จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : อภิญญา มั่นช้อย
กระบวนการไซฟ่อนเงิน การใช้ข้อมูลภายใน จะลดลงถ้าผู้บริหารมีซีจี และมีซีเอสอาร์ ถือเป็นการสร้างวินัย
นายวสันต์ เทียนหอม รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ "กรุงเทพธุรกิจ" ถึงภารกิจสำคัญในปี 2554 หลังจากที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งรองเลขาธิการ ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 4 มกราคม ที่ผ่านมาว่า ขอบข่ายความรับผิดชอบคือด้านกฎหมายและการตรวจ ซึ่งก็คงไม่ทำให้รองเลขาฯ คนใหม่หนักใจมากนัก เนื่องจากเป็นสายงานที่คร่ำหวอดมานานกว่า 1 ปี 6 เดือนในช่วงที่นั่งตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการ นอกจากนี้บทบาทที่สำคัญที่ได้รับมอบหมายก็คือ งานด้านบริหารองค์กร
ภารกิจที่จะต้องเร่งดำเนินการเป็นสิ่งแรกหลังจากที่เข้ามารับตำแหน่งรอง เลขาธิการ แบ่งเป็น 3 ด้าน คือ 1.ด้านกฎหมาย นั้นก็พยายามผลักดันกฎหมายด้านมาตรการลงโทษทางแพ่งให้มีผลบังคับใช้เร็วที่ สุด ซึ่งคงจะต้องประสานกับด้าน กระทรวงการคลัง และคงจะออกมาสอดรับกับกฎหมายการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ที่ขั้นตอนอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร
2.ด้านการบังคับใช้กฎหมาย โดยการพยายามสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมมา อย่างต่อเนื่อง และประสานงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น ดีเอสไอ อัยการคดีพิเศษ หากประสานงานได้ใกล้ชิดจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายให้ได้ผลสำเร็จในทางคดี จะกระชับรวดเร็วยิ่งขึ้น
3.ด้านการบริหารองค์กร เพื่อให้พนักงานสามารถบริหารการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงกระบวนการทำงาน เตรียมตัวรองรับการดำเนินการลงโทษทางแพ่ง ซึ่งบุคลากรใน ก.ล.ต.จะต้องมีความพร้อมเพื่อรองรับในเรื่องดังกล่าว ดังนั้นอนาคต ก.ล.ต.อาจ จะจำเป็นต้องมีบุคลากรทางด้านกฎหมายมากขึ้น จากปัจจุบันฝ่ายกฎหมายรับผิดชอบด้านร่างกฎเกณฑ์มากกว่า ส่วนฝ่ายด้านการดำเนินคดี คือฝ่ายตรวจสอบและคดี ซึ่งปัจจุบันจะเป็นนักบัญชีและนักบริหารไม่ใช่นักกฎหมาย
รองเลขาธิการ ก.ล.ต.คน ใหม่ ยังได้เล่าให้ฟังถึงการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนว่า ความจริง พ.ร.บ.ตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้มีการแก้ไขหลายครั้ง แต่ว่าครั้งที่เป็นก้าวสำคัญคือ พ.ร.บ.ฉบับที่ 4 ที่แก้ไขเมื่อปี 2551 ซึ่งนำเรื่องการบริหารกิจการที่ดี หรือ CG และเรื่องหน้าที่ความรับผิดชอบของกรรมการและผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน และบริษัทย่อย
การให้ความสำคัญในประเด็นดังกล่าว จะทำให้กระบวนที่นำไปสู่การเอารัดเอาเปรียบนักลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน ไซฟ่อนเงิน หรือการใช้ข้อมูลภายใน รายการเกี่ยวโยงกัน จะไม่เกิดขึ้น หรือมีน้อยลง ขณะเดียวกันบริษัทจดทะเบียนที่ดำเนินธุรกิจโดยใช้หลักธรรมาภิบาล เพื่อทำให้เกิดความน่าเชื่อถือและเกิดความไว้วางใจกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า ผู้ถือหุ้น ชุมชนที่อยู่รอบข้างเกิดความเชื่อถือ
ทั้งนี้เขายังได้ขยายความให้ฟังว่าหลัง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ฉบับ พ.ศ.2551 บังคับใช้ พบว่า จากการประเมินของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) เกี่ยวกับเรื่องของธรรมาภิบาล จะเห็นว่ามีพัฒนาการตามลำดับ และยังมีการวิจัยว่าถ้าลงทุนในบริษัทที่มีธรรมาภิบาล ผลตอบแทนที่ได้รับน่าจะดีกว่าลงทุนในบริษัททั่วๆ ไปโดยไม่คัดเลือกว่ามีธรรมาภิบาลหรือไม่
นอกจากนี้ในอนาคตคงจะต้องมีการให้ความสำคัญเกี่ยวกับการทำกิจกรรมเพื่อ สังคม หรือ CSR ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญและถือเป็นเรื่องต้นน้ำหากบริษัทดำเนินการโดยมีความ รับผิดชอบ จะช่วยให้การทุจริต ฉ้อฉล การใช้ข้อมูลภายใน จะลดลงไปได้ ผู้บริหารมีจิตสำนึกมากขึ้นและความรับผิดชอบต่อสังคม และผู้ถือหุ้นมากขึ้น
จากสถิติพบว่า หลังมี พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ฉบับใหม่ แต่การแสวงหาประโยชน์ส่วนตนยังมีอยู่ ซึ่งทาง ก.ล.ต.ได้ ให้ความสำคัญหากมีเรื่องกรณีทุจริต ฉ้อฉล และจะจัดการกับบุคคลเหล่านี้อย่างเด็ดขาด แต่หากดูแนวโน้มของคดีจากสถิติส่วนใหญ่ ที่ทางตลาดหลักทรัพย์ส่งมาส่วนใหญ่เกี่ยวกับการสร้างราคาหลักทรัพย์ ซึ่งมีจำนวนเรื่องค่อนข้างมาก แต่ผลกระทบจะเป็นบริษัทขนาดเล็ก แม้ว่าจะมีจำนวนราย ประมาณ 7 %ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด หากอิงตามมาร์เก็ตแคปคิดเป็น เพียง 0.8% เท่านั้น
จากการที่มีจำนวนคดีที่มาก จึงควรให้แนวทางป้องปรามมากกว่า เช่น การประกาศรายชื่อจำนวนบริษัทที่มีการซื้อขายหมุนเวียนสูง หรือเทิร์นโอเวอร์ลิสต์สูง และตลาดหลักทรัพย์ ก็ยังนำรายชื่อบริษัทเหล่านี้ไปพิจารณาอีกทีหากเป็นบริษัทที่มีสภาพการซื้อ ขายที่ผิดปกติเกิด ก็จะสั่งไม่ให้บริษัทหลักทรัพย์ปล่อยมาร์จินโลน แคชบาลานซ์ และเน็ต เซตเทิลเมนท์ และถือเป็นแนวโน้มที่ใช้ในการป้องปรามมากขึ้นจากนี้ไป
รองเลขาธิการ ก.ล.ต. ยังได้กล่าวถึงเรื่องการบังคับใช้กฎหมายว่า กฎหมายใหม่ที่จะประกาศใช้ จะครบเครื่องมากขึ้นโดยมีมาตรการดำเนินคดีทางอาญา และมาตรการทางปกครอง เช่นการกำหนดคุณสมบัติต้องห้ามของกรรมการ ผู้บริหาร หากถูกดำเนินคดีจะขาดคุณสมบัติสามารถเป็นกรรมการ ผู้บริหารไม่ได้ ซึ่งที่ผ่านมา ก.ล.ต.ยังขาดมาตรการลงโทษในทางแพ่ง ขณะที่ในต่างประเทศจะมีดำเนินการทั้ง 3 มาตรการ คือการลงโทษปกครอง อาญา และปรับทางแพ่ง
ดังนั้นการนำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้ น่าจะทำให้การดำเนินการกับผู้กระทำความเสียหายกับบริษัทจดทะเบียนมีโอกาส เกิดผลสำเร็จได้ เพราะว่าถ้าใช้ในทางอาญาอย่างเดียว จะต้องพิสูจน์จนปราศจากข้อสงสัย กล่าวคือถ้าต่อภาพจิ๊กซอว์ได้ไม่ครบ ก็มีโอกาสเกิดข้อสงสัยในด้านผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม ทำให้คดีถูกสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลพิพากษายกฟ้อง แต่หากใช้มาตรการลงโทษทางแพ่ง การพิสูจน์พยานหลักฐานจะใช้ในระดับคดีทางแพ่ง คือมีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักพอสมควร ก็สามารถดำเนินการทางแพ่งไปได้
ส่วนความคืบหน้าของกฎหมายใหม่ ขณะที่อยู่ที่กระทรวงการคลัง ซึ่งหากกระทรวงการคลังผลักดันเสนอกฎหมายภายในปี 2554 ก็มีโอกาสที่เรื่องต่างๆ จะสามารถคืบหน้าต่อไปได้ และกระบวนการทางกฎหมาย ของทาง ก.ล.ต.ก็จะครบเครื่องมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้เขายังได้กล่าวถึงกระบวนการกำกับดูแลของ ก.ล.ต. หลังจากที่ตลาดหลักทรัพย์มีการแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนและนำหุ้นเข้าจด ทะเบียนว่า ความจริงระบบในการเตรียมความพร้อมนั้น ตลาดหลักทรัพย์ยังมีบทบาทอยู่ อาทิเช่น สภาพการซื้อขายผิดปกติ หรือไม่เหมาะสม ทางตลาดฯ ก็ต้องมีระบบดักจับ และส่งเรื่องมาที่ ก.ล.ต.ตามปกติ ซึ่งไม่จำเป็นที่ ก.ล.ต.จะ ต้องเข้าไปดูเองตั้งแต่ต้น ซึ่งในต่างประเทศ ตลาดก็ยังถือเป็นด่านแรกในการตรวจสอบอยู่ คงไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่หลังจากที่ตลาดแปรสภาพ ก.ล.ต.ก็ อาจจะเข้าไปดูแทนบางกรณี เช่นการเสนอขายหลักทรัพย์ของตลาดหลักทรัพย์ต่อประชาชน รวมทั้งการตรวจสอบ ส่วนบริษัทจดทะเบียนอื่นๆ ตลาดก็จะทำหน้าที่เหมือนเดิม