โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
|
|
พิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทย |
|
|
มีใครรู้บ้างว่าวันที่ 5 มีนาคม ของทุกปีเป็นวันอะไร? คำตอบคือ “วันนักข่าว” หรือ “วันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ” ซึ่งหลายคนคงจะไม่รู้เพราะไม่ได้เป็นนักข่าว หรือแม้กระทั่งนักข่าว สื่อมวลชนเอง หลายคนก็ไม่รู้ว่าวันนี้เป็นวันนักข่าว ดังนั้นเนื่องในโอกาสวันนักข่าวนี้ ฉันจึงขอนำเสนอ “พิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทย” ซึ่งถือเป็นสื่อที่เก่าแก่ที่สุด โดยพิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทยแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ ถนนราชสีมา เขตดุสิต ก่อตั้งขึ้นโดยสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้วิชาการหนังสือพิมพ์ให้สอดคล้องกับการปฏิรูปการ ศึกษาและการพัฒนาวิชาชีพ
|
|
บรรยากาศภายในพิพิธภัณฑ์ฯ |
|
|
แต่ก่อนจะเข้าไปชมในพิพิธภัณฑ์ ฉันขอเกริ่นเกี่ยวกับวิวัฒนาการของหนังสือพิมพ์ในประเทศไทยก่อน เริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 โดยมีกลุ่มมิชชันนารีชาวอเมริกัน เป็นเจ้าของและบรรณาธิการ ซึ่งหมอบรัดเลย์ได้จัดตั้งโรงพิมพ์ และออกหนังสือพิมพ์ข่าวรายปักษ์ฉบับแรกในประเทศไทย ชื่อ หนังสือจดหมายเหตุ หรือบางกอกรีคอเดอ ซึ่งพิมพ์ด้วยภาษาไทยและภาษาอังกฤษ หลังจากนั้น ก็มีหนังสือพิมพ์ออกมาอีกหลายฉบับ ทั้งรายสัปดาห์ รายปักษ์ และรายปี อาทิ บางกอกคาเลนดาร์ ต่อมาพัฒนาเป็นหนังสือพิมพ์รายวัน เช่น บางกอก เดลี่ แอดเวอไทเซอ และ สยาม เดลี่ แอดเวอไทเซอ
|
|
มุมหนังสือพิมพ์นิตยสารที่เผยแพร่เกิน 10 ปี |
|
|
เมื่อรู้ความเป็นมาขอหนังสือพิมพ์ในประเทศของเราแล้ว ก็เข้าสู่พิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทยกันเลย ภายในแบ่งเป็นส่วนจัดแสดง โดยก่อนจะเข้าสู่ส่วนแรก มีภาพของหน้า “หนังสือพิมพ์และนิตยสารในอดีต” ในบางส่วนให้เราได้ชมกัน และ “หนังสือพิมพ์และนิตยสารปัจจุบันออกเผยแพร่ต่อเนื่องเกินกว่า 10 ปี” ทำให้เราได้รู้ว่าก่อนจะมาเป็นหนังสือพิมพ์และนิตยสารที่เห็นๆกันในปัจจุบันมีการวิวัฒนาการการพัฒนามาหลากหลายขั้นตอน
|
|
จำลองสำนักงานหนังสือพิมพ์ในอดีต |
|
|
ต่อมาในส่วนถัดไปคือ ส่วน “สำนักงานหนังสือพิมพ์ในอดีต” ซึ่งจัดจำลองสำนักพิมพ์ที่มีเจ้าของ บรรณาธิการ นักข่าว และช่างพิมพ์ ทำงานร่วมกัน โดยจัดแสดงเป็นหุ่นจำลองการทำงานในกองบรรณาธิการ ระยะแรกๆ เจ้าของและบรรณาธิการเป็นคนๆเดียวกัน ทำทั้งลงทุนและดูแลการนำเสนอข่าวและบทความ รวมทั้งการจัดรูปแบบและการพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์ รวมถึงการเป็นนักเขียนด้วย
|
|
บทบาทด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม |
|
|
สำหรับนักข่าวก็ต้องสามารถหาข่าวและจับประเด็นมาเขียนข่าวได้ทุก ประเภท รวมถึงต้องถ่ายภาพเองได้ หรืออาจมีช่างภาพต่างหากก็ได้ ส่วนช่างพิมพ์ต้องสามารถเรียงพิมพ์และเป็นช่างพิมพ์ด้วย มีความสามารถในการจัดหน้าและแกะบล็อกไม้สำหรับพิมพ์ภาพลายเส้นประกอบ และพาดหัวข่าว การพิมพ์ในสมัยนั้นก็จะใช้วิธีป้อนกระดาษผ่านเครื่องพิมพ์ครั้งละแผ่น
|
|
นักหนังสือพิมพ์ผู้มีบทบาทสำคัญในอดีต |
|
|
ต่อมาเมื่อกิจการของหนังสือพิมพ์ได้พัฒนาขึ้นตามจำนวนประชากรและ เทคโนโลยี จึงได้มีการจัดแยกหน้าที่กันเพื่อทำงานให้รวดเร็วและสอดคล้องกับระบบการ พิมพ์ที่ทันสมัยขึ้น โดยมีเครื่องมือสื่อสารส่งข่าวที่รวดเร็ว และใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการจัดหน้า และควบคุมระบบการพิมพ์ ถัดไปเป็นส่วนจัดแสดง “บทบาทด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม” ในส่วนนี้เป็นการเสนอข่าวและข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ตั้งแต่ยุคแรกถึงปัจจุบัน ซึ่งใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และการสรุปข้อมูลเฉพาะด้านเป็นภาพโปร่งแสงที่จัด แสดงควบคู่กันไป
|
|
พระมหากษัตริย์กับกิจการหนังสือพิมพ์ |
|
|
ส่วนแสดงต่อไปคือ “บุคคลผู้มีบทบาทสำคัญในวงการหนังสือพิมพ์” โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนย่อยได้แก่ “ส่วนพระมหากษัตริย์กับกิจการหนังสือพิมพ์” โดยมีพระบรมรูปของกษัตริย์ผู้นักหนังสือพิมพ์ 2 พระองค์ คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เริ่มตั้งแต่รัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงเห็นความสำคัญของการพิมพ์ตั้งแต่ยังทรงผนวช ได้ทรงโปรดให้นำเครื่องพิมพ์มาตั้งไว้ที่วัด เพื่อพิมพ์เอกสารเผยแพร่พุทธศาสนา ครั้งเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ก็ได้โปรดเกล้าให้สร้างโรงพิมพ์หลวงขึ้นใน พระราชวังชั้นกลาง
|
|
ในหลวงกับการหนังสือพิมพ์ |
|
|
และทรงโปรดเกล้าฯให้ออกหนังสือพิมพ์ข่าวเป็นระยะๆชื่อ ราชกิจจานุเบกษา พิมพ์แจกจ่ายให้กับส่วนราชการและทั่วๆไป โดยพระองค์ทรงเป็นบรรณาธิการและอำนวยการพิมพ์ นับเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของคนไทยที่รายงานข่าวที่ถูกต้องในราชสำนักและ ส่วนราชการทั่วๆไป นับว่าพระองค์ทรงเป็นบิดาด้านนิเทศศาสตร์และการพิมพ์อย่างแท้จริง และในสมัยพระองค์ถือเป็นยุคที่วิชาการพิมพ์ และกิจการหนังสือพิมพ์ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจังจนมาถึงทุกวันนี้
|
|
เครื่องพิมพ์ดีดรุ่นแรก |
|
|
และมาในสมัยรัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงเป็นผู้วางรากฐานสถาบันการสื่อสารมวลชนให้เป็นฐานันดรที่มี เกียรติและศักดิ์ศรี พระองค์ทรงให้เสรีภาพในการนำเสนอข่าวสาร และตราพระราชบัญญัติสมุดเอกสารและหนังสือพิมพ์ พ.ศ.2465 ขึ้น เพื่อกำหนดให้เจ้าของและบรรณาธิการมีความรับผิดชอบในหนังสือพิมพ์นั้นๆ นับเป็นกฎหมายเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์ฉบับแรก พระองค์ทรงส่งเสริมกิจการหนังสือพิมพ์ไทยให้เจริญก้าวหน้าอย่างถึงที่สุด
|
|
นิทรรศการหนังสือพิมพ์ไทย |
|
|
อีกส่วนแสดงย่อยก็คือส่วนของ “นักหนังสือพิมพ์ผู้มีบทบาทสำคัญในอดีต” โดยนำเสนอภาพ บทบาทสำคัญ และผลงานด้านวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ได้แก่ ตวส.วรรณาโภ (เทียนวรรณ) นักหนังสือพิมพ์ไทยคนแรกที่กล้าแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ, พระราชวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒติยาลงกรณ์(น.ม.ส.), พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา), โชติ แพร่พันธุ์ (ยาขอบ), เฉลิม วุฒิโฆษิต (เฉลิมวุฒิ), เสถียร พันธรังสี, มาลัย ชูพินิจ (ม.ชูพินิจ) และอิศรา อมันตกุล
|
|
ประวัติสมาคมหนังสือพิมพ์ฯ |
|
|
ถัดไปเป็นส่วนของ “นิทรรศการหนังสือพิมพ์ไทย” ที่ จัดแสดงประวัติความเป็นมาของหนังสือพิมพ์และนิตยสารหลายฉบับ เช่น เดลินิวส์ ไทยรัฐ สยามรัฐ แนวหน้า คู่สร้างคู่สม อสท ผู้หญิง การเงินธนาคาร เป็นต้น และมีหนังสือพิมพ์เก่ารวมทั้งภาพเกี่ยวกับวิวัฒนาการ ของหนังสือพิมพ์ติดตามผนังห้อง รวมถึงประวัติสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ด้วย
|
|
ตัวอย่างหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์เดอร์ |
|
|
สำหรับนักศึกษานิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ หรือใครที่สนใจอยากจะรู้เรื่องราวเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์ไทย ก็สามารถแวะเวียนไปชมและเรียนรู้กันได้... * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * |