จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : สกล หาญสุทธิวารินทร์
การจ้างและการรับจ้างทำงานโดยการรับงานไปทำที่บ้านเป็นที่นิยมกันมาหลายสิบปี งานที่จ้างจะเป็นงานที่เกี่ยวกับหัตถกรรม
ที่ ไม่มีขั้นตอนยุ่งยากในการทำ เริ่มแรกๆ น่าจะเป็นการรับจ้างตัดเย็บเสื้อโหล ทำดอกไม้ประดิษฐ์ เป็นอาชีพเสริมของแม่บ้านที่สามารถทำงานได้โดยไม่ต้องไปที่สถานประกอบกิจการ ของผู้ว่าจ้าง จะทำในช่วงเวลาใดก็ได้ ปัจจุบันการรับงานไปทำที่บ้านกระจายไปน่าจะทั่วประเทศ มีการพัฒนาการจ้างขึ้นไปเป็นระบบ และขยายขอบเขตไปถึงการผลิตสินค้าหรือชิ้นส่วนของสินค้ามากมายหลายชนิด ปัจจุบันมีผู้ทำงานลักษณะนี้จำนวนมากเป็นอาชีพหลัก
กฎหมายคุ้ม ครองแรงงานที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ไม่อาจให้ความคุ้มครองแก่ผู้รับงานไปทำที่บ้านให้ได้รับความเป็นธรรม และมีมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการทำงานได้ จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 ออกใช้บังคับเพื่อให้ความคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้านเป็นการเฉพาะ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2553 มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งถ้านับวันตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยให้ความเห็นไว้ที่ให้นับ วันแรกด้วย ก็จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 15 พฤษภาคม 2554 แต่ถ้านับวันตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่มิให้นับวันแรกเข้าไปด้วย จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 16 พฤษภาคม 2554
พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 มีสาระส่วนที่สำคัญ อาจสรุปได้ ดังนี้
1. คำนิยาม ที่สำคัญ
๐ ความหมายของคำว่า "งานที่รับไปทำที่บ้าน" ที่จะอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายฉบับนี้ แยกความหมายเป็น สองความหมาย คือ
ความหมายแรก หมายความว่า "งานที่ผู้จ้างงานในกิจการอุตสาหกรรมมอบให้ผู้รับงานไปทำที่บ้าน เพื่อนำไปผลิตหรือประกอบนอกสถานประกอบกิจการของผู้จ้างงาน" หรือ
ความหมายที่สอง หมายความว่า "งานอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง" ซึ่งต่อไปหากเห็นสมควรกำหนดให้งานอื่น นอกเหนือจากงานตามความหมายแรกเป็น "งานที่รับไปทำที่บ้าน" ก็สามารถออกกฎกระทรวงกำหนดเพิ่มเติมได้
"ผู้รับงานไปทำที่บ้าน" หมายความว่า บุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งตกลงกับผู้จ้างงาน เพื่อรับทำงานอันเป็นงานที่รับไปทำที่บ้าน
"ผู้จ้างงาน" หมายความว่า ผู้ประกอบกิจการซึ่งตกลงจ้างผู้รับงานไปทำที่บ้านให้ทำงานที่รับไปทำที่บ้าน ไม่ว่าตกลงมอบงานโดยตนเองหรือโดยผ่านตัวแทนหรือกระทำในลักษณะผู้รับเหมาช่วง ก็ตาม
2. เขตอำนาจศาลและสัญญาหรือข้อกำหนดที่ไม่เป็นธรรม
๐ คดีที่เกิดจากข้อพิพาทระหว่างผู้จ้างงานกับผู้รับงานไปทำที่บ้านหรือเกี่ยว กับสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายฉบับนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน
๐ สัญญาจ้างหรือข้อกำหนดในการจ้างที่เป็นการเอาเปรียบผู้รับงานไปทำที่บ้าน เกินสมควร ศาลมีอำนาจสั่งให้มีผลบังคับเฉพาะส่วนที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีได้
3. การฟ้องคดี
๐ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมีอำนาจให้ความช่วยเหลือฟ้องคดีแทนผู้ รับงานไปทำที่บ้านหรือทายาท ถ้าเห็นว่าการฟ้องคดีนั้นเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม โดยขอให้อัยการสูงสุดตั้งพนักงานอัยการดำเนินคดีแก่ผู้จ้างงานในศาลแรงงาน หรือจะแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ในกรมที่จบปริญญาตรีทางนิติศาสตร์เป็นผู้ ดำเนินคดีก็ได้ เมื่อแจ้งให้ศาลแรงงานทราบแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้นั้นมีอำนาจกระทำการจนคดีถึงที่สุด
ในการดำเนินคดีในศาลแรงงาน ผู้ฟ้องคดีแทนมีอำนาจฟ้องเรียกทรัพย์สินหรือค่าเสียหายให้แก่ผู้รับงานไปทำที่บ้านหรือทายาทได้ด้วย
4. หน้าที่ของผู้จ้างงาน
๐ ผู้จ้างงานต้องจัดทำเอกสารการรับงานไปทำที่บ้านเป็นภาษาไทย มีรายละเอียดตามที่กำหนดมอบให้ผู้รับงานไปทำที่บ้าน และเก็บไว้ที่สถานประกอบการ หรือสำนักงานพร้อมที่จะให้เจ้าหน้าที่ตรวจด้วย
๐ ในกรณีที่งานที่รับไปทำที่บ้านยังทำไม่เสร็จและอยู่ในระยะเวลาที่ตกลงกัน ผู้จ้างงานจะบอกเลิกสัญญาไม่ได้ ยกเว้นเป็นความผิดของผู้รับงานไปทำที่บ้าน หรือผู้จ้างงานมีเหตุจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จนต้องบอกเลิกการจ้าง แต่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้รับงานไปทำที่บ้าน
๐ ผู้จ้างงานจะเรียกหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงาน จากผู้รับงานไปทำที่บ้านไม่ได้ เว้นแต่ประเภท ปริมาณ หรือมูลค่าของงานที่ทำนั้นอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้จ้างงานได้
5. ค่าตอบแทน
๐ หากเป็นงานที่มีลักษณะคุณภาพอย่างเดียวกันและปริมาณเท่ากัน ผู้จ้างต้องกำหนดค่าตอบแทนไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ตามที่คณะกรรมการกำหนด (ซึ่งเท่ากับใช้อัตราค่าจ้างของการจ้างงานในระบบเป็นเกณฑ์เปรียบเทียบ) ต้องจ่ายค่าตอบแทนขณะส่งมอบงานหรือตามกำหนดที่ตกลงกันแต่ไม่เกินเจ็ดวันนับ แต่วันส่งมอบงาน และจะหักค่าตอบแทนไม่ได้ยกเว้นค่าภาษี หรือเงินอื่นตามกฎหมายที่ผู้รับงานไปทำที่บ้านต้องชำระ หรือค่าเสียหายหรือค่าปรับที่มี
6. ความปลอดภัยในการทำงาน
๐ ห้ามจ้างหญิงมีครรภ์หรือเด็กอายุต่ำกว่าสิบห้าปี ทำงานที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของหญิงมีครรภ์หรือเด็กอายุ ต่ำกว่าสิบห้าปี
๐ ห้ามจ้างทำงานเกี่ยวกับวัตถุอันตราย หรืองานที่ต้องทำด้วยเครื่องมือเครื่องจักร ที่อาจได้รับความสั่นสะเทือนอันอาจเป็นอันตราย งานที่เกี่ยวกับความร้อนจัดหรือเย็นจัด อันอาจเป็นอันตราย และงานที่อาจกระทบต่อสุขภาพ ความปลอดภัย หรือคุณภาพสิ่งแวดล้อม
๐ ผู้จ้างงาน ต้องรับผิดชอบ ในกรณีที่ผู้รับงานไปทำที่บ้านประสบอันตราย หรือตาย เนื่องจากการใช้วัตถุดิบอุปกรณ์ หรือสิ่งอื่นที่ใช้ในการทำงาน ที่ผู้จ้างงานจัดหาหรือมอบให้ หรือเนื่องจากผู้จ้างไม่จัดให้มีอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยในการทำงาน หรือกรณีอุบัติเหตุเนื่องจากการทำงาน ณ สถานที่ทำงาน
7. บทกำหนดโทษ
กฎหมายฉบับนี้มีบทกำหนดโทษทางอาญาสำหรับผู้จ้างงาน และบุคคลที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติตามที่กำหนดไว้ด้วย เช่น ผู้จ้างงานไม่ทำเอกสารเกี่ยวกับการรับงานไปทำที่บ้าน มีโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ผู้จ้างงานฝ่าฝืนเรียกหลักประกันจากผู้รับงานไปทำที่บ้าน มีโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน ปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท ฝ่าฝืนบทบัญญัติเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน มีโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงหนึ่งปี ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท