จาก โพสต์ทูเดย์
หากญี่ปุ่นเป็นประเทศเผชิญความสูญเสียจากแผ่นดินไหวมากที่สุดและมูลค่าสูงที่สุดในโลก
โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ
ออสเตรเลียอาจเป็นประเทศที่เศรษฐกิจบอบช้ำมากที่สุดจากภาวะเอลนินโญ/ลานินญา
จะเห็นได้ว่า เหตุน้ำท่วมใหญ่เมื่อเดือน ก.พ. ที่รัฐควีนส์แลนด์ ได้ก่อให้เกิดความเสียหายถึง 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และส่งผลสะเทือนต่อตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกอย่างรุนแรง เนื่องจากเหมืองถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในโลกต้องหยุดดำเนินการเช่นเดียวกับ เหมืองเหล็ก และพื้นที่เพาะปลูกสินค้าเกษตรที่ใหญ่ที่สุดของออสเตรเลียต้องจมอยู่ใต้ บาดาล จนถึงขณะนี้ออสเตรเลียต้องประสบปัญหาข้าวสาลีมีคุณภาพต่ำและปริมาณการผลิต อ้อยดิ่งวูบ
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ลานินญาเข้าถล่มรัฐควีนส์แลนด์ หายนภัยทางธรรมชาติในลักษณะเดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อเดือน มี.ค. 2553 แต่ระดับความรุนแรงยังไม่เท่ากับครั้งล่าสุด อีกทั้งตลาดโภคภัณฑ์ยังพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย ไม่เป็นเหยื่อรายใหม่เท่านั้น แต่ยังทำให้หลายประเทศที่เป็นพลวัตหลักดันเศรษฐกิจโลกต้องสะดุดตัวลง เนื่องจากการส่งออกวัตถุดิบสำหรับการผลิตจากออสเตรเลียขาดช่วง
ประเทศที่ได้รับผลกระทบไม่น้อยจากวิกฤตลานินญาในออสเตรเลีย คือ จีน ซึ่งนำเข้าถ่านหินปริมาณมหาศาล แต่ในวันนี้จีนกลายเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ต้องเผชิญกับสภาพอากาศเลวร้ายและ ผิดฤดูกาล ล่าสุดพื้นที่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ยิ่งประสบกับภัยแล้งในระดับที่เลวร้ายขึ้น ทุกปี
ปีที่แล้วที่พื้นที่แห้งแล้งในจีนครอบคลุมมณฑลยูนนาน กุ้ยหลิน และกว่างซี ซึ่งอยู่ในเขตปริมณฑลของแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง ซึ่งภาวะแห้งแล้งครั้งนั้นคาดการณ์กันว่า เป็นผลพวงมาจากการที่จีนระดมสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสายหลักและแม่น้ำสาขาของ แม่น้ำโขง จนทำให้ตนและประเทศแถบใต้น้ำต้องรับเคราะห์ไปด้วย
แต่ในปีนี้ภาวะแห้งแล้งลุกลามไปถึงมณฑลเสฉวน ซึ่งอยู่นอกเหนือปริมณฑลของแม่น้ำโขง บางพื้นที่ในเทศบาลนครฉงชิ่งขาดฝนมานานถึง 4 เดือนแล้ว แหล่งน้ำธรรมชาติเริ่มเหือดแห้ง ซึ่งนับเป็นสถานการณ์ที่ผิดธรรมชาติอย่างยิ่ง เนื่องจากมณฑลเสฉวนขึ้นชื่อในเรื่องความชุ่มฉ่ำของแหล่งน้ำ อีกทั้งยังย่างเข้าฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งมีฝนตกหนักเป็นปกติ
ปัญหามิได้อยู่ที่การสร้างเขื่อนขวางแม่น้ำสายหลักของภูมิภาคอีกต่อไป (ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะนับเป็นปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ) แต่อยู่ที่ภัยพิบัติที่จะลุกลามเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ที่สำคัญ ของประเทศ มีสัดส่วนการผลิตเนื้อสัตว์สูงถึง 10% ของทั้งประเทศ และผลิตไข่ในสัดส่วนถึง 7% จากทั่วประเทศ
เมื่อพื้นที่ดังกล่าวตกอยู่ในภาวะแห้งแล้ง ผลผลิตการเกษตรจะยิ่งตกต่ำ และเติมเชื้อไฟให้กับปัญหาเงินเฟ้อที่เลวร้ายอยู่แล้ว ให้เลวร้ายลงยิ่งขึ้น
ซีกโลกใต้ฝั่งละตินอเมริกาต้องรับมือกับภัยลานินญาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว จนเกิดภาวะแห้งแล้งไปทั่ว ทั้งยังเกิดน้ำท่วมใหญ่ในบราซิล ที่ชิลีภาวะแห้งแล้งบานปลายมาถึงเดือน ก.พ. และ มี.ค. จนรัฐบาลต้องประกาศมาตรการฉุกเฉินเพื่อรับมือ และที่อาร์เจนตินาพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดและถั่วเหลืองได้รับความเสียหาย รุนแรง ซ้ำเติมให้ตลาดโภคภัณฑ์ยิ่งปั่นป่วน
ไม่เฉพาะซีกโลกใต้เท่านั้น แต่ซีกโลกเหนือยังเผชิญกับวิกฤตลานินญาเช่นกัน
บริษัท Weather Trends International ซึ่งให้บริการด้านพยากรณ์อากาศ ระบุว่า ปรากฏการณ์ลานินญาในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก ที่ส่งผลกระทบต่อออสเตรเลียและเอเชีย จะส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกข้าวสาลีในซีกโลกเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะแห้งแล้งที่กำลังก่อตัวขึ้นในภาคใต้ของสหรัฐ หลังจากที่เมื่อปีที่แล้ว ลานินญาปรากฏตัวที่แถบมหาสมุทรแอตแลนติก และก่อพายุมากถึง 19 ลูก กลายเป็นฤดูมรสุมที่เลวร้ายที่สุดเป็นอันดับ 3 ในประวัติศาสตร์ด้านอุตุนิยมวิทยาของสหรัฐ
แม้แต่ภัยพิบัติในญี่ปุ่นยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับลานินญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตกของหิมะอย่างหนักในพื้นที่ประสบภัย และทิศทางของกระแสลมในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกที่จะเป็นตัวชี้วัดทิศทางการกระจาย ของกัมมันตรังสี
ล่าสุด ลานินญากำลังแผลงฤทธิ์ลามลงมาจากตั้งแต่ภาคใต้ของไทยจนถึงอินโดนีเซียยังผล ให้การผลิตยางพาราในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับความเสียหายรุนแรง เนื่องจากไทย มาเลเซีย แลอินโดนีเซียรั้งตำแหน่งผู้ผลิตยางพาราในระดับท็อป 3 ของโลก เฉพาะอินโดนีเซียยังประสบกับอุปสรรคด้านการผลิตดีบุก ซึ่งประเทศนี้ถือเป็นแหล่งดีบุกอันดับ 1 ของโลก
ทั้งนี้ ลานินญาจะเกิดขึ้นเฉลี่ยทุกๆ 3-5 ปี และกินเวลาราว 12 เดือน แต่บางกรณีอาจยืดเยื้อนานถึง 2 ปี
ลานินญารอบนี้เริ่มต้นขึ้นช่วงปลายปีที่แล้ว แต่คาดว่าอาจสิ้นสุดลงในราวเดือน มิ.ย.ปีนี้ ตามการคาดการณ์ของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาของสหรัฐ
แม้จะเกิดขึ้นกินเวลาไม่ถึง 1 ปี แต่ความเสียหายต่อเศรษฐกิจนั้นรุนแรงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน อีกทั้งยังปลุกกระแสความหวาดกลัวในหมู่ประชาชนทั่วไป จนถึงในหมู่นักลงทุนทั่วโลก
นับวันลานินญาและภัยธรรมชาติวิปริตผิดฤดู ยิ่งส่งผลสะเทือนลุกลามมาถึงมิติทางเศรษฐกิจ และทั่วทุกมุมโลก และปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกรัฐบาลจำเป็นต้องประเมินแนวโน้มภัยพิบัติในอนาคตเสียใหม่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดงบประมาณถาวรเพื่อรองรับกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่คาดเดาได้ยากขึ้น ที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ การที่บริษัท TransGraph Consulting ระบุผ่านการรายงานโดยสำนักข่าว Bloomberg เมื่อช่วงต้นเดือน มี.ค. ว่า ปริมาณการผลิตปาล์มน้ำมันจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเริ่มไล่ตามระดับความ ต้องการในตลาดโลกได้ทันในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้
แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น คือ ภาคใต้ของไทยกำลังประสบอุทกภัยครั้งร้ายแรง รวมถึงฝนตกหนักในมาเลเซีย และอินโดนีเซียยังผลให้อนาคตของการผลิตน้ำมันสั่นคลอนไม่แพ้ยางพารา
แม้ว่าลานินญาที่กำลังแผลงฤทธิ์ในเอเชียแปซิฟิกอาจสิ้นกำลังลงในเดือน มิ.ย. แต่ไม่อาจรับประกันได้ว่า ในอนาคตลานินญา หรือเอลนินโญ จะหวนกลับมาทำลายชีวิตและความมั่งคั่งของประชาชนในพื้นที่นี้อีกครั้ง
ยิ่งรับประกันไม่ได้ว่า หากปรากฏการณ์สภาพอากาศวิปริตหวนกลับมาอีกครั้ง จะรุนแรงหรือถี่ครั้งขึ้นกว่าเดิมหรือไม่
เพราะโลกเรากำลังตกอยู่ในช่วงเวลาที่เกินความสามารถที่จะคาดเดาความแปรปรวนของธรรมชาติได้อีกต่อไป