ประชาธิปไตยชุมชน รากฐานประชาธิปไตยของชาติ
โดย : เอนก เหล่าธรรมทัศน์
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
หัวใจของประชาธิปไตยจึงอยู่ที่ทำอย่างไรให้เป็นการปกครองของประชาชนคนสามัญ และโดยประชาชนคนธรรมดาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
การ บริหารการปกครองบ้านเมืองโดยทั่วไปนั้นมี 3 ระดับ จะขาดซึ่งอันใดอันหนึ่งไม่ได้ คือมีทั้งระดับชาติ ระดับท้องถิ่น โดยองค์การบริหารปกครองส่วนท้องถิ่น และระดับที่ขาดไม่ได้เลยคือ ชุมชน ซึ่งมีทั้งชุมชนที่เป็นเขตพื้นที่ และชุมชนที่เป็นภารกิจ เช่น สมาคมศิษย์เก่า หรือมูลนิธิต่างๆ เป็นต้น
สิ่งที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาประชาธิปไตยบ้านเรานั้น เป็นเพราะเรามักจะเข้าใจกันว่า ประชาธิปไตยทั้งสามระดับใช้รูปแบบเดียวกันทั้งหมด คือการเลือกผู้แทน หรือผู้นำ ซึ่งที่จริงเราต้องแยกให้ออกว่า ประชาธิปไตยที่ว่านั้น คือ ‘ที่ไหน’ และ ‘ระดับใด’ ซึ่งแต่ละระดับต้องไม่เหมือนกัน ไม่ไปเลียนแบบประชาธิปไตยในระดับอื่น องค์กรส่วนท้องถิ่นต้องไม่เลียนแบบระดับชาติ แต่ต้องมีประชาธิปไตยของตนเองที่เรียกว่าประชาธิปไตยชุมชน
ระบอบประชาธิปไตยนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือประชาชน ไม่ใช่นักวิชาการ ผู้นำ หรือผู้ใหญ่ นิยามของประชาธิปไตยคือ การปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ตรงนี้สำคัญ เพราะในประเทศเรานั้นมักจะเน้นไปที่คำว่า ‘เพื่อประชาชน’ ซึ่งผิด เพราะว่าการปกครองทุกระบอบล้วนอ้างว่าทำเพื่อประชาชนทั้งสิ้น แต่อาจจะไม่ได้ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ทำอะไรเลย ซึ่งนั่นไม่ใช่ประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยมีลักษณะพิเศษ คือ ‘เป็นของประชาชน และโดยประชาชนเพิ่อประชาชน’ ด้วย
หัวใจของประชาธิปไตยจึงอยู่ที่ทำอย่างไรให้เป็นการปกครองของประชาชนคน สามัญและโดยประชาชนคนธรรมดาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แน่นอนเราไมได้รังเกียจคนชั้นสูง แต่ประชาธิปไตยไทยในเวลานี้ น่าจะถึงขั้นที่ประชาชนได้เข้ามาปฏิรูปประชาธิปไตยด้วยตัวเองแล้ว
ในรอบ 5-6 ปีที่ผ่านมา ประชาชนขึ้นมาก่อการเคลื่อนไหว ทำกิจกรรม เรียกร้องต่อสู้ แม้ว่าจะมีการนำอยู่ด้วย แต่ที่เราต้องมองให้เห็นมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นสีแดง เหลือง น้ำเงิน หรือไม่เอาสี ต่างก็มีประเด็น มีผิดมีถูก มีสิ่งที่ควรและไม่ควร มีสันติ อดกลั้น มีความสงบ มีความรุนแรง แต่ถึงที่สุดแล้วนี่ก็คือการที่ประชาชนก้าวขึ้นมา ประชาธิปไตยมาถึงขั้นที่คนจน คนชายขอบ เด็ก คนกึ่งจน คนชั้นกลางที่เพิ่งพ้นจากความจน ทั้งในชนบทและเมือง ซึ่งคือคนส่วนใหญ่ของประเทศได้เข้ามาสู่เวทีการพัฒนาประชาธิปไตย
ประชาธิปไตยไม่ใช่ของตะวันตก
ประชาธิปไตยไม่ใช่ของ ตะวันตกล้วนๆ บางคนคิดและพูดอยู่เสมอว่า ประชาธิปไตยเป็นเรื่องของฝรั่ง ไทยหรือตะวันออกไม่มีประชาธิปไตย เป็นเรื่องตะวันตกและกรีก แต่หลังจากการค้นคว้าอย่างถี่ถ้วนจึงพบว่าประชาธิปไตยเริ่มจากตะวันออกก่อน ในประเทศอิรัก อิหร่าน โดยมีสภาปรึกษาหารือ จากนั้นจึงค่อยๆ ถ่ายทอดไปยังประเทศกรีก
ในศาสนาพุทธ ในครั้งพุทธกาล แคว้นที่อยู่ตอนเหนือของประเทศอินเดียก็มีการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย คือการประชุมของสภาในวรรณะกษัตริย์ ปรึกษาหารือกันเรื่องการบริหารบ้านเมือง และร่วมแรงร่วมใจช่วยกันไม่มีลักษณะแบบผู้นำคนเดียว ฉะนั้นจึงไม่แปลกใจที่ว่า ทำไมพระพุทธองค์จึงตรัสสิ่งที่ทันสมัย เช่น ให้มีการประชุมอย่างสม่ำเสมอ ที่เป็นเช่นนั้นเป็นเพราะดินแดนแหล่งกำเนิดพระศาสนามีพื้นฐานประชาธิปไตย
ขณะเดียวกัน ศาสนาอิสลามก็เป็นต้นกำเนิดของประชาสังคม สิ่งที่ใช้ในการบริหารจัดการมัสยิด มีหลักรัฐอยู่ส่วนรัฐ สังคมอยู่ส่วนสังคม รัฐต้องปล่อยให้สังคมพัฒนาศาสนสถานหรือสถานศึกษาของตน และสามารถระดมทุนต่างๆ ของตนเอง และเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศสเปนซึ่งรับอิทธิพลจากอิสลามไปมากมีความเป็น ประชาสังคมมาก
ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องตะวันตกเท่านั้น แต่เป็นของตะวันออกและเป็นของทุกๆ ศาสนาด้วย และเราสามารถสร้างสรรค์ประชาธิปไตยแบบของเราได้อีกมากโดยไม่จำเป็นต้องตก อยู่ในกับดักของตะวันตก
หัวใจของประชาธิปไตยคือความเป็นพลเมือง
ประเทศไทยมี คนจนมาก มีประชาชนมาก แต่ขาดพลเมืองมากที่สุด ประชาธิปไตยระดับชุมชนจึงสำคัญที่สุด เป็นพื้นฐานที่สุดของประชาธิปไตยทั้งหมด เป็นโรงเรียนฝึกพลเมืองได้ดีที่สุด พลเมืองคือประชาชนที่กระตือรือร้น ไม่เป็นแต่เพียงผู้รับนโยบายหรือเป็นเพียงผู้หย่อนบัตร แต่ต้องเป็นคนที่สนใจกับบ้านเมือง ไม่ฝากบ้านเมืองไว้กับผู้นำเท่านั้น ต้องเลิกความคิดว่าเป็นผู้น้อย เป็นผู้ไม่รู้ ยากไร้ ไม่เคยทำ เป็นผู้อ่อนหัด เราต้องมีความคิดใหม่ที่จะบอกตัวเองว่า ในทางเศรษฐกิจเราอาจจะยังยากจน ในทางการศึกษาเรายังศึกษาระดับพื้นฐานอยู่ แต่หัวใจของประชาธิปไตยคือต้องมีความเป็นพลเมือง
แนวทางในการปฏิรูปประชาธิปไตยของเรา ต้องเอาความสำคัญไปอยู่ที่ฐาน ซึ่งก็คือ ‘ชุมชน’ ที่สำคัญรองลงมาคือ ‘ท้องถิ่น’ แต่ก็ต้องใช้ประชาธิปไตยระดับชาติ ไม่ใช่เป็นปรปักษ์กับการเมืองระดับชาติ ขณะเดียวกันต้องเป็นตัวของตัวเองโดยไม่คล้อยตามหรือเลียนแบบ ต้องตระหนักว่า กำลังทำประชาธิปไตยระดับไหน แน่นอนว่าประชาธิปไตยระดับชาติอาจจะไม่สามารถให้ชุมชนมีส่วนร่วม เพราะต้องเกี่ยวข้องกับคนส่วนมาก แต่ที่ชุมชนระดับท้องถิ่น เราสามารถทำประชาธิปไตยอีกแบบได้
ประชาธิปไตยสามแบบ
แบบแรกคือ ทางอ้อม คือ การเลือกตั้งผู้แทนหรือผู้นำมาใช้อำนาจแทนเราเพื่อให้เกิดประโยชน์กับเรา เป็นประชาธิปไตยที่สอนกันส่วนใหญ่ แต่ประชาธิปไตยไม่ได้มีแค่นี้ และที่แย่ก็คือเราก็มาทำกับท้องถิ่นแบบนี้ เพียงแต่ย่อกว่า ย่อยกว่า และหากไม่ระมัดระวัง ท้องถิ่นก็จะทำแบบประชาธิปไตยทางอ้อมอีก
แบบที่สอง ทางตรง คือประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมไม่ใช่แค่เลือกตั้ง แต่เข้ามารับรู้ปัญหา แก้ปัญหา พัฒนา มีวิธีการที่จะได้งบประมาณของตนเอง ระดมสติปัญญาของตนเอง ไม่อยู่เฉยๆ หรือแค่ไปเลือกตั้ง ลุกฮือขับไล่ หรือประท้วงแบบที่กำลังเกิดขึ้นในอาหรับ แต่ที่เราต้องคิดคือ เราต้องทำเรื่องประชาธิปไตยมากขึ้น คือประชาชนมามีส่วนอาสา เป็นเจ้าของประชาธิปไตยมากขึ้น
แบบที่สาม คือประชาธิปไตยแบบที่รัฐกับสังคมแบ่งอำนาจสาธารณะกัน ในสังคมไทยที่ผ่านมา มอบอำนาจสาธารณะให้กับรัฐทั้งหมด อำนาจอธิปไตยเป็นของรัฐ แต่ผมอยากจะนำเสนออีกแนวคิดหนึ่ง คือ อำนาจสาธารณะ เช่น อำนาจในการดูแลความปลอดภัย การดูแลความเป็นอยู่ของประชาชน สิ่งแวดล้อม ซึ่งที่จริงแล้วมันสามารถแบ่งกันระหว่างรัฐกับสังคมได้ รัฐจะไม่ทำหน้าที่สูงกว่า รัฐจะต้องสนใจสังคม ซึ่งหมายถึงชุมชนต้องเห็นความสำคัญของชุมชน ให้เกียรติ ให้กำลังใจ ให้การสนับสนุน และเห็นว่ามีความชอบธรรมในการเข้ามาแก้ปัญหาบ้านเมือง
ประชาธิปไตยท้องถิ่น: ประชาชนมีส่วนร่วม การเมืองแบบรอมชอม เป็นตัวของตัวเอง
ผู้ บริหารท้องถิ่นต้องคิดตลอดเวลาว่า ประชาธิปไตยท้องถิ่นต้องไม่เหมือนระดับชาติ ต้องหมั่นเอาประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม หมั่นขอความคิดจากประชาชน หาวิธีให้ประชาชนเข้ามาอาสามากที่สุด อย่าคิดแต่การว่าจ้าง ต้องคิดในแง่ของการสร้างบรรยากาศให้คนอาสาเข้ามาช่วย ให้ประชาชนสามารถเข้ามาทำงานด้วยใจให้มาก ใช้ระเบียบกฎเกณฑ์ของราชการให้น้อย การใช้มาตรวัดว่าท้องถิ่นเข้าใกล้ส่วนกลางได้มากเท่าไหร่นั้น เป็นการชี้วัดที่ผิด แต่ต้องถามว่าประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าขององค์กรท้องถิ่นหรือไม่ ถ้าคำตอบคือ ‘ไม่’ ก็ล้มเหลว
ท้องถิ่นจะไปได้ดี สำคัญที่สุดอยู่ที่ผลงานเข้าตาประชาชน ท้องถิ่นก็จะเจริญก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่ใช่การเข้าตาประชาชนแบบแบบการเมืองระดับชาติ แต่ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วน ต้องคิดเรื่องงบประมาณเสียใหม่ ต้องมีงบประมาณที่เปิดโอกาสให้คนเข้ามามีส่วนร่วม หรืออาสา และอย่าทำให้เป็นการเมืองแบบปรปักษ์เหมือนในระดับชาติที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แต่การเมืองระดับท้องถิ่นต้องเป็นการเมืองแบบรอมชอมสามัคคี ทำอย่างไรให้คนที่คิดไม่เหมือนท่านมาทำงานร่วมกันได้ เหตุที่ท้องถิ่นมีฝ่ายค้านมากไม่ได้ เพราะท้องถิ่นมีขนาดเล็ก หากมีฝ่ายค้านมากก็ขับเคลื่อนยาก
วันนี้ความรู้ของเราเป็นความรู้เรื่องชาติเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ความรู้เรื่องสังคมและท้องถิ่นมีค่อนข้างน้อย ต้องทำให้คนรักชุมชน ทำให้คนรู้เรื่องชุมชน ในยุคที่ประชาธิปไตยกำลังคลี่คลาย เด็กคนหนึ่งไม่ใช่เด็กชาติไทย แต่ต้องเป็นเด็กของท้องถิ่น แล้วเราจะเป็นคนสมบูรณ์ขึ้น บ้านเมืองจะมีความชอบธรรมให้กับคนในวงการต่างๆ ได้มากขึ้น
ดังนั้นแล้ว การใช้คำว่า ‘ประชาชนมีส่วนร่วม’ จึงเป็นการให้ความหมายที่ยังน้อยไป แต่ประชาชนต้องเป็นเจ้าของด้วย.
***หมายเหตุ :ปาฐกถาพิเศษ แปรถิ่นเปลี่ยนฐาน สร้างการปกครองท้องถิ่น ในการประชุมฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา วันที่ 1มี.ค.2554