จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : ไชยันต์ ไชยพร
ภาษาพูดมาก่อน ภาษาเขียน การสื่อสารระหว่างคนในชุมชนสมัยก่อนจึงดำเนินไปด้วยการพูดเท่านั้น และการสื่อสารด้วยการพูดย่อมต้องมี "ผู้รับผิดชอบ"เสมอ
เพราะ เนื้อหาข้อความของภาษาพูดย่อมออกมาจากปากของผู้พูดในขณะนั้นเสมอ ไม่มีทางที่ผู้พูดจะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบว่าไม่ได้พูดในสิ่งที่ตนพูดไป ได้เลย ผู้พูดจึงอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนพูดตลอดทุกครั้งที่ตน พูดอะไรออกมา ขณะเดียวกัน หากมีใครที่ได้ยินได้ฟังในสิ่งที่ผู้พูดได้กล่าวออกมา และนำไปถ่ายทอดต่อๆ กันไป โดยไม่มีเจ้าตัวผู้พูดอยู่ด้วย ตัวผู้ถ่ายทอดเองก็จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในสิ่งที่ตนพูดออกมา แม้ว่าจะเป็นการถ่ายทอดในสิ่งที่คนอื่นพูดไว้ก็ตาม และยิ่งพูดต่อหน้าคนจำนวนมากเท่าไร ก็ยิ่งต้องมีความรับผิดชอบมากเท่านั้น !
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้พูดคนแรก หรือผู้พูดที่เป็นผู้ถ่ายทอดต่อๆ ไป เขาเหล่านั้นย่อมหลีกหนีไม่พ้นความรับผิดชอบในสิ่งที่ตนพูดหรือถ่ายทอดอยู่ ไปได้เลย สถานการณ์ดังกล่าวนี้ในสังคมโบราณที่ยังไม่มีภาษาเขียนบันทึกข้อความ จึงเป็นสถานการณ์ที่สร้างเงื่อนไขความรับผิดชอบของเจ้าของ "คำพูด" ของตน และ "คำพูด" กับ "อัตลักษณ์ตัวตน" ของผู้พูดต้องอยู่ด้วยกันเสมออย่างแยกจากกันไม่ได้ ก่อให้เกิดเงื่อนไขที่ทำให้ผู้พูดต้องตระหนักหรือระวังในสิ่งที่ตนกล่าวออก ไปเสมอ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวนี้ทำให้เกิดจริยธรรมของผู้พูดขึ้นมาชุดหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า "จริยธรรมในสถานการณ์" หรือ "situation ethics"
จริยธรรมแห่งสถานการณ์นี้จะช่วยตีกรอบไม่ให้คนพูดโกหก หรือพูดอย่างไม่ระมัดระวัง และจะช่วยตีกรอบไม่ให้คนพูดอะไรอันไม่สมควร โดยไม่แยกแยะว่าคนที่ฟังเป็นใคร เป็นเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้หญิง คนโง่ คนฉลาด มิตร ศัตรู ฯลฯ
ต่อมาเมื่อเริ่มมีภาษาเขียน และแพร่หลายกว้างขวางพอที่จะทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปจากการเป็นสังคมที่สื่อ สารด้วยการพูดอย่างเดียวมาเป็นสังคมที่ผู้คนสื่อสารด้วยการอ่านและเขียน สภาพการณ์ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป เมื่อผู้พูดกลายมาเป็นผู้เขียน เนื้อหาสาระข้อความที่เขียนลงบนกระดาษ ย่อมไม่จำเป็นจะต้องอยู่ติดตัวผู้เขียนไปตลอด หรืออีกนัยหนึ่ง คือ "ข้อเขียน" กับ "อัตลักษณ์ตัวตน" ของผู้เขียนแยกจากกันได้ ผู้เขียนย่อมต้องไม่รู้สึกถึงความเป็นจำเป็นที่ต้องรับผิดชอบและระมัดระวัง ต่อสิ่งที่ตนเขียนออกมา เพราะถ้าเขียนออกมาแล้ว และไม่ได้ลงชื่อของตนไว้ ก็จะไม่มีใครรู้ว่า ข้อความนั้นเป็นของใคร เมื่อยังไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของข้อความหรือสาระเนื้อหาในข้อเขียนนั้น ก็หาตัวผู้รับผิดชอบต่อข้อความนั้นไม่ได้
เมื่อจับมือใครดมไม่ได้ สิ่งเลวร้ายในสังคมมนุษย์อันเกิดจากการมี "ภาษาเขียน" ก็เริ่มระบาดขึ้น เมื่อผู้เขียนไม่ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนเขียน การเขียนอะไรต่อมิอะไรตามอำเภอใจก็เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเขียนจากอารมณ์ความโกรธ ความเคียดแค้น การกุเรื่องเพื่อเล่นงานคนที่ไม่ชอบหน้า หรือเขียนจากอารมณ์ดิบเถื่อนภายในจิตใจของตน หรือแม้แต่การเขียนเพื่อความเมามันในอารมณ์ ด้วยเหตุนี้ เมื่อจริยธรรมในสถานการณ์ในสังคมที่สื่อสารด้วยการพูดเริ่มอ่อนตัวลงไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ใช้ภาษาเขียนในการสื่อสาร จึงไม่มีอะไรที่จะช่วยตีกรอบไม่ให้คนเขียนเรื่องเท็จหรือเขียนอย่างไม่ระมัด ระวัง ไม่มีอะไรที่จะช่วยตีกรอบไม่ให้คนเขียนอะไรอันไม่สมควร ผู้เขียนสามารถกลายเป็น "มนุษย์ล่องหน" ได้ทันที เมื่อข้อเขียนแยกจากตัวเขาไป
กระดาษแผ่นหนึ่งที่มีข้อความบันทึกไว้สามารถเดินทางไปอยู่ในมือของใครก็ ได้ จำนวนมากเท่าไรก็ได้ เมื่อไรก็ได้ สืบต่อไปอีกกี่ชั่วคนก็ได้ หากยิ่งมีการคัดลอกข้อความดังกล่าวต่อๆ กันไป โดยผู้เขียนไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนได้เขียนบันทึกไว้เลย
ลายมือและลีลาท่วงทีการใช้ภาษาของผู้เขียนเท่านั้น ที่จะเป็น "ตัวตน" หรือ "ลายเซ็น" ของผู้เขียน หากผู้เขียนไม่ได้ลงชื่อจริงของตน เพื่อแสดงความรับผิดชอบในสิ่งที่ตนได้เขียนไป วิทยาการการสืบค้นผ่านลายมือและลีลาการเขียนจึงเกิดขึ้นเพื่อตีกรอบการสื่อ สารโดยภาษาเขียน ความสามารถทางวิทยาการในการสืบค้นลายมือและลีลาการเขียนนำไปสู่การสร้างความ กลัวให้กับผู้เขียน ขณะเดียวกัน ในแง่หนึ่งมันก็เป็นการสถาปนาจริยธรรมแห่งการเขียนให้เกิดขึ้นในสังคมขึ้นมา ด้วย เพราะมาตรการดังกล่าวทำให้ผู้เขียนต้องตระหนักสำนึกถึงผลที่จะเกิดขึ้นตามมา จากข้อเขียนของเขา โดยเฉพาะสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับตัวเขา ขณะเดียวกัน ในมุมกลับมาตรการดังกล่าวก็กลับเป็นการสร้างอาณาจักรแห่งความกลัวขึ้นมา หากถูกใช้ไปเพื่อข่มขู่ปิดกั้นเสรีภาพความคิดของผู้คน
กระนั้นเมื่อวิทยาการการพิมพ์เกิดขึ้น การสืบค้นหาผู้เขียนก็ลดเหลือเพียงลีลาการใช้ภาษาของเขาเท่านั้น ซึ่งก่อให้เกิดความยากลำบากในการสืบหาตัวผู้รับผิดชอบข้อเขียน อย่างไรก็ตาม วิทยาการสมัยใหม่ก็พัฒนาก้าวตามปัญหาที่เกิดขึ้น การสืบค้นผ่านระบบการพิมพ์เป็นสิ่งที่ทำได้ หากต้องการจะทำ ขณะเดียวกัน ก็สามารถห้ามหรือหยุดกระบวนการพิมพ์ หรือการแพร่กระจายของสิ่งพิมพ์ได้ แต่เมื่อสังคมสมัยใหม่พัฒนามาถึงปัจจุบันที่แม้นว่า จะยังเป็นสังคมที่สื่อสารด้วยการเขียน แต่การสื่อสารในอินเทอร์เน็ตนั้นได้เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขต่างๆ ที่ผ่านมา ในอดีต การสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตเป็นการผสมผสานการสื่อสารทางการพูดในสังคมสมัย ก่อนและการเขียนในสังคมสมัยต่อมาเข้าด้วยกัน นั่นคือ สื่อสารได้ทันทีกับคนจำนวนไม่จำกัด (เหมือนการพูดต่อหน้าคน) โดยไม่มีร่องรอยลายมือ ไม่มีตัวตน สาระที่สื่อสารอยู่ยั้งยืนยง (เหมือนการบันทึกไว้) สื่อได้เร็วทันใจแทบไม่ต้องคิด หากนิ้วพิมพ์ได้เร็วเท่าใจนึก (เหมือนการพูด) และไม่ต้องระมัดระวังว่าใครจะรู้ว่าตัวเองเป็นใคร (เหมือนการเขียน) ไม่ต้องรับผิดชอบ และมีผลพวงที่ควบคุมไม่ได้ เพราะสื่อสารโดยไม่สามารถแยกแยะผู้รับสารได้ (เหมือนการเขียน) และแล้ว สิ่งเลวร้ายในสังคมมนุษย์อันเกิดจากการมี "ภาษาเขียนในระบบการพิมพ์และอินเทอร์เน็ต" ก็เริ่มระบาดขึ้น เมื่อผู้สื่อสารไม่ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนสื่อออกไป สื่ออะไรต่อมิอะไรตามอำเภอใจก็เกิดขึ้น ไม่ว่าจะจากอารมณ์ความโกรธ ความเคียดแค้น การกุเรื่องเพื่อเล่นงานคนที่ไม่ชอบหน้า หรือจากอารมณ์ดิบเถื่อนภายในจิตใจของตน หรือแม้แต่สนองความเมามันในอารมณ์ แน่นอนว่า แง่ดีของการสื่อสารด้วยภาษาเขียนก็มี และแง่ดีของการสื่อสารภาษาเขียนทางอินเทอร์เน็ตก็มี และยังไม่จำเป็นต้องกล่าวในที่นี้ แต่กระนั้น แง่ดีที่ว่านี้ก็ขึ้นอยู่กับจริยธรรมของแต่ละคน เพราะสังคมเรายังไม่สามารถสถาปนาระบบจริยธรรมการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตขึ้น มาได้อย่างเป็นรูปธรรม
ด้วยเหตุนี้ การสื่อสารอะไรไปก็ตามในอินเทอร์เน็ตย่อมส่งผลกลับมาที่ตัวเราและคนรุ่นต่อๆ ไปเสมอ เมื่อวิทยาการช่วยให้มนุษย์มีเสรีภาพมากขึ้นในการสื่อสาร เราจะใช้เสรีภาพในการสื่อสารนี้ไปเพื่อความเข้าใจและแสวงหาหนทางในการอยู่ ร่วมกันอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ชีวิตที่ดี หรือเพื่ออะไร หรือจะต้องให้มีการตรวจจับ-เซ็นเซอร์-ปิดกั้นเสรีภาพทางความคิดจากผู้มี อำนาจทางการเมือง ซึ่งในที่สุดแล้ว เราก็ไม่แน่ใจว่า เขาเหล่านั้นมีปัญญา จริยธรรมและความชอบธรรมเพียงพอที่จะใช้อำนาจนั้น อำนาจทางการเมืองจะชอบธรรมก็ต่อเมื่อถูกใช้ไปเพื่อก่อให้เกิดความเป็นธรรมใน สังคม จะว่าไปแล้ว เราไม่จำเป็นต้องไปไว้ใจให้คนอื่นเป็นผู้ใช้อำนาจทางการเมือง หากเราใช้สิทธิอำนาจเสรีที่เรามีไปโดยตระหนักถึงจุดหมายปลายทางของการใช้ อำนาจนั้น นั่นคือ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัย และสร้างสรรค์ชีวิตที่ดี คงต้องถามตัวเราเองว่า เราจะไว้ใจคนอื่นหรือไว้ใจตัวเรา