จาก โพสต์ทูเดย์
ในที่สุดพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
โดย...ทีมข่าวการเงิน
ในที่สุดพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ก็มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้แรงงานนอกระบบ 24 ล้านคน มีหลักประกันรายได้หลังเกษียณอายุ 60 ปี ได้อย่างมั่นคงและมีศักดิ์ศรีไม่น้อยกว่าแรงงานในภาคส่วนอื่นๆ
หลังจากกระทรวงการคลังปลุกปล้ำกฎหมายนี้มาหลายปี ที่สุดรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์เวชชาชีวะ ก็มาลงตัวที่กองทุน กอช. ซึ่งเป็นกองทุนภาคสมัครใจ แรงงานจ่ายสมทบเข้ากองทุนส่วนหนึ่ง รัฐบาลจ่ายอีกส่วนหนึ่งเป็นแรงจูงใจให้แรงงานเข้ามาเป็นสมาชิก เพื่อจะได้มีเงินบำนาญใช้หลังเกษียณอายุการทำงานเหมือนกับข้าราชการ หรือแรงงานนอกระบบที่มีระบบประกันสังคมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
สำหรับโรดแมปของกองทุน กอช. หลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว ก็จะมีคณะกรรมการโดยตำแหน่ง 9 คน มีปลัดกระทรวงการคลัง โดยจะต้องสรรหาเลขาธิการกองทุน กอช. ให้ได้ภายใน 90 วัน เพื่อมาทำงานเดินหน้ากองทุน กอช. ให้รับสมาชิกได้ภายใน 1 ปี หลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้
นั่นหมายความว่าในเดือน พ.ค. 2555 กองทุน กอช. จะเริ่มเปิดรับสมาชิกกองทุนกอช.รายแรก และรายอื่นๆ ที่สนใจจะเข้ากองทุน
สำหรับแรงงานนอกระบบที่สนใจเป็นสมาชิกกองทุน กอช. ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนได้ตั้งแต่ 501,100 บาทต่อเดือน โดยรัฐบาลจะจ่ายสมทบให้ 50% แต่ไม่เกิน 50 บาทต่อเดือน สำหรับสมาชิกที่อายุ 15-30 ปี ไม่เกิน 80 บาทต่อเดือน สำหรับสมาชิกอายุ 30-50 ปี และไม่เกิน 100 บาทต่อเดือน สำหรับสมาชิกอายุ 50-60 ปี
ทั้งนี้ รัฐบาลก็หวังว่าเงินจ่ายสมทบจะเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้แรงงานนอกระบบเข้ามา เป็นสมาชิกกองทุนมากๆ โดยมีการตั้งงบประมาณปี 2555 รอไว้แล้ว 2 หมื่นล้านบาท บนพื้นฐานว่าแรงงานนอกระบบทั้งหมดเข้าเป็นสมาชิก
นอกจากนี้ กองทุน กอช. ยังเปิดกว้างสำหรับการเปิดรับสมาชิกในปีแรก ให้แรงงานนอกระบบที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปเข้าเป็นสมาชิกกองทุนส่งเงินสมทบได้เป็นเวลา 10 ปี ในส่วนนี้เป็นการเปิดช่องซื้อใจผู้สูงอายุ 60 ปี 70 ปีที่สนใจและมีกำลังเงินเข้าเป็นสมาชิกกองทุน กอช. ได้ด้วย
ล่าสุด กฎหมายยังเปิดช่องให้แรงงานนอกระบบที่เข้ามาเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคมใน ส่วนของการประกันรายได้จากการเจ็บป่วย ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการประชาวิวัฒน์ ยังมีสิทธิกองทุน กอช. ได้โดยไม่เสียสิทธิ
สำหรับเงินบำนาญที่สมาชิกกองทุน กอช.จะได้รับหลังจากเกษียณอายุเดือนละ 2,000-3,000 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับเงินที่จ่ายสมทบและระยะเวลาที่เป็นสมาชิก เมื่อรวมกับเบี้ยคนชราที่รัฐบาลจ่ายเดือนละ 500 บาทต่อเดือน ก็จะทำให้หลังเกษียณแล้วแรงงานนอกระบบจะมีรายได้ 3,000-4,000 บาทต่อเดือนไปตลอดชีวิต
จะเห็นว่ากองทุน กอช. เป็นการสร้างรายได้ให้กับแรงงานนอกระบบได้อย่างยั่งยืน เป็นการเพิ่มเงินในกระเป๋าให้กับแรงงานนอกระบบในยามแก่อย่างเป็นระบบและ ชัดเจน
ในแง่ของรัฐบาลเป็นการลดภาระของรัฐบาลในการดูแลแรงงานนอกระบบหลังจาก เกษียณอายุได้อย่างมาก เพราะหากไม่มีกองทุน กอช. รัฐบาลต้องเพิ่มเบี้ยคนชราให้สูงขึ้น ก็เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ เพราะรัฐบาลมีเงินจำกัด กองทุน กอช. จึงเป็นเครื่องมือที่จะไปอุดช่องโหว่ของรัฐบาลในส่วนนี้ให้แข็งแรงขึ้น แม้ว่าจะต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 10 ปี กองทุน กอช. ถึงจะเริ่มจ่ายเงินบำนาญให้กับสมาชิกก็ตาม
นอกจากนี้ กอช. ถือเป็นจิ๊กซอว์ในการสร้างสังคมสวัสดิการตามนโยบายของรัฐบาลประชาธิปัตย์ ที่มีการดูแลประชาชนตั้งแต่เกิดจนแก่ชรา
เริ่มตั้งแต่เกิดมีการสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศ โตขึ้นเรียนฟรี 12 ปี เจ็บป่วยรักษาทุกโรค แรงงานนอกระบบเข้ามาเป็นสมาชิกกองทุนสังคม เพื่อมีเงินชดเชยจากการเจ็บป่วย
สุดท้ายเกษียณแก่ทำงานไม่ได้ มีเงินเลี้ยงชีพจากกองทุน กอช. เสริมเข้าอีกแรง ทำให้เงินในกระเป๋าแรงงานนอกระบบตุง ถึงไม่มีจนรวย แต่ก็ถือว่าทำให้ชีวิตสบายขึ้นกว่าเดิม ที่ไม่มีทางว่าจะมีรายได้จากทางไหนหลังจากมีอายุมากและทำงานไม่ได้
เมื่อดูภาพใหญ่ทำให้เห็นว่าแรงงานนอกระบบกว่า 24 ล้านคนได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง และมีหลักประกันรอบตัวรอบด้านอย่างไม่เคยมีมาก่อน และถือว่าไม่ด้อยกว่าข้าราชการ หรือแรงงานในระบบอีกต่อไป
ขณะที่รัฐบาลก็ถือว่าได้ใจจากแรงงานไปเต็มๆ ยิ่งกฎหมายมีผลบังคับใช้ในช่วงการเลือกตั้ง รัฐบาลก็สามารถไปชูหาเสียงเลือกตั้งมัดใจแรงงานนอกระบบที่เป็นคนถึงครึ่ง ประเทศ เป็นการตอกย้ำสโลแกนของพรรคประชาธิปัตย์ว่าประชาชนต้องมาก่อน หรือเดินหน้านโยบายเพื่อประชาชน
อีกทางหนึ่ง การมีกองทุน กอช. ยังเป็นการสร้างการออมในระบบของไทยให้เพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันยังมีเงินกองทุนแต่ละปีจำนวนไหลหมื่นล้านบาทไหลเวียนเป็นเส้น เลือดใหญ่ในตลาดการเงินและตลาดหุ้น ไม่แพ้เงินจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือเงินจากกองทุนประกันสังคม
ตอนนี้ก็เหลืออย่างเดียวเท่านั้นว่า รัฐบาลจะเดินหน้าตีปี๊บประชาสัมพันธ์ให้แรงงานนอกระบบเข้ามาเป็นสมาชิกกอง ทุนให้มากที่สุดได้แค่ไหน
เพราะจำนวนสมาชิกมากเท่าไร รัฐบาลก็ได้หน้ามากแค่นั้น
ขณะที่กองทุน กอช. จะมีพลังยิ่งใหญ่เกรียงไกรและประสบความสำเร็จมากแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับจำนวน แรงงานนอกระบบจะไหลเป็นเทน้ำเทท่าเข้ามาเป็นสมาชิกของกองทุนเช่นกัน
และกองทุน กอช.นี้ ฟันธงได้เลยว่าพรรคประชาธิปัตย์จะชูขึ้นมาเป็นนโยบายสำคัญเพื่อหาเสียง ว่าเป็นความสำเร็จในการเข้ามาบริหารประเทศ