สาเหตุที่พนักงานไทยประพฤติผิดจริยธรรม
โดย : ศิริยุพา รุ่งเริงสุข
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
หลักอริยสัจ 4 ของพุทธศาสนา การจะดับทุกข์ก็ต้องเข้าใจถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ แล้วแก้กันที่สาเหตุ จึงจะสามารถดับทุกข์ได้อย่างตรงจุด
เฉกเช่นเดียวกับการจะแก้ปัญหาเรื่องที่พนักงานในองค์กรประพฤติผิดกฎ ระเบียบข้อบังคับ ตลอดจนผิดจริยธรรมและจรรยาบรรณของอาชีพ (ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “misconduct”) ก็ต้องแก้ที่สาเหตุเช่นกัน จึงจะสามารถถอนรากถอนโคนการคิดผิดที่นำไปสู่การปฏิบัติผิดๆ
สังคมของประเทศไทยในขณะนี้ก็เหมือนกับสังคมทั่วโลกที่กำลังเผชิญปัญหา ศีลธรรมและจริยธรรมเสื่อมโทรม มีทุรชนที่มาในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ “โจร” ที่เห็นกันแบบจะจะเช่น คลุมหัวเป็นอ้ายโม่งปล้นฆ่าชาวบ้าน และ “โจรในคราบผู้ดี” ที่หน้าฉากตกแต่งสวยงามเป็นสุภาพบุรุษหรือสุภาพสตรีที่มีการศึกษาสูง หน้าที่การงานดี พูดจาไพเราะ แต่เบื้องหลังคือ คนฉ้อฉล
น่ากลัวมากสำหรับ “โจรในคราบผู้ดี” เพราะมีปะปนอยู่ในสังคมทั่วไป ที่น่ากลัวเพราะว่าคนพวกนี้มีการศึกษาสูงและมีตำแหน่งสถานะทางสังคมสูงเป็น ที่นับหน้าถือตาในสังคม แต่สำนึกผิดชอบชั่วดีนั้นมีน้อยหรือไม่มีเลย ดังนั้นหากคิดทำการทุจริตหรือคิดมิชอบ (ชั่ว) ก็จะสร้างความเสียหายได้มากเพราะมีสติปัญญาสูง
ดิฉันภูมิใจนำเสนอผลงานวิจัยชั้นดีจากฝีมือนิสิตหลักสูตรปริญญาโทด้านการ บริหารบุคคลของศศินทร์นี่เอง งานชิ้นนี้วิจัยเรื่องความคิดเห็นของผู้บริหารที่มีต่อพฤติกรรมผิดจริยธรรม ของพนักงานและกลยุทธ์การบริหารจัดการจริยธรรมในองค์กรไทย (Managerial Perceptions on Employee Misconduct and Ethics Management Strategies in Thai Organizations)
ผู้วิจัยก็คือ คุณพงศธร เอื้อมงคลชัย ผู้จัดการใหญ่ด้านวางแผนและบริหารของบริษัทไทยยามาฮ่า มอเตอร์ จำกัด ซึ่งสนใจงานด้าน HR อย่างจริงจังจนต้องจัดเวลามาศึกษากันอย่างลึกซึ้งที่ศศินทร์ คุณพงศธรเห็นความสำคัญของเรื่องจริยธรรมว่าเป็นประเด็นที่ชาว HR และผู้บริหารในเวลานี้ต้องให้ความสำคัญและร่วมมือกันสร้างนโยบาย ค่านิยม และระบบบริหารจัดการที่ดีเพื่อจะได้สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เหมาะสมในการปลูก ฝังทัศนคติและพฤติกรรมที่มีจริยธรรมให้แก่พนักงาน แต่ก่อนจะไปกำหนดกลยุทธ์ นโยบายและค่านิยมในการพัฒนาจริยธรรมที่เหมาะสมสำหรับองค์กร คุณพงศธรมองว่าเราต้องเข้าใจถึงสาเหตุที่ทำให้พนักงานประพฤติผิดจริยธรรม ก่อน
งานวิจัยชิ้นนี้มุ่งศึกษาถึงสาเหตุจูงใจในการประพฤติผิดจริยธรรมของ บุคลากรในองค์กรบ้านเรา โดยได้สำรวจความเห็นของผู้บริหารระดับผู้จัดการทุกแผนกในองค์กรต่างๆ จำนวน 229 ราย ผลสำรวจพบว่าสาเหตุหลักที่ทำให้พนักงานไทยประพฤติผิดจริยธรรมมาจากปัญหาและ นิสัยส่วนตัวของพวกเขาเอง นั่นก็คือ มีปัญหาเรื่องการเงิน มีนิสัยโลภ มีนิสัยชอบเล่นการพนัน ใช้ชีวิตหรูหราฟุ่มเฟือย ฯลฯ ซึ่งพฤติกรรมส่วนตัวเหล่านี้ทำให้พนักงานมีปัญหาเรื่องการเงินและทำให้พวก เขาหาทางแก้ปัญหาด้วยการคดโกงและแสวงหาผลประโยชน์จากองค์กรในรูปแบบต่างๆ เช่น ขโมยเงิน เบิกเงินเกินจำนวนที่จ่ายจริง ยักยอกอุปกรณ์เครื่องใช้ในสำนักงานไปขาย สมคบกับผู้ค้าในการซื้อสินค้าในราคาที่สูงกว่าความเป็นจริงแล้วเก็บเงินส่วน เกินเข้ากระเป๋าตัวเอง เป็นต้น
ผลวิจัยบ่งชี้ด้วยว่าปัจจัยสิ่งแวดล้อมในองค์กรที่เอื้ออำนวยให้พนักงาน ประพฤติมิชอบได้ง่ายและสะดวกขึ้นได้แก่ การที่พวกเขาดำรงตำแหน่งงาน ณ หน่วยใดหน่วยหนึ่งเป็นเวลานานๆ จนรู้นอกรู้ใน เข้านอกออกในจนช่ำชองและมองเห็นรูโหว่ของกฎระเบียบต่างๆ ทำให้สามารถอาศัยช่องว่างของกฎระเบียบสร้างพฤติกรรมที่มิชอบขึ้นได้ อีกทั้งการที่มีความชำนาญเฉพาะทางเป็นพิเศษในสาขาที่คนอื่นไม่ค่อยรู้ทำให้ พนักงานคิดว่าจะไม่มีใครมาจับผิดเขาได้ง่ายๆ เป็นการเปิดทางให้เขาประพฤติมิชอบได้สะดวกขึ้น นอกจากนี้พนักงานบางคนก็ยังสร้างเครือข่ายการทุจริตในหมู่เพื่อนร่วมงานที่ ใกล้ชิดอีกด้วย โดยมีการแบ่งผลประโยชน์กันซึ่งนำไปสู่การทุจริตแบบเป็นทีมในองค์กร ทำให้ยากยิ่งขึ้นไปอีกในการตรวจสอบ เพราะทั้งทีมร่วมกันปกปิดความผิด
ผลงานวิจัยได้นำเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาที่น่าจะตรงจุดที่สุดคือ แก้ที่นิสัย ซึ่งแก้ยากมาก ไม่สามารถแก้หรือป้องกันได้อย่างมีประสิทธิผลและยั่งยืนด้วยวิธีผิวเผิน เช่น การออกกฎหมาย การจับกุมนำตัวมาลงโทษ การออกกฎระเบียบ วิธีการเหล่านี้เป็นวิธีการบังคับควบคุมจาก “ภายนอก” แต่วิธีที่น่าจะได้ผลยั่งยืนกว่าคือการปลูกสร้างจิตสำนึกที่ดีจาก “ภายใน” ให้รู้ว่าผิดชอบ ชั่วดี เป็นอย่างไร
คุณพงศธรจึงเสนอแนวทางหลายวิธีด้วยกันในการปลูกฝังจิตสำนึกที่มีคุณธรรม ให้แก่พนักงาน แนวคิดหลักก็คือ การนำหลักคิดและการใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัวมาใช้เพื่อสร้างค่านิยมแบบสมถะ กินอยู่อย่างพอเพียงสมฐานะของแต่ละคน ไม่โลภโมโทสันมากเกินไป และก็ไม่ใช่นอนทอดหุ่ยดูดายแล้วบอกว่าอยู่แบบพอเพียง นอกจากนี้องค์กรควรใช้นโยบายหมุนเวียนพนักงานไม่ให้ดำรงตำแหน่งอยู่ที่ใด เป็นเวลานานๆ จนสามารถตั้งตัวเป็น “เจ้าพ่อ” หรือ “เจ้าแม่” แผ่อำนาจอิทธิพล นึกอยากจะทำอะไรที่ผิดกฎก็ทำได้ ฝ่ายบริหารและ HR ควรกำหนดนโยบายแนวทางเรื่องจริยธรรมขององค์กรให้ชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร มีการสื่อสารและฝึกอบรมพนักงานให้เข้าใจถ่องแท้ว่าการประพฤติแบบใดที่เข้า ข่ายเป็นการผิดจริยธรรม มีคณะกรรมการตรวจสอบพิจารณาและลงโทษพฤติกรรมที่ผิดจริยธรรมอย่างเป็นระบบ
นับเป็นอีกหนึ่งความพยายามที่จะสร้างสังคมธุรกิจไทยให้สะอาดขึ้นกว่าเดิม โดยเน้นเรื่องจิตสำนึก ดิฉันคิดว่าเราต้องร่วมมือกันทุกฝ่ายทุกระดับเพื่อช่วยกันยกระดับจิตใจของคน ไทยให้มีจริยธรรมมากขึ้นอย่างเร่งด่วน ก่อนที่โจรในคราบผู้ดีจะแพร่พันธุ์ทั่วสังคมของเรานะคะ