สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อัครพงษ์ ค่ำคูณ แจงหัวใจไม่ใช่เขมร-ยอมรับ โอร ไม่ใช่แม่น้ำ

'อัครพงษ์ ค่ำคูณ' แจงหัวใจไม่ใช่เขมร-ยอมรับ'โอร'ไม่ใช่แม่น้ำ


นายอัครพงษ์ ค่ำคูณ (ภาพจากอินเตอร์เน็ต)

ศิษย์"อ.ชาญ วิทย์"ย้ำเสนองานวิจัยไทย-ขะแมร์ เพื่อข้อมูลที่แตกต่าง เสริมสร้างปัญญา กระตุกต่อมคิด ช่วยกันหาทางออก สารภาพ"โอร์"ไม่ใช่แม่น้ำ
ศิษย์สนิทของ ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ หัวหน้าโครงการวิจัยไทย-กัมพูชา ซึ่งวิวาทะกับพันธมิตรฯ แทบทุกประเด็นจนฝุ่นตรลบ คุณอัครพงษ์ ค่ำคูณ* ได้ตอบคำถามแทนอาจารย์บางส่วน กับ"กรุงเทพธุรกิจ" ในมุมที่น่าจะไขให้กระจ่าง ดังนี้

ถาม 1) ที่ผ่านมาแทบไม่ได้ยินกลุ่มศึกษาวิจัยภายใต้การบริหารของ ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ วิจารณ์ผู้นำกัมพูชากับคณะของเขา(ไม่เกี่ยวชาวกัมพูชา) ซึ่งมีส่วนสำคัญทำให้ความสัมพันธ์สองประเทศเลวร้ายเป็นลำดับ อาจพูดได้ว่า สมเด็จฯฮุน เซน มีลักษณะเป็นเผด็จการ เช่น ลิดรอนสิทธิเสรีภาพฝ่ายค้าน ควบคุมกำกับสื่อสารมวลชน ใช้เป็นเครื่องมือทำลายความสัมพันธ์อันดี ข้อ 2)อาจพูดได้หรือไม่ว่า สมเด็จฯฮุน เซน รวมศูนย์การทุจริตมาที่ตัวเขา และกระจายการอุปถัมภ์แกมบังคับไปทุกหมู่ หรือการวางทายาทอำนาจทางทหารและทางการเมืองในอนาคตให้ลูกชายตัวเองด้วย อย่างนี้จะเรียกว่าเป็นเงื่อนไขความขัดแย้งภายในกัมพูชาเอง และหาเรื่องเบี่ยงเบนมาทางไทย พร้อมๆ กับมีเป้าหมายจะเอาพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร ซึ่งคนไทยบางกลุ่มยากจะยอมได้ ดังที่เกิดสู้รบ 4 -7 ก.พ.2554

ตอบ ผมคิดว่าได้ทำ หน้าที่ของนักวิชาการที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ในสิ่งที่ไม่ถูกต้องเป็นธรรมใน สังคมอยู่หลายครั้งและหลายโอกาส รวมทั้งการวิจารณ์ผู้นำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีลักษณะเผด็จการอำนาจ นิยม...แน่นอนครับว่า ปริมาณความถี่ของการวิจารณ์ผู้นำประเทศไทยหรือสังคมไทยย่อมปรากฏมากกว่าการ วิจารณ์สังคมและผู้นำของประเทศกัมพูชา ทำให้เกิดข้อสงสัยของคนไทยบางคนว่า ทำไมผมหรือกลุ่มของ ดร.ชาญวิทย์ ถึงมักแต่วิจารณ์สังคมไทย และมักถูกกล่าวหาทำตัวเป็นคนไทยหัวใจเขมร คลั่งชาติเขมร ที่ไม่พูดเข้าข้างฝ่ายไทยหรือเปล่า ประเด็นนี้ผมขอยืนยันว่า หน้าที่หลักของผมในฐานะนักวิชาการ คือ การนำเสนอแนวคิดและมุมมองอื่นๆ ที่ผู้คนในสังคมยังไม่ได้มอง หรือไม่สนใจที่จะมอง ดังนั้น การพูดการเขียนในสิ่งต่างๆ ที่ดูเหมือนว่าขัดกับสิ่งที่สังคมไทยรับรู้ เชื่อถือ รู้สึก หรือใฝ่ฝันอยากให้เป็น แต่ในบางครั้งข้อเท็จจริง หลักฐาน และสิ่งที่คนอื่นๆ ทั่วโลกเขารับรู้กันกลับไม่ใช่สิ่งที่คนไทยรู้เสมอไป ทำให้นักวิชาการกลุ่มของผมหรือคนที่มีแนวคิดเช่นนี้ กลับถูกตราหน้าว่า ทรยศชาติ ทั้ง ๆ ที่ผมมีเจตนาจะสะท้อนความเป็นจริงอีกมุมหนึ่งเท่านั้น
   ผมไม่ได้หมายถึงแต่เฉพาะสังคมไทยเท่านั้น สังคมกัมพูชาก็เป็น เขาย่อมมีนักวิชาการที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล มีปัญญาชนที่ออกมาเคลื่อนไหนไม่น้อยไปกว่าประเทศของเรา แต่เนื่องจากปัญหาของการสื่อสาร การรับข้อมูล การศึกษา อื่นๆ ที่ถูกนำเสนอแต่เพียงฝ่ายเดียว ดังนั้น หน้าที่ประการหนึ่งของนักวิชาการก็คือการตีแผ่ การศึกษา การตีความ การนำเสนอชุดข้อมูลที่มีความแตกต่าง เพื่อเสริมสร้างปัญญา กระตุกต่อมคิด สะกิดสติ ให้มาช่วยกันคิด ช่วยกันหาทางออกมาให้กับสังคม
   การที่ผมอดทนอยู่กับบรรดาคำด่าทอหยาบคาย ที่กลุ่มพันธมิตรใช้กล่าวหาว่า ขายชาติ ไม่รักชาติ หรือมีหัวใจเป็นเขมร มาเป็นเวลาหลายปีนั้น เพราะผมเชื่อว่า สังคมไทยของเรา ยังจะต้องเติบโต และต้องมีวุฒิภาวะพอเพียงที่จะอยู่ในสังคมโลกต่อไปอีกนานครับ ผมยังเชื่อเสมอว่าสังคมไทยจะสามารถแยกแยะระหว่างความเชื่อ-ความจริง-ความ รู้สึก-และความฝัน นั้นเหมือนหรือต่างกันอย่างไร เราคงต้องเลิกโกหกตัวเองเสียทีหรือยังว่า เราจะทำอะไรได้ในเมื่ออดีตมันผ่านเลยมาจนหลักฐานทั้งหลายมันสู้เขาไม่ได้ ทำไมไม่คิดถึงอนาคตว่า เราจะเดินไปทางไหนกัน
   ผมยังไม่เคยเห็นใครในเวทีพันธมิตรพูดถึงอนาคตว่า สิ่งที่ต่อสู้ทั้งหมด ข้อมูลที่นำมาถกเถียงกันทั้งหมด มีจุดมุ่งหมายเพื่ออะไร เพื่อเอาดินแดนคืน และถ้าได้มาจริงๆ เราจะทำอะไรต่อ หรืออธิบายแบบมีเหตุมีผลว่า ในท้ายที่สุดสิ่งที่ได้กับสิ่งที่เสียไป มันคุ้มค่าหรือไม่ หรือเราต้องแลกอะไรบ้างในกรณีนี้
    ผมขอถามตรงๆ จริงๆ แบบเอาเรื่องว่า มันมีสัญญาณอะไรขนาดนั้นหรือที่เราจะต้องยอมแลกอะไรต่างๆ มากมาย ทั้งชื่อเสียงของประเทศในเวทีนานาชาติ ทั้งชีวิตของผู้คนตามแนวชายแดน กับผืนดิน 4.6 ตร.กม.ที่เราต้องเสียเวลาไปทะเลาะกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วผืนแผ่นดินตรงนั้นไม่ได้ถูกขุดหรือถูกยกออกไปไหนเลย มันก็ตั้งอยู่ตรงนั้นเหมือนเดิม และหากในที่สุดเราต้องเสียดินแดนตรงนั้นไปจริงแล้ว เราจะไม่มีแผ่นดินอยู่จริงๆ หรือ ประเทศของเราทั้งหมดจะหายไปจากแผนที่โลกเช่นนั้นหรือ ผมถามแบบจริงจังครับ
 
ถาม 3.คุณ อัครพงษ์ คงทราบมีประชาชนไทยไร้ที่ดินทำกินจำนวนมาก และขัดแย้งกับรัฐไทยอย่างรุนแรง ออกมาเรียกร้องเป็นระยะๆ ขณะที่ขอบชายแดนก็ถูกกีดกันจากฝ่ายความมั่นคง ประกาศเป็นเขตอุทยานทับที่ทำกิน แต่ปล่อยให้กลุ่มทุนฮุบที่ดินตามแนวชายแดน หาประโยชน์ร่วมกับอีกประเทศหนึ่ง เช่น ปลูกยูคาฯ นับล้านไร่ ลอบตัดไม้พยูงส่งขายนอก ฯลฯ อาจเป็นข้อกล่าวหา แต่พบจริงๆ คือ ชาวบ้านที่เคยอยู่ตะเข็บชายแดน เข้าไปทำมาหากินไม่ได้หลายจุด แล้วเช่นนี้จะยอมเสียดินแดนที่ทางกัมพูชาพยายามจะใช้หลักฐานฝ่ายเขาช่วงชิง เอา คุณอัครพงษ์จะมีข้อเสนออย่างไร ต่อรัฐบาลไทย(และกัมพูชา)

ตอบ ต้องตอบว่า ผมเป็นเพียงนักวิชาการ มีอาชีพสอนหนังสือ รับเงินเดือนจากค่าลงทะเบียนของนักศึกษา ดังนั้น สิ่งที่ผมจะเสนอต่อไปนี้ เป็นแนวคิดที่อาจจะปฏิบัติไม่ได้ หรืออาจต้องใช้ระยะเวลายาวนานในการแก้ปัญหา
 1.รัฐบาลต้องจัดสรรที่ดิน เพื่อชดใช้หรือชดเชยในสิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายผิดพลาด ในกรณีที่ทำกินถูกที่ดินของอุทยานแห่งชาติบุกรุก ส่วนพื้นที่พิพาทรัฐบาลก็ต้องแก้ปัญหาโดยเร็ว และต้องมีนโยบายที่มองพื้นที่ชายแดนเป็นพื้นที่พัฒนาของผู้คนที่อาศัยอยู่ ตามแนวชายแดน ไม่ใช่พื้นที่เพื่อความมั่นคงทางการเมืองของรัฐบาลกลาง 2.รัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการยุติธรรม ต้องจัดการกับบรรดานายทุนและนักการเมืองที่เอาเปรียบและแสวงหาผลประโยชน์จาก ช่องโหว่ของกฎหมายเหล่านั้น 3.ภาคการศึกษาต้องขัดเกลาและอบรมคนรุ่นใหม่ให้ตระหนักถึงความจริงและการเอา รัดเอาเปรียบของอำนาจทางการเมืองที่เกิดขึ้นกับประชาชนตามแนวชายแดน 4.ภาคประชาชนต้องต่อสู้กับโจทย์ปัญหาใหญ่ คือ การโกงกิน การเอารัดเอาเปรียบ ฯลฯ โดยต้องเริ่มจากคนของเราก่อน
 ผมขอส่งบทความเพื่ออธิบายวิธีคิดต่อ คำถามในข้อ 3 ดังนี้ "ภาวะไร้พรมแดน 1" (ขออนุญาตคัดบางส่วนที่เข้าประเด็น-ผู้สัมภาษณ์); ...."ชายแดน" เป็นอาณาบริเวณที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของ "ชาติ" ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่"เมืองหลวง" ดังนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องสร้างกลไกในการบริหารจัดการชายแดนให้อยู่ภายใต้อำนาจการ ควบคุมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น การลักลอบขนสินค้าผิดกฎหมาย ขนยาเสพย์ติด การค้ามนุษย์ การลักลอบตัดไม้ทำลายป่า เป็นต้น และเป็นที่น่าสังเกตว่าความห่างระหว่าง "เมืองหลวง" กับ "ชายแดน"ที่อยู่ไกลกันเป็นระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร ก็ทำให้บางครั้ง "รัฐบาล" ไม่สามารถใช้อำนาจควบคุมหรือดูแลได้อย่างทั่วถึง
  ...นอกจาก นี้ ความสัมพันธ์ของ "เมืองหลวง" กับ "ชายแดน" จะปรากฏชัดขึ้นก็ต่อเมื่อเกิดภัยคุกคามที่มาจาก “เมืองหลวง” ของรัฐฝ่ายตรงข้ามที่อยู่ติดกัน เช่น เมื่อ "เมืองหลวง"ของสองรัฐเกิดมีปัญหาความขัดแย้งกัน ย่อมทำให้"ชายแดน"ได้รับผลกระทบขึ้นทันที ทั้งๆ ที่ "ชายแดน"ไม่ได้เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาความขัดแย้งเหล่านั้น และ"ผู้คนที่เมืองหลวง"ของทั้งสองรัฐซึ่งอยู่ห่างไกลกัน ก็อาจจะไม่ทราบมากนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อ "ผู้คนที่ชายแดน"
  อาจกล่าว ได้ว่า "ผู้คนที่ชายแดน"ของรัฐซึ่งอยู่ประชิดติดกัน มีวิถีชีวิตที่ติดต่อสัมพันธ์ ไปมาหาสู่กันฉันท์ญาติมิตร โดยในบางพื้นที่ "เส้นเขตแดน" ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตของพวกเขา เป็นที่ชีวิตประจำวันที่ "ไร้พรมแดน" โดยสิ้นเชิง
  ...จากการศึกษาของ ผู้เขียน ในวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท เรื่อง การท่องเที่ยวชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา หลังสิ้นสุดสงครามเย็น: อัตลักษณ์ จิตจำนงค์ และ โอกาส (Border Tourism between Thailand and Cambodia after the End of the Cold War: Identity, Spirit, and Prospect 2008) พบว่า ระยะเวลาก่อนหน้าและระหว่างช่วงเวลาของ "ยุคสงครามเย็น"นั้น แนวพรมแดนระหว่างไทยและกัมพูชาถูกปิด ไม่อนุญาตให้มีการข้ามพรมแดนไปมาอย่างเป็นทางการ นอกจากการข้ามพรมแดนตามภาระกิจของเหล่าทหาร และการข้ามไปมาหากันของบรรดาผู้คนอาศัยอยู่ตามแนวชายแดนทั้งสองประเทศ
  แต่ เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศกัมพูชาในช่วงต้นคริสตทศวรรษ 1990 หรือประมาณปีพุทธศักราช 2530 เป็นต้นมา ประกอบกับนโยบายของประเทศไทยที่สนับสนุนการ “เปลี่ยนสนามรบ เป็นสนามการค้า” จึงทำให้แนวชายแดนระหว่างไทยและกัมพูชาเริ่มเปิดตัว และเริ่มดึงดูดนักท่องเที่ยวมากขึ้นเป็นลำดับ...

ถาม 4. แล้วถึงขั้น(เชื่อว่า) เขมรเปิดศึกยิงใส่ทหารไทย ชาวบ้านไทยก่อน กัมพูชาแสดงเจตนาชัดเจนแสดงอธิปไตยเหนือดินแดน ซึ่งอย่างน้อยที่สุดก็ยังไม่อาจเรียกได้เต็มปากว่าเป็นของกัมพูชา สำหรับกลุ่มไม่ต้องการสงครามสมควรจะประณามใคร และขั้นไหน 

ตอบ ผมคิดว่าการจะไปตามหาว่าใครยิงก่อนยิงหลังไม่ได้แก้ปัญหา แต่ผมเองขอประณามการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ไม่ว่า ทางกาย วาจา หรือใจ โดยเฉพาะก่อให้เกิดความเสียหายต่อญาติพี่น้องของผม

ถาม 5. ปัญหาไทย-ขะแมร์ จริงอยู่มีปมประวัติศาสตร์ อคติขับดันอยู่ลึกๆ แต่เรื่องผลประโยชน์นอกระบบ หรือธุรกิจเถื่อนซ่อนเร้น รับผลประโยชน์ ก็เป็นตัวขับเคลื่อนพฤติกรรมปัจจุบันด้วย เพราะนักการเมืองไม่ว่าประเทศใด ต้องการเงินมาช่วยค้ำจุนบัลลังก์อำนาจ 2 ปัจจัยนี้ อันใดเป็นแรงขับดับให้เกิดปัญหามากกว่ากัน

ตอบ ผมคิดว่า คำถามนี้มันเอามาปนกันมากเกินไป ถ้าจะว่าไปแล้วปัจจัยทุกส่วนมันก็ประกอบกันจนทำให้ปัญหาเกิดเหมือนที่เรา เห็นอยู่ ผมคิดว่าปัจจัยผลประโยชน์ก็เป็นตัวก่อปัญหา ตามมาด้วยปัจจัยทางปมประวัติศาสตร์ที่ทำให้ปัญหากลายเป็นสิ่งซับซ้อนมากขึ้น และกลบฝังทางออกจนเราสับสนและแยกแยะไม่ออกว่าอะไรจริง อะไรเท็จ เพราะคนที่ออกมาต่อสู้เรียกร้องในเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มพันธมิตร ก็ปฏิเสธไม่ได้เต็มปากว่าตนเองไม่มีผลประโยชน์ทางการเมืองไม่ทางใดก็ทาง หนึ่งเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย หรือถ้าหากเป็นการเคลื่อนไหวที่บริสุทธิ์จริงแท้ ก็ควรทำต่อไป ผมเองไม่ได้ขัดข้องหรือต่อต้านพันธมิตรเลย แต่ผมเสียใจว่า ทำไมพันธมิตรถึงเที่ยวไปประณามใครต่อใครที่ไม่เห็นด้วยกับพวกเขา เป็นคนเลวขายชาติไปเสียหมด ทั้งๆ ที่หลายคนก็เคยร่วมหัวจมท้ายกันมาก่อนเมื่อร่วมกันปฏิเสธระบอบทักษิณ

ถาม 6. พันธมิตรฯ กล่าวหากลุ่มนักวิชาการ 7.1 ล้านบาท ทำงานรับใช้กระทรวงการต่างประเทศ ได้ข้อมูลที่ไม่เป็นคุณต่อประเทศไทย ในฐานะคุณอัครพงษ์ ร่วมคณะวิจัยศึกษาปัญหาไทย-กัมพูชา จะชี้แจงอย่างไร 

ตอบ อย่างที่บอกก็คือ ทำการศึกษาค้นคว้าเท่าที่จะทำได้ หากใครเห็นว่ามันไม่มีประโยชน์ก็ไม่สมควรที่จะต้องใช้ ไม่ต้องเชื่อก็ไม่เสียหายครับ คิดเสียว่าเป็นอีกหนึ่งชุดความคิด ชุดข้อมูล ที่นักวิชาการอีกกลุ่มพยายามนำเสนอเพื่อเตือนสังคมไทยว่า ในโลกนี้ยังมีแนวคิดแบบนี้ดำรงอยู่

ถาม 7.คนขะแมร์ที่คุณอัครพงษ์ได้รู้จัก เคยถามเขา หรือเขาเคยบอกเกี่ยวกับทัศนคติ และเจตนาของนายกฯฮุนเซน ต่อประเทศไทยอย่างไรบ้าง เกี่ยวกับเรื่องปราสาทพระวิหาร ดินแดนรอยต่อจุดอื่นๆ ที่มีโบราณสถานวัฒนธรรมขอม และจริงหรือ คนขะแมร์ ถูกเรียกเขมร แล้วรู้สึกเคือง เป็นขะแมร์เขตไหนในกัมพูชา

ตอบ เอาเข้าจริง คนที่จะถามคำถามแบบนี้ ส่วนมากเป็นคนชั้นกลางที่อยู่ในเมืองหลวงของทั้งสองประเทศ คือ พนมเปญ กับ กรุงเทพฯ ส่วนคนชายแดนเขาไม่ได้คิดมาก หรือถ้าคิด ก็คิดแบบธรรมดาๆ ไม่ได้ใช่อารมณ์รุนแรงขนาดนั้น เพราะเขาก็อยู่กันได้มาหลายร้อยปี หรืออย่างน้อยก็อยู่ด้วยกันได้มากว่า 49 ปี หลังคำตัดสินของศาลโลกในปี พ.ศ.2505

ถาม 8.ผมได้ดูการบรรยายประกอบแผนที่ชี้เส้นปันน้ำ เน้นคำว่า โอ แปลว่า แม่น้ำ ของคุณอัครพงษ์ ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2554 ถอดคำบรรยายได้ดังนี้
 "...เส้นสันปันน้ำถูกไม่ถูกเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เส้นปันน้ำในแผนที่นี้ถูกแน่นอน เพราะดูง่าย ๆ สันปันน้ำในแผ่นที่นะ ต้องบอกก่อนแผ่นที่ในกระดาษกับภูมิประเทศจริงคนละอย่าง สันปันน้ำนี้ถูกเพราะมันมีแม่น้ำโอตาเซมไหลมาคั่นกลาง ทำให้สันปันน้ำอยู่ฝั่งโน้น นะครับ แต่แผนที่ผิดก็อีกเรื่องหนึ่ง นะครับ…
 "จุด ที่หนึ่งไปถึงจุดสุดท้ายมันต้องต่อเนื่องเสมอ ไม่ใช่ตรงไหนสูงสุดเอาตรงนั้น เพราะฉะนั้นโปรดระวังให้ดีเวลาพูดสันปันน้ำ แล้วเราจะใช้สนธิสัญญา 1904 เราจะใช้สันปันน้ำ จากจุดนี้สันปันน้ำมันต่อเนื่องไปเรื่อย แล้วพอไปเจอแม่น้ำโอตาเซมตรงนี้เนี้ย เขาเลยต้องวกไปใช้สันปันน้ำของตรงนี้เห็นไหมฮะ มันมีหลายสันไง ไม่ใช่มีเฉพาะตรงนี้สันเดียว สันปันมันมันมีเยอะมากมาย แต่สันปันน้ำที่ใช้กำหนดเส้นเขตแดน คือสันปันน้ำที่ลากจากจุดที่หนึ่งไปถึงจุดสุดท้ายที่ต่อเนื่องกัน ไม่ใช่จุดไหนสูงก็เอาตรงนั้น ไม่งั้นภูเขาทองก็เป็นสันปันน้ำของกรุงเทพฯ"
 อยาก ถามว่า โอตาเซม แปลว่า แม่น้ำตาเซม คุณอัครพงษ์อ้างอิงศัพท์คำว่า โอ จากนักวิชาการท่านใด หนังสือเล่มใด พจนานุกรมเล่มใดครับ เพราะจะมีผลต่อการเจรจาเขตแดนไทย-กัมพูชาอย่างยิ่ง 

ตอบ ขอตอบว่า โอ เป็นคำเขมรใช้เรียก ลำน้ำ ลำห้วย ลำธาร เช่น โอไบบต โอจะโรว โอตาเซ็ม (หรืออาจจะเป็นคำภาษากูย อันนี้ไม่ทราบแน่) ที่บ้านผมเป็นคำทั่ว ๆ ไปเรียกแม่น้ำ ลำคลอง อาจจะไม่ใหญ่ขนาดแม่น้ำเจ้าพระยาของคนภาคกลาง ดังนั้น เพื่อจะให้เข้าใจง่าย ผมก็เลยใช้คำว่าแม่น้ำครับ หากทำให้ใครหงุดหงิดก็ต้องขอโทษจริงๆ ครับ เพราะต้องเข้าใจว่า ประเทศนี้ไม่ได้มีแต่เฉพาะคนไทยภาคกลางเท่านั้น ยังมีคนและภาษาวัฒนธรรมอื่นๆ มากมายจนบางครั้งตัวผมเองก็ยังไม่รู้จัก และขอเรียนว่า โปรดถอดเทปการบรรยายของผมเพื่อฟังทั้งเรื่อง แล้วพิจารณาว่า เป้าหมายของผม เพื่อเตือนสังคมไทย อย่าคิดเข้าข้างตัวเอง เพราะกรณีปิดหูปิดตา ไม่ฟังใครเลย เอาตัวเองเป็นใหญ่ ก็ทำให้เราต้องแพ้คดีมาแล้วในศาลโลกเมื่อปี พ.ศ.2505 และขอย้ำอีกครั้งว่า สิ่งที่ผมพูดนั้น ไม่เกี่ยวกับการเจรจาเขตแดนไทย-กัมพูชาเลย เพราะเป็นสิ่งที่เห็นชัดเจนในแผนที่ แม่น้ำตาเซม O.Tasem และ โอ O อื่นๆ อีกมากมาย

ถาม 9.คุณอัครพงษ์ มั่นใจจริงๆ หรือว่า ในภาวะที่ยังไม่ชัดเจนเรื่องปักปันเขตแดนไทย-กัมพูชา เช่นนี้ จะเสนออะไรได้อย่างสันติ เป็นชิ้นเป็นอัน ซึ่งสภาพการณ์เรื่องเขตแดนในภูมิภาคอาเซียนี้อาจพูดได้ว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ยังไม่อาจจะทำเหมือนยุโรปที่เส้นพรมแดนแบ่งค่อนข้างชัดเจนแล้ว กรุณาช่วยอธิบายด้วย

ตอบ ผมมั่นใจ เพราะได้เสนอมาแล้ว โปรดอ่านบทความต่อไปนี้ "รู้เขารู้เรา กับ 3 แนวทางยุติปัญหาไทย-กัมพูชา" (ขอคัดลงเฉพาะ 3 แนวทาง-ผู้สัมภาษณ์) ...กระผมขอเสนอ 3 แนวทางในการยุติปัญหาดังกล่าวดังนี้  1.การเจรจา เท่าที่ปรากฏตลอดระยะเวลาของการเกิดปัญหาความขัดแย้ง ดูเหมือนว่าความพยายามจะเจรจาหลายต่อหลายครั้งที่ผ่านมาไม่ค่อยบังเกิดผลไป ในทางที่ดีขึ้น เนื่องจากทั้งสองฝ่ายไม่ได้มีความไว้วางใจกันอีกต่อไป 2.การใช้สงครามและความรุนแรง ที่ผ่านมาการปะทะกันด้วยกำลังอาวุธและความรุนแรง ได้พิสูจน์แล้วว่ายังแต่จะก่อให้เกิดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของพี่ น้องประชาชนทั้งสองฝ่าย และไม่ได้ช่วยให้ปัญหาที่มีอยู่ยุติลงไปได้อย่างแท้จริง
  3.การระงับข้อ พิพาทด้วยองค์กรโลกบาล แนวทางนี้ฝ่ายกัมพูชาพยายามให้เกิดขึ้น เนื่องจากทราบดีว่าตนเป็นฝ่ายที่ได้เปรียบ แต่สำหรับฝ่ายไทย รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ประกาศอย่างชัดเจนว่า ไม่ยอมรับแผนที่ 1:200,000 อีกทั้งยืนยันว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นดินแดนของไทย ดังนั้น หากรัฐบาลหรือผู้รักชาติฝ่ายใดก็ตามที่คิดว่า เรามีข้อต่อสู้ ข้อเท็จจริงหรือหลักฐานที่ถูกต้องและชอบธรรม ซึ่งสามารถนำไปใช้อ้างอิงในเวทีระหว่างประเทศหรือสามารถอธิบายต่อนานาชาติ ให้เข้าใจได้ ก็ควรต้องออกมาช่วยกันร่วมแก้ปัญหานี้ อย่ามัวแต่เล่นการเมืองภายใน เพราะการนำกรณีดังกล่าวมาประเด็นประเด็นการเมืองเพื่อมุ่งล้มรัฐบาลในขณะนี้ ย่อมไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมไทย และไม่ได้ก่อให้เกิดการยุติปัญหาได้ เพราะในท้ายที่สุด หากมีองค์กรโลกบาลใดเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว ความจริงก็จะปรากฏให้เราเห็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
   ท่ามกลางความสับสน วุ่นวาย และความแตกแยกทางความคิดของผู้คนในสังคมไทย เกี่ยวกับปัญหาการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา และการกำหนดเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา ขอเสนอแนวทางกว้างๆ ในการพิจารณาปัญหาดังกล่าวดังนี้
  หลักการข้อที่ 1 ในการเจรจาและการตกลงเกี่ยวกับปัญหาระหว่างไทยกับกัมพูชานั้น ต่างฝ่ายย่อมมีความเท่าเทียมกันที่จะนำข้อมูลและหลักฐานเพื่อยืนยันถึงผล ประโยชน์ โดยต้องคำนึงถึงประเทศชาติของตนให้มากที่สุด ตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในเอกสารทางกฏหมาย เช่น สนธิสัญญา (treaty) อนุสัญญา (convention) พิธีสาร (protocol) ข้อตกลง (agreement) บันทึกวาจา (proc?s-verbal) ปฏิญญา (declaration) บันทึกความเข้าใจ (memorandum of understanding) รวมทั้งเอกสารอื่นๆ อันเป็นผลพวงจากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์
  หลักการข้อที่ 2 ต่างฝ่ายต้องยอมรับในสิทธิและศักดิ์ศรีความเท่าเทียมกันในฐานะประเทศเพื่อน บ้าน ที่จะเจรจากันด้วยแนวทางแห่งมิตรภาพ ความจริงใจ และมีเจตนาความบริสุทธิ์ ไม่นำ “อคติ” ที่อาจจะเกิดขึ้นจากเหตุผลทางประวัติศาสตร์นานับประการของฝ่ายตน มาปะปนกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามหลักการในข้อ 1
  หลักการข้อที่ 3 หากเกิดปัญหาขึ้นเนื่องจากมีความขัดแย้งในทางความเห็นด้านหลักฐานเอกสารตาม หลักการในข้อ 1 และ/หรือ เกิดความระแวงสังสัยและไม่ลงรอยกันตามหลักการในข้อ 2 ควรพิจารณาว่า การเจรจาที่เกิดขึ้นทั้งหลาย มีจุดประสงค์เพื่อสิ่งใด หากมีจุดประสงค์เพื่อก่อให้เกิดสันติภาพความสงบสุข และความมั่งคงต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งสองประเทศแล้ว ก็ควรยึดหลักการแห่งเหตุและผล เพื่อทำความประสงค์นั้นให้บรรลุเป้าหมายโดยเร็ว ทั้งนี้ต้องเปิดโอกาสให้ “คนท้องถิ่น” เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย
  ดังนั้น คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะผู้นำและผู้แทนของประชาชนทั้งประเทศ จักต้องกำหนดจุดยืนและประกาศให้ชัดเจน มั่นคงและตรงไปตรงมามากกว่านี้ อย่ามัวพะวักพะวงกับเรื่องทางการเมือง เพราะหากยังมีท่าทีอย่างที่เป็นอยู่เหตุการณ์จะยิ่งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น และแนวทางที่จะเลือกนั้นต้องมีจุดมุ่งหมาย "เพื่อลบรอยคราบน้ำตาประชาราษฎร์" จึงจะสมกับเป็นรัฐบาลซึ่งเป็นผู้แทนของคนทั้งชาติ ไม่ใช่ตัวแทนของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ถาม 10. จากคำตอบในข้อ 8 ขอแสดงความเห็นและถามแย้ง ผมเองก็เป็นคนเกิดจังหวัดชายแดนอีสานใต้ และรู้ว่า โอร(มี ร.เรือ) ไม่ได้แปลว่า แม่น้ำ ซึ่งในภาษาเขมรได้นิยามแบ่งลักษณะเด่นชัดของคำเรียกเหล่านี้ไว้อย่างชัดเจน ในพจนานุกรมหลายเล่ม(ซึ่งผมจะอ้างอิงรายงานในภายหลัง) แม้คุณอัครพงษ์จะบอกว่าที่อธิบายข้างต้นนี้จะไม่เกี่ยวกับการเจรจาเขตแดน ไทย-กัมพูชา แต่การบรรยายยกระดับความสำคัญ "โอ" (ลำห้วย ลำธาร คลอง) ที่จะมีน้ำไหลได้ก็เฉพาะในฤดูฝนเท่านั้น ให้เป็น แม่น้ำ ซึ่งมีคำเรียกเฉพาะอยู่แล้ว คือ สตึง(ลำน้ำขนาดใหญ่) ต็วนเล(แม่น้ำ) การนำ โอ(ห้วย คลอง) ไปประกอบกับสันปันน้ำ ซึ่งเป็นมุ่งอธิบายให้คนเชื่อว่า เป็นแม่น้ำตาเซมที่ไหลตัดเส้นสันปันน้ำ ซึ่งในแผนที่ส่งมาประกอบก็ยืนยันชัดอยู่แล้วว่า เรียก "โอ" หลายแห่ง ถ้าแห่งใดเป็นลำน้ำขนาดใหญ่กว่า "โอ" ก็ต้องระบุว่า สตึง หรือ ต็วนเล ไปแล้ว อยากถามว่า เป็นเจตนาอธิบายให้คนเชื่อว่าเป็นแม่น้ำที่ไหลแบ่งตามเส้นสันปันน้ำหรือไม่ แล้วถ้าคุณอัครพงษ์พบข้อมูลใหม่ภายหลังว่า "โอ" ไม่อาจจะแปลเป็นแม่น้ำได้ คุณอัครพงษ์พร้อมจะแก้ไขคำพูดให้ตรงนิยามและปรากฎการณ์ที่แท้จริงของลักษณะ ลำน้ำประเภทต่างๆ หรือไม่ หรือจะยังยึดถือว่า "ที่บ้านผมเป็นคำทั่ว ๆ ไปเรียก แม่น้ำ ลำคลอง"

ตอบ ถ้ามันเป็นสาระสำคัญของเรื่องขนาดนั้น ผมขอยอมรับผิดและพร้อมแก้ไขครับว่า ไม่ได้ตั้งใจจะยกระดับให้โอตาเซ็มกลายเป็นแม่น้ำขนาดใหญ่ในภูมิประเทศจริง โปรดสังเกตว่า สิ่งที่ผมอธิบายคือ สิ่งที่ปรากฏบนแผนที่ Dangrek ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้ถูกต้องตามลักษณะของภูมิประเทศจริง จึงเป็นที่มาของการบรรยายว่า เส้นสันปันน้ำบนแผนที่นั้นเขียนถูกต้องตามหลักการ เขียนแผนที่ แต่ในภูมิประเทศจริงมันเป็นอย่างไร ก็ต้องไปพิสูจน์ด้วยการเดินสำรวจอย่างจริงจัง และที่ผมอธิบายเรื่องสันปันน้ำก็เพราะต้องการบอกว่า สันปันน้ำที่ใช้ในการแบ่งเส้นเขตแดนคืออะไรเท่านั้นครับ
 โปรดอ่านบทความ ของผมเรื่อง ตนเลสาบ ในหนังสือ แม่โขง-สาละวิน เล่ม 2 พิมพ์โดยมูลนิธิโตโยต้า และมูลนิธิโครงการตำราฯ ตามห้องสมุดจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ ซึ่งผมได้เคยเขียนเกี่ยวกับคำเรียกชื่อประเภทของแม่น้ำ ลำธาร ลำคลอง เอาไว้พอสมควรครับ ขอเรียนเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ผมได้ทำลงไปทั้งหมดก็เพื่อ Make Peace not War with Our ASEAN neighbors.

ผู้สัมภาษณ์ ก็นั่นนะสิ ในเมื่อคุณอัครพงษ์ เคยเขียนเรื่องตนเลสาบ เรื่องแม่น้ำ ลำคลอง ทำไมจึงมาระบุ โอ ในความหมายแม่น้ำ ในตอนนี้
 
+++++++++++
*อัครพงษ์ ค่ำคูณ อาจารย์ประจำโครงการไทยศึกษา วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เป็นชาวราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ลูกแม่ค้าขายเนื้อวัวในตลาดกันทรลักษ์ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ เกิดการปะทะระหว่างทหารไทยกับกัมพูชา ที่บริเวณภูมะเขือ แม่ของ"อัครพงษ์" เป็นหนึ่งในชาวบ้านหลายพันคนต้องวิ่งหนีลูกกระสุนและระเบิด ด้วย

Tags : อัครพงษ์ ค่ำคูณ หัวใจไม่ใช่เขมร โอร ไม่ใช่แม่น้ำ

view