สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นโยบายเศรษฐกิจพรรคการเมืองเน้นเพื่อประชาชนไม่เน้นเพื่อชาติ

จาก โพสต์ทูเดย์

ประเทศไทยหลังจากที่ผ่านการยุบสภามาหมาดๆ

โดย...ทีมข่าวการเงิน

ประเทศไทยหลังจากที่ผ่านการยุบสภามาหมาดๆ ทุกพรรคการเมืองต่างเริ่มเคลื่อนไหวเปิดตัวผู้สมัครเลือกตั้ง ทั้งบัญชีรายชื่อ และ สส.เขต

สิ่งที่สำคัญไม่แพ้ตัวผู้สมัครก็คือ นโยบายพรรค ที่จะเป็นกรอบนำมาใช้ในการบริหารประเทศ สิ่งที่ได้กล่าวในการหาเสียงถือเป็นสัญญาที่จะต้องทำ หากได้เข้ามาเป็นรัฐบาล

นโยบายที่สำคัญมากในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มมีความผันผวนคือนโยบายเศรษฐกิจ ที่แต่ละพรรคต่างแถลงออกมาแบบเกทับบลัฟแหลก

นโยบายที่แต่ละพรรคแถลงออกมานั้นแบ่งเป็น

1.เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ ที่แต่ละพรรคสัญญาว่าจะขึ้นให้ตั้งแต่ 200350 บาทต่อวัน

2.นโยบายภาษี ซึ่งจะเน้นไปในเรื่องการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ให้ประชาชน แต่ไปเพิ่มรายจ่ายและลดรายได้ของรัฐบาล เช่น การลดภาษีมูลค่าเพิ่ม

3.ภาษีเงินได้นิติบุคคล ทุกพรรคจะลดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อกระตุ้นการลงทุน

เท่าที่แต่ละพรรคเปิดนโยบายทางเศรษฐกิจออกมา ไม่มีพรรคการเมืองใดมีแผนเป็นรูปธรรมที่จะเพิ่มรายได้ของรัฐบาลให้มีเงิน เพิ่มขึ้นเพื่อนำมาใช้ในโครงการประชานิยมต่างๆ

นายนิพนธ์ พัวพงศกร ประธานกรรมการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มองว่า นโยบายเศรษฐกิจสำคัญที่ทุกพรรคการเมืองต้องทำแต่ไม่มีใครพูดชัดเจนและถูก ต้อง คือ การใช้นโยบายการคลังและการปรับโครงสร้างภาษีลดความเหลื่อมล้ำทางการกระจาย รายได้ ให้ปัญหารวยกระจุก จนกระจายลดลง

ประธานทีดีอาร์ไอ มองว่า มาตรการการคลังมีส่วนสำคัญในการลดหรือเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ แต่ในปัจจุบันประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างมาก ตัวเลขในปี พ.ศ. 2549 พบว่ากลุ่มประชาชนที่ร่ำรวยที่สุด 20% ของประเทศมีทรัพย์สินเกือบ 70 เท่าของกลุ่มที่จนที่สุด 20% ของประเทศ

นอกจากนี้ มาตรการด้านการคลังของไทยในบางด้านยังเป็นตัวเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจให้มากขึ้นด้วย

ตัวอย่างความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่เป็นธรรม ของโครงสร้างระบบภาษี ซึ่งประเทศไทยยังพึ่งภาษีทางอ้อม เช่น ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีศุลกากร มากกว่าภาษีทางตรง คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีนิติบุคคล

ปัจจุบันฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลนั้นแคบมาก ผู้ที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีเพียง 89 ล้านคน หรือไม่เกิน 20% ของผู้มีงานทำ และไม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก เนื่องจากมีคนทำงานถึง 23 ล้านคน แต่เสียภาษีเงินได้แค่ 9 ล้านคนเท่านั้น

นอกจากนี้ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่เป็นรายได้สำคัญของรัฐบาลนั้น ทุกพรรคการเมืองก็แข่งขันที่จะลดให้เอกชนเช่นกัน ทั้งที่ในความเป็นจริงก็มีการลดให้อยู่แล้ว แต่เป็นการลดที่ไม่เป็นธรรม

ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ยกเว้นภาษีให้กับผู้ประกอบการ ทำให้เกิดการกระจายสิทธิประโยชน์ทางภาษีไม่เท่าเทียมกัน

ผู้ที่ได้รับประโยชน์เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ ปัญหาอีกประการหนึ่ง คือ มีพิกัดอัตราภาษีศุลกากรอีกจำนวนหนึ่งยังไม่เข้าสู่ระบบ ทำให้ผู้ประกอบการที่นำเข้าวัตถุดิบถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราที่ไม่เป็นธรรม หรือเจ้าหน้าที่บางคนใช้ดุลยพินิจเกินขอบเขตหารายได้จากผู้เสียภาษี

นั่นคือมุมมองต่อการที่พรรคการเมืองต่างๆ กำลังหาเสียงด้วยการประกาศจะลดภาษีเงินได้นิติบุคคล

สำหรับภาษีที่ทีดีอาร์ไอคิดว่ายังไม่เป็นธรรม และพรรคการเมืองแต่ละแห่งไม่มีนโยบายที่จะแก้ไขอะไร คือ ภาษีสรรพสามิต เป็นระบบภาษีที่สร้างปัญหามากทั้งในแง่ของฐานภาษีและอัตรา เช่น สินค้าชนิดเดียวกันแต่เก็บภาษีต่างกันตามเกรดของสินค้า เช่น แบ่งเกรดเบียร์ออกเป็น 3 เกรด คือ ประหยัด (Economic) มาตรฐาน (Standard) และพรีเมียม (Premium) ทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม และทำให้เกิดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตส่วนใหญ่ต้องการเสียภาษีต่ำจึงผลิตเบียร์แบบประหยัด (Economic) ขึ้นมาจำนวนมาก ทำให้ราคาเบียร์ถูกลง และส่งผลให้มีการบริโภคเพิ่มขึ้น

ผู้ผลิตและขายสินค้าที่มีฐานภาษีต่ำได้เปรียบคนที่ผลิตและขายสินค้าที่มี มาตรฐานสูง จากความไม่เป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีข้างต้น เป็นเหตุให้รัฐเสียรายได้จากการเก็บภาษีไม่น้อยกว่าปีละ 2.4 หมื่นล้านบาทอีกทั้งเปิดโอกาสให้มีการวิ่งเต้นกับนักการเมืองและข้าราชการ เพื่อที่จะได้ส่วนต่างภาษีให้ตัวเองได้เปรียบคนอื่น นำไปสู่การคอร์รัปชัน และการขยายตัวของธุรกิจการเมือง ซึ่งมีผลเสียต่อการสร้างระบอบประชาธิปไตยของไทย

เมื่อความเป็นจริงขัดกับนโยบายที่พรรคการเมืองต่างๆ พากันชูประชานิยมหาเสียง แบบสัญญาว่าจะให้มากมาย ทางทีดีอาร์ไอมองว่าไม่มีนโยบายเศรษฐกิจของพรรคการเมืองใดที่อยู่บนพื้นฐาน ความเป็นจริงของเศรษฐกิจไทยที่ขณะนี้กำลังประสบความผันผวนจากทั้งปัจจัยภาย ในประเทศ และปัจจัยต่างประเทศเลย

นอกจากนี้ นโยบายทุกพรรคจะสร้างปัญหาระยะยาวมากขึ้น โดยเฉพาะการสร้างหนี้สาธารณะ หากรัฐบาลไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้มากเพียงพอกับรายจ่ายประเทศที่มีแผนการจะ ใช้เงินอย่างชัดเจน ก็จะทำให้ขาดดุลงบประมาณไปเรื่อยๆ และเมื่อปิดหีบงบประมาณไม่ได้ก็จะต้องกู้เงินมาปิดบัญชี

เมื่อกูรูทางเศรษฐศาสตร์ฟันธงนโยบายเศรษฐกิจของแต่ละพรรคการเมืองออกมา ว่าไม่ได้เรื่อง การจะเปรียบเทียบนโยบายของแต่ละพรรคก็แทบจะไม่ต้องนำมาเปรียบมวยกันเลย เพราะแทบจะไม่แตกต่างกัน และไม่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวว่า พรรคการเมืองทุกแห่งเน้นการทำเพื่อประชาชน ไม่มีใครเน้นทำเพื่อประเทศชาติ บางเรื่องหากทำไปแล้วประเทศชาติจะเสียหายก็ไม่ควรทำ

ดังนั้น เมื่อนโยบายเศรษฐกิจของพรรคการเมืองแทบจะไม่มีผลต่อการเลือกตั้ง เพราะเป็นนโยบายที่ทำไม่ได้จริง หรือทำไปแล้วก็จะไปสร้างปัญหาในภายหลัง ก็ควรจะหันไปดูนโยบายอื่นๆ ประกอบการตัดสินใจที่จะเลือกไว้วางใจให้พรรคใดมาบริหารประเทศ

Tags : นโยบายเศรษฐกิจ พรรคการเมือง เน้นเพื่อประชาชน ไม่เน้นเพื่อชาติ

view