่วนใหญ่เดือดร้อน
อธิบดีกรมสรรพากรให้เหตุผลในการต้องทบทวนภาษีบีโอไอ ว่า การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีนั้นเพื่อดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศ แต่ไปๆ มาๆ โครงสร้างภาษีบิดเบี้ยวเพี้ยนไปจากแรกเริ่ม นั่นเป็นเพราะมีการเมืองเข้ามายุ่งกับภาษีนี้
“หลายรัฐบาลปรับเปลี่ยนภาษีใหม่ ให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากเดิมที่ให้อีก เพราะนักลงทุนเข้ามาหาขอความสนับสนุน เป็นต้น ทำให้รัฐเสียประโยชน์ และโครงสร้างภาษีก็เปลี่ยนแปลงไปจากเจตนารมณ์เดิม” นายสาธิต กล่าว
นอกจากนี้ จากการเปลี่ยนแปลงของการค้าโลก การรวมกลุ่มประชาคมการค้า การใช้สิทธิประโยชน์ดึงนักลงทุนนั้นกลับมีความสำคัญน้อยกว่าการเข้ามาลงทุน และขายของได้มากขึ้นหรือเปล่า
จริงหรือไม่ว่าให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแล้วจะมีคนแห่มาลงทุน คำตอบในปัจจุบันก็เห็นอยู่ว่าเป็นเช่นไร เรื่องนี้เมื่อเสนอไปแล้วคณะรัฐมนตรีจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
นายตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นด้วยกับโมเดลนี้ของกรมสรรพากร
“ที่ผ่านมามีความเหลื่อมล้ำทางภาษีมาก ส่วนคนนอกบีโอไอต้องเสียภาษีสูง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นบริษัทเล็กๆ” นายตีรณ ระบุ
โดยโจทย์ของกระทรวงการคลังขณะนี้คือ เครื่องมือสร้างแรงจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศด้วยการลดภาษีนั้นไม่ได้ผลแล้ว
ถึงเวลาที่ควรเปลี่ยนวิธีการ...หรือเปลี่ยนยุทธศาสตร์ที่เดิมเน้นแต่บริษัทขนาดใหญ่ ก็หันมาเน้นเอสเอ็มอีมากขึ้น
หรือไม่ก็นำระบบภาษีไปสร้างอุตสาหกรรมที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพราะปัญหามาบตาพุดทำให้คนรู้ว่าการส่งเสริมการลงทุนขนาดใหญ่ก็ต้องแลกมา ด้วยงบประมาณก้อนโตเพื่อแก้ปัญหามลพิษและสุขภาพให้ประชาชน
“แม้ไม่ให้สิทธิทางภาษี บริษัทต่างชาติก็เข้ามาลงทุนในไทยอยู่ดี แต่การลดภาษีเหมือนเป็นโบนัสแถมให้” นายตีรณ ระบุ
อย่างไรก็ตาม ปัญหาของรัฐบาลก็คือ ถ้ายกเลิกการส่งเสริมการลงทุนแล้วจะมีแผนรองรับอย่างไร
โดยเฉพาะองค์กรใหญ่อย่างบีโอไอที่ก่อตั้งมานานแล้ว การจะโอนคนบีโอไอไปทำงานอื่น หรือจะผ่าตัดองค์กรได้หรือไม่
เรื่องแบบนี้คิดว่ารัฐบาลไม่ค่อยถนัด เพราะเกิดผลกระทบมาก...
คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เชื่อว่าภาษีบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลสามารถลดต่ำลงได้อีก โดยกระทรวงการคลังไม่จำเป็นต้องเน้นเรื่องการสะสมความมั่งคั่งทางรายได้มาก เกินไป
ปัจจุบันรัฐบาลมีการจัดเก็บรายได้ปีละ 1.6 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นภาษีเงินได้นิติบุคคล บุคคลธรรมดา และภาษีมูลค่าเพิ่ม
ขณะที่เงินคงคลังของรัฐบาลปัจจุบันสูงถึง 3.3 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงกว่ามาตรฐานทั่วไป
“ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาควรลดลงได้แล้ว เพราะภาระหนักคือกลุ่มคนชั้นกลางที่มีหนี้สินพวกรถยนต์ บ้าน และค่ารักษาพยาบาลสูงอยู่แล้ว” นายตีรณ ระบุ
ปัจจุบันสรรพากรยกเว้นภาษีเงินได้ให้บุคคลธรรมดาที่มีรายได้ไม่เกิน 1.5 แสนบาทต่อปี
ส่วนเงินได้ตั้งแต่ 1.55 แสนบาท เสียภาษี 10% เงินได้ 5 แสน1 ล้านบาทต่อปี เสียภาษี 20% 14 ล้านบาท เสียภาษี 30% และตั้งแต่ 4 ล้านบาทต่อปี เสียภาษี 37%
ขณะที่บริษัทห้างร้านต่างๆ เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดที่ 30%
“แม้ภาษีเงินได้นิติบุคคลของไทยใกล้เคียงกับประเทศอาเซียน พูดได้ว่าไม่จำเป็นต้องลงมาก แต่ถ้าลดได้จาก 30% ก็ยังดีกว่าไม่ลด” นายตีรณ ระบุ
ทั้งนี้ หากลดภาษีเงินได้ลงมา ประเทศไทยควรหันไปมองหารายได้อื่น เช่น ภาษีทรัพย์สิน ซึ่งไม่ควรโฟกัสไปที่ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอย่างเดียว
แต่ควรเก็บภาษีตราสารหนี้ หรือกำไรจากการซื้อขายหุ้นด้วย เพราะส่วนนี้ทำให้เกิดความแตกต่างด้านรายได้สูงมากในสังคมไทย เป็นสาเหตุหนึ่งของความเหลื่อมล้ำในสังคม
“ปัญหาของประเทศไทยเหมือนสหรัฐ คือ คนที่มีรายได้จากตลาดทุนไม่เสียภาษี หรือเสียภาษีน้อยมาก” นายตีรณ กล่าว
แม้จะรู้ว่าบทสรุปของโมเดลปรับโครงสร้างภาษีคงไม่คลอดออกมาง่ายๆ
เพราะการปรับโครงสร้างภาษีก็เหมือนเขยื้อนภูเขา คนที่ได้เปรียบเสียเปรียบมีจำนวนมาก
แค่อธิบดีสรรพากรแพลมว่าจะมีการลดสิทธิประโยชน์บีโอไอ ก็ถูกบรรดาสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยขย่มแล้ว
“ยอมรับว่าของทุกอย่างจะมีทั้งคนได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ จึงไม่แปลกใจที่จะออกมาแนวไหนก็ต้องมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่สิ่งสำคัญคือต้องดูว่าอะไรที่จะทำให้ประเทศได้รับประโยชน์มากที่สุด” นายสาธิต กล่าว
งานนี้อธิบดีสรรพากรคงลืมไปว่าบรรดานักธุรกิจการเมืองก็ต้องได้รับประโยชน์ด้วย!!
นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร
ทั้งนี้ จะศึกษาภายในก่อนแล้วจึงส่งไปที่กระทรวงการคลัง จากนั้นจึงจะขอความเห็นให้รอบด้าน
อย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้างภาษีจะพิจารณาให้ครบถ้วนอาทิ การลดหย่อนค่าใช้จ่าย การอุดรูรั่วภาษี หรือการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศ เรื่องการเจรจาเพื่อเสียภาษีล่วงหน้า สัญญาภาษีซ้อน