- หน้าแรก
- >
- บทความ
- >
- สัมผัสธรรมชาติแบบแปลกใหม่ ที่ สวนพฤกษศาสตร์ฯทุ่งค่าย เมืองตรัง
05/02/2011
View: 346
จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
|
สนุกสนานกับการเดินบนสะพานศึกษาธรรมชาติเรือนยอดไม้ |
|
|
ใครว่า “ธรรมชาติ” อยู่ไกลตัวเรา อันที่จริงแล้วธรรมชาติอยู่ใกล้ตัวเรานี่แหละ เพียงแต่ว่าเราต้องออกเดินทางไปหาธรรมชาติกัน อย่างถ้าหากใครอยากจะสัมผัสกับธรรมชาติของผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์อย่างใกล้ชิด ในเมืองไทยมีอนู่หลากหลาย แต่หากอยากจะสัมผัสกับธรรมชาติในบรรยากาศโลดโผน ในมุมมองที่แปลกตา ด้วยการมองลงมาจากมุมสูงในมุมมองของนก “สวนพฤกษศาสตร์สากลภาคใต้ (ทุ่งค่าย)” แห่งจังหวัดตรัง นับเป็นหนึ่งในสถานที่ที่มีความแปลกแตกต่างเหล่านั้นรอให้ผู้สนใจได้เดินทางไปสัมผัสกัน
|
|
บรรยากาศของการเดินเที่ยวศึกษาธรรมชาติที่สวนพฤกษศาสตร์ฯ ทุ่งค่าย |
|
|
สวนพฤกษศาสตร์สากลภาคใต้(ทุ่งค่าย) หรือ ที่เรียกสั้นๆว่า “สวนพฤกษศาสตร์ทุ่งค่าย” จัด เป็นป่าใหญ่ที่เพียบพร้อมไปด้วยแหล่งเรียนรู้ของธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สำคัญของจังหวัดตรังอีกด้วย ซึ่งใครจะเชื่อว่าผืนป่าที่กว้างใหญ่นั้นจะสามารถสัมผัสได้แม้กระทั่งยอดไม้ ที่อยู่สูงเหยียดฟ้า ทวิวาพร สุทธิสวาท มัคคุเทศก์ประจำสวนพฤกษศาสตร์สากลภาคใต้ (ทุ่งค่าย) ได้เล่าถึงความเป็นมาของสวนพฤกษศาสตร์สากลภาคใต้ (ทุ่งค่าย) ให้ฟังว่า สวนแห่งนี้เดิมทีเป็นค่ายทหารมาก่อน ซึ่งมีลักษณะเป็นป่าจึงเรียกสถานที่แห่งนี้ว่า “สวนรุกขชาติทุ่งค่าย” จาก นั้นไม่นาน นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นอยากให้สวนแห่งนี้ได้รับมาตรฐานระดับประเทศในท้องที่ ภาคใต้ จึงได้มีการปรับปรุงสวนรุกขชาติทุ่งค่ายเดิมและเปลี่ยนเป็นสวนพฤกษศาสตร์ สากลภาคใต้ (ทุ่งค่าย) ในปี 2536 จนกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่เน้นในเรื่องของการให้ความรู้ ที่แตกต่างจากสวนพฤกษศาสตร์ธรรมดาทั่วไป
|
|
ความร่มรื่นของเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ |
|
|
“สวนพฤกษศาสตร์สากลภาคใต้ (ทุ่งค่าย)” มีพื้นประมาณ 2,600 ไร่ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าทุ่งค่าย หมู่ที่ 2, 3, และ 9 ตำบลทุ่งค่าย อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง และในบริเวณผืนป่าแห่งนี้ได้แบ่งเนื้อที่ออกเป็นสัดส่วนเพื่อง่ายต่อการเดิน ทางในการศึกษาประเภทต่างๆ ของพรรณไม้ให้เป็นที่เข้าใจมากยิ่งขึ้น ภายในสวนพฤกษศาตร์มีความร่มรื่นด้วยธรรมชาติของป่าไม้เป็นอย่างมาก มีการจัดสรรเป็นสวนต่างๆ ให้ได้เดินเที่ยวชมมากมาย อาทิ สวนอนุกรมวิธาน (แหล่งรวบรวมพันธุ์พืชถิ่นใต้), สวนสัณฐานวิทยา (แหล่งเรียนรู้ลักษณะต่างๆ ชองพืช) และยังมีสวนกล้วยไม้, สวนพืชทนแล้ง, สวนเฟิร์น, พืชกินแมลง, พืชวงศ์ปาล์ม พืชวงศ์ยาง รวมทั้งสวนพฤกษศาสตร์พื้นบ้านที่สามารถใช้ประโยชน์จากพรรณพืชได้อีกด้วย
|
|
สะพานศึกษาธรรมชาติเรือนยอดไม้ แห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย |
|
|
นอกจากนี้ยังมีเส้นทางให้ได้เดินศึกษาธรรมชาติอย่างหลายหลายเส้นทาง ซึ่งมีระยะทางไป-กลับ โดยเดินเป็นวงกลมกลับสู่จุดเดินเป็นระยะทางทั้งสิ้น 3 กิโลเมตร ซึ่งในแต่ละเส้นทางจะมีป้ายสื่อความหมายและบอกเส้นทางเพื่ออำนวยความสะดวก แก่นักท่องเที่ยว หรืออ่านรายละเอียดของพืชพรรณต่างๆ รวมทั้งมีจุดพักผ่อนหย่อนใจให้ได้นั่งพักเหนื่อย ก่อนที่จะอกเดินทางตระเวนรอบป่ากันอีก ซึ่งเส้นทางที่เดินนั้นจะตัดผ่านป่าดิบชื้นที่ลุ่มต่ำ รวมทั้งป่าพรุชื้นซึ่งมีพืชพรรณที่น่าสนใจมากมาย
|
|
ศึกษาธรรมชาติอย่างใกล้ชิดบนสะพานศึกษาธรรมชาติเรือนยอดไม้ |
|
|
อีกทั้งที่สวนพฤกษศาสตร์ฯ ทุ่งค่ายแห่งนี้ ยังมีทางเดินป่าที่สำคัญและถือว่าเป็นไฮไลต์ที่ดึงดูดให้ทุกคนอยากจะมาเดิน เที่ยวศึกษาธรรมชาติกันที่นี่ นั่นคือ การได้เดินชมธรรมชาติอย่างใกล้ชิดบน “สะพานศึกษาธรรมชาติเรือนยอดไม้” ที่ถูกสร้างขึ้นเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย(ณ ขณะนี้) โดยนายชนะ พรหมเดช หัวหน้าสวนพฤกษาสาตร์ฯ ในขณะนั้นได้ผลักดันให้มีการจัดสร้างสะพานเรือนยอดไม้แห่งนี้ขึ้นมา โดยได้รับงบประมาณส่งเสริมและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวจำนวน 4,600,000บาท สร้างเสร็จและเปิดให้ใช้บริการเมื่อประมาณเดือนมกราคมปี พ.ศ.2547
|
|
เถาวัลย์ขนาดใหญ่มีให้เห็นที่สวนพฤกษศาสตร์ฯ ทุ่งค่าย |
|
|
สะพานศึกษาธรรมชาติเรือนยอดไม้ สร้างขึ้นโดยใช้โครงสร้างเป็นเหล็ก สามารถรองรับน้ำหนักได้ถึง 300กิโลกรัม/1ตารางเมตร มีระยะทางให้เดินศึกษาธรรมชาติอย่างใกล้ชินถึง 175 เมตร ซึ่งนักท่องเที่ยวที่อยากจะเดินศึกษาธรรมชาติอย่าใกล้ชิดบนสะพานฯ นี้ ต้องเตือนไว้ก่อนว่าหากเป็นโรคกลัวความสูงคงจะแย่สักหน่อย เพราะว่าตัวสะพานฯ มีความสูงถึง 3 ระดับ ตั้งแต่ระดับ 10 เมตร, 15 เมตร และ 18 เมตร ประกอบด้วย 5 ช่วงสะพานและ 6 หอคอย หากใครเป็นโรคกลัวความสูง อาจจะเดินก้าวขาไม่ออก หรือว่าออกแนวแบบเดินไปแบบขาสั่นๆ เพราะว่าตัวสะพานไม่กว้างมาก ควรเดินเรียงหนึ่ง และไม่ควรวิ่งสะพาน ควรจะค่อยๆ เดินและซึมซับธรรมชาติอย่างเต็มอิ่ม เพราะบนสะพานฯ สามารถมองเห็นธรรมชาติของป่าไม้อันสมบูรณ์ มีต้นไม้หลายสายพันธุ์ขึ้นเขียวครึ้มไปทั่ว และยังจะได้ศึกษาธรรมชาติของสังคมพืชระดับเรือนยอดไม้สูงๆ ได้อย่างชัดเจนในระดับสายตาด้วยไม่ว่าจะเป็น ใบ ดอกและผล อีกทั้งบนนี้ยังถือว่าเป็นจุดดูนก และสัตว์ชนิดอื่นๆ อาจจะได้พบกับสัตว์จำพวก นก กระแต ลิง พญากระรอกดำ ได้ตลอดทางโดยไม่ต้องแหงนหน้าขึ้นฟ้าให้เมื่อยคอหรือไม่ต้องใช้กล้องส่องทาง ไกลเลย
|
|
ความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ที่สวนพฤกษาศาสตร์ฯ ทุ่งค่าย |
|
|
และนอกจากจะมีเส้นทางสะพานศึกษาธรรมชาติเรือนยอดไม้แล้ว ก็ยังมีอีกหนึ่งเส้นทางที่จะพาไปศึกษาธรรมชาติกัน นั่นคือ “ทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าพรุ” ซึ่งเส้นทางการเดินป่าพรุนี้จะมีระยะทางประมาณ 1,200 เมตร ใช้เวลาในการเดินเท้าเที่ยวชมประมาณ 30-45 นาที สำหรับเส้นทางการเดินชมธรรมชาติป่าพรุ นั้นเป็นเส้นทางเดินแบบสบายๆ ทางสวนพฤกษศาสตร์ ทำทางเดินด้วยปูนให้มีความกลมกลืนกับธรรมชาติของป่าพรุซึ่งมีลักษณะเป็นพื้น ไม้ล่างที่เกิดขึ้นได้ดีในพื้นที่ลุ่มชุ่มน้ำ ตลอดทางเดินจะได้ศึกษากับพืชพรรณชนิดต่างๆ อาทิ ไผ่ หวาย ระกำ หลุมพี(ลักษณะคล้ายระกำ ออกพลเป็นทะลาย) หม้อข้าวหม้อแกงลิง และถี่โถปีนัง ดอกไม้สวยๆ หลากหลายสายพันธุ์ เป็นต้น
|
|
เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าพรุ |
|
|
“ทางสวนพฤกษศาสตร์สากลภาคใต้ (ทุ่งค่าย) ยังได้จัดสถานที่ไว้สำหรับบริการหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่ายพักแรมที่ได้ใกล้ชิดธรรมชาติอย่างแท้จริง มีบ้านพักรับรอง หรือจะกางเต็นท์นอนสัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิดก็ยังได้ แต่ต้องเตรียมเต็นท์มาเอง และทางสวนพฤกษศาตร์ฯ ยังมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลเรื่องความปลอดภัย ไร้กังวลในเรื่องของการโดนบุกรุกของพื้นที่เนื่องจากเป็นชุมชนล้อมป่า มาเที่ยวพักผ่อนและศึกษาธรรมชาติกันได้” ทวิวาพร มัคคุเทศก์ประจำสวนพฤกษศาสตร์สากลภาคใต้ (ทุ่งค่าย) กล่าวทิ้งท้ายแบบเชิญชวน
|
***************************************** “สวนพฤกษศาสตร์สากลภาคใต้ (ทุ่งค่าย)” ตั้งอยู่ที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าทุ่งค่าย อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง อยู่ห่างจากตัวจังหวัด ไปทางทิศตะวันตก ตามทาง หลวงแผ่นดินหมายเลข 404 (ตรัง-ปะเหลียน) ประมาณ 11 กม. เปิดให้เที่ยวชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. ผู้สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-7528-0166 และสามารถสอบถามสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆในจังหวัดตรังได้ที่ ททท. สำนักงานตรัง โทร. 0-7521-5867, 0-7521-1058, 0-7521-1085 |
Tags : สัมผัสธรรมชาติ แบบแปลกใหม่ สวนพฤกษศาสตร์ฯทุ่งค่าย เมืองตรัง