ธรรมาภิบาลในกิจการพลังงาน..มีไหม?
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ศรัญญา ทองทับ
โครงการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะการให้แรงจูงใจ ด้วยการให้ราคาค่าไฟฟ้าเพิ่มจากอัตราปกติ
ที่เรียกว่าอัตราส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า หรือ แอดเดอร์ ของกระทรวงพลังงานได้ดึงดูดเอกชนให้เข้ามาเสนอขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จำนวนมาก โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่กำหนดแอดเดอร์ที่ 8 บาทต่อหน่วย เป็นเวลา 10 ปี เนื่องจากเป็นระดับที่มีแรงจูงใจเพียงพอ ขณะเดียวกันมีปัจจัยบวกจากความเหมาะสมของสภาพอากาศในประเทศไทย
ตั้งแต่ปี 2550 ที่มีการให้แอดเดอร์ข้างต้นได้มีการเปิดรับซื้อเรื่อยมา แล้ววันหนึ่งสถานการณ์พลิกกลับ เมื่อ กระทรวงพลังงาน พบว่าปริมาณไฟฟ้าที่เสนอขายสูงกว่าแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ที่เสนอขายไฟฟ้าเข้าระบบกว่า 3,000 เมกะวัตต์ จากแผนที่กำหนดให้เข้าระบบ 500 เมกะวัตต์
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน จึงส่งหนังสือไปยัง 3 การไฟฟ้าเมื่อเดือนมี.ค. 2553 ให้ชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงพลังงานลม พร้อมลดอัตราแอดเดอร์ของแสงอาทิตย์เหลือ 6.50 บาทต่อหน่วย โดยไม่มีการส่งสัญญาณให้ทราบล่วงหน้า
ขณะเดียวกันก็รวมศูนย์การอนุมัติโครงการผลิตไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียนมาอยู่ที่กระทรวงพลังงาน และตั้งคณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน มีปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน…จากเดิมอำนาจอยู่ที่ 3 การไฟฟ้า เรียกว่าโครงการใดจะเดินหน้าได้ต้องมีไลเซ่นจากบอร์ดชุดนี้
นับจากนั้น การพิจารณาอนุมัติโครงการ ก็กลายเป็นความคลุมเครือ เพราะไม่รู้ว่าโครงการใดเสนอขายไฟฟ้าช่วงใด ก่อนหรือหลังมีคำสั่งให้ชะลอการรับซื้อและอนุมัติโครงการใดไปแล้วบ้าง และด้วยแอดเดอร์อย่างไร เพราะไม่เคยมีการชี้แจงแถลงไขที่ชัดเจน หรือแสดงข้อมูลให้สาธารณะรับทราบ
หลายโครงการขนาดเล็กๆ 1-3 เมกะวัตต์ แม้จะร้องเพลง "รอ" ด้วยความใจเย็น แต่หลายเดือนผ่านไป สุดท้ายก็ได้รับหนังสือตอบกลับมาว่า อยู่ในข่ายได้รับแอดเดอร์ 6.50 บาทต่อหน่วย
จากคำตอบมาสู่คำถามใหม่ของภาคเอกชนว่า...ทำไมอีกโครงการที่เสนอขายไฟฟ้าในวันเดียวกันและพื้นที่เดียวกลับได้แอดเดอร์ที่ 8 บาทต่อหน่วย และถูกตั้งคำถามซ้ำว่า "เส้น" เป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาหรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับโครงการที่ได้รับการอนุมัติไปก่อนหน้า
ผลที่เกิดขึ้นคือโครงการขนาดเล็ก 1-3 เมกะวัตต์ ที่ได้แอดเดอร์ 6.50 บาทต่อหน่วยนั้น มีผลตอบแทนต่ำลงเหลือเพียง 6-7% ทำให้แบงก์ลังเลที่จะให้กู้
สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น นอกจากจะทำให้นักลงทุนไทยและเทศ ต่างส่ายหัวกับความไม่ชัดเจนของนโยบายแล้ว ยังถามหาธรรมาภิบาลในขั้นตอนการอนุมัติโครงการด้วยว่ามีไหม ?
ส่วนทางออกของเอกชน ย่อมแตกต่างกันไป บางรายถอดใจ บางรายใช้วิธีขอซื้อไลเซ่นต่อจากโครงการที่ได้รับการอนุมัติแล้ว บางโครงการใช้วิธีฟ้องร้องทางคดี และหลายโครงการร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ลงมาสอดส่องกระบวนการอนุมัติโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน
ไม่รู้ว่าปรากฏการณ์นี้ จะมีคำตอบจากผู้เกี่ยวข้องทั้งที่อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลังหรือไม่ หรือยังคงปล่อยให้ทุกอย่างดำมืดต่อไป...?