จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : สกล หาญสุทธิวารินทร์
กฎหมายที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจการค้าหลายฉบับ กำหนดให้มีนายทะเบียน เพื่อปฏิบัติการตามบทบัญญัติของกฎหมายนั้น
การเป็นนายทะเบียนอาจเป็นได้จากการแต่งตั้งหรือเป็นโดยตำแหน่ง ซึ่งขึ้นอยู่กับบทบัญญัติของกฎหมาย แต่ละฉบับ
นายทะเบียนที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบธุรกิจการค้า ลำดับแรกๆ คือนายทะเบียนพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่รับจดทะเบียนพาณิชย์ตามพระราชบัญญัติทะเบียน พาณิชย์ พ.ศ. 2499 กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้ผู้ประกอบพาณิชยกิจบางประเภทต้องจดทะเบียนพาณิชย์ ปัจจุบันได้มีประกาศแต่งตั้งให้ ข้าราชการตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไป ของหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น คือกรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล ที่ได้รับมอบหมาย เป็นนายทะเบียนพาณิชย์ เพื่อรับจดทะเบียนพาณิชย์ในเขตท้องที่
การจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนหรือบริษัทจำกัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องจดทะเบียนกับนายทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท ซึ่งเป็นนายทะเบียนโดยตำแหน่งตามที่กำหนดในกฎกระทรวงออกตามมาตรา 1014 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนการจัดตั้งเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ก็ต้องไปจดทะเบียนกับนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด คืออธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและผู้ที่อธิบดีมอบหมายซึ่งเป็นนายทะเบียนโดย ตำแหน่ง
ผู้ประกอบการที่ต้องการมีเครื่องหมายการค้าของตนเอง ก็ต้องไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า กับนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ซึ่งเป็นนายทะเบียนจากการแต่งตั้ง
การประกอบการขนส่งตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน คืออธิบดีกรมการขนส่งทางบกหรือผู้ได้รับมอบหมายเป็นนายทะเบียนกลางโดย ตำแหน่ง ที่มีอำนาจออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งในกรุงเทพมหานคร การขนส่งระหว่างจังหวัด การขนส่งระหว่างประเทศ และขนส่งจังหวัดเป็นนายทะเบียนประจำจังหวัด ที่มีอำนาจออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งในจังหวัดนั้น
ผู้ประสงค์จะประกอบธุรกิจนำเที่ยว เป็นมัคคุเทศก์ หรือเป็นผู้นำเที่ยว จะต้องได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ตามพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 นายทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์เป็นตำแหน่งจากการแต่งตั้ง
การประกอบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ตามพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ. 2548 ต้องยื่นขอจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจดทะเบียน ต่อนายทะเบียน คืออธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีที่เป็นนายทะเบียนโดยตำแหน่ง หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่อธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีมอบหมายให้ ปฏิบัติหน้าที่นายทะเบียน
อำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนในการรับจดทะเบียน ออกใบอนุญาต ให้แก่ผู้ประกอบการดังกล่าวข้างต้น ถือเป็นคำสั่งทางปกครองที่มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล เมื่อมีคำสั่งไปแล้วก็ย่อมมีผลผูกพัน การจะเพิกถอนเปลี่ยนแปลงยกเลิกคำสั่งที่ออกไปแล้วจะต้องเป็นไปตามที่กฎหมาย ให้อำนาจไว้ หากนายทะเบียนเพิกถอนเปลี่ยนแปลงยกเลิกคำสั่งโดยไม่มีเหตุที่จะอ้างได้ตาม กฎหมายหรือโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ ก็ไม่มีผลทางกฎหมาย คำสั่งเดิมยังคงมีผลอยู่ ซึ่งมีคำพิพากษาของศาลฎีกาที่น่าจะถือเป็นบรรทัดฐานได้คือ
ในคดีผู้ยื่นคำขอรับอนุญาตประกอบการขนส่ง ฟ้อง นายทะเบียนขนส่งประจำจังหวัดและคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัด คือ จำเลยที่ 5 เป็นนายทะเบียนประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช และเป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการควบคุมการขนส่งประจำจังหวัดโดยตำแหน่ง ได้พิจารณาคำขออนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็กของโจทก์ เห็นควรออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็กให้แก่โจทก์ แล้วนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำ จังหวัดนครศรีธรรมราชเพื่ออนุมัติเงื่อนไขไว้ในใบอนุญาต แต่คณะกรรมการไม่ได้พิจารณาเรื่องการกำหนดเงื่อนไข แต่มีมติให้จำเลยที่ 5 ไปทบทวนเรื่องการอนุญาต ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นการก้าวล่วงเข้าไปชี้นำการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบ การขนส่งโดยรถขนาดเล็กซึ่งเป็นอำนาจของจำเลยที่ 5 ในฐานะนายทะเบียนประจำจังหวัดโดยตรงอันเป็นการกระทำที่เกินขอบอำนาจของคณะ กรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัด จึงเป็นมติที่ไม่ชอบ และการที่จำเลยที่ 5 กลับความเห็นเดิมแล้วมีความเห็นใหม่กลายเป็นว่าไม่สมควรออกใบอนุญาตประกอบ การขนส่งโดยรถขนาดเล็กให้แก่โจทก์ เป็นความเห็นและคำสั่งที่ปราศจากหลักเกณฑ์และเหตุผล ไม่มีกฎหมายให้อำนาจจำเลยที่ 5 ทำให้ถึงเพียงนั้น เป็นการไม่ให้ความคุ้มครองและไม่ให้ความเป็นธรรมแก่โจทก์ ความเห็นของจำเลยที่ 5 ที่เห็นสมควรออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็กให้แก่โจทก์ยังมีผลอยู่ ตามเดิม (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 866/2541)
การไม่รับจดทะเบียน การไม่อนุญาต การเพิกถอนการจดทะเบียน การเพิกถอนใบอนุญาตที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ย่อมเป็นการกระทบต่อสิทธิของผู้อยู่ใต้บังคับของคำสั่ง กฎหมายจึงกำหนดช่องทางให้ผู้ได้รับผลจากคำสั่งนั้นสามารถอุทธรณ์ไปยังคณะ กรรมการหรือบุคคลที่มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ เช่นคณะกรรมการหรือรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินั้น เพื่อให้พิจารณาเปลี่ยนแปลงคำสั่งนั้นได้ ภายในระยะเวลาที่กำหนด เช่น ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 กำหนดให้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า หรือตามพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 กำหนดให้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ในกรณีที่กฎหมายนั้นไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการอุทธรณ์กำหนดไว้ ก็สามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทาง ปกครอง พ.ศ. 2539 ได้
การใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาล ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนหรือผู้ขออนุญาตใช้สิทธิอุทธรณ์แล้ว แต่คณะกรรมการหรือบุคคลผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ เห็นด้วยกับคำสั่งของนายทะเบียน โดยให้ยกอุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์ สามารถใช้สิทธิฟ้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจได้ตามที่กฎหมายกำหนด
ถ้าผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนหรือผู้ยื่นขออนุญาตดังกล่าว ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอน ที่กฎหมายกำหนด แต่นำคดีมาฟ้องต่อศาลเลย อำนาจฟ้องเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ดังนั้นโดยบทบัญญัติกฎหมายบางฉบับและแนวคำพิพากษาของศาลฎีกา ไม่ว่าจะเป็นคดีภาษี คดีเครื่องหมายการค้า หรือคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดในคดีเกี่ยวกับคำสั่งทางปกครอง ที่ถือเป็นบรรทัดฐานมากมายหลายคดีว่า การนำคดีมาฟ้องโดยกระทำข้ามขั้นตอนหรือไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ถือว่าเป็นการฟ้องโดยไม่มีสิทธิหรือไม่มีอำนาจฟ้อง ต้องยกฟ้อง