จาก โพสต์ทูเดย์
ถ้ากฎหมายในรัฐนั้นๆ ใช้บังคับไม่ได้ด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม เราจะเรียกระบอบนั้นว่าอะไร ซึ่งมีเพื่อนนักกฎหมายของผู้เขียนคนหนึ่งบอกให้เรียกว่า นิติบ้อลัก....
โดย...ทวี สุรฤทธิกุล
กล่าวกันว่าประเทศที่เป็นประชาธิปไตยต้องปกครองด้วยระบอบ “นิติรัฐ” แปลว่า “รัฐที่ปกครองด้วยกฎหมาย” แต่ถ้ากฎหมายในรัฐนั้นๆ ใช้บังคับไม่ได้ด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม เราจะเรียกระบอบนั้นว่าอะไร ซึ่งมีเพื่อนนักกฎหมายของผู้เขียนคนหนึ่งบอกให้เรียกว่า “นิติบ้อลัก”
ซึ่งแปลว่า “ความไร้สมรรถภาพทางกฎหมายของรัฐ” โดยนัยนี้กฎหมายก็เป็นเพียงแค่อวัยวะ หรืออุปกรณ์ที่ใช้การไม่ได้แล้วนั่นเอง!
ยกตัวอย่างว่า ท่านอาศัยอยู่ในซอยแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ตลอดซอยนั้นมีรถจอดอยู่ทั้งกลางวันและกลางคืนเหมือนเป็นที่ส่วนตัว แถมมีการตั้งป้ายจองที่ไว้เฉพาะตนไม่ให้ใครอื่นมาจอดทั้งที่เป็นที่สาธารณะ ซึ่งตามกฎหมายจะมีรถมาจอดขวางกีดกั้นการจราจรไม่ได้ เช่นเดียวกันกับถนนหน้าตึกแถวในซอยที่ถูกจับจองเป็นที่ขายของ โดยที่บนฟุตปาทต้องแบ่งรายได้ให้ “เขต” กับที่บนผิวถนนให้กับ “จ่า” พอออกไปตรงปากซอยก็มีการจัดตลาดนัดไปครึ่งถนน และมีคนใส่ชุดลายพรางเดินเก็บค่าเช่า (ที่ซึ่งเป็นถนนสาธารณะ) อยู่อย่างท้าทาย
ขับรถออกจากบ้านผ่านหน้าโรงเรียน รถยนต์นานาชนิดปาดแซงแย่งที่จอดเพื่อส่งลูกหลาน ถนนซูเปอร์ไฮเวย์ขนาด 4 เลน เหลือเพียงเลนเดียวที่พอจะเบียดออกไปได้ พอจะขึ้นสะพานข้ามแยกก็มีรถตู้สาธารณะคนเต็มรถ เบียดซ้ายปาดหน้าขึ้นมาอย่างกระชั้นชิด โดยไม่เปิดไฟเลี้ยวให้สัญญาณ ตำรวจจราจรก็อยู่ตรงนั้น แต่ทำหันหลังเพื่อไม่ให้เห็นเหตุการณ์
ลงสะพานข้ามแยกขับตรงต่อไปอีกนิดเป็นถนนถูกบีบเหลือ 2 เลน เพื่อเลี้ยวซ้าย จราจรได้ใช้งบประมาณไปซื้อเสายางสีแสดมาตั้งไว้กั้นไม่ให้รถเบียดแซงทางขวา เข้ามาราว 20 อัน ครึ่งหนึ่งถูกเบียดทับหักและหลุดไป ใกล้กันนั้นมีป้อมจราจรติดแอร์และกระจกทึบเพราะกลัวร้อน มีใคร 2–3 คนอยู่ข้างในเหมือนว่ากำลังกดปุ่มอะไรเล่น บางทีตอนเย็นๆ แดดร่มลมตกก็จะเห็นแต่งเครื่องแบบออกมายืนจับรถที่เบียดแซงพอเป็นธรรมเนียม เพราะส่วนใหญ่จะตะเบ๊ะให้แล้วปล่อยไป ขณะที่มอเตอร์ไซค์ก็สามารถขับในเลนทางด่วนนั้นได้เหมือนไม่ผิดกฎหมาย
ถึงที่ทำงานพอมีเวลาว่างก็อ่านข่าวหนังสือพิมพ์ เห็นข่าวอัยการยังไม่ฟ้องในคดีสำคัญ และให้ตำรวจไปหาหลักฐานหรือ สอบสวนเพิ่มเติม ต่อมาเป็นข่าวศาลเลื่อนพิจารณาคดีของคนดังเป็นครั้งที่เท่าไหร่ก็ไม่รู้ออก ไปอีกเป็นเดือน หน้าเดียวกันมีข่าวศาลเขมรสอบคนไทยที่รุกล้ำดินแดนตั้งแต่เช้ายันค่ำแล้วนัด ตัดสินวันมะรืนนี้ ลงมาข้างล่างติดกันเป็นข่าวตำรวจเพิ่มความเข้มในการจัดกองกำลังของตำรวจ เพื่อรับม็อบ
อ่านเนื้อข่าวนี้บรรยายความว่า กองบัญชาการตำรวจนครบาลเพิ่มกำลังตำรวจอีก 12 กองร้อย พร้อมด้วยหน่วยพิเศษอีกหลายสิบ กับกองกำลังปะฉะดะอันเลื่องชื่อ โดยที่วันก่อนมีกำลังอยู่แล้ว 52 กองร้อย ในขณะที่นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ขอคืนพื้นที่ผิวจราจรผ่านสื่อ โดยเหน็บแนมผู้ชุมนุมว่าแค่ขอให้เห็นแก่ส่วนรวมคือคนกรุงเทพฯ แค่นี้ยังให้ไม่ได้ แล้วจะไปทำอะไรเพื่อชาติอย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้นั้นได้เล่า ท้ายข่าวเป็นคำสัมภาษณ์ของรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ที่ก้มหน้าพูดว่าจะใช้กฎหมายจัดการกับใครก็ตามที่ทำผิดกฎหมายอย่างจริงจัง
สภาพ “นิติบ้อลัก” ที่ยกตัวอย่างมาเสี้ยวหนึ่งดังเรื่องข้างต้นนั้นน่าจะมีสาเหตุดังนี้
ประการแรก ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีกฎหมายจำนวนมากมายติดอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งอาจจะเป็นไปตามสมมติฐานที่ว่า “สังคมยิ่งชั่วร้ายก็ยิ่งต้องมีกฎหมายออกมาใช้มากๆ” พร้อมกันนี้ก็มีคนเสริมเหตุผลให้ด้วยว่าสังคมไทยเป็นสังคม “ศรีธนญชัย” การออกกฎหมายมากมายนี้ก็เพื่อ “แก้ลำ” พวกศรีธนญชัยดังกล่าว
ประการต่อมา เพราะเหตุที่กฎหมายมีมาก ผู้ใช้กฎหมายจึงอ้างว่ามีความยุ่งยากอยู่มากที่จะใช้กฎหมายทั้งหลายนั้น เริ่มจากการเรียนรู้และทำความเข้าใจ เพราะคนที่เรียนกฎหมายในประเทศไทยต้องท่องกฎหมายและจำฎีกาเก่งๆ ส่วนผู้ปฏิบัติอย่างเช่นตำรวจก็ต้องพลิกกฎหมายทีละหน้าและสอบสวนให้รอบคอบ ความเชื่องช้าจึงเป็นปกติของการยุติธรรมไทย
อีกประการหนึ่ง ผู้ใช้กฎหมายต้องระมัดระวังมาก แบบว่าต้องดู “ตาม้าตาเรือ” อย่างละเอียดเพื่อไม่ให้ไปเหยียบตาปลาของใคร ในขณะเดียวกันก็ต้องคอยเอามือลูบหน้าเพื่อดูว่าจะ “ปะจมูก” อะไรบ้างหรือไม่ เพราะสังคมไทยมีเส้นสายยุบยับ ใครใช้กฎหมายโดยไม่ระมัดระวังอาจจะเสียอนาคตราชการเอาได้ง่ายๆ
ประการสำคัญ โดยเหตุที่เจ้าหน้าที่มักจะรบกวนพวกพ่อค้า ซึ่งพ่อค้าก็จะมีคติว่า “ทะเลาะกับหมาต๋า (ตำรวจ) กินอุจจาระหมาดีกว่า” จึงนิยมจะ “เกี้ยเซี้ย” หรือเจรจายอมความง่ายๆ ด้วยการ “ซื้อความสะดวกและปลอดภัย” ต่อมาจึงเป็นธรรมเนียมทั่วไป (จนกลายเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง) ในสังคมไทยว่า ถ้าอยากอยู่อย่างสบายในสังคมนี้ต้องรู้วิธีใช้เงินกับทางราชการ ที่ต่อมาจะรวมถึงนักการเมืองที่มีอิทธิพลสูงสุดในทุกวันนี้ด้วย
ประการสุดท้าย คนไทยเป็น “คนขี้เล่น” และมองโลกในแง่ดี (แม้จะทุกข์อย่างยิ่งในชาตินี้ ก็ยังหวังเสมอว่าอาจจะสุขสบายขึ้นบ้างในชาติหน้า-ถ้าชาติหน้ามีจริง) จึงคิดว่าไม่เห็นจะต้องไปเคารพเชื่อฟังกฎหมายให้รำคาญรุงรัง เพราะท่านจับเดี๋ยวท่านก็ปล่อย (ถ้ารู้ช่องทางและมีเส้นสาย) หรือจับแล้วก็ไม่ต้องไปเดือดร้อนเรื่องคดี เพราะสามารถ “เป่า” ได้ หรือชะลอไปจนหมดอายุความได้ รวมถึงเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็อาจจะเปลี่ยนแปลงกฎหมายต่างๆ เหล่านั้นได้
ภาวะที่กฎหมายของประเทศไทยไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างจริงจัง หลายคนอาจจะโทษ“ผู้ใช้” คือ ตำรวจ อัยการ และศาลเป็นหลัก แต่ถ้าเราพิจารณาให้ดีก็จะพบว่าเป็นปัญหาที่คนไทยนี่เองที่ไม่มีสำนึก “เคารพ” ต่อกฎหมายที่มีอยู่ แถมยังมองกฎหมายอย่างหยามหลู่รวมทั้งหลายคนก็มองกฎหมายว่าเป็นเครื่องบำบัด ทางอารมณ์
อารมณ์ที่ว่าคือความใคร่ในลาภ ยศ และสรรเสริญ ใคร่ที่จะมีอิทธิพลหรืออยู่เหนือคนอื่น ใคร่ที่จะกอบโกยและโกงกิน และใคร่ที่จะให้คนเชื่อฟังจนกระทั่งเกรงกลัว คนเหล่านี้จึงไม่เกรงกลัวกฎหมาย และที่ทุเรศที่สุดก็คือคนที่ออกกฎหมายนั่นเองที่เป็นคนในลักษณะที่ว่ามานี้ ผู้เขียนจึงไม่โทษผู้ใช้กฎหมาย เพราะหลายคนเกรงกลัวนักการเมือง “ชั่วๆ” เหล่านี้ จึงต้องปล่อยให้กฎหมายถูกกระทำย่ำยีไปด้วยเพื่อ “รักษาตัวรอดเป็นยอดดี”
ถ้าเป็นเช่นนั้น นักการเมืองไทยก็คือ “อภิมหาหื่น” ที่ร่วมกันข่มขืนได้แม้แต่กฎหมายที่ตนเองให้กำเนิดและทำคลอดมากับมือ!