คุณค่าของธรรมาภิบาล
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : ธงชัย สันติวงษ์
ถึงเทศกาลวัน ตรุษจีน ขอถือโอกาสกล่าว "ซินเจีย ยู่อี่ ซินนี้ ฮวดใช้" กับท่านผู้อ่าน ขอให้ท่านมีความสุข แข็งแรง โชคดีและร่ำรวยตลอดปีทุกท่านครับ
วันนี้ ขอเขียนเรื่องเบาๆ นั่นคือ ธรรมาภิบาล หรือ Good Governance ที่ตลาดหลักทรัพย์เคยทุ่มเทโปรโมทคึกคัก แต่เงียบหายไป ท่ามกลางปัญหาที่เกิดกับสังคมไทยมากมาย โดยเฉพาะในด้านคุณภาพการศึกษา สาธารณสุข และสังคม
ทั้งนี้ นอกเหนือจากด้านการเงิน ที่รู้ๆ กันมานานแล้ว
ในด้านการศึกษา ขณะที่กำลังจะมีการสอบเข้าเรียนปีนี้ รมว.ศึกษา ท่านได้เน้นย้ำถึงความโปร่งใส ให้ดำเนินการสอบอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมนั้น ก็ต้องให้กำลังใจและอนุโมทนาด้วย
ส่วนในด้านการสื่อสาร มีข่าว ส.ว. (คุณรสนา) เดินหน้า จะประจานความไร้ธรรมาภิบาล ของ คณะกรรมการด้านพลังงานและ/หรือกับด้านการสื่อสาร
คำว่า "ธรรมาภิบาล" นี้ โดยทั่วไปจะหมายถึง การบริหารที่มีความโปร่งใส มีการดำเนินการเปิดเผย และเลี่ยงการมีประโยชน์ทับซ้อน อันเป็นต้นเหตุของการทุจริตต่างๆ ที่ทำให้เกิดการเสียหายแก่ส่วนรวม
ธรรมาภิบาล ตามความหมายของผม ไม่น่าจะหมายถึงแต่เพียงการสร้างความโปร่งใส หรือเปิดเผยข้อมูลเท่านั้น หากแต่น่าจะหมายถึงอีก 2 ด้านของพฤติกรรมด้วย คือ
ด้านหนึ่ง "พฤติกรรมการบริหาร" หรือการจัดการโดยมีความรู้จริงๆ ต้องคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม และเพื่อผลประโยชน์ชื่อเสียงขององค์กรเป็นสำคัญ ทั้งนี้ นอกจากเพื่อให้การบริหารไม่ผิดพลาดแล้ว ยังจะต้องให้ได้ผลได้ออกมามากอย่างที่ควรต้องทำได้ด้วย นั่นคือ ต้องรวมถึงการบริหารจัดการ ที่ต้องตรวจสอบได้ว่า มีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ หรือมีการเสียค่าโง่ ประสิทธิภาพผลงานตกหล่นหายไปไหนหรือได้น้อยกว่าที่ควร หรือไม่ เพราะเหตุใด จนทำให้องค์กรเสียหาย หรือเสียหายทั้งสิ่งมีค่าหรือแม้แต่ชื่อเสียง อันเป็นทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ ด้วย ในด้านนี้ ธรรมาภิบาล จึงหมายถึง การต้องเก่งจริงและไม่แกล้งโง่ เพื่อหาประโยชน์เข้าตน
ด้านที่สอง "พฤติกรรมการโกง" หรือการมุ่งให้มีการเปิดเผย เปิดโปง กลเกมการโกงในทางต่างๆ เพื่อให้เห็นถึงช่องทางการทุจริตโดยทางอ้อม อย่างตั้งใจ แต่ด้วยพฤติกรรมที่ หากดูผิวเผินแล้วอาจไม่เห็น และดูจะ "ใสซื่อน่าเชื่อถือ" หรือ "มือสะอาด" ด้วย
ซึ่งกรณีของธรรมาภิบาลอันหลังนี้ ยอมรับว่า มองค่อนข้างยาก และค่อนข้างเป็นทัศนคติเชิงลบ ที่มองคนในแง่ไม่ดีไว้ก่อนหรือมองคนไม่ดีมากเกินไป คล้ายกับว่า ทุกคนจะต้องเริ่มด้วยทฤษฎี X หรือการคิดจะทำสิ่งไม่ดีไว้ก่อน ซึ่งผมยอมรับว่า เป็นเช่นนั้นจริง
เพราะมีคนกล่าวว่า คนไทย มีนิสัย ขี้โกง หรือรักจะเป็นศรีธนญชัยมากกว่าความซื่อสัตย์ โดยคนไม่น้อยบอกว่า ถ้าเมืองไทยไม่มีคนขี้โกง จะเจริญเร็วกว่านี้มากกว่าใครๆ ในโลกด้วย
ซึ่งผมก็ยอมรับว่าจริง เพราะคนไทยจริงๆ แล้วหัวดี เก่งสร้างสรรค์ คิดอะไรไม่แพ้ใครๆ ในโลก แต่มีนิสัยไม่ดี คือ มักง่าย ชอบคิดแต่จะโกงก่อน เอาง่ายเอาดี เอามากไว้ก่อน แทนที่จะคิดสร้างสิ่งดีงามให้ปรากฏก่อน หรือทำดี ทำให้กับส่วนรวมก่อน เพื่อทั้งหมดและเราเองจะได้ดีพร้อมกับเขา
สำหรับธรรมาภิบาล ใน ประการหลัง คือ การมีบทบาทเป็นคนเปิดโปง พูดดักคอคนโกงก่อนเวลา อย่างเปิดเผย และทำซึ่งหน้า หรือตะโกนเตือนให้คนทั่วไปเห็น โดยไม่กลัวเขาเสียหน้าหรือโกรธ ด้วยการป่าวประกาศ กดดันเป็นเชิงรุก ต่อผู้กำลังจะกระทำสิ่งขาดธรรมาภิบาล
ในกรณีหลังนี้ แม้จะกล้าเปิดเผย แต่ก็อาจไม่ได้ผล เพราะคนจำนวนมากอาจมองไม่ออก ความรู้ไม่พอ หรือประสบการณ์น้อยเกินไป จนมองไม่ออกว่า เขาจะกล้าหรือทำสิ่งไร้ธรรมาภิบาลได้อย่างไร
เรื่องที่ผมจะพูดถึงเป็นเพียงตัวอย่างของปัญหาจากการขาดธรรมาภิบาล ก็คือ
ในด้านการบริหารการศึกษา ดังข่าวที่ปรากฏออกมาว่า "จ่ายครบจบแน่" หรือ "มีการจ้างทำวิทยานิพนธ์" "มีการซื้อขายปริญญาโท-เอกกัน" ซึ่งหลายสถาบันต่างแข่งกันออกมาปฏิเสธ มีการเล่นเส้นในระบบสอบตรง หรือมีการสอบแข่งขันชิงทุนแบบจัดตั้ง ซึ่งเป็นการแลกประโยชน์กันตรง
ผมจะไม่ขอกล่าวถึงการขาดธรรมาภิบาลของสถาบันใดๆ โดยเฉพาะ แต่จะเล่าถึงการเปิดให้มีการแทรกเข้ามาทำลายธรรมาภิบาล ดังนี้
เช่น นโยบาย การให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ บริหารเองได้นั้น เป็นต้นเหตุของการหารายได้จากทรัพย์สินของหลวง โดยมุ่งหารายได้มากเกินขนาด กับมีการใช้จ่ายกันเองตามสบายโดยไม่มีการตรวจสอบ ควบคุมใดๆ สะท้อนถึง การผิดหลัก "อำนาจหน้าที่ ต้องเท่ากับความรับผิดชอบ" นั่นคือ ถ้าให้สถาบันการศึกษามีอำนาจเอาทรัพย์สินหลวงตัดออกไปหารายได้กันเองแล้ว ย่อมไม่ยุติธรรมต่อประชาชนที่เป็นผู้เสียภาษีและเป็นเจ้าของทรัพย์สินของ หลวง ดังนั้น ถ้าจะให้มีอำนาจบริหารอิสระเองได้ ก็ควรต้องกำหนดให้ต้องรับผิดชอบต่อผลงาน คือ อัตราผลตอบแทนขั้นต่ำที่จะต้องทำได้ และหลังจากหักค่าใช้จ่ายออกไปตามอัตราใหม่ ที่คล่องตัวแล้ว ก็จะต้องแสดงถึงอัตราใหม่ว่ามีเหตุผลควรยอมรับหรือไม่ และยอดที่ต้องนำส่งให้รัฐควรเป็นเท่าไหร่ หรือควรเก็บเป็นเงินสำรองเพื่อการพัฒนาเท่าใด เป็นต้น
ด้วยนโยบายการให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบโดยมีการควบคุมแบบนี้เอง ที่ทำให้มีการแย่งชิงเงียบๆ เอาคนของตนเข้าไปนั่งเป็นกรรมการสภาเป็นเสียงข้างมากเอาไว้ แล้วจะออกระเบียบทำอะไรก็ได้ ตามสบาย
โดยบางแห่ง ใช้วิธีสวมต่อประชาธิปไตย โดยใช้วิธีเลือกตั้งจากกลุ่มต่างๆ แต่มีการเดินเกมหาเสียงจากข้างล่างในขั้นตอนเลือกตัวแทนกลุ่ม หรือบางกรณีถ้าเป็นกรรมการสภาจากหน่วยงาน ก็จะอุปโลกน์ตั้งหน่วยงานพิสดาร เพื่อไว้เลือกเอาตัว ผอ. ที่เป็นของตนเข้าไปในสภา เพื่อเสียงข้างมาก หรือบางกรณีก็ทำเป็นโควตาของกลุ่มตัวแทน เช่น จากสมาคมคมศิษย์เก่าหรือสื่อมวลชน ก็จะเลือกคนเดิมซ้ำๆ กันนานๆ โดยไม่มีการเปลี่ยน หรือถ้ามีเทอมกำหนด ก็จะผลักดันนอมินีหน้าใหม่ขึ้นแทนนอมินีที่ครบเทอมไปอย่างต่อเนื่องก็มี
ในอีกทาง เช่น การรับตรง การจะทำเอาโดยแบ่งโควตารับตรง ก็จะทำโดยกรรมการที่จัดตั้งไว้แล้ว จากนั้นก็ตั้งกรรมการวางเกณฑ์การสอบ กับกรรมการออกข้อสอบ โดยกีดกันอาจารย์อาวุโสหรืออาจารย์นอกสาขา หรือภาควิชา ที่จะเข้ามาเพื่อการถ่วงดุล และให้มาตรวจสอบควบคุม ซึ่งทุกขั้นตอนของกระบวนการรับตรง จะทำกันในกลุ่มจัดตั้งโดยตรง
หรือกรณีตัวอย่างของคุณภาพการศึกษาที่ตกต่ำ ส่วนมากเกิดจากการที่มีกรรมการทับซ้อนกัน โดยกรรมการฝ่ายควบคุมไปมีความสัมพันธ์และหรือผลประโยชน์ตรงหรือทางอ้อมไปควบ คุมและไปดำเนินการ หรือหาคนดำเนินการในการจัดตั้งศูนย์การเรียนนอกสถานที่ หรือการเอาตำแหน่งวิชาการไปใส่ไว้ในศูนย์หรือโครงการ มากแห่งจนจำไม่ได้ และแม้จะกลายเป็นนารายณ์อวตารก็ยังทำไม่ไหว แล้วอย่างนี้ คุณภาพการสอนจะเกิดขึ้นได้อย่างไร
นอกจากนี้ ยังมีการใช้วิธีเพิ่มเงินค่าสอนรายชั่วโมงสูงลิ่ว และให้ผู้สอนคนเดิมย่ำเท้า หรือร้องเพลงซ้ำ ไม่ต่างกับ "นักร้องวิ่งรอก" ร้องเพลงดังเพลงเก่า จนไม่มีเวลาพัก หรืออ่านหนังสือใหม่
หรือในกรณีการสอบชิงทุน ก็จะตั้งกรรมการที่เป็นพวกของตนเป็นเสียงข้างมากไว้ เช่น 3 ใน 5 แล้วตั้งกรรมการคนนอกเป็นข้างน้อยไว้ เช่น 2 ใน 5 ดังนี้ สอบอย่างไร คนนอกรวมหัวจะออกเสียงอย่างไร ก็แพ้วันยังค่ำ
เรื่องนี้ จริงตามที่ผมได้ยินจากเพื่อนพูดไว้ว่า "The Pie is very Small" ผลประโยชน์ในกลุ่มวิชาการมีไม่มาก ดังนี้ ถ้านักวิชาการไร้ซึ่งหิริ โอตตัปปะแล้วไซร้ สิ่งน่าเกลียดย่อมเกิดขึ้นได้มากมาย