จากประชาชาติธุรกิจ
"อย่าคิดว่าเรามีแต่ปัจจัยลบ ทั้งที่เรามีปัจจัยบวกที่ดีกว่าประเทศอื่นอยู่มาก"
เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมโรงแรมสยามซิตี้ นายวีรพงษ์ รามางกูร อดีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “นักการเมืองรุ่นใหม่-กับแนวทางพัฒนาประชาธิปไตยในอนาคต” ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย ซึ่งมีนายจาตุรนต์ ฉายแสง เป็นประธาน และมูลนิธิคอนราด อเดนาวร์
นายวีรพงษ์ หรือ ดร.โกร่ง กล่าวถึงความสำคัญในส่วนของการเมืองที่เป็นปัจจัยในการพัฒนาประเทศไปสู่ระบบ ประชาธิปไตย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งในด้านการผลิต การโทรคมนาคม และสื่อสารมวลชน ที่ได้ทำลายกำแพงของระบอบประชาธิปไตยแบบปิด และทำให้สังคมที่พยายามฝืนกระแสโลกาภิวัฒน์จะประสบกับปัญหาต่างๆ ทั้งในเรื่องการชะงักงันทางเศรษฐกิจ และการต่อต้านจากสังคมโลก จึงไม่แปลกที่จะรู้สึกว่าทั่วโลกมีความตระหนักถึงความสำคัญของระบอบ ประชาธิปไตย
นายวีรพงษ์ กล่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่มีอย่างต่อเนื่องตั้งแต่มีการเปลี่ยนระบอบ การปกครองของไทย จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย ในปี 2475 ซึ่งถูกต่อต้านมาโดยตลอดว่า “สังคมไทยไม่สามารถพัฒนาประเทศตามแนวทางประชาธิปไตย” ซึ่งในความเห็นส่วนตัว นายวีระพงษ์ ยืนยันว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคมไทยในขณะนั้น “เอื้อ” ต่อการพัฒนาประชาธิปไตยไม่แพ้ชาติอื่นๆในโลก นั่นคือคุณลักษณะ 4 ประการที่คนไทยไม่เหมือนชาติ
1) ความอดทนอดกลั้น ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันความเป็นคนไทยที่ไม่มีความขัดแย้งในเรื่องเชื้อชาติ ภูมิภาค เช่นคนจีนที่เข้ามาในเมืองไทยและได้รับการยอมรับ ความอดทนต่อความหลากหลายในเรื่องเชื้อชาติ และภาษา รวมทั้งการยอมรับในคำตัดสินของศาลโดยปราศจากกาสรต่อต้าน
2) คนไทยรู้จักประสานผลประโยชน์ เพราะในยุคที่มีการล่าอาณานิคม สิ่งที่คนไทยทำคือเราพยายามสร้างความประนีประนอมต่อต่างชาติ ในขณะที่ชาติประเทศเพื่อนบ้านของเราและอีกหลายประเทศทั่วโลกจับอาวุธขึ้นต่อ ต้าน จึงทำให้ไม่เกิดความรุนแรงขึ้นง่ายๆในสังคมไทย นอกเสียจากว่าสถานการณ์จะมีความสุกงอมจริงๆ และด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีเขียนไว้ในแบบเรียนของประเทศเพื่อนบ้านของเราว่า “ประเทศไทยเป็นประเทศที่เดินตามมหาอำนาจ” คือเวลาที่จีนเป็นใหญ่ เราก็เดินตามจีน สหรัฐเป็นใหญ่ เราก็เดินตามสหรัฐ ซึ่งเราทำเช่นนั้นมาโดยตลอด แม้ว่าทุกวันนี้เราจะยังไม่แน่ใจว่าควรจะเดินตามใครก็ตาม
3) ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งสิ่งที่สะท้อนออกมาชัดเจนที่สุดคือ ความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา และความคิดการใช้เวลาไม่ถึง 100 ปี ก็มีความกลมกลืนกันมากในประเทศ ซึ่งต่างจากประเทศเพื่อนของเราหลายๆประเทศที่ยังมีการแบ่งเขตภูมิภาค และการสู้รบตามแนวชายแดน รวมทั้งการไต่เต้าในสังคมด้วยการศึกษาและระบบอาชีพที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับชน ชั้นปกครองเท่านั้น จึงทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่เปิดโอกาสให้คนทุกระดับได้สร้างทางเดินให้ตัว เอง แม้ว่าจะมีการใช้ฐานะและลักษณะอาชีพเป็นตัวแบ่ง แต่ก็ยังไม่สร้างความเสียหายรุนแรง ยกเว้นจะมีการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีเรื่องที่เป่าให้ฟุ้งขึ้นมาจนรู้ถึงความไม่ชอบธรรม แต่ที่ผ่านมาก็ไม่ถูกโหมจนรุนแรงและลุกลาม เหมือนกับการ เหยียดสีผิวหรือศาสนาในต่างประเทศ
4) สังคมไทยเป็นสังคมที่เปิดตัวต่อวัฒนธรรมของโลก ที่จะเห็นได้จากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง ที่ทำให้เราได้เปิดหู เปิดตา และโอนอ่อนต่อวัฒนธรรมต่างๆที่เข้ามา จึงทำให้เราสามารถเทียบตัวเองให้เท่ากับนานาอารยประเทศ และหมายความว่าเราเองไม่ได้ยึดติดกับสิ่งต่างมากนักซึ่งจะส่งผลให้การปิด กั้นทางความคิด ข้อมูลข่าวสาร และการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ทำได้ยาก หรือทำไม้ได้นาน เพราะสังคมไทยเปลี่ยนตัวเองเป็นสังคมเปิดแล้ว
ทั้งนี้ นายวีระพงษ์ รามางกูร ยืนยันว่า ปัจจัยด้านคุณลักษณะทั้ง 4 ประการนั้น เป็นปัจจัยที่มีอยู่จริง และเป็นสิ่งที่ยืนยันความเหมาะต่อการพัฒนาสังคมไทยไปสู่ระบอบประชาธิปไตย
ปัจจัยต่อมาที่นายวีระพงษ์ ชี้ให้เราเห็นคือ การพัฒนาการเมืองที่เราทำได้ง่ายกว่าประเทศอื่น เพราะเป็นการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยได้ชี้ให้เห็นถึงเหตุการณ์หลังการปฏิวัติของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่หลายคนมองว่าเป็นการทำให้การเมืองไทยเดินถอยหลัง แต่ในข้อเท็จจริงคือ การปฏิวัติครั้งนั้นทำให้การพัฒนาด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยพัฒนาอย่างก้าว กระโดด และมีการแบ่งแยกไม่ให้รัฐกับเอกชนแข่งขันกันเอง เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการยกเว้นภาษีขาออกในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ทำให้สินค้าเกษตรของไทยมีราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากการอิงราคาตลาดโลก รวมทั้งการส่งเสริมการลงทุนให้เกิดการเปลี่ยนในชนบทซึ่งเป็นผลจากการทำงาน ของ 4 กระทรวงในสมัยนั้น โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขที่มีบทบาทมากที่ในการพัฒนาด้านความเป็นอยู่ต่างๆ ในขณะที่กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีความล่าช้าและไม่สามารถทำตามเป้าประสงค์ต่างๆที่วางไว้ได้ แต่ถึงอย่างนั้นการส่งเสริมการลงทุนให้เกิดเปลี่ยนแปลงในชนบทครั้งนั้น ทำให้พื้นที่ชนบทหายไปกว่า 90% รวมทั้งการนำไฟฟ้าเข้าไปสู่ชนบท ทำให้การไหลของข้อมูลเริ่มกระจายมากขึ้น การขนส่งต่างๆมีความทันสมัย และนำไปสู่การล่มสลายของชีวิตชนบทแบบเดิม โดยเฉพาะการใช้โทรศัพท์มือถือที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตมากขึ้นในภาคธุรกิจและ การค้าขาย
นอกจากนี้ นายวีระพงษ์ ยังกล่าวถึงเหตุการณ์ในปี พ.ศ.2475 ว่าการปกครองในขณะนั้นยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง อีกทั้งสภาในยุคนั้นยังถูกครอบงำโดยคณะราษฎร แม้ว่าสิ่งที่คณะราษฎรพยายามทำในขณะนั้นคือการทำให้คนไทยมีความยึดมั่นในรัฐ ธรรมนูญ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน แต่ก็มาถูกจอมพลผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจอีกครั้ง จนต้องกลับไปเริ่มต้นกันใหม่ แม้ว่าจะยังมีรัฐธรรมนูญแต่ก็เหมือนไม่มี และแม้แต่ว่าในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เราก็ยังมีรัฐธรรมนูญแบบครึ่งใบ เพื่อคานอำนาจระหว่างรัฐบาลและทหาร จนกระทั้งเกิดการปฏิวัติขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2535 ที่หลายคนคิดว่าจะเป็นครั้งซสุดท้าย แต่ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เหตุการณ์เดิมก็เกิดขึ้นอีก
สิ่งที่นายวีระพงษ์ รามางกูรตั้งข้อสังเกตไว้คือ "ทั้งที่เรามีความพร้อมทุกอย่าง ทั้งการเมือง สังคม เศรษฐกิจ แต่ทำไมเราจึงยังไม่สามารถพัฒนาระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยได้"?
นายวีระพงษ์ไขข้อสงสัยดังกล่าว โดยปัจจัยที่เป็นเหมือนตัวฉุดการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทยว่า ประกอบด้วย
1) กลุ่มปัญญาชน ซึ่งถ้าพูดถึงปัญญาชนในอดีตนั้น เป็นเหมือนผู้กล้า เป็นผู้นำทางความคิดและจิตวิญญาณของประชาธิปไตย แต่หลังจากในปี พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบัน ปัญญาชนของเรามีความอ่อนแอลง ไม่มีความกล้าและขาดจริยธรรมทางความคิดที่ต้องมีการทบทวนถึงบทบาทของตนเอง อีกครั้ง
2) พรรคการเมือง ที่เป็นเฟืองจักรสำคัญในการพัฒนาและผลักดันกลไกของประชาธิปไตย แต่ที่ผ่านมาพรรคการเมืองไทยนั้นล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด ส่วนที่ไม่ล้มไม่ลุกก็เป็นพรรคที่ไม่มีความกล้าที่จะแสดงออกทางการเมือง อีกทั้งการใช้ระบบการเมืองเพื่อทำลายกันเอง ส่งผลให้วัฒนธรรมทางการเมืองที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาการเมืองและประชาธิปไตย อ่อนแอลง
3) สื่อมวลชน ที่เป็นผู้ถ่ายทอดความคิดของปัญญาชนและนโยบายของฝ่ายการเมืองให้ประชาชนรับ รู้ แต่ที่ผ่านมาเราไม่เห็นบทบาทดังกล่าวของสื่อในปัจจุบัน ยิ่งเมื่อเทียบกับสื่อในสมัยรัฐกาลที่ 6-7 ที่มีความกล้าหาญและมีอุดมการณ์มากกว่านี้
4) กองทัพ ในปัจจุบันที่มีความอนุรักษ์นิยมมากเกินไป มองอนาคตใกล้เกินไป ทั้งในเรื่องการเมืองและสังคม ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการอบรม หล่อหลอมทางการศึกษา
นายวีระพงษ์ รามางกูร ได้กล่าวทิ้งท้ายถึงการพัฒนาการเมืองในกระแสประชาธิปไตยว่า อย่า คิดว่าเรามีแต่ปัจจัยลบ ทั้งที่เรามีปัจจัยบวกที่ดีกว่าประเทศอื่นอยู่มาก แต่ด้วยกลไกต่างๆที่กล่าวมา คนรุ่นใหม่ต้องรับรู้ในบทบาทเหล่านี้ และนำประการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตมาปรับเพื่อการพัฒนาและผลักดันระบอบ ประชาธิปไตยในประเทศ