จาก โพสต์ทูเดย์
ผลการประชุมคณะกรรมการการแพทย์ สำนักงานประกันสังคมได้เห็นชอบให้ปรับเพิ่มสิทธิการรักษาพยาบาลระบบประกันสังคม 7 รายการ
โดย...ทีมข่าวในประเทศ
ผลการประชุมคณะกรรมการการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) นัดแรก เมื่อวันที่ 16 มี.ค. ได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้ปรับเพิ่มสิทธิการรักษาพยาบาลระบบประกันสังคม 7 รายการ ดังนี้ 1.การรับสิทธิโรคร้ายแรงที่ต้องรักษาต่อเนื่อง (ผู้ป่วยใน) เดิมรักษาได้ไม่เกิน 180 วัน/ปี ปรับเป็นรักษาต่อเนื่องตามความจำเป็น
2.กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินและไม่สามารถไปรับบริการในโรงพยาบาลที่ลงทะเบียนไว้ได้ เดิมจำกัดจำนวนไม่เกิน 2 ครั้ง/ปี ปรับเป็นไม่จำกัดจำนวนครั้ง 3.สิทธิทันตกรรมการใส่ฟันปลอม กำหนดวงเงิน 2,400 บาท สำหรับฟันปลอมครึ่งปาก และ 4,400 บาท สำหรับฟันปลอมทั้งปาก เทียบเท่าบัตรทอง 4.เพิ่มสิทธิจ่ายยาต้านไวรัสเอชไอวีแก่ผู้ประกันตนหญิงที่ตั้งครรภ์เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก 5.เพิ่มยาอะทาสนาเวียร์ในบัญชียาที่ สปส.จ่ายแก่ผู้ประกันตน โดยจะจัดซื้อร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อให้ได้ราคาที่ต่ำลง
6.เพิ่มสิทธิจ่ายยากดภูมิ สิทธิการเปลี่ยนไตแก่ผู้ป่วยที่เป็นไตวายเรื้อรังก่อนการเป็นผู้ประกันตนให้เท่ากับผู้ที่ประกันตนแล้วเป็นไตวายเรื้อรังในภายหลัง และ 7.ปรับราคากลางยารักษาโรคไตให้ต่ำลงให้สอดคล้องกับราคาตลาด ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยรับยาได้ถี่มากขึ้น แต่ยังต้องหารือกับองค์การเภสัชกรรมอีกครั้งในการกำหนดราคากลางที่ชัดเจน
นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล ผู้อำนวยการสำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ สปส. เปิดเผยว่า คณะกรรมการการแพทย์ยังปรับเงื่อนไขการติดตามอาการและการรักษาแก่ผู้ป่วย เอดส์ให้มีระยะเวลาที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นตามที่เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอ วี/เอดส์ประเทศไทยเรียกร้องด้วย
นพ.สุรเดช
ทั้งนี้จะเสนอมติดังกล่าวให้คณะกรรมการ สปส. พิจารณาอนุมัติในการประชุมครั้งถัดไป
วันเดียวกัน 7 สภาองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย นำโดย นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือต่อ นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานกรรมการ สปส. เพื่อให้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหารือประเด็นที่ผู้ประกันตนจะงดส่ง เงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในส่วนค่ารักษาพยาบาล
นายสมเกียรติ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้นายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการ สปส. เชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลตามสิทธิประกันสังคม รวมถึงกลุ่มที่เคลื่อนไหวกดดัน มาประชุมภายในสัปดาห์หน้าเพื่อหาทางออกในประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์
ประกอบด้วย ตัวแทน สปส. สปสช. คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย รวมทั้งชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน ประเด็นที่จะหารือกัน อาทิ สิทธิการรักษา การพัฒนาบริการทางการแพทย์ รวมทั้งการเคลื่อนไหวหยุดจ่ายเงินสมทบ
นายสมเกียรติ กล่าวว่า การจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเป็นการให้คนทำงานร่วมรับผิดชอบดูแล ชีวิตตนเอง ซึ่งถือเป็นหลักสากลของโลก ยืนยันว่าสิทธิประโยชน์บางส่วนดีกว่า สปสช. แต่บางส่วนของ สปสช. ก็ดีกว่า สปส. ขึ้นอยู่กับว่าผู้ใช้สิทธิจะได้รับประโยชน์จากระบบไหน เช่น กรณีการปลูกถ่ายไขกระดูก ประกันสังคมครอบคลุมการใช้สิทธิรักษาพยาบาล แต่ สปสช.ไม่มี
นอกจากนี้ วันเดียวกัน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า ที่ประชุม กสม.มีมติให้ กสม.ไปศึกษารายละเอียดตามข้อเรียกร้องของชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตนใน 2 ประเด็น คือ ความไม่เท่าเทียมในการรับการดูแลด้านการรักษาพยาบาล และการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เมื่อศึกษาเสร็จแล้วจะเสนอที่ประชุม กสม.ในเร็วๆ นี้
ทั้งหมดนี้เป็นความก้าวหน้าในการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ตามที่ผู้ประกันตน นักวิชาการ และอีกหลายภาคส่วนได้เรียกร้อง