จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : สกล หาญสุทธิวารินทร์
บริษัทจำกัด และบริษัทมหาชนจำกัด มีกรรมการของบริษัทเป็นผู้บริหารจัดการ โดยกรรมการของบริษัทมีฐานะตามกฎหมายเป็นผู้แทนของบริษัท
แต่การดำเนินกิจการบางอย่างของบริษัท กรรมการของบริษัทไม่สามารถดำเนินการไปตามลำพังได้ แต่จะต้องได้รับอนุมัติหรือเป็นไปตามมติของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายลักษณะหุ้นส่วนบริษัทหรือกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด นอกจากนี้บางบริษัทก็อาจกำหนดไว้ในข้อบังคับของบริษัทเพิ่มเติมจากที่กฎหมายกำหนดไว้ก็ได้
กิจการหรือการดำเนินการของบริษัท จำกัด ที่จะต้องได้รับอนุมัติหรือเป็นไปตามมติของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ที่สำคัญ ลำดับแรก คือจำนวนกรรมการและค่าตอบแทนกรรมการ และที่มาของกรรมการ โดยกฎหมายกำหนดว่าเฉพาะแต่ที่ประชุมใหญ่เท่านั้นจะมีอำนาจแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการ เว้นแต่กรณีกรรมการว่างลงนอกจากการพ้นตำแหน่งตามวาระ กรณีนี้กรรมการมีอำนาจเลือกผู้อื่นตั้งขึ้นเป็นกรรมการแทนที่ว่างได้ นอกจากนี้กิจการหรือการดำเนินการที่จะต้องได้รับอนุมัติหรือเป็นไปตามมติของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นที่สำคัญอื่นๆ คือ การตั้งข้อบังคับขึ้นใหม่ หรือเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงข้อบังคับหรือข้อความในหนังสือบริคณห์สนธิ การยินยอมให้กรรมการประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับบริษัท การอนุมัติงบดุล การจ่ายเงินปันผลและเงินสำรอง การตั้งผู้สอบบัญชีและกำหนดค่าตอบแทน การเพิ่มทุนและลดทุน การเลิกบริษัท การควบบริษัท การแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน
สำหรับกิจการหรือการดำเนินการของบริษัทมหาชนจำกัด ที่กฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด บัญญัติให้ต้องได้รับอนุมัติหรือเป็นไปตามมติที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น ส่วนใหญ่คล้ายกับ บริษัท จำกัด เริ่มแรกคือที่มาของกรรมการ ก็กำหนดไว้ในทำนองเดียวกันว่าการแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการเป็นอำนาจของที่ประชุมใหญ่ กิจการอื่นคือ การเสนอขายหุ้นต่ำกว่ามูลค่าที่จดทะเบียนไว้ เมื่อบริษัทขาดทุน การออกหุ้นใหม่เพื่อชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามโครงการแปลงหนี้เป็นทุน การซื้อหุ้นคืน การแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิหรือข้อบังคับของบริษัท การอนุมัติงบดุล การตั้งผู้สอบบัญชีและค่าตอบแทน การจ่ายเงินปันผล การโอนทุนสำรองเพื่อชดเชยการขาดทุนสะสม การเพิ่มทุนและการลดทุน การออกหุ้นกู้ การควบบริษัท การเลิกบริษัท
มติของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ในการอนุมัติหรือดำเนินการเรื่องต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น อาจถูกศาลเพิกถอนได้ หากไม่เป็นไปตามข้อบังคับหรือฝ่าฝืนกฎหมาย กล่าวคือในกรณีเป็นบริษัทจำกัด เป็นไปตามบัญญัติของ มาตรา 1195 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คือ การประชุมใหญ่นั้น ถ้าได้นัดเรียกหรือประชุมกันหรือได้ลงมติฝ่าฝืนในลักษณะนี้ก็ดี หรือฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทก็ดี เมื่อกรรมการหรือผู้ถือหุ้นหนึ่งคนใดร้องขึ้นแล้ว ให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นเสีย แต่ต้องร้องขอภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันลงมตินั้น ในกรณีเป็นบริษัทมหาชนจำกัด เป็นไปตามมาตรา 108 ที่บัญญัติว่าในการประชุมผู้ถือหุ้นครั้งใด ถ้าได้มีการนัดประชุม หรือลงมติโดยไม่ปฏิบัติตามหรือฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัท หรือบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่าห้าคนหรือผู้ถือหุ้นซึ่งมีหุ้นนับรวมกันได้ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้ทั้งหมดจะร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนมติในการประชุมครั้งนั้นก็ได้ แต่ต้องร้องขอต่อศาลภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ที่ประชุมลงมติ ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นตามวรรคหนึ่งให้บริษัทแจ้งไปยังผู้ถือหุ้นภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา
จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น และตามแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาในเรื่องนี้ การร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นทั้งในกรณีของบริษัท จำกัด และบริษัทมหาชน จำกัด อาจสรุปเกณฑ์ได้ ดังนี้
1. ผู้มีสิทธิร้องขอต่อศาลให้เพิกถอน ในกรณีเป็นบริษัทจำกัด คือกรรมการของบริษัทหรือผู้ถือหุ้นของบริษัท สิทธินี้ตกไปถึงทายาทผู้รับมรดกของผู้ถือหุ้นนั้นด้วยในกรณีผู้ถือหุ้นของบริษัทถึงแก่ความตาย (คำพิพากษาฎีกาที่ 310/2510) สำหรับกรณีบริษัทมหาชนจำกัด กรรมการของบริษัทไม่มีสิทธิร้องขอ ผู้มีสิทธิร้องขอคือผู้ถือหุ้นที่มีจำนวนไม่น้อยกว่า 5 คน หรือถือหุ้นไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้ทั้งหมด
2. วิธีร้องขอ การร้องขอต่อศาลให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นปกติจะร้องขอเป็นคดีมีข้อพิพาท คือฟ้องบริษัทหรือ ผู้เกี่ยวข้องเป็นจำเลย หรือจะร้องขออย่างคดีไม่มีข้อพิพาทก็ได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 1537/2514)
3. เหตุที่ร้องขอให้เพิกถอน
- การนัดเรียกประชุมไม่ถูกต้อง การนัดเรียกประชุมไม่ถูกต้องมีหลายกรณี เป็นต้นว่า การนัดประชุมใหญ่ของบริษัทไม่ได้เรียกประชุมโดยกรรมการตามข้อบังคับ เช่นเรียกประชุมโดยกรรมการคนเดียวโดยไม่มีการประชุมกรรมการ หรือกรรมการเข้าประชุมไม่ครบองค์ (คำพิพากษาฎีกาที่ 452/2518 และที่ 2564/2532)
- การบอกกล่าวการประชุมไม่ถูกต้อง เช่น ไม่มีหนังสือแจ้งการประชุมต่อผู้ถือหุ้น หรือไม่ลงในหนังสือพิมพ์ หรือมีหนังสือบอกกล่าวการประชุมล่วงหน้าไม่ครบตามเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือตามที่กำหนดในข้อบังคับ สำหรับการพิจารณาเวลาส่งหนังสือเชิญประชุมไม่ได้พิจารณาตามวันที่ที่ลงในหนังสือ แต่พิจารณาจากการส่งตามความเป็นจริง ในคดีหนึ่งบริษัทมีหนังสือเชิญประชุมถึงผู้ถือหุ้นในหนังสือลงวันที่ 18 มกราคม 2523 แต่ฝากส่ง ณ ที่ทำการไปรษณีย์ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2523 นับถึงวันประชุมใหญ่คือวันที่ 27 มกราคม 2523 ได้เพียง 4 วัน คำบอกกล่าวนัดเรียกประชุมใหญ่จึงส่งให้แก่ผู้ถือหุ้นก่อนวันนัดประชุมไม่ครบ 7 วัน จึงเป็นการไม่ชอบ (คำพิพากษาฎีกาที่ 3623-3624/2527) ในอีกคดีหนึ่งข้อบังคับของบริษัทกำหนดไว้โดยชัดแจ้งว่า การแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบถึงการประชุมใหญ่ให้แจ้งล่วงหน้า 21 วันก่อนการประชุมใหญ่ เมื่อการประชุมใหญ่วิสามัญของผู้ถือหุ้นครั้งแรก ตามที่นัดไว้กระทำไม่ได้เพราะผู้ถือหุ้นเข้าประชุมไม่ครบองค์ประชุม และได้มีการเรียกนัดประชุมใหม่ โดยผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นได้รับหนังสือแจ้งการเรียกนัดประชุมใหม่ ก่อนที่จะมีการประชุมเพียง 8 วัน จึงเป็นการไม่ชอบด้วยข้อบังคับของบริษัท การประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งใหม่ จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัท ศาลชอบที่จะเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่ อันผิดระเบียบนั้นเสียได้ตาม ม.1195 (คำพิพากษาฎีกาที่ 2278/ 2527)
(เกณฑ์การร้องขอเพิกถอนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นยังมีอีกหลายประการ และเรื่องที่มีข้อพิพาทกันและมีปัญหามากคือการร้องขอให้เพิกถอนมติการแต่งตั้งกรรมการ จะได้นำไปกล่าวในบทความในครั้งต่อไป)