ประเทศไทยกับศาลอาญาระหว่างประเทศ
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : สกล หาญสุทธิวารินทร์
ศาลอาญาระหว่างประเทศ (The International Criminal court : ICC) ได้ก่อตั้งขึ้นตามบทบัญญัติของธรรมนูญกรุงโรม
ว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (Rome Statute of the International Criminal Court) ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2545
ตามธรรมนูญกรุงโรม ได้กำหนดให้ศาลอาญาระหว่างประเทศตั้งอยู่ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นองค์การระหว่างประเทศที่เป็นอิสระและถาวร ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดขององค์การสหประชาชาติ แต่ก็มีความสัมพันธ์กับองค์การสหประชาชาติตามกรอบข้อตกลงที่มีการจัดทำขึ้น ระหว่างศาลกับองค์การสหประชาชาติ มีอำนาจพิจารณาคดีเฉพาะกับบุคคลที่กระทำอาชญากรรมร้ายแรง ตามที่บัญญัติไว้ในธรรมนูญกรุงโรม ซึ่งหมายความว่า ศาลนี้ไม่มีอำนาจพิจารณาความผิดในฐานะรัฐ สำหรับเขตอำนาจ และอำนาจหน้าที่ของศาลให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในธรรมนูญกรุงโรม
ธรรมนูญกรุงโรม มีบทบัญญัติ แยกเป็น สิบสามหมวด รวมทั้งหมด 128 มาตรา หมวดที่หนึ่งเป็นหมวดที่เกี่ยวกับการจัดตั้งศาล หมวดที่สองเป็นหมวดที่เกี่ยวกับเขตอำนาจศาล คดีที่รับฟ้อง และกฎหมายที่จะนำมาใช้ ซึ่งมีบทบัญญัติที่น่าสนใจศึกษาเป็นเบื้องแรก เช่น
คดีอาชญากรรมที่อยู่ในเขตอำนาจศาล ตามมาตรา 5 ของธรรมนูญกรุงโรม กำหนดให้ศาลมีเขตอำนาจพิจารณาคดีจำกัดเฉพาะคดีอาชญากรรมร้ายแรง ที่เป็นความกังวลของประชาคมระหว่างประเทศทั้งมวล ซึ่งได้แก่ (1) การล้างเผ่าพันธุ์ (The crime of genocide) (2) อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Crimes against humanity) (3) อาชญากรรมสงคราม (War crimes) และ (4) อาชญากรรมที่เป็นการรุกราน (The crime of aggression) โดยได้ให้ความนิยามของอาชญากรรมตาม (1) (2) และ (3) ไว้ เช่น
- การล้างเผ่าพันธุ์ ตามคำนิยามที่กำหนดไว้ในมาตรา 6 หมายความถึง การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ ที่กระทำโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการทำลายล้างซึ่งทั้งหมดหรือบางส่วน ของกลุ่มชนชาติ ชนกลุ่มน้อย เผ่าพันธุ์ หรือกลุ่มศาสนา คือ การสังหารบุคคลในกลุ่ม การก่อให้เกิดอันตรายอย่างสาหัสต่อร่างกายหรือจิตใจของบุคคลในกลุ่ม การจงใจสร้างความเสียหายต่อชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มบุคคลอันเล็งเห็นผลได้ ว่าจะนำไปสู่การทำลายสภาพทางกายภาพของบุคคลในกลุ่ม การกำหนดมาตรการใดๆ ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันการเกิดใหม่ของเด็กในกลุ่มบุคคลนั้น หรือการใช้กำลังบังคับ ย้ายเด็กจากกลุ่มหนึ่งไปอยู่อีกกลุ่มหนึ่ง
- อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ตามคำนิยามที่ได้กำหนดไว้ในมาตรา 7 หมายความถึง การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังจะกล่าวต่อไปนี้ เมื่อการกระทำนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการโจมตีที่มุ่งตรงต่อพลเมืองที่เป็น พลเรือน โดยโจมตีอย่างกว้างขวางหรือเป็นระบบ และรับรู้ถึงการกระทำนั้น เช่น ฆาตกรรม ทำลายล้าง กดขี่เยี่ยงทาส เนรเทศหรือใช้กำลังบังคับให้พลเมืองย้ายถิ่นฐาน จำขัง หรือทำให้สูญสิ้นอิสรภาพ ทรมาน ข่มขืน หรือกดขี่ข่มเหงล่วงเกินทางเพศ เป็นต้น
เงื่อนเวลาและเงื่อนไขในการใช้อำนาจศาล ตามมาตรา 11 บัญญัติว่า ศาลมีเขตอำนาจเฉพาะคดีที่เกิดขึ้นภายหลังการมีผลบังคับใช้ของธรรมนูญเท่า นั้น ในกรณีเป็นรัฐภาคีภายหลังจากการมีผลใช้บังคับของธรรมนูญ ศาลจะใช้อำนาจศาลสำหรับรัฐนั้น เฉพาะคดีที่เกิดขึ้นหลังจากการเข้าเป็นรัฐภาคีเท่านั้น เว้นแต่รัฐภาคีนั้นได้ยื่นคำแถลงต่อศาลยอมรับเขตอำนาจศาลตามมาตรา 12 วรรคสาม
ประเทศที่มีฐานะเป็นรัฐภาคีแล้ว จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขเบื้องต้นตามที่กำหนดไว้ตามมาตรา 12 ด้วย คือ ยอมรับเขตอำนาจศาลสำหรับคดีอาชญากรรมตามมาตรา 5
การใช้อำนาจศาล ตามมาตรา 13 คดีอาชญากรรมตามมาตรา 5 จะเข้าสู่การพิจารณาของศาลได้สามช่องทาง คือ ช่องทางแรกรัฐภาคีเป็นผู้ยื่นคำร้องต่ออัยการตามกระบวนการที่กำหนดในมาตรา 14 ช่องทางที่สองเป็นกรณีที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเป็นผู้ยื่นคำ ร้องต่ออัยการโดยกระทำการภายใต้ บทที่ 7 ของกฎบัตรสหประชาชาติ และช่องทางที่สามเป็นกรณีที่อัยการเป็นผู้ริเริ่มไต่สวนเองตามกระบวนการที่ กำหนดในมาตรา 15
สถานการณ์และคดีในศาลอาญาระหว่างประเทศ ตามข้อมูลของศาล ณ ปัจจุบัน มีคดีอยู่ในศาลตามคำร้องของรัฐภาคีสำหรับคดีที่เกิดขึ้นในเขตแดนของประเทศ นั้นสามประเทศ คือ ประเทศอูกันดา เป็นเรื่องสถานการณ์ในประเทศอูกันดาหนึ่งคดี ประเทศคองโกเป็นสถานการณ์ในประเทศคองโกสามคดี ประเทศแอฟริกากลาง เป็นเรื่องสถานการณ์ในประเทศแอฟริกากลางหนึ่งคดี และที่ร้องขอโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ คือ สถานการณ์ในเมืองดาร์ฟูร์ ประเทศซูดานซึ่งไม่ได้เป็นรัฐภาคี สามคดี
จากข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์และคดีข้างต้น มีข้อน่าสังเกต คือ ยังไม่มีการนำเหตุการณ์การปะทะกันในการเดินขบวนหรือการปราบจลาจลหรือการปราบ การก่อการร้าย ที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ มากมายหลายเหตุการณ์ฟ้อง เป็นคดีอยู่ในศาลเลย ซึ่งน่าจะเป็นไปตามที่อดีตตุลาการของศาลนี้ท่านหนึ่งเคยให้ความเห็นไว้ใน ทำนองว่า การใช้อำนาจของรัฐในการรักษาความสงบเรียบร้อยหรือปราบปรามผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย ตามอำนาจหน้าที่ ไม่เข้าข่ายเป็นคดีตามมาตรา 5
รัฐภาคีของธรรมนูญกรุงโรม ตามข้อมูลของศาล ณ วันที่ 12 ตุลาคม 2553 มีรัฐภาคีของธรรมนูญกรุงโรมรวม 114 ประเทศ รัฐภาคีหลังสุด คือ ประเทศบังกลาเทศที่เข้าเป็นรัฐภาคี เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2553 และไม่มีชื่อประเทศไทยอยู่ในบัญชีรายชื่อรัฐภาคี
สถานะของประเทศไทย ประเทศไทยได้ลงนามในธรรมนูญกรุงโรม เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2543 แต่ยังไม่ได้ลงนามให้สัตยาบันรับรองต่อธรรมนูญกรุงโรม จึงไม่มีฐานะเป็นรัฐภาคี ศาลอาญาระหว่างประเทศจึงไม่มีเขตอำนาจสำหรับประเทศไทยตามบทบัญญัติของมาตรา 11
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ประเทศไทยจะไม่ได้เป็นรัฐภาคี แต่ก็มีช่องทางที่จะนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่เห็นว่าเป็น อาชญากรรมตามมาตรา 5 ขึ้น ฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศได้ คือ
(1) ประเทศไทยเป็นผู้ยื่นเรื่องร้องต่ออัยการ และทำคำแถลงต่อศาลยอมรับเขตอำนาจศาลสำหรับเหตุการณ์ใดหรือกรณีใดตามกระบวน การตามมาตรา 12 วรรคสาม
(2) คณะมนตรีความมั่งคงแห่งสหประชาชาติ เป็นผู้ยื่นเรื่องต่ออัยการตามกฎบัตรสหประชาชาติ ดังกรณีเหตุการณ์ในประเทศซูดาน สำหรับเหตุการณ์การปราบการจลาจลและการก่อการร้ายของไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 นั้น เลขาธิการสหประชาชาติได้แถลงอย่างชัดแจ้งแล้วว่า เหตุการณ์ดังกล่าว เป็นกิจการภายในของประเทศไทย ซึ่งเท่ากับให้ความเห็นโดยปริยายว่าไม่เข้าข่ายเป็นอาชญากรรมตามมาตรา 5 ช่องทางนี้จึงไม่น่าเป็นไปได้สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าว
(3) มีผู้ยื่นเรื่องต่ออัยการเพื่อให้ยกเรื่องขึ้นไต่สวนเอง ตามกระบวนการตามมาตรา 15 ซึ่งจะต้องมีข้อมูลและหลักฐานแสดงว่าเป็นอาชญากรรมตามมาตรา 5 และประเทศไทยได้ทำคำแถลงยอมรับเขตอำนาจศาลตามกระบวนการตามมาตรา 12 วรรคสาม