สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คดีที่ดินกับคนจน: อำนาจรัฐและการลงทัณฑ์

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

โดย : สหพล สิทธิพันธ์ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้(สกต.)


หลักการที่ว่า บุคคลเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายและผู้ชี้ขาดความถูกผิดคือศาลสถิตยุติธรรมแต่ สำหรับ"คนจน"เมื่อขึ้นสู่ศาลมิได้ยุติลงด้วยความเป็นธรรม
ก่อน จะถึงขั้นตอนการปราบปรามด้วยกองกำลังติดอาวุธ กฎหมายคือเครื่องมือสำคัญที่ ทำให้รัฐดูเสมือนมีความชอบธรรมในการใช้อำนาจ  และโดยปกติกลไกการใช้ความรุนแรง เช่น กองทัพ  ตำรวจ  ก็ใช้ควบคู่กับกลไกทางอุดมการ เช่น กฎหมาย สื่อมวลชน เห็นได้ชัดเจนในกรณีการปราบปรามการชุมนุมของ นปช. และคนเสื้อแดง

กรณีการปราบปรามการเคลื่อนไหวเพื่อโต้แย้งสิทธิในที่ดิน การเข้ายึดที่ดินของนายทุนโดยเกษตรกรรายย่อย แรงงานไร้ที่ดินในชนบทหรือ คนจน(ในความหมายคนที่ไร้อำนาจรัฐและอำนาจทางเศรษฐกิจอยู่ในมือ) ล้วนดำเนินไปโดยการทำงานร่วมกันของกลไกทางอุดมการ และกลไกการใช้ความรุนแรง

ไม่ว่ากรณีการจับกุมผู้ต้องหา  ๑๐๘  คน ด้วยข้อกล่าวหาว่าบุกรุกที่ดินเอกชน กว่า  ๑,๐๐๐ คดี  ที่จังหวัดลำพูน เมื่อปี ๒๕๔๕

ไม่ว่ากรณีการสลายการชุมนุมและตอบโต้การยึดสวนปาล์ม โดยเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนภาคใต้ที่จังหวัดกระบี่ เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๔๖ และที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี  เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๔๖ ซึ่งนำมาสู่การจับกุมผู้ต้องหาหลายร้อยคนในจำนวนนี้มี  ๔๘ คน ถูกส่งฟ้องศาลด้วยข้อกล่าวหาว่าบุกรุกที่ดินสวนปาล์มเอกชน รวม ๒๑ คดี

โดยหลักการที่เชื่อกันว่าบุคคลเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย และผู้ชี้ขาด ความถูกผิดคือศาลสถิตยุติธรรม แต่เรื่องราวของ “คนจน” เมื่อขึ้นสู่ศาลบ่อยครั้งมิได้ยุติลงด้วยความเป็นธรรม  กระทั่งนำมาสู่ข้อสรุปว่าแท้จริงแล้วกฎหมายกับความเป็นธรรมมิได้ดำรงอยู่ควบ คู่กันเสมอไป  เพราะความแตกต่างกันด้วยฐานะทางเศรษฐกิจ-สถานะทางการเมือง  ล้วนเป็นมูลเหตุสำคัญ  ซึ่งเราจะพบได้เสมอในคดีของคนจน  โดยเฉพาะคดีที่เกิดจากการต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกิน หรือ การต่อสู้เพื่อปกป้องผืนป่า ต้นน้ำลำธาร และสภาพแวดล้อมของชุมชน เช่น กรณีชาวบ้านย่าหมี  อำเภอเกาะยาว  จังหวัดพังงา ต่อสู้คัดค้านการทำลายป่าชุมชนเพื่อสร้างรีสอร์ทโดยนักลงทุนด้านการท่อง เที่ยว จนถูกจับกุมดำเนินคดี จำนวน ๑๘ คน ด้วยข้อหา บุกรุกที่ดินมีเอกสารสิทธิ  ซึ่งภายหลังได้ตรวจสอบพบว่าเอกสารสิทธิ์เหล่านั้นออกโดยมิชอบ, ( ดูรายงานการตรวจสอบฯ ที่ ๑๐๗/๒๕๕๒โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) 

ในคดีเหล่านี้ผู้มีอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจ-การเมือง สามารถที่จะใช้กระบวนการยุติธรรมให้เกิดประโยชน์ในการปกป้องผลประโยชน์ของตน เองได้เสมอจนแทบจะสรุปได้ว่ากระบวนการยุติธรรมในปัจจุบันแท้จริงคือ กระบวนการอยุติธรรม

กล่าวเจาะจงลงไปที่คดีอันเนื่องมาจากการต่อสู้เพื่อที่ดินทำกินของ เกษตรกรไร้ที่ดินหรือแรงงานในชนบททั้งหลาย  มูลเหตุของเรื่องนี้มาจากการกำหนดนโยบายของรัฐในด้านการจัดการทรัพยากรและ การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ผิดพลาดมาแต่ต้น หรือจะเรียกว่าตั้งใจให้เป็นเช่นนี้ก็ว่าได้เพราะต้องการควบคุมการจัดสรร แบ่งปันปัจจัยการผลิตให้อยู่แต่ในหมู่พวกเดียวกันกับผู้กุมอำนาจรัฐ  พร้อมๆ กับการตัดสิทธิ์ริดรอนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการถือครองปัจจัยการผลิต ทั้งๆที่พวกเขาทั้งหลายคือกำลังแรงงานผู้ทำการผลิตแต่กลับไร้ปัจจัยการผลิต  ชนชั้นปกครองตระหนักดีว่า “มันผู้ใดควบคุมหรือมีกรรมสิทธิ์เหนือปัจจัยการผลิตของสังคม มันผู้นั้นย่อมมีอำนาจควบคุมชะตากรรมและลมหายใจของชนชั้นผู้ใช้แรงงานทำการ ผลิต”

เพื่อให้ทุนนิยมเติบโตรุดหน้าไปไม่หยุดยั้ง  ที่ดินจึงถูกกำหนดให้ทำหน้าที่มากกว่าการผลิตอาหารหรือปัจจัยสี่สำหรับ มนุษย์แต่ที่ดินต้องมีบทบาทในฐานะที่เป็นสินค้าได้ด้วย เมื่อมาถึงขั้นนี้กลไกตลาดการลงทุนซื้อขายกักตุนเก็งกำไรที่ดินก็เข้ามามี บทบาทกำหนดการกระจายการถือครองที่ดินทำให้ผู้ที่มีเงินทุนมากกว่าสามารถเข้า ถึงที่ดินได้มากกว่าด้วย  แรงกดดันทางการเงินยังส่งผลให้ที่ดินของเกษตรกรรายย่อยหลุดมือเร็วยิ่งขึ้น ด้วยแพ้ภัยสงครามเศรษฐกิจ

การแย่งชิงและผูกขาดการถือครองที่ดินโดยกลุ่มทุนต่างๆ เพื่อเก็งกำไร  บ้างก็จำนองธนาคารเอาเงินไปลงทุนในธุรกิจอื่นๆ จนกลายเป็นหนี้เน่า  หลังฟองสบู่ทางเศรษฐกิจแตกเมื่อปี ๒๕๔๐ ที่ดินมากกว่า ๓๐ ล้านไร่เป็นหนี้เน่า และประมาณว่ามีที่ดินประเภทต่างๆ ถูกทิ้งร้างและก่อให้เกิดการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจปีละประมาณ... ๓ แสนล้านบาท  ในภาคใต้เฉพาะที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี  จังหวัดกระบี่  จังหวัดชุมพร กลุ่มทุนสวนปาล์มรายใหญ่ ถือครองที่ดินรัฐโดยกลวิธีอันฉ้อฉล  จำนวนกว่า....๒.....แสนไร่

การตอบโต้จาก คนไร้ที่ดินหรือกำลังแรงงานภาคเกษตรที่ล้นเกินอยุ่ในชนบท และเขตชานเมือง ได้เริ่มขึ้นในจังหวัดลำพูน-เชียงใหม่ เมื่อปี  ๒๕๔๔-๔๕ โดยการตรวจสอบข้อมูลที่ดินแต่ละแปลงพบว่ามีที่ดินทิ้งร้างอยู่หลายแปลงและ เป็นหนี้เน่าอยู่ในธนาคารทั้งเอกสารสิทธิ์ก็ออกโดยมิชอบ  ปฏิบัติการต่อมาคือการบุกยึดพื้นที่การเกษตรที่ถูกทิ้งร้างติดค้างธนาคาร พร้อมกับชูคำขวัญ “ที่ดินต้องเป็นของผู้ถือคันไถ”

เหตุการณ์นี้นำไปสู่การจับกุมเกษตรกรนักต่อสู้  ๑๐๘ คน  ข้อหาบุกรุก รวม กว่า ๑,๐๖๔คดี  ปัจจุบันศาลฎีกาตัดสินจำคุกชาวบ้านดงขี้เหล็ก จังหวัดลำพูน ๒ ปี จำนวน ๒ คนอีก ๒ คน เป็นชาวบ้านท่าหลุก จังหวัดลำพูน ศาลตัดสินจำคุกคนละ ๑ ปี อีก ๓๑ คน รอคำพิพากษาศาลฎีกา  ที่เหลือยกฟ้อง

การยึดที่ดินขยายตัวลงสู่ภาคใต้  ปี ๒๕๔๖ เกษตรกรไร้ที่ดินหรือแรงงานชนบทไร้ที่ดินบุกยึดสวนปาล์มขนาดใหญ่ในเขต จังหวัดสุราษฎร์ธานี-กระบี่ จำนวน ๑๓ แห่ง  ด้วยกำลังมวลชนประมาณ  ๒๐,๐๐๐ คน  ด้วยเหตุผลว่าพื้นที่สวนปาล์มเหล่านั้นหมดสัญญาเช่ากับรัฐบาลแล้วแต่นายทุน ทั้งหลายยังไม่ยอมถอนตัวออกจากพื้นที่  พื้นที่เหล่านั้นมีฐานะทางกฎหมายเป็นที่ดินรัฐนับตั้งแต่ที่ดินป่าสงวนแห่ง ชาติ  เขตปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม  ที่ดินราชพัสดุ  ที่ดินสาธารณะประโยชน์  ทุ่งทำเลเลี้ยงสัตว์  ที่ดินสหกรณ์นิคม ซึ่งรัฐบาลควรนำมาปฏิรูปกระจายการถือครองและใช้ทำประโยชน์ในฐานะปัจจัยการ ผลิตให้เกษตรกรมากกว่าปล่อยให้นายทุนผูกขาดการถือครอง  ผลักเกษตรกรส่วนใหญ่ให้กลายเป็นแรงงานที่ขาดความมั่นคงในอาชีพ

เหตุการณ์นี้นำไปสู่การปราบปรามผลักดันด้วยความรุนแรงต่อกลุ่มผู้ยึด ที่ดินให้ออกจากพื้นที่ และจับกุมสมาชิกที่ไม่ยอมล่าถอยจำนวนหลายร้อยคน  แต่ที่เป็นคดีขึ้นสู่ศาลมีจำนวน ๔๘ คน  ๒๑ คดี  หลังจากต่อสู้คดีประมาณ ๓ ปี ด้วยวงเงินประกันตัว ๓,๗๘๐,๐๐๐ บาท(ระดมความช่วยเหลือจากแนวร่วม) สุดท้าย ศาลยกฟ้อง  เหลือเพียง ๑ ราย รอการตัดสินจากศาลฎีกาซึ่งเป็นคดีแจ้งความเท็จ

หลังจากการสลายการชุมนุม ของคนไร้ที่ดินที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อปี ๒๕๔๖ มวลชนแยกกระจัดกระจายเป็นหลายกลุ่มและพยายามเคลื่อนกำลังเข้ายึดที่ดินแปลง ต่างๆ ที่หมดสัญญาเช่าแต่ก็ถูกตีโต้ด้วยความรุนแรงทุกครั้ง  กระทั้งเดือนกันยายน ๒๕๕๐ ชุมชนสันติพัฒนา  จึงได้เข้ายึดพื้นที่ ส.ป.ก. และพื้นที่ป่าถาวร ที่ถูกเปลี่ยนสภาพเป็นสวนปาล์มน้ำมัน จำนวน ๑,๔๘๔ ไร่ ซึ่งอยู่ในความครอบครองของบริษัทสหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม(มหาชน) จำกัด  ต่อมาบริษัทฯ ได้ฟ้องสมาชิกชุมชนสันติพัฒนา จำนวน  ๑๒ คน ดังนี้ (บริษัทสหฯ มีพื้นที่ทั้งหมด ๙ แปลง จำนวน ๔๔,๐๐๐ ไร่เศษ )

๑. คดีอาญา หมายเลขดำที่  ๑๙๑๒, ๒๑๓๑/ ๕๒  จำเลย ๙ คน ข้อหาร่วมกันบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ฯ
๒. คดีแพ่ง หมายเลขดำ ที่ ๒๓๐/๕๒  จำเลย  ๓ คน ข้อหาละเมิด  ฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจำนวน  ๕ ล้านบาทเศษ
๓. คดี แพ่งหมายเลขดำ ที่ ๑๒๔๓/๕๒  จำเลย ๑๒ คน ข้อหาละเมิด  ฟ้องขับไล่เรียกค่าเสียหาย  จำนวน ๑๐ ล้านบาทเศษ  (โจกท์ถอนฟ้องจำเลย ๓ คน คงเหลือ ๙ คน )
ประเด็นข้อต่อสู้ของจำเลย
๑. บริษัทสหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มฯ ไม่มีอำนาจฟ้อง
๒. ที่ ตั้งของชุมชนตั้งอยู่บนที่ดิน ส.ป.ก.  และได้รับการผ่อนผันให้อยู่อาศัยโดยมติคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหา คปท. ครั้งที่  ๑  วันที่  ๑๑ มีนาคม  ๒๕๕๓
๓. ที่ดินพิพาทไม่ใช้ที่ดินของบริษัทสหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มฯ
๔. น.ส.๓ ก  ที่ใช้เป็นฐานในการฟ้องร้องออกโดยมิชอบด้วยกฎหมายโดยการชี้มูลความผิดของกรม สอบสวนคดีพิเศษภายใต้คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาคดีความ  กระทรวงยุติธรรม

นอกจากนี้แล้ว  ปี  ๒๕๕๒ ยังมีการยึดที่ดินสวนป่ายูคาลิปตัส ของบริษัทสวนป่ากิตติ และกระดาษดับเบิลเอ และบริษัทลูกในเครือสวนป่ากิตติ ที่หมดสัญญาเช่าจากกรมป่าไม้ และก่อตั้งบ้านเก้าบาตร(และอีกประมาณ ๔ กลุ่ม) ที่ตำบลลำนางรอง  อำเภอโนนดินแดง  จังหวัดบุรีรัมย์  สมาชิกของกลุ่มถูกดำเนินคดี  ๓  คน และ  การยึดสวนป่ายูคาลิปตัส องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้(ออป.)ก่อตั้งบ้านบ่อแก้ว ที่ ตำบลทุ่งพระ  อำเภอคอนสาร  จังหวัดชัยภูมิ  กรณีหลังนี้มีคดีแพ่งเป็นชนักปักหลังนักต่อสู้สามัญชนจำนวน ๓๐ ราย

กรณีบ้านท่าหลุก  กิ่งอำเภอเวียงหนองล่อง  จังหวัดลำพูน เกษตรกรไร้ที่ดิน เข้าใช้พื้นที่ในโครงจัดสรรที่ดินแปลงใหญ่หนองปลาสวาย  เมื่อปี  ๒๕๔๕   ต่อมาถูกนายทุนฟ้องข้อหาบุกรุก  ๑๙ ราย  ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก ๑ ปี ศาลอุทธรณ์ตัดสินลดโทษเหลือ  ๖  เดือนด้วยเหตุผลว่าชาวบ้านบุกรุกเฉพาะกลางวันไม่ได้สร้างที่พักในพื้นที่ และพ้นโทษได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๓ จำนวน ๑๗ คนเสียชีวิตในคุก ๑ คนเพราะป่วยด้วยโรคมะเร็ง(ยังถูกจำคุกต่ออีก ๑ คน เพราะมีความผิดในข้อหาอื่นด้วย)  กรณีนี้ฝ่ายโจทก์อาศัยเอกสารสิทธ์แสดงการเป็นเจ้าของที่ดินเป็นฐานในการฟ้อง แต่มีเงื่อนงำว่าเหตุใดเอกสารสิทธิ์จึงออกทับที่ดินโครงการจัดสรรของชุมชน  และหลังศาลอุทธรณ์พิพากษาทนายความจำเลยพยายามยื่นขอประกันตัวเพื่อสู้คดีใน ศาลฎีกาแต่ศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตโดยอ้างเหตุผลว่ากลัวจำเลยหลบหนีส่วนศาลฎีกา มีแนวโน้มไม่รับพิจารณาด้วยเหตุว่าเป็นคดีที่มีโทษต่ำ  ชะตากรรมของคนไร้ที่ดินบ้านท่าหลุก  กลุ่มนี้จึงต้องนอนคุก  ๖  เดือน ครอบครัวต้องประสบความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจอย่างยิ่งยวด

กรณีบ้านพรสวรรค์ ตำบลข่วงเปา อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่  สมาชิกของสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ จำนวน ๔๗ คน ถูกดำเนินคดีอาญา, ๓๙ คนในชุดเดียวกัน ถูกดำเนินคดีแพ่ง(เสียชีวิต ๘ ราย) ข้อหาบุกรุกสร้างที่พักอาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ(กรณีนี้ไม่มีที่ดินทำกิน) ในคดีอาญาศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก ๖ เดือน แต่ให้รอลงอาญา ส่วนคดีแพ่งให้ชดใช้โทษฐานความผิด ๗ ประการ เช่น ทำให้สูญเสียหน้าดิน สูญเสียปุ๋ยในดิน ทำให้เสียเนื้อไม้ ทำให้โลกร้อน(เฉพาะความผิดที่ทำให้โลกร้อนต้องชดใช้เป็นเงิน ๕๔,๐๐๐ บาท/ไร่) ซึ่งภายหลังจำเลยได้ทำสัญญายินยอมทำงานเพื่อใช้แรงงานทดแทนค่าปรับรายละ ๒๐๐,๐๐๐ – ๓๐๐,๐๐๐ บาท( ค่าปรับไม่เท่ากันเพราะพื้นที่อยู่อาศัยแต่ละครอบครัวไม่เท่ากัน)  โดยต้องทำงานที่หน่วยเพาะชำกล้าไม้แม่ออนอำเภอสันกำแพง ระยะทางไปกลับจากที่พักถึงที่ใช้แรงงานประมาณ  ๑๘๐ กิโลเมตร จำเลยต้องทำงานให้แล้วเสร็จภายใน ๕๒ วัน ทั้งนี้ให้ไปทำงานสัปดาห์ละ ๑ วัน จำเลยต้องจ่ายค่าเดินทางและค่าอาหารกลางวันด้วยตนเอง ภายหลัง องค์การบริหารส่วนตำบลข่วงเปา มีรถยนต์ให้บริการแต่ต้องเติมน้ำมันเอง (ข้อมูลจากการสัมภาษณ์  ประยงค์  ดอกลำไย ที่ปรึกษาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ-สกน.)

 นอกจากการยึดที่ดินในยุคใหม่ยังมีการบุกเบิกที่ดินในยุคเก่าสร้างหมู่ บ้านชุมชนเกษตรกรรมอยู่ในเขตป่ามายาวนานซึ่งปัจจุบันถูกผนวกเป็นพื้นที่เขต ป่าอนุรักษ์ มีปัญหาถูกกรมอุทยานฟ้องดำเนินคดีโดยเฉพาะข้อหาใหม่ในทางแพ่งคือทำให้โลก ร้อนซึ่งสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย(คปท.) ทั่วประเทศ ๓๕ ราย ถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายรวมเกือบ ๑๓ ล้านบาท( ๑๒,๙๓๐,๙๒๗ บาท)

รัฐและทุนตอบโต้การต่อสู้ของเกษตรกร-แรงงานไร้ที่ดินด้วยการใช้ความ รุนแรง  ทั้งโดยกำลังของคนในเครื่องแบบ  กลุ่มอิทธิพลนอกเครื่องแบบ  และกลไกของกระบวนการยุติธรรมซึ่งเป็นความรุนแรงอีกรูปแบบหนึ่ง

กล่าวในมิติของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเมื่อเราได้ศึกษาความจริงใน หลายคดีทำให้ค้นพบความจริงในท่ามกลางความอยุติธรรมหลายประการดังนี้

๑. ศาลและกลไกอื่นๆ ในกระบวนการยุติธรรม มีฐานะเป็นเครื่องมือของนายทุนในการปกป้องค้ำยันความศักดิ์สิทธิ์และทรง อิทธิฤทธิ์ของ “ระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล” ในการถือครองเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตโดยเฉพาะที่ดิน  ดังจะเห็นได้ชัดเจนในกรณีนายทุนฟ้องชาวบ้านย่าหมี อำเภอเกาะยาว  จังหวัดพังงา จำนวน ๑๘ คนข้อหาบุกรุกที่ดินมีเอกสารสิทธิ์  และ กรณีสมาชิกชุมชนสันติพัฒนา อำเภอพระแสง  จังหวัดสุราษฎร์ธานี ถูกฟ้องทั้งคดีแพ่ง และคดีอาญา จำนวน ๑๒ คน  โดยมี น.ส. ๓ ก  จำนวน     ๑๐ แปลง  เป็นฐานในการกล่าวหาฟ้องร้อง  ต่อมาเมื่อวันที่  ๒-๗  พฤศจิกายน ๒๕๕๒ กรมสืบสวนคดีพิเศษ  ได้ตรวจสอบสารบบที่ดินของ น.ส.๓ ก  เหล่านั้นโดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบด้วย  ผลการตรวจสอบเชื่อได้ว่าเอกสารสิทธิ์ออกโดยมิชอบ  ที่สำคัญมีที่ดินอีก ๑ แปลงที่อยู่ระหว่างการยื่นขอออกเอกสารสิทธิ์และภายหลังในการประชุมคณะ กรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฎิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ครั้งที่ ๑/๒๕๕๓    วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ ที่ทำเนียบบรัฐบาล     เจ้าหน้าที่กรมที่ดินได้ชี้แจงว่าที่ดินพิพาทไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะออก เอกสารสิทธิ์ให้ได้  แต่ยังมิได้ถอนออกจากคำฟ้อง

๒. กระบวนการยุติธรรม ซึ่งมอบอำนาจชี้ถูกชี้ผิดไว้ที่ศาลซึ่งเป็นสถาบันที่ “ไร้การตรวจสอบถ่วงดุลย์จากประชาชนหรือองค์กรใดๆ ตามระบบประชาธิปไตย”  ในขณะเดียวกันสถาบันศาลยังเชื่อมโยงรับใช้ใกล้ชิดกับสถาบันเก่าแก่ในสังคม ไทยทำให้ยากยิ่งนักที่จะมีใครกล้าวิพากษ์วิจารณ์ได้  อำนาจใดมิอาจตรวจสอบได้อำนาจนั้นย่อมถูกใช้เพื่อประโยชน์และความพึงพอใจของ ผู้กุมอำนาจนั้นแต่ฝ่ายเดียว

๓. คำพิพากษา  คำสั่ง  กระบวนการพิจารณา  ของศาลในหลายคดีไม่ว่าสิ้นเสร็จเด็ดขาดแล้วหรืออยู่ในระหว่างการพิจารณาล้วน มีลักษณะเป็นการ “กดขี่ขูดรีด” ที่กระทำต่อเกษตรกรยากจน-แรงงานไร้ที่ดิน ซ้ำซ้อนสืบเนื่องมาจากการกดขี่ขูดรีดโดยระบบเศรษฐกิจ  เช่น  กรณี ๑๙ รายที่บ้านท่าหลุก จังหวัดลำพุน กรณี ๔๗ ราย บ้านพรสวรรค์ จังหวัดเชียงใหม่  กรณีฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งโดยอ้างมูลเหตุว่าทำให้โลกร้อนทั้งในภาค เหนือ ใต้ อีสาน  กรณีชุมชนสันติพัฒนา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ฯลฯ

๔. ความล่าช้าโดยไม่มีเหตุอันควรในกระบวนการพิจารณาของศาลยุติธรรม  สะท้อนระบบสองมาตรฐาน  เป็นมูลเหตุสำคัญที่ตอกย้ำ “ความล่าช้าคือความไม่ป็นธรรม”  เช่น  คดีที่ ส.ป.ก. ฟ้องขับไล่บริษัทจิว กัง จุ้ย  ซึ่งครอบครองทำประโยชน์ในเขต ส.ป.ก. มายาวนานเมื่อปี ๒๕๕๑ ศาลชั้นต้นจังหวัดกระบี่พิพากษาให้โจทย์  คือ ส.ป.ก. เป็นฝ่ายชนะคดี จำเลยจึงยื่นอุธรณ์ และขอคุ้มครองชั่วคราวเพื่อเข้าทำประโยชน์ต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด  บัดนี้ กว่า ๒ ปีผ่านไป  ศาลอุทธรณ์ยังไม่มีคำพิพากษา  ในขณะที่เกษตรกรเฝ้ารอคอยการปฏิรูปที่ดินมานับตั้งแต่ปี ๒๕๔๖

๕. การพิจารณาคดีโดยขาดความรอบรู้ในมิติทางสังคม ประวัติศาสตร์  วิถีชีวิตและการผลิต ของชนชั้นผู้ทำการผลิต  และขาดความเครารพต่อหลักสิทธิมนุษยชน  ทำให้การพิจารณาและพิพากษาคดีเป็นการซ้ำเติมทุกข์เข็ญให้กับชีวิตที่เป็น เบี้ยล่างในสังคมต้องแบกรับชะตากรรมการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนซ้ำซ้อนสืบไป  เช่น  กรณี นางหน่อดา  (ปาเกอเญอ)  อายุ  ๖๕  ปี ถางป่า ๕๐๐ ไร่ ด้วยมีดเพียง  ๑ เล่ม เหตุเกิดที่ อำเภอแม่สะเรียง  จังหวัดแม่ฮ่องสอน(ดูรายละเอียดในรายงานตรวจสอบการละเมิดสิทธิโดยคณะกรรมการ สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ)  และ กรณี จับหนูกินในเขตอุทยานไปเก็บเกี่ยวข้าวโพดถูกฟ้องข้อหาทำให้โลกร้อน  (ภาคอีสาน) กรณีคนลัวะ(ชนชาติส่วนน้อย) อำเภอเชียงกลาง  จังหวัดน่าน ถูกจับเพราะหาเก็บฟืนในเขตอุทยานฯ

๖. ศาลยุติธรรม เป็นกลไกยับยั้งการใช้สิทธิของคนจนในการต่อสู้กระทั่งสลายการลุกขึ้นสู้ของ ประชาชน  เช่น กรณีเมื่อปี ๒๕๔๖ การเคลื่อนไหวเข้ายึดที่ดินสวนปาล์มหมดสัญญาเช่า จำนวน๑๓ แปลง รวมพื้นที่ หลายหมื่นไร่ ในเขตจังหวัดกระบี่- สุราษฎร์ธานี  และ กรณีเมื่อปี ๒๕๔๕ ยึดที่ดินนายทุนจังหวัดเชียงใหม่- ลำพูน ๒๒ แปลง รวมพื้นที่ประมาณ ๑๐,๐๐๐ ไร่  คดีที่เกิดจากทั้งสองกรณีนี้ส่วนใหญ่ศาลยกเพราะหลักฐานไม่พอ  แสดงว่าตั้งข้อหาจับกุมส่งศาลไว้ก่อน เพื่อสลายม็อบหรือทำให้การต่อสู้ชะงักและมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากมาย เช่น...กรณีชุมชนสันติพัฒนา  คลองไทร  น้ำแดง  มีภาระค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีรวมถึงปัจจุบันประมาณ  ๑,๑๒๐,๐๐๐ ล้านบาท  ทั้งนี้ยังไม่ได้รวมค่าเดินทาง ในวันมาศาลของจำเลยและ ญาติ                                                                                                                                                                                                                  

ด้วยมูลเหตุตามที่กล่าวมาข้างต้น  รวมถึงที่นอกเหนือจากนี้  จึงมีข้อเสนอเพื่อผลักดันให้กระบวนการยุติธรรมไทยได้รับใช้ประชาชนด้วยภาระ กิจการสร้างความเป็นธรรม และ ความเสมอภาคในสังคม  ดังนี้
๑. ปฏิวัติระบบศาลจากระบบกล่าวหาเป็นระบบไต่สวน

๒. ปรับปรุงกระบวนวิธีพิจารณาความทั้งแพ่ง และอาญา

๓. ปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบทุกขั้นตอนมิให้เป็นเพียงเครื่อง มือในการปกป้องความอยุติธรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งปวง มิว่าเกิดโดยรัฐหรือระบบทุน

๔. รัฐในระบบประชาธิปไตยต้องมีพันธะผูกพันในการให้ความคุ้มครองการต่อสู้ เพื่อความเป็นธรรม  เพื่อการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ที่สำคัญการต่อสู้เพื่อกระจายความมั่งคั่งภายในชาติอย่างทั่วถึงเท่าเทียม  ซึ่งรูปธรรมหนึ่งในประการหลังนี้คือ  การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมในการถือครองปัจจัยการผลิต  รวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่ง แวดล้อม

๕. รัฐในระบบประชาธิปไตยมีพันธะผูกพันที่จะต้องให้ความเคารพสิทธิเกษตรกร และผู้ใช้แรงงานทำการผลิตทั้งในโรงงานและทุ่งนา   ในการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทุกด้านอันเป็นประโยชน์ของสาธารณะชน “สิทธิในการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของประชาชนต้องได้รับการเคารพ” เช่น  การต่อสู้เพื่อให้มีการปฎิรูปที่ดิน  การต่อสู้เพื่อระบบรัฐสวัสดิการ  ดังนั้น เกษตรกรและผู้ใช้แรงงานทั้งหลายจึงมี  สิทธิที่จะไม่ถูกดำเนินคดีอาญา  เนื่องจากการกล่าวอ้างสิทธิและการต่อสู้       ( ดู ลา เวีย คัมเปซินา,  ปฏิญญาชาวนา  ข้อ  ๑๓)

๖. แก้ไขกองทุนยุติธรรม ให้เอื้อประโยชน์ต่อคนจนในการปกป้องคุ้มครองสิทธิของตนเองและชุมชน  เช่น เรื่องเงินประกันตัว

กระบวนการยุติธรรม  มีขึ้นเพื่อดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมต่อประชาชนแต่ในทางปฏิบัติกฎหมายและ ระเบียบต่างๆ ของทางราชการมักจะเป็นอุปสรรคขัดขวางกระทั่งทำลายหลักการสำคัญที่เกี่ยวกับ ความยุติธรรม  ความเสมอภาค  ในทางพฤตินัยรัฐธรรมนูญจึงไม่ได้รับการเคารพ  กฎหมายระดับพระราชกำหนด  พระราชกฤษฏีกา  กฎกระทรวง  เสียอีกที่ถูกอ้างอิงให้ความสำคัญมากกว่ารัฐธรรมนูญ ระบบราชการชอบใช้ “วิธีการทำลายเป้าหมาย”

ตราบใดที่  ประชาชนยังไม่อาจเข้าถึงกระทั่งเป็นเจ้าของอำนาจรัฐ  ประชาชนยังไม่อาจเข้าถึงปัจจัยการผลิตและความมั่งคั่งทั้งปวงในประเทศชาติ ของตน  และการต่อสู้ใดๆ เพื่อทวงถามสิทธิอันชอบธรรมของตนในปัจจัยการผลิตก็ดี  ผลผลิตจากหยาดเหงื่อแรงงานก็ดี  ล้วนจักถูกโต้ตอบและลงโทษทัณฑ์ด้วยอำนาจรัฐที่อาศัยศาลยุติธรรมเป็นเครื่อง มือในการกำหราบปราบปรามประชาชนมิให้กล้าคิดกล้ากระทำการใดๆ เพื่อการต่อสู้ปลดปล่อยตนเอง

Tags : คดีที่ดิน คนจน อำนาจรัฐ การลงทัณฑ์

view