จาก โพสต์ทูเดย์
หลังจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กำหนดวันยุบสภาชัดเจนต้นเดือน พ.ค.นี้ เสียงปี่กลองโหมโรงหาเสียงของพรรคการเมืองใหญ่คู่แข่งก็ดังสนั่นไปทุกหย่อม หญ้า
โดย...ทีมข่าวการเงิน
หลังจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กำหนดวันยุบสภาชัดเจนต้นเดือน พ.ค.นี้ เสียงปี่กลองโหมโรงหาเสียงของพรรคการเมืองใหญ่คู่แข่งก็ดังสนั่นไปทุกหย่อม หญ้า
โดยเฉพาะนโยบายหาเสียงสำคัญ หนีไม่พ้นนโยบายด้านเศรษฐกิจ ที่ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และพรรคเพื่อไทย (พท.) ต่างชูธงนำไม่ยอมให้ใครล้ำหน้าใคร โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจที่จะเจาะกุมเสียงรากหญ้า ฐานคะแนนเสียงทางการเมืองที่จะเป็นตัวชี้เป็นชี้ตายว่าใครจะกลับมาเป็น รัฐบาลต่อไป
พรรค ปชป. ชิงตัดหน้าชูนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 25% หรือ 300 บาทต่อวัน ภายใน 2 ปี หากได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง หวังโกยคะแนนจากคนทำงานหาเช้ากินค่ำกว่า 20 ล้านคนทั่วประเทศ
ขณะที่พรรค พท. ก็ไม่ยอมให้ ปชป.เพลี่ยงพล้ำเป็นรองแม้แต่นิ้วเดียว นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ สส.พรรค พท. ประกาศกลางสภาอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล หากได้เป็นรัฐบาลก็จะเป็นนายกรัฐมนตรี และจะเพิ่มค่าแรงเป็น 300 บาททันที ไม่ต้องรอให้เสียเวลาเหมือนพรรคคู่แข่ง
แน่นอนว่า คนใช้แรงงานหาเช้ากินค่ำอดเคลิ้มไปไม่ได้ แม้ว่ายังไม่แน่ใจว่า จะได้อย่างที่พรรคการเมืองประกาศไว้หรือไม่
ขณะที่ผู้ประกอบการก็ได้แต่กุมขมับ เพราะหากพรรคการเมืองเอาค่าแรงขั้นต่ำไปใช้เป็นเครื่องมือหาเสียงเห็นที ธุรกิจจะพังอยู่ไม่ได้ ที่ต้องแบกรับต้นทุนที่มากขึ้นมหาศาลเพียงชั่วข้ามคืน ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ปัจจัยร้ายเริ่มรุมเร้าต้นทุนจากน้ำมัน และดอกเบี้ยก็อยู่ช่วงขาขึ้น
หากสำรวจรายละเอียดนโยบายขึ้นค่าแรงของพรรค ปชป. อาจทำให้ผู้ประกอบการใจชื้นได้หน่อย เพราะมีการยื่นหมูยื่นแมว ผู้ประกอบการขึ้นค่าแรง รัฐบาลลดภาษีนิติบุคคลให้
อย่างไรก็ตาม นโยบายส่วนนี้ก็ยังไม่ชัดว่าจะเป็นการลดภาษีนิติบุคคลเป็นการทั่วไปทั้งระบบ หรือว่าจะลดให้เฉพาะผู้ประกอบการที่ขึ้นค่าแรงให้
หลังจากนั้นก็จะมีปัญหาตามมาอีกว่าจะตรวจสอบอย่างไรว่าผู้ประกอบการขึ้น ค่าแรงให้ และมาตรการนี้จะส่งอานิสงส์ให้กรรมกรหาเช้ากินค่ำ รับจ้างผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยที่ไม่อยู่ในระบบภาษีหรือไม่
ถือว่าเป็นโจทย์ใหญ่ซึ่งเป็นงานหินว่าจะทำอย่างไรจะไต่ค่าแรงให้ไปถึงที่ ประโคมหาเสียงไว้ให้ได้ภายใน 2 ปี ขณะที่ภาษีที่ลดให้ผู้ประกอบการก็ทำให้รายได้หายไป การทำงบประมาณสมดุลภายใน 5 ปี อาจจะมีปัญหาได้อย่างที่ประกาศล่วงหน้าไว้
สิ่งที่ตามมาเสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยมีปัญหาได้ เพราะฐานะการคลังไม่มั่นคง ยังไม่สามารถเข้าสู่สมดุลได้ ทำให้ต้องกู้หนี้ยืมสินหาเลี้ยงประเทศ ส่งผลให้หนี้ของประเทศบานต่อไปสู่จุดอันตราย
ในส่วนของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของพรรค พท. ไม่ต้องพูดถึงผู้ประกอบการ หลับตาไม่อยากนึกถึงอนาคตที่จะเกิดขึ้น การขึ้นค่าแรงทันที 300 บาทต่อวัน จากที่ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 215220 บาทต่อวันนั้นหมายความว่า ค่าแรงจะเพิ่มขึ้นทันที่ 80 บาทต่อวัน
ซึ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทันทีมากมายขนาดนั้น จะทำได้อย่างไร โดยให้ผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยยังดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยที่ไม่ต้องปิดโรงงาน ทิ้งลูกจ้างให้ตกงาน เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าแรงที่สูงขนาดไหน
นอกจากนี้ พรรค พท. อาจจะต้องเจอวิกฤตเงินเฟ้ออย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน หากขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาทต่อวัน เพราะลำพังที่ผ่านมาเพิ่มค่าแรงที่ผ่านมาครั้งละ 10 บาท ราคาของก็วิ่งเพิ่มขึ้นไปดักหน้าค่าแรงที่เพิ่มแทบจะไม่ได้เพิ่ม
ซึ่งหากขึ้นค่าแรงเพิ่มเป็น 300 บาททันที ราคาข้าวของสารพันต่างพาเหรดขึ้นคุมไม่อยู่ เงินเฟ้อพุ่งทะลุกรอบที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแล ทำให้ ธปท.ต้องใช้นโยบายการเงินขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อ เป็นงูกินหางให้ผู้ประกอบการแบกต้นทุนเพิ่มรอวันปิดโรงงานทิ้งคนงานให้ตกงาน ไปอีก
หากเป็นเช่นนั้น เห็นทีเศรษฐกิจไทยก็ไม่ต่างอะไรกับการถูกจูงให้ไปยืนปากเหว
เพราะในยามที่เศรษฐกิจนอกประเทศไม่แน่นอน เศรษฐกิจสหรัฐไม่ฟื้นตัว จีนมีปัญหาเงินเฟ้อ ญี่ปุ่นมีภัยพิบัติต้องขนเงินกลับไปฟื้นฟูประเทศ ตะวันออกกลางมีสงครามทำให้ราคาน้ำมันพุ่ง ล้วนเป็นดาบพุ่งจ่อคอหอยเศรษฐกิจไทยอยู่แล้ว
แทนที่ว่ารัฐบาลใหม่จะมีนโยบายเศรษฐกิจหาเสียงที่พาประเทศสู่ความมั่นคง มีเสถียรภาพ แต่กลับยิ่งสร้างนโยบายที่เป็นน้ำมันราดเข้าไปในกองไฟเสีย เพียงเพื่อหวังคะแนนการเมืองให้ได้กลับมาเป็นรัฐบาลก่อนเท่านั้น
นี่ยังไม่ร่วมกับนโยบายอื่นๆ เช่น การดูราคาพืชผลเกษตรกร ที่พรรค ปชป.ยังประกาศเดินหน้าประกันรายได้เกษตรกร โดยมีการปรับราคาประกันข้าวให้เพิ่มสูงขึ้นเป็นตันละหมื่นกว่าบาท
ขณะที่พรรค พท. ก็ไม่ยอมแพ้ ประกาศกลับมาใช้นโยบายจำนำข้าว ที่พรรค. ปชป.ยกเลิกไป ให้เกษตรกรได้ราคาเกินความเป็นจริง 1.5 หมื่นบาทต่อตัน โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นในอดีตมาตรการนี้ โดยต้องใช้เงินภาษีประชาชนนับแสนล้านบาทไปใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นหรือจะ เป็นนโยบายด้านพลังงาน ที่พรรค ปชป.ประกาศตรึงราคาดีเซลไม่เกินลิตรละ 30 บาท ขณะที่พรรค พท.แย้มๆ จะตรึงราคาเบนซินเพื่อเอาใจคนขี่มอเตอร์ไซค์ 17 ล้านคันทั่วประเทศ ให้เลือกพรรคตัวเองกลับมาเป็นรัฐบาล
อย่างที่รู้กันว่า การตรึงราคาน้ำมันดีเซลอย่างเดียวตอนนี้ก็ต้องใช้เงินเป็นหมื่นล้านบาทต่อ เดือน และหากต้องมาตรึงราคาเบนซินเพิ่มคงต้องใช้เงินอีกหลายเท่าตัวมาชดเชย เป็นเรื่องที่ชี้ชัดว่า เป็นนโยบายที่พาประเทศไปจนมุมอับกันทั้งนั้น ต่างที่ใครจะพาประเทศไปตามมุมอับได้ไวกว่ากันเท่านั้น
จะเห็นว่าแค่น้ำจิ้มนโยบายหาเสียง ก็ประกาศสู้กันแบบไม่คิดหน้าคิดหลัง โดยเฉพาะพรรค พท.ที่ต้องยอมรับว่าอยู่ในสภาพตกเป็นรอง จึงเห็นได้ว่า เมื่อพรรค ปชป.เสนอนโยบายใดมา และพรรคเห็นว่ากำลังวิ่งตามไล่หลังอยู่ ก็จะเกทับประกาศนโยบายทางเศรษฐกิจ โดยไม่สนใจภาพรวมเศรษฐกิจจะออกมาเสียหายอย่างไร
เส้นทางการเลือกตั้งเพิ่งเริ่มต้นขึ้น เหลือเวลาอีกหลายเดือนถึงจะมีการลงคะแนนเสียง ทำให้ต่อจากนี้คนไทยทั่วประเทศยังจะได้เห็นนโยบายเลือกตั้งที่สู้กันตาต่อตา ฟันต่อฟันอีกมากมาย และหลายๆ มาตรการหนีไม่พ้นเป็นตัวเร่งพาประเทศไทยไปสู่หายนะทางเศรษฐกิจรอบใหม่