จากประชาชาติธุรกิจ
นอก จากเหตุการณ์รัฐประหาร ในปี พ.ศ. 2549 จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสถานการณ์ทางบ้านเมืองของประเทศไทย หลังจาก วันนั้นมาถึงวันนี้ยังส่งผลกระทบกับกระแส การใช้งานสื่อทางเลือกยุคใหม่อย่าง"อินเทอร์เน็ต" ของคนไทยด้วย จากเดิมที่พื้นที่ส่วนนี้ถูกใช้เพื่อการพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นเพื่อความ บันเทิงเป็นหลัก ได้กลายเป็นเวทีแสดงความคิดเห็นทางการเมืองมากขึ้น ทั้งยังมีการโต้ตอบกันอย่าง ดุเด็ดเผ็ดร้อนกันกว่าที่เคยเป็นมา ทำให้การเมืองไทยบนสื่ออินเทอร์เน็ตมีความสำคัญขึ้นมาเป็นอันดับต้น ๆ ไม่แพ้ในสื่อกระแสหลัก
จากข้อมูลในรายงานเรื่อง "การปิดกั้นและกลั่นกรองเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตภายหลังการรัฐประหารปี 2549" ซึ่งจัดทำขึ้นโดย ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษานโยบายสื่อคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าหลังจากเหตุการณ์รัฐประหารทำให้เกิดกระแสใหม่ ๆ ขึ้นในสังคมไทย เริ่มตั้งแต่มีการแบ่งขั้วความคิดทางการเมืองออกเป็น 2 กลุ่มอย่างชัดเจน ที่สำคัญยังพบว่า อินเทอร์เน็ตกลายเป็นสื่อหลักสำหรับใช้แสดงความคิดเห็นทางการเมือง ใช้เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับใช้ตอบโต้ประเด็นการเมืองมากกว่าเมื่อก่อน เนื่องจากสื่อกระแสหลักไม่เปิดพื้นที่ให้
นายพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชาปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เสริมเรื่องการเปลี่ยนแปลงของกระแสการใช้อินเทอร์เน็ตในไทยว่า "ประเด็นที่พูดในอินเทอร์เน็ตสมัยก่อนมักจะเป็นเรื่องศีลธรรมหรือความ บันเทิง แต่หลังเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร การทะเลาะกันในอินเทอร์เน็ตก็รุนแรงกว่าแต่ก่อนมาก ขณะเดียวกันคนบนอินเทอร์เน็ตก็หันมาคุยเรื่องการเมืองมากขึ้น เพราะประเด็นทางการเมืองกลายเป็นความบันเทิงบนอินเทอร์เน็ตไปแล้ว"
อย่าง ไรก็ตามสิ่งที่เกิดตามมากับกระแสการแสดงความคิดเห็นทางอินเทอร์เน็ตก็คือ ความพยายามควบคุมการเผยแพร่เนื้อหาบนเว็บไซต์ ซึ่งรายงานชิ้นนี้ได้เปิดเผยให้เห็นถึงการกำกับดูแลเนื้อหาตามเว็บไซต์ของ ไทยในช่วงหลังรัฐประหารหลัก ๆ มี 3 แนวทาง ตัวแรกคือใช้กฎหมายโดยตรง ได้แก่ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550, พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือกฎหมายว่าด้วยการหมิ่นสถาบันเบื้องสูง เป็นต้น ตัวที่สองคือควบคุมจากการระบบโครงสร้างของเครือข่าย และตัวที่สามคือการใช้บรรทัดฐานของสังคมไทยเรื่องความเคารพรักสถาบัน เพื่อให้คนไทยเป็น ผู้สอดส่องกันเอง
"รูปแบบที่สามนี้ทำให้เกิด ปรากฏการณ์ล่าแม่มด มีคนนำข้อมูลส่วนตัวผู้ที่อยู่ต่างฝักต่างฝ่ายไปเผยแพร่กันบนอินเทอร์เน็ต ทำให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตของเขา" ผศ.ดร.พิรงรองกล่าว
ขณะที่ "Lokman Tsui" ตัวแทนจากฝ่ายนโยบายสาธารณะของกูเกิล ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับความพยายามควบคุมเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตไว้ว่า "รัฐบาลทั่วโลกใช้ความพยายามควบคุมอินเทอร์เน็ตมากขึ้น แม้การปิดกั้นอินเทอร์เน็ตจะทำได้ไม่ง่ายเหมือนการปิดกั้นสื่อหนังสือพิมพ์ แต่ถึงจะยากก็ยังเป็นไปได้ วิธีการที่รัฐบาลมักใช้คือกดดันไปที่ตัวกลางหรือผู้ให้บริการ อินเทอร์เน็ต แม้แต่ในอเมริกาก็มีปัญหาด้านการปิดกั้นอินเทอร์เน็ต แต่จะปิดกั้นการลงเนื้อหาที่เสี่ยงต่อการละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อปกป้องผล ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่มาจากปัญหาด้านกฎหมาย"
ด้าน นางสาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความคิดเห็นว่า อินเทอร์เน็ตมีจุดแข็งหลายอย่างที่ทำให้รัฐบาลต้องกลัวมากกว่าสื่อกระแสหลัก จุดแรกคือมีช่องทางลึกลับให้คนที่คิดเหมือนกันมาพบปะพูดคุยกันได้ แม้รัฐบาลจะปิดเว็บไซต์นี้ไปก็จะเกิดเว็บไซต์ใหม่ขึ้นมาอยู่ดี สองคือรัฐบาลมักมองว่าที่เล่นอินเทอร์เน็ตเป็นคนที่สามารถสร้างความสั่นคลอน เสถียรภาพทางการเมืองได้ สามอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือที่ใช้สื่อสารเรื่องการเมืองในประเทศไปสู่ ต่างประเทศได้ดี และข้อสุดท้ายคือส่งข่าวได้รวดเร็วจนรัฐบาลดักไม่ทัน
ซึ่ง ตัวกำกับดูแลที่มีผลกับเจ้าของเว็บไซต์ต่าง ๆ ในประเทศไทยมากที่สุด หนีไม่พ้นตัวควบคุมด้านการใช้กฎหมายโดยตรง ซึ่งกฎหมายที่มีผลกระทบมากที่สุดก็คือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่หลายฝ่ายมองว่าบทบาทถูกบิดเบือนจากการใช้ป้องกันการเบียดเบียนบุคคลอื่น ผ่านอินเทอร์เน็ต มาเป็นการควบคุมเสรีภาพสื่อแทน
"ก่อนหน้านี้ พ.ร.บ.คอมพ์เกิดขึ้นตามกระแสการก่ออาชญากรรมบนโลกไซเบอร์ในต่างประเทศ เน้นไปในเรื่องการปลอมแปลงข้อมูล ยังไม่มีประเด็นทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ตอนหลังเพิ่งจะมีการเพิ่มประเด็นการเมืองในร่างก่อนที่จะออกมาเป็นฉบับจริง ซึ่ง พ.ร.บ.คอมพ์ จะไม่มีประสิทธิภาพได้ขนาดนี้ หากไม่บวกกับความกำกวมของกฎหมาย และบวกข้อกฎหมายอื่น เช่น หมิ่นสถาบันเบื้องสูงเข้าไปด้วย"
นางสุรางคณา วายุภาพ ผอ.ฝ่ายการศึกษาวิจัยด้านจริยธรรมกฎหมายและผลกระทบทางสังคมของเทคโนโลยี สารสนเทศ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) มองไปในทางเดียวกันว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ผิดเพี้ยนไปจากความต้องการที่หวังไว้ตอนแรกมาก โดยเฉพาะมาตรา 14, 15, 16 ที่ทำลายคอนเซ็ปต์ใหญ่เพราะมีการเอาไปตีความร่วมกับกฎหมายหมิ่นประมาทสถาบัน เบื้องสูง และนำไปปิดหรือบล็อกทั้งเว็บไซต์ ไม่ใช่บล็อกเฉพาะบทความที่ล่วงละเมิด
อย่างไรก็ตามตัวแทนจากหลาย ฝ่ายก็ยังเห็นว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มีความจำเป็นและมีข้อดีอยู่ไม่น้อย อย่างกรณีการเก็บ log file ที่ทำให้ติดตามตัวตนของผู้ใช้งานบนอินเทอร์เน็ตได้ ช่วยป้องกันการถูกโจมตีจากผู้ไม่ประสงค์ดีผ่านเว็บบอร์ดได้ รวมถึงการเปิดช่องให้ผู้ให้บริการหรือเจ้าของเว็บไซต์สามารถพิสูจน์ได้ว่า สนับสนุนหรือยินยอมให้มีข้อความที่ผิดกฎหมายจริงหรือไม่ แต่ก็ควรมีการแก้ไขในเรื่องของการบังคับใช้ในหลาย ๆ จุด
สำหรับใน เรื่องแนวทางแก้ไขปัญหาซึ่งเกิดจากผลของการบังคับใช้ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ในไทย ทางตัวแทนจาก หลาย ๆ ฝ่ายมีความเห็นร่วมกันว่า ทางภาครัฐควรคัดสรรบุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจการใช้งานอินเทอร์เน็ตมาเป็น ผู้ตรวจตราค้นหาผู้กระทำความผิด รวมถึงควรหามาตรการบังคับใช้กฎหมายที่กำหนดเป็นมาตรฐานและไม่กำกวม เพื่อป้องกันไม่ให้การตัดสินเอาผิดไม่ได้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของพนักงานภาค รัฐเพียงอย่างเดียว
"ภาครัฐต้องมีมาตรการเลือกคนเข้าไปทำหน้าที่ให้ เหมาะสม โดยเฉพาะคนที่ต้องสอดส่องดูแลว่า เว็บไซต์ใดละเมิด ต้องเข้าใจและมีความรู้เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต และควรสร้างความชัดเจนว่า การหมิ่นประมาทสถาบันเบื้องสูงเป็นในกรณีไหนบ้าง มีผลสั่นคลอนความมั่นคงต้องเป็นอย่างไร" นางสุรางคณากล่าว
ส่วนสอง ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ชื่อดังอย่าง "วันฉัตร ผดุงรัตน์" ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์อย่างพันทิปดอตคอม และ "ทีปกร วุฒิพิทยามงคล" ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์เอ็กซ์ทีน ได้มีความเห็นในทำนองเดียวกันว่า ผู้ประกอบการ ในไทยต้องการแนวปฏิบัติที่มีความชัดเจน จากภาครัฐ เพื่อให้ทำงานได้ง่ายขึ้นและ ใช้เป็นหลักฐานในศาลได้ ขณะที่ผู้ประกอบการก็ต้องหากลไกสื่อสารบน อินเทอร์เน็ตเพื่อให้ผู้เข้าใช้เว็บไซต์มีความรู้และใส่ใจกฎหมายในส่วนนี้ ด้วย