จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ
เรื่องนี้ไม่ใช่ เรื่องเล็กๆ สำหรับสังคมไทยที่มีวิวัฒนาการของประชาธิปไตยแบบเฉพาะตัวไม่เหมือนกับประเทศ ตะวันตกหรือประเทศอื่นๆ ในแถบนี้
เพราะ ประชาธิปไตยย่อมผูกพันกับเรื่องสิทธิเสรีภาพและความยุติธรรมแบบแยกกันไม่ออก ยิ่งในยุคนี้จะมีประเด็นความมั่นคงของชาติเข้ามาร่วมแจมด้วย จึงมีการตั้งคำถามถึงขอบเขตของการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนกันมากขึ้น
ในความเป็นจริงแล้วสิทธิเสรีภาพเป็นองค์ประกอบของวิถีชีวิตของคนในแต่ละ สังคม ซึ่งแวดล้อมไปด้วยสถานการณ์ด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ดังนั้น หากจะตั้งคำถามเกี่ยวกับขอบเขตของการใช้สิทธิเสรีภาพ จึงต้องมองให้รอบด้านแบบ 360 องศา จะมองเป็นคู่ตรงข้ามโดยพูดว่าหน้าที่ของความเป็นพลเมือง คือ ขอบเขตของการใช้สิทธิเสรีภาพก็จะเป็นการมองที่เห็นว่าไม่สมบูรณ์
หากจะมองกันในแง่ตัวบทกฎหมายซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนไว้ชัดเจนว่า การใช้สิทธิเสรีภาพจะต้องไม่ขัดกับกฎหมาย หรือละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น รวมทั้งจะต้องไม่ขัดกับศีลธรรมอันดีของประชาชน แต่ก็คงมีการตั้งคำถามต่อไปอีกได้ว่าถ้ากฎหมายนั้นเป็นกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม จะนำมาเป็นข้ออ้างเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ได้ หรืออีกประเด็นหนึ่งก็ต้องมาถกเถียงกันอีกว่าการใช้สิทธิเสรีภาพที่เป็นการ ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นนั้นต้องรอให้ศาลตัดสินเสียก่อนหรือไม่ รวมทั้งใครหรือสถาบันไหนจะเป็นผู้ชี้ว่าการใช้สิทธิเสรีภาพนั้นๆ ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนแล้วหรือไม่
การมองไปที่เป้าหมายของการมีสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ทั่วไป จึงน่าจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะเป็นตัวช่วยในการมองหาขอบเขตของการใช้สิทธิ เสรีภาพให้พบได้นอกเหนือจากการใช้การตีความกฎหมาย เพราะในอีกมุมมองหนึ่งการใช้สิทธิเสรีภาพเป็นธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ที่ ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด โดยมองว่าสิทธิเสรีภาพของมนุษย์นั้นย่อมมุ่งสู่การสร้างสังคมที่เป็นธรรม หรือเป็นวิธีการเพื่อให้ได้ซึ่งความยุติธรรม รวมทั้งการมุ่งสู่ความสงบสุขของสังคม ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้น่าจะเป็นเป้าหมายที่สำคัญของการใช้สิทธิเสรีภาพ
การมองหาขอบเขตของการใช้สิทธิเสรีภาพไม่ว่าจะเป็นการใช้ในระดับปัจเจกชน กลุ่มคน ชุมชนจึงอาจพิจารณาได้จากเป้าหมายหรือจุดมุ่งหมายของการใช้สิทธิเสรีภาพใน เรื่องนั้นๆ ว่า มุ่งสู่การสร้างความเป็นธรรม และหรือความสงบสุขของสังคมหรือไม่
ในการหาขอบเขตของการใช้สิทธิเสรีภาพด้วยการดูที่เป้าหมายอาจจะดูเลื่อน ลอยไปบ้าง แต่ก็เป็นวิธีการที่น่าจะใกล้เคียงกับการดำรงชีวิตประจำวันอยู่ในสังคมได้ พอๆ กับการใช้กฎหมายมาเป็นตัวชี้วัดยิ่งถ้านำทั้ง 2 เรื่องมาพิจารณาร่วมกันก็จะยิ่งใกล้เคียงกับลักษณะ และสถานการณ์ด้านสิทธิเสรีภาพสำหรับสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง
นอกจากนั้นแล้ว การที่ผู้ใช้สิทธิเสรีภาพมีความเข้าใจสาระสำคัญของสิทธิเสรีภาพในแต่ละ เรื่องที่ตนเองอ้างว่าเป็นผู้ทรงสิทธินั้นอยู่ จะทำให้ผู้ใช้สิทธิเสรีภาพมองเห็นขอบเขตการใช้สิทธิได้ชัดเจนขึ้นมากกว่าการ ใช้แบบอ้างสิทธิเท่านั้น เพราะเพียงการได้อ้างว่าตนเองใช้สิทธิเสรีภาพโดยไม่เข้าใจสาระสำคัญของสิทธิ นั้นๆ อาจเข้าใจได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยอำเภอใจได้เมื่อเกิดการโต้แย้งว่าการใช้ สิทธิเสรีภาพนั้นเกินขอบเขต
การรู้เป้าหมายและเข้าใจสาระสำคัญของสิทธิเสรีภาพจึงเป็นคุณลักษณะที่ สำคัญของการใช้สิทธิเสรีภาพตามหลักการสิทธิมนุษยชนและหลักประชาธิปไตย แต่ดังที่เกริ่นไว้ตอนต้นว่าสถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่มีส่วนให้ขอบเขตการใช้สิทธิเสรีภาพของสมาชิกในสังคม เบี่ยงเบนจากหลักการไปได้ เพราะในระดับของการใช้สิทธิเสรีภาพที่เป็นกลุ่มคน หรือองค์กรส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นกระบวนการขับเคลื่อนทางสังคมในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของพรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง หรือแม้แต่กระบวนการขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ไม่เกี่ยวข้อง กับการเมืองก็ตาม เมื่อเป็นกระบวนการขับเคลื่อนทางสังคม จึงย่อมนำไปสู่ความขัดแย้งในรูปแบบต่างๆ ได้
กระบวนการจัดการความขัดแย้งอันเนื่องมาจากการใช้สิทธิเสรีภาพของกระบวน การขับเคลื่อนทางสังคมสำหรับบ้านเราเห็นว่ายังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการ พัฒนาเท่านั้น และอาจถึงทางตันก็ได้หากยังคิดว่าระบบศาลเท่านั้นที่เป็นกลไกในการจัดการ ความขัดแย้งในลักษณะนี้ เพราะประเด็นที่ต่อเนื่องมาจากความไม่ชัดเจนของขอบเขตการใช้สิทธิเสรีภาพไม่ สอดคล้องกับกระบวนการทางศาลที่ต้องให้ได้ข้อเท็จจริงที่ยุติเสียก่อน จึงจะปรับตัวบทกฎหมายเข้ากับกรณีพิพาทที่เกิดขึ้น
สังคมไทยต้องการการพัฒนาการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อให้เกิดแนวทางในการ พิจารณาคุณลักษณะของขอบเขตการใช้สิทธิเสรีภาพตามหลักการสิทธิมนุษยชนและหลัก การประชาธิปไตย เพื่อตอบโจทย์ให้ได้ว่าหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรมที่ชัดเจนเป็นอย่างไร
อย่าเพิ่งใจร้อนและคิดแบบเหมารวมว่าผู้ใช้สิทธิเสรีภาพเป็นตัวป่วน