สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กางสถิติ ตาย ก่อนเดินทางปีใหม่

จาก โพสต์ทูเดย์

ประมาณการกันว่าในทุกๆ 1 ชั่วโมง มีคนเสียชีวิต 1 คน จากอุบัติเหตุทางถนน หรือทุกๆ วันจะมีผู้บาดเจ็บเข้ารับการรักษาพยาบาลกว่า 2,700 คน มีผู้พิการสะสมกว่า 1 แสนคน....

โดย...กันติพิชญ์ ใจบุญ

บันทึกสถิติคดีอุบัติเหตุจราจรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เกิดขึ้นรวม 983,076 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตมากถึง 124,855 คน ในปี 2552 มีอุบัติเหตุทางถนน 84,806 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 10,717 คน จำนวนผู้บาดเจ็บ 1.15 แสนคน ในแต่ละวันมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยประมาณ 33 คน ซึ่งการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงกว่าการเสียชีวิตจากคดีอาชญากรรมถึง 4 เท่า

ประมาณการกันว่าในทุกๆ 1 ชั่วโมง มีคนเสียชีวิต 1 คน จากอุบัติเหตุทางถนน หรือทุกๆ วันจะมีผู้บาดเจ็บเข้ารับการรักษาพยาบาลกว่า 2,700 คน มีผู้พิการสะสมกว่า 1 แสนคน และผู้พิการรายใหม่เกือบ 5,000 คนต่อปี มูลค่าความสูญเสียประมาณ 2 แสนล้านบาทต่อปี โดย 1 ใน 3 ของกลุ่มผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตอายุน้อยกว่า 20 ปี ในกลุ่มเยาวชนที่อายุระหว่าง 15-19 ปี คิดเป็น 20% ของการบาดเจ็บของทุกกลุ่มอายุรวมกัน

แน่นอนว่าในช่วงปีใหม่หรือช่วงเทศกาลหยุดยาว การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจะเพิ่มเป็น 2 เท่าทันที ส่วนใหญ่มาจากการดื่มฉลองและขับขี่

สถิติดังกล่าวสอดรับกับข้อมูลศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนที่ได้รวบ รวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วงปีใหม่และสงกรานต์ โดยในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2552 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจำนวน 380 คน และบาดเจ็บอีกกว่า 5,000 คน ในขณะที่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2552 มีผู้เสียชีวิต 380 คน และบาดเจ็บ 5,000 คน

เมื่อนำสถิติผู้เสียชีวิตไปเปรียบเทียบกับช่วงเวลาปกติตลอดทั้งปี จะพบว่าช่วงเทศกาลการเสียชีวิตแต่ละวันมาก กว่าช่วงเวลาปกติถึง 2 เท่า

ข้อมูลในปี 2551-2552 ระบุว่าอุบัติเหตุส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นบนถนนในเขตชนบท (47-51%) ตามด้วยทางหลวงแผ่นดิน (27-29%) และถนนในเขตเมือง (20-22%) โดยประเภทของยานพาหนะที่ประสบอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลมากที่สุด คือ รถจักรยานยนต์ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 70% ของยานพาหนะที่ประสบอุบัติเหตุทั้งหมด ส่วนสาเหตุมาจากการดื่มแล้วขับและการไม่สวมหมวกนิรภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดในแถบภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2547-2549 ยอดขายรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านคันต่อปี และในปี 2552 ประเทศไทยมีรถจักรยานยนต์จดทะเบียนสะสมรวม 16-17 ล้านคัน หรือ 62% ของรถจดทะเบียนสะสมทั้งหมด คิดเป็นสัดส่วนการถือครองรถจักรยานยนต์ต่อประชากร 4 คนต่อคัน และอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่ผู้ที่ประสบเหตุก็เป็นวัยรุ่น นักเรียน และในช่วงเทศกาลอุบัติเหตุเกิดขึ้นมากกว่า 50% มาจากรถจักรยานยนต์ โดยเฉพาะ “เมาแล้วขับ”

ในปี 2552 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจำนวน 10,717 คน หรือเฉลี่ยวันละ 30 คน โดย 70-80% เกิดจากขับขี่และซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ หรือประมาณวันละ 24 คน หรือในแต่ละชั่วโมงมีผู้เสียชีวิต 1 คน ขณะที่ผู้บาดเจ็บที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลกว่าปีละ 1 แสนคน โดย 6% ของผู้บาดเจ็บกลายเป็นผู้พิการ เฉลี่ยในทุก 2 ชั่วโมงจะมีผู้พิการเพิ่มขึ้น 1 คน

เมื่อพิจารณาถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้น กับผู้ประสบอุบัติเหตุ พบว่าอุบัติเหตุเนื่องจากความเร็วที่เกิดขึ้นบนทางหลวงทุกๆ 10 ครั้ง จะมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1 คน และมีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 8 คน

ปัจจุบันหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลและจับกุมผู้กระทำความผิดจากความเร็วบน ทางหลวง ได้แก่ กองบังคับการตำรวจทางหลวง ซึ่งในปีที่ผ่านมามีการจับกุม|ผู้ฝ่าฝืนความเร็วถึง 195,569 คน แต่คนขับรถส่วนใหญ่ยอมรับว่ายังขับรถเร็วกว่ากฎหมายกำหนด บ่งชี้ว่าตำรวจยังคงมีภาระต้องบังคับใช้กฎหมายมากอยู่ดี อีกทั้งควรพิจารณามาตรการทางวิศวกรรมจราจรและวิศวกรรมยานยนต์เข้าเสริม

กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุเเห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย กล่าวว่า ข้อมูลจากการเฝ้าระวังผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนที่เข้ารับรักษาในโรง พยาบาล พบว่าผู้บาดเจ็บมีความสัมพันธ์กับการดื่มสุราถึง 20% และเพิ่มสูงขึ้นกว่า 35-40% ในช่วงเทศกาล นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มเยาวชนที่อายุน้อยกว่า 15 ปีที่ประสบอุบัติเหตุมีการดื่มสุราถึง 6% กลุ่มผู้บาดเจ็บที่มีสัดส่วนการดื่มแล้วขับสูงสุดคือผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์

ข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติยังพบว่าในช่วง 11 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2539-2550 เยาวชนอายุ 15-19 ปี มีอัตราการดื่มประจำเพิ่มขึ้นถึง 70% ในปี 2550 พบว่าเยาวชนที่อายุ 15 ปีขึ้นไป|ดื่มสุรามากถึง 19.3 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิงถึง 2.3 ล้านคน

ศาสตราวุฒิ ผลบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์วิจัยอุบัติเหตุเเห่งประเทศไทยสถาบันเทคโนโลยีแห่ง เอเชีย ชี้ว่า “จุดเสี่ยง” คือบริเวณช่วงถนนหนึ่งๆ หรืออาจเป็นทางแยกทางโค้งจุดกลับรถ ที่เคยมีจำนวนอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง การวิเคราะห์ข้อมูลของกรมทางหลวงในปี 2549 และ 2551 พบว่าจำนวนจุดอันตรายบนทางหลวงในภาพรวมมีแนวโน้มลดลงจาก 735 แห่งในปี 2549 เหลือ 698 แห่งในปี 2551 แต่อุบัติเหตุก็ไม่ได้ลดลงตาม

นอกจากนี้ จำนวนจุดอันตรายบนทางหลวงสายประธานกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับปริมาณการเดินทางที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งเมื่อเทียบกับระยะทาง 100 กม. ทางหลวงที่มีปริมาณการเดินทางสูงมีจำนวนจุดอันตรายเกิดขึ้นมากกว่า เช่น ทางหลวงสายประธานและทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง โดยที่ส่วนใหญ่กว่า 60% ของจุดอันตรายบนทางหลวงอยู่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่มีปริมาณการเดินทางค่อนข้างสูงกว่าพื้นที่อื่น

หลักฐานนี้บ่งชี้ว่าความพยายามป้องกันจุดอันตรายบนถนนอย่างมีประสิทธิผล ไม่ได้สัดส่วนกับปริมาณการเดินทางที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าสัดส่วนงบประมาณด้านความปลอดภัยของกรมทางหลวงจะเพิ่มขึ้นในระยะเวลา เดียวกัน (จาก 2% เป็น 6.5%)

ทั้งนี้ ปัจจุบันระบบขนส่งสาธารณะของประเทศไทยเติบโตช้ามากเมื่อเทียบกับปริมาณการ เดินทาง รถโดยสารสาธารณะที่เป็นระบบหลักของประเทศยังคงประสบปัญหาการจัดการเรื่อง มาตรฐานความปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม บริบทของอุบัติเหตุต่างๆ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องโชคชะตา หรือแล้วแต่ดวง แต่เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมถึงประชาชนทั่วไป “สามารถ ป้องกันได้” เพราะอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง ก็เกิดจากน้ำมือของคนเราที่อาจจะประมาท หรือไม่พร้อมในเรื่องต่างๆ ทั้งสภาพรถ สภาพผิวถนนที่คาดเดาได้ยาก แต่หากมีการเตรียมความพร้อมหรือเน้นความระมัดระวังเพิ่มมากขึ้น รู้ว่าอะไรไม่ดี หากทำลงไปก็อาจมีผลตามมา เชื่อว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเทศกาลในแต่ละวัน จะต้องลดลงไปอย่างแน่นอน

Tags : กางสถิติ ตาย ก่อนเดินทางปีใหม่

view