สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การกลับมาของคาเฟ่ เดอ นรสิงห์

การกลับมาของคาเฟ่ เดอ นรสิงห์

ในช่วงปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 6 ร้านกาแฟแห่งแรกของประเทศไทยที่ดำเนินการโดยคนไทยได้ถือกำเนิดขึ้นในนาม คาเฟ่ เดอ นรสิงห์
     คาเฟ่ เดอ นรสิงห์ ตั้งอยู่ภายในรั้วสนามเสือป่า ถนนศรีอยุธยา เป็นสถานที่พักผ่อนยามเย็นของผู้รับราชการเสือป่ารักษาพระองค์ รวมทั้งพ่อค้าและชาวต่างประเทศซึ่งไปชุมนุมสังสรรค์กันเป็นจำนวนมาก โดยมีบริการอาหารคาวหวานมาจากครัวบ้านนรสิงห์ ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานแก่ พลเรือเอกเจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ)

     กล่าวได้ว่าเป็นร้านกาแฟที่หรูหราและมีอาหารชั้นเลิศรสให้บริการเป็นที่นิยมมากในห้วงเวลานั้น ทว่ามีอันต้องเลิกกิจการไปในสมัยต้นรัชกาลของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

     จำเนียรกาลผ่านไปจนกระทั่งเมื่อปลายปีที่ผ่านมา คาเฟ่ เดอ นรสิงห์ กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง โดย ชมรมคนรักวัง เพื่อรื้อฟื้นบรรยากาศในวันวานของร้านกาแฟแห่งแรกของประเทศไทยให้คนรุ่นปัจจุบันได้สัมผัส ณ  อาคารเทียบรถพระที่นั่ง พระราชวังพญาไท

กว่าจะมาเป็น 'นรสิงห์' ในวันนี้
     นาวาโทหญิง ชูจิต จิตต์แก้ว ผู้ช่วยหัวหน้าชมรมคนรักวัง กล่าวถึงที่มาของคาเฟ่ เดอ นรสิงห์ ในวันนี้ให้ฟังว่าหลังจากที่ทางชมรมคนรักวัง (การรวมกำลังและน้ำใจของผู้ที่มีความรักความหวงแหนในโบราณสถานของชาติ   มีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  โดยเฉพาะกลุ่มข้าราชการสังกัดกรมแพทย์ทหารบกและโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าที่ได้เติบโตมีความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงานภายใต้พระบรมนามาภิไธย “พระมงกุฎเกล้า”  จึงปรารถนาที่จะตอบแทนคุณให้แก่หน่วยงานที่ได้ใช้พระราชวังของพระองค์เป็นสถานที่ศึกษาและปฏิบัติงานมา)

     ได้จัดกิจกรรมรณรงค์หารายได้สมทบทุนโครงการบูรณะพระราชวังพญาไท และได้ดำเนินการจนแล้วเสร็จพร้อมเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ประชาเข้ามาชื่นชมและเรียนรู้สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติไทย จึงมีแนวคิดว่าควรจะมีสถานที่ให้ประชาชนได้พักผ่อน จิบกาแฟ เครื่องดื่ม และรับประทานอาหาร โดยใช้ชื่อเดิมของร้านกาแฟแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งมีความหมายเกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หลายประการ คือ

      นรสิงห์ เป็นปางหนึ่งของพระนารายณ์ อวตารลงมาปราบยักษ์หิรัณยกศิปุ จากลิลิตนารายณ์ 10 ปาง บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมทั้งยังเป็นบทละครในพระราชนิพนธ์ที่ใช้เล่นเบิกโรง ในโรงมหรสพซึ่งมีตราสัญลักษณ์เป็นรูปนรสิงห์ด้วยเช่นกัน

บูรณะให้เป็นเช่นวันวาน

      อาคารเทียบรถพระที่นั่ง ในสมัยก่อนใช้เป็นลานเทียบรถพระที่นั่งและห้องพักคอยผู้รอเข้าเฝ้าทูลละอองธุลี เป็นอาคารทรงนีโอคลาสสิก ก่อนบูรณะเป็นอาคารโล่ง ปราศจากเครื่องเรือนตกแต่งแต่อย่างใด หลังจากศึกษาประวัติพระราชวัง เปรียบเทียบจากรูปถ่ายโบราณ การบูรณะและต่อเติมให้กลายเป็น คาเฟ่ เดอ นรสิงห์ ในบรรยากาศสมัยรัชกาลที่ 6 ก็เกิดขึ้น

"เฟอร์นิเจอร์แทบทุกชิ้น เป็นการทำขึ้นใหม่โดยเปรียบเทียนจากรูปแบบที่นิยมกันในสมัยรัชกาลที่ 6 จะเห็นได้ว่าเก้าอี้ประทับตราอักษรย่อ รร. มาจากคำว่า รามราชาธิบดี ซึ่งหมายถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ส่วนภาพเขียนบนผนังและเพดานสีลายโบราณก็ได้รับการบูรณะให้สวยงามดังเดิม

ส่วนเคาน์เตอร์ที่เห็นปัจจุบันนี้เป็นของเดิมสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งเราพบหลักฐานจากภาพถ่ายว่าเคยใช้เป็นเคาน์เตอร์บาร์ในช่วงที่พระราชวังเป็นโฮเต็ลพญาไท"

ใน คาเฟ่ เดอ นรสิงห์ วันนี้ไม่เพียงแต่จะจำลองภาพบรรยากาศของร้านกาแฟยอดนิยมของเหล่าเสือป่าวันวัน ในวันนี้เรายังจะได้เห็นเครื่องเรือน โซฟา เก้าอี้ รวมไปถึงภาพถ่ายโบราณที่นำมาประดับตกแต่งไว้อย่างสวยงาม
(หัวเรื่อง) เมนูกาแฟ
 เมื่อสถานที่พร้อม ชมรมคนรักวังก็ได้ทำการคัดเลือกผู้ที่จะมาให้บริการร้านกาแฟ  ในที่สุดก็ได้บริษัทน้องใหม่ที่ไม่เ     คยดำเนินกิจการร้านกาแฟ ร้านอาหารมาก่อน ทว่ามีใจรักในของโบราณและต้องการร่วมบูรณะพระราชวัง
 คุณยิ่งยศ ฐาปนพาหะ ผู้เข้ามาดำเนินกิจการคาเฟ่ เดอ นรสิงห์ กล่าวว่า " เราไม่ได้ต้องการมากอบโกย หรือ ค้ากำไร แต่เราต้องการที่จะดึงประวัติศาสตร์ที่สูญหายไปให้กลับมาและดำรงอยู่ต่อไป "

      คุณยิ่งยศ เล่าให้ฟังว่าทางครอบครัวมีกิจการนำเข้าและจำหน่ายเครื่องชงกาแฟอยู่แล้ว ประกอบกับตนเป็นคนสนใจเรื่องกาแฟเป็นทุนเดิม เมื่อได้รับความไว้วางใจจากทางชมรมคนรักวัง ซึ่งคอยเป็นทั้งพี่เลี้ยงและที่ปรึกษา จึงเดินทางไปค้นหาเมล็ดพันธุ์กาแฟถึงจังหวัดน่าน

      "คัดเลือกเนื้อที่ปลูกกาแฟที่สูงกว่า 1,200 เมตร เท่านั้นเพราะว่ายิ่งสูง กาแฟก็จะปลูกได้น้อยและโตช้า ทำให้เมล็ดได้รับสารอาหารที่มากขึ้น จะได้เมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพ มีกาเฟอีนต่ำ โชคดีครับเราได้พบกับเกษตรกรหัวก้าวหน้าที่นำความรู้สมัยใหม่มาใช้ แม้ว่าจะเป็นออร์แกนิคไม่ถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เราก็สามารถควบคุมคุณภาพและกระบวนการได้ เป็นกาแฟพันธุ์อราบิก้าที่เรานำไปคั่วบดในโรงงานที่เราเชื่อมือ"

เมนูกาแฟของคาเฟ่ เดอ นรสิงห์ จึงเป็นกาแฟจากเมล็ดพันธุ์ที่ปลูกในประเทศ รสชาติและกลิ่นไม่น้อยหน้าใคร จำหน่ายในราคาคนไทย ประกอบไปด้วย เอสเพรสโซ่ (30 บาท) อเมริกาโน่ ลาเต้ คาปูชิโน มอคค่า (ร้อน 40 บาท เย็น 45 ปั่น 50 บาท)

เมนูอาหาร
       นอกจากชมรมคนรักวังจะดูแลเรื่องสถานที่แล้ว ยังควบคุมคุณภาพอาหารที่นำมาจำหน่ายในร้านด้วย ทั้งนี้กรรมการชมรมคนรักวัง คุณสุมัณฑณา โมกขะเวส เจ้าของร้าน เดอะ คัพ เป็นผู้ให้คำปรึกษา ดังนั้นเราจึงได้พบกับอาหารสไตล์อังกฤษโบราณที่หารับประทานได้ยาก
 ได้แก่ หมูเค็มขนมปังปิ้ง ซึ่งต้องนำเอาหมูไปตุ๋นกับเกลือและเครื่องเทศเป็นเวลาข้ามคืนจนเครื่องเทศซึมเข้าไปในเนื้อ รับประทานกับขนมปังหัวกะโหลกปิ้ง โดยมีพริกขิงปลาดุกฟูเป็นเครื่องแนม  (130 บาท)
 ข้าวหมูอบแบบฝรั่งเศส สูตรจากชมรมคนรักวังเช่นกันที่ต้องนำเนื้อหมูไปทอดกับเนย หัวหอมให้หอมก่อนแล้วค่อยนำมามัดเป็นก้อนแล้วนำไปอบ เสิร์ฟกับข้าวสวยร้อนๆ ราดด้วยน้ำเกรวี่สูตรเข้มข้น มีผักและมันบดเป็นเครื่องเคียง (130 บาท)

      อาหารส่วนใหญ่จะเป็นอาหารรับประทานง่าย ไม่มีกลิ่นแรง ส่วนมากจะเป็นอาหารสไตล์โฮมเมดที่เน้นคุณภาพและรสชาติ  ได้แก่ สลัดแฮม (65 บาท )สลัดผัก (45 บาท) สลัดแฮมชีส (85 บาท) สลัดไส้กรอก (75 บาท) แซนด์วิชแฮม/แฮมชีส/ทูน่า (35 บาท) แซนด์วิชแฮมทูน่า/ชีสทูน่า (55 บาท)
       ข้าวหน้าไก่ (60  บาท) สปาเกตตีซอสแดงหมู (130 บาท) สปาเกตตีคาโบนาร่าไก่ (150 บาท)  ชุดไส้กรอก (150 บาท) วอฟเฟิลและเนย (55 บาท) วอฟเฟิลบลูเบอร์รี  (95 บาท)  แอปเปิ้ลครัมเบิ้ล (85 บาท) มิกซ์เบอร์รีครัมเบิ้ล (85 บาท) นอกจากนี้ยังมีเค้กให้เลือกรับประทานอีกด้วย
        คาเฟ่ เดอ นรสิงห์ เปิดบริการวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-19.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 10.00-19.00 น. โทรศัพท์ 0-2354-8376  ร้านตั้งอยู่ด้านหลังพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้วังพญาไท ยังเปิดให้ประชาชนเข้าชมโดยมีวิทยากรนำชมทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 09.30 น. และ 13.00 น. (ไม่เก็บค่าเข้าชม)
        การกลับมาของ คาเฟ่ เดอ นรสิงห์ คงจะทำให้คนไทยได้สัมผัสถึงความงดงามในอดีต รวมทั้งได้ตระหนักถึงมรดกของชาติที่เราควรจะช่วยกันทะนุบำรุงและรักษาไว้ให้ลูกหลานสืบไป

Tags : การกลับมา คาเฟ่ เดอ นรสิงห์

view