จาก โพสต์ทูเดย์
ภาวะโดมิโนแห่งความเปลี่ยนแปลงในโลกอาหรับเกิดขึ้นแล้ว
โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ
ภาวะโดมิโนแห่งความเปลี่ยนแปลงในโลกอาหรับเกิดขึ้นแล้ว
ที่ก้าวฝ่าความรุนแรงและกำลังผจญกับหนทางสู่ความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปเป็นร่างอย่างตูนิเซียและอียิปต์เป็นกลุ่มหนึ่ง
ที่กำลังยืนอยู่ในจุดร้อนแรงอย่างในลิเบียก็ถือเป็นกลุ่มหนึ่ง
และที่ตัวกำลังก่อหวอด ร้องขอความเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นประชาธิปไตยก็ถือเป็นอีกกลุ่มหนึ่ง
แม้ที่ผ่านมาภาพที่ปรากฏจะเป็นฉากของความเปลี่ยนแปลง ควบคู่ไปกับฉากของความรุนแรงภายในประเทศ ก่อตัวเป็นแรงกดดัน สร้างเงื่อนไขสู่การ “ปฏิวัติ”
แต่สิ่งที่ต้องยอมรับและมองในมุมต่างออกไปก็คือ การแยกให้ออก
แยก “ความรุนแรง” ออกจาก “การปฏิวัติ” และความเปลี่ยนแปลง
ประกอบกับในอีกมุมมองหนึ่งที่มองสถานการณ์น้ำมันในตะวันออกกลางอย่างน่า สนใจ โดย ซารา เอ็กบาร์ เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากบริษัท คูเวต เอนเนอร์จี ที่เชื่อมั่นว่า แหล่งน้ำมันในประเทศต่างๆ เหล่านี้ยังคงปลอดภัยและจะได้รับการปกป้องให้อยู่อย่างปลอดภัย ไม่จำเป็นต้องได้รับความคุ้มครองจากสหรัฐ
ประเด็นแรก ที่ต้องแยกความรุนแรงและการปฏิวัติออกจากกัน เพราะอันที่จริงแล้วภาวะความตึงเครียดทางเศรษฐกิจและเรื่องของปากท้องที่ได้ รับการกดทับอยู่เป็นเวลานาน ย่อมง่ายและเปราะบางต่อการลุกลามจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งที่ตกอยู่สภาวะ คล้ายคลึงกัน
เชื่อแน่ได้ว่า การปฏิวัติในโลกอาหรับจะยังคงไม่ยุติแค่ลิเบียเป็นประเทศสุดท้าย ประเทศที่กำลังก่อหวอดร้องขอความเปลี่ยนแปลงจะกลายเป็นโดมิโนชิ้นต่อๆ ไปอย่างแน่นอน
เพียงแต่โดมิโนที่เกิดขึ้นต่อจากลิเบียนั้น มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะไร้ฉากของความรุนแรงหรือจลาจลใจกลางกรุงอย่าง อียิปต์ ตูนิเซีย หรือลิเบีย
ความคืบหน้าในหลายประเทศ มีความชัดเจนในเรื่องของการปฏิรูปมากขึ้น การโอนอ่อนผ่อนตามข้อเสนอของกลุ่มผู้เรียกร้องเพิ่มขึ้น กระทั่งการให้คำมั่นในการจะยอมก้าวลงจากอำนาจ ล้วนเป็นแนวทางที่จะนำไปสู่ทางออกของการปฏิวัติอันสว่างไสวอย่างไร้เหตุนอง เลือดได้ทั้งสิ้น
อีกทั้งการเปลี่ยนโอนอำนาจหรือการปฏิวัติโลกอาหรับครั้งนี้ ย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจทั้งในแต่ละประเทศเอง และทั่วทั้งภูมิภาค
สารพันผลดีทั้งเป็นเซาะรากของปัญหาการคอร์รัปชัน กลุ่มอำนาจเก่าที่พึ่งแต่การฉ้อฉลจะโดนกวาดล้าง สินทรัพย์หรือรายได้ของประเทศจะเปลี่ยนทิศทางจากกระเป๋าของกลุ่มอิทธิพลสู่ ปากท้องและคุณภาพชีวิตของประชาชนเพิ่มมากขึ้น โอกาสที่เศรษฐกิจในประเทศจะขยายตัวเพิ่มขึ้นก็มีความเป็นไปได้สูงขึ้น
แม้กระทั่งอียิปต์ที่ผ่านการปฏิวัติบนคราบเลือดและชีวิต แต่ก็เริ่มก่อร่างสร้างความเปลี่ยนแปลงในด้านดีให้เห็น รัฐบาลชุดใหม่ในอียิปต์กำลังตามไล่บี้ดำเนินคดีกับกลุ่มอำนาจเก่าในข้อหา คอร์รัปชัน
ประเด็นที่สอง การปฏิรูปและความผันผวนของราคาน้ำมันเกิดขึ้นจากปัจจัยอื่นๆ ได้ นอกเหนือจากนัยเรื่องความไม่ปลอดภัยของแหล่งน้ำมัน
นับตั้งแต่เกิดการจลาจลในลิเบียเมื่อกลางเดือน ก.พ. มีการทำสัญญาซื้อขายน้ำมันในตลาดโลกถึง 430,118 ฉบับ เพิ่มขึ้นถึงกว่า 25% เฉพาะเมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว เกิดสัญญาซื้อขายจากนักเก็งกำไรถึง 5.02 แสนฉบับ เฉลี่ยแล้วนักลงทุนจะมีปริมาณการถือครองน้ำมันเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่า
ยอดสัญญาซื้อขายที่พุ่งแรง “เกินธรรมดา” นี้ เป็นสัญญาณที่ระบุว่า นักลงทุนทั้งหลายเชื่อมั่นว่าราคาน้ำมันจะทะยานสูงขึ้น ได้ใช้โอกาสความวุ่นวายในโลกอาหรับ ปลุกปั่นราคาน้ำมันโลกด้วยส่วนหนึ่ง ซึ่งไม่ได้เป็นข่าวดีนักสำหรับผู้บริโภคส่วนมาก
ที่เป็นเช่นนี้ เพราะนักเก็งกำไรทั้งหลายต่างเชื่อมั่นว่าราคาน้ำมันโลกจะพุ่งสูงขึ้นอีก ท่ามกลางความวุ่นวายจึงกระโดดเข้าเกาะกระแส
เร่งเร้าความร้อนแรงของตลาดขึ้นไปอีก
สิ่งที่ทำให้นักเก็งกำไรเชื่อมั่นไปในทิศทางดังกล่าว ไม่ได้เป็นเพียงเพราะสถานการณ์ที่ร้อนระอุในลิเบียเท่านั้น แต่มีปัจจัยในการก่อกระแสความวุ่นวายที่จะลุกลามไปถึงประเทศซาอุดี…อาระเบีย
นักเคลื่อนไหวกำลังก่อหวอดสร้างกำลังการเคลื่อนไหวผ่านทางโลกออนไลน์ และเตรียมจัดการประท้วงครั้งใหญ่ “Day of Rage” ในวันนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อยุติการครองอำนาจของราชวงศ์ซาอุฯ อีกทั้งพระวรกายของกษัตริย์ซาอุฯ ที่ไม่แข็งแรงนัก พระองค์เสร็จไปพักรักษาพระอาการประชวรอยู่ต่างประเทศเป็นเวลานาน แต่กลับต้องเดินทางกลับมาประกาศนโยบายปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่เมื่อไม่นานมา นี้
มุมมองของนักเก็งกำไรเชื่อมั่นว่า แม้การประท้วงในซาอุฯ ในวันนี้จะไม่ใช่ครั้งแรก แต่เป็นการประท้วงที่มีทีท่าก่อตัวรุนแรงมากที่สุด ต่างจากช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการประท้วงในแบบประปราย
ถ้าหากสถานการณ์ความวุ่นวายในซาอุฯ เกิดขึ้นจริงในวันนี้ จนกระทั่งท่อส่งน้ำมันและเครือข่ายกระจายสินค้าน้ำมันได้รับผลกระทบ ราคาน้ำมันจะปรับขึ้นถึง 150 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ได้รวดเร็วแบบทันตาเห็น และตามมาด้วยปริมาณ 200 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ภายในช่วงสั้นๆ
แต่ความวุ่นวายจนกระทั่งส่งผกระทบต่อปริมาณน้ำมันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นยาก
เฉกเช่นที่ เอ็กบาร์ เจ้าหน้าที่ระดับสูงที่มีประสบการณ์โชกโชนในบริษัทน้ำมัน ระบุไว้ว่า ราคาน้ำมันโลกที่พุ่งขึ้นกว่า 10% เมื่อเดือนที่แล้ว หลักสำคัญเกิดจาก “ความกลัว” ว่าความรุนแรงจะทวีกำลังเพิ่มขึ้นในตะวันออกกลาง ขยายไปยังประเทศยักษ์ในการผลิตน้ำมันอย่างคูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยเฉพาะซาอุฯ
“ความกลัว” ที่ว่า เป็นผลทางจิตวิทยาเท่านั้น และมีโอกาสเกิดขึ้นน้อย
ในช่วงที่อียิปต์เกิดความรุนแรงในประเทศ บริษัทน้ำมันก็ยังคงเดินหน้าทำการผลิต หรือเมื่อย้อนอดีตกลับไปในช่วงที่เยเมนยังคงร้อนระอุไปด้วยสงครามกลางเมือง การผลิตน้ำมันก็ยังคงดำเนินต่อไปได้
ทั้งหมดทั้งมวลถือเป็นการมองการเปลี่ยนแปลงในโลกอาหรับมุมมองที่แตกต่างออกไป
แน่นอนว่า การปฏิวัติในตะวันออกกลางย่อมแพร่ขยายและลุกลาม แต่ไม่จำเป็นที่ความรุนแรงและการปะทะจะขยายตัวตามไปด้วย
วัฏจักรปัญหาเดิมๆ ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อช่วงเดือน ก.ค. 2511 ที่ราคาน้ำมันโลกทำสถิติ 147.90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยมีนักเก็งกำไรตกเป็นหนึ่งในผู้ต้องหา ในฐานะผู้ปลุกปั่นราคาน้ำมันโลกให้พุ่งกระฉูดกำลังวกกลับมาซ้ำรอยเดิมอีก ครั้ง โดยมีปัจจัยเรื่องการปฏิวัติตะวันออกกลางเป็นตัวประกันนั่นเอง