สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของบริษัท (2)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

โดย : สกล หาญสุทธิวารินทร์


บทความเรื่อง การร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของบริษัท (1) ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 26 เมษายน 2554
ได้กล่าวมาถึงข้อ 3 เหตุที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นมาแล้วสองประการ คือ การนัดเรียกประชุมไม่ถูกต้อง และการบอกกล่าวการประชุมไม่ถูกต้อง ในวันนี้ จะได้กล่าวถึงเหตุที่จะร้องขอได้ ประการต่อไป คือ
 

- การประชุมไม่ถูกต้อง เช่น องค์ประชุมไม่ครบองค์ตามที่กำหนดในมาตรา 1178 คือ ไม่มีผู้ถือหุ้นเข้าประชุมรวมกันแทนหุ้นได้ครบหนึ่งในสี่ของทุนทั้งหมดของบริษัท หรือการที่มีบุคคลที่ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุมและแสดงความคิดเห็นและออกเสียงลงคะแนนด้วย ก็ทำให้มติที่ออกมาไม่ชอบไปด้วย (คำพิพากษาฎีกาที่ 89/2512) การโอนหุ้นทำไม่ถูกต้องทำให้การโอนหุ้นเป็นโมฆะ แม้จะทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ผู้รับโอนก็ไม่เป็นเจ้าของหุ้น เมื่อเข้าประชุมก็จะไม่นับเป็นองค์ประชุม (คำพิพากษาฎีกาที่ 2970/2522)                   
 

- การลงมติไม่ถูกต้อง การลงมติที่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายหรือข้อบังคับ ก็เป็นเหตุร้องขอให้เพิกถอนได้ เช่น ผู้ถือหุ้นมีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในมตินั้นตามมาตรา 1185 หรือเป็นผู้ถือหุ้นที่ไม่มีสิทธิลงคะแนน เพราะยังค้างค่าหุ้นตามาตรา 1184 หรือเป็นผู้รับมอบฉันทะแต่ไม่มีหนังสือมอบฉันทะมาแสดง หรือไม่วางหนังสือมอบฉันทะก่อนเริ่มการประชุม หรือมีการนับคะแนนไม่ถูกต้อง หรือเมื่อมีผู้ถือหุ้นสองคนขอให้ลงคะแนนลับตามมาตรา 1190 แต่การลงคะแนนไม่ได้ลงคะแนนลับ (คำพิพากษาฎีกาที่ 310/2510) หรือการมีมติอนุมัติเรื่องที่หนังสือบริคณห์สนธิไม่ได้ให้อำนาจไว้ เช่น กรณีการออกหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท จะออกให้มีราคาสูงกว่ามูลค่าของหุ้นที่ตั้งไว้ได้ต่อเมื่อหนังสือบริคณห์สนธิให้อำนาจไว้ แต่ที่ประชุมของบริษัทลงมติให้เพิ่มทุนและออกหุ้นสูงกว่ามูลค่าที่ตั้งไว้ ทั้งที่ผู้ถือหุ้นสองคนคัดค้านว่า หนังสือบริคณห์สนธิไม่ได้ให้อำนาจไว้ เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1105 วรรค 2 ฟ้องให้เพิกถอนมติได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 607/2491)
 

4. กำหนดระยะเวลาที่ต้องร้องขอให้เพิกถอน ตามมาตรา 1195 กำหนดให้ต้องร้องขอภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่ลงมติ ระยะเวลาหนึ่งเดือนไม่ใช่อายุความ หากฟ้องเลยกำหนดหนึ่งเดือน  ศาลจะยกคำร้องแม้จะไม่มีผู้ใดยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ เพราะเป็นเรื่องอำนาจฟ้อง ซึ่งมีคำพิพากษาของศาลฎีกาวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานไว้หลายคดี  เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 467/2501 คำพิพากษาฎีกาที่ 2576/2           
 

5. กรณีไม่มีการประชุมกันจริง ถ้าไม่มีการประชุมกันจริงแต่มีการทำรายงานการประชุมเป็นเท็จ ไม่อยู่ในบังคับของกำหนดระยะเวลาดังกล่าว เช่น ในคดีหนึ่ง โจทก์ฟ้องว่า รายงานการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเป็นเท็จเพราะไม่มีการประชุมกันจริง ขอให้ศาลพิพากษาว่ารายงานการประชุมใหญ่ดังกล่าวเป็นโมฆะ และให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนจากรายงานการประชุมเท็จนั้น จำเลยต่อสู้ว่ารายงานการประชุมบันทึกขึ้นตามความเป็นจริงใช่รายงานเท็จ โจทก์มิได้ฟ้องคดีภายในหนึ่งเดือน ขอให้ยกฟ้อง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามคำฟ้องของโจทก์และข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้วนั้นเป็นเรื่องที่ไม่มีการประชุมใหญ่กันจริง แต่จำเลยทำรายงานการประชุมใหญ่ขึ้นมาแล้วนำไปจดทะเบียน จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ ฟ้องว่ารายงานการประชุมใหญ่นั้นไม่มีการประชุมกันจริงและเป็นเท็จ จึงไม่มีผลตามกฎหมายไม่ใช่การประชุมใหญ่ผิดระเบียบ จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับกำหนดเวลา 1 เดือนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1195 (คำพิพากษาฎีกาที่ 1661/2534) อีกคดีหนึ่งไม่มีการประชุมกันจริงหากเป็นรายงานเท็จที่จำเลยทำขึ้นฝ่ายเดียว ศาลฎีกาวินิจฉัยว่ากรณีนี้ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 1195 ที่โจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นจะใช้สิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนรายงานการประชุมเท็จได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้เพิกถอนรายงานการประชุมดังกล่าว (คำพิพากษาฎีกาที่ 2481/2552)
 

ข้อสังเกต คดีตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1661/2534 โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนจากมติที่ไม่ชอบ จึงมีประเด็นที่ศาลจะต้องพิจารณาเพิกถอนคำขอจดทะเบียน ส่วนคดีตามคำพิพากษาฎีกาที่ 2481/2552 โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนรายงานการประชุมเท็จ รายงานการประชุมที่เป็นเท็จโดยตัวเองก็ไม่มีผลทางกฎหมายไม่สามารถใช้ได้อยู่แล้ว จึงไม่มีกรณีที่จะต้องใช้สิทธิทางศาลเพิกถอนของที่ไม่มีอยู่จริง
 

6. ฟ้องต่อศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง ปัจจุบันมีการจัดตั้งศาลปกครองแล้ว ดังนั้น จึงต้องพิจารณาด้วยว่าคดีที่ฟ้องร้องเกี่ยวกับการเพิกถอนมติและคำขอจดทะเบียนเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองหรือไม่ สำหรับผู้เขียนเห็นว่าหากเป็นการร้องขอให้เพิกถอนมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นตามมาตรา 1195 และขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนหรือคำขอจดทะเบียนด้วย ประเด็นหลัก คือ คำขอเพิกถอนมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นตามมาตรา 1195 เป็นคดีอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ส่วนการขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเป็นประเด็นรอง คดีนี้จึงควรต้องฟ้องต่อศาลยุติธรรมควบกันเลย แต่ถ้าหากเป็นกรณีที่ทำรายงานการประชุมเป็นเท็จและนำไปจดทะเบียน ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานแล้วว่าไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 1195 ผู้ถือหุ้นไม่มีอำนาจฟ้องให้เพิกถอนรายงานการประชุมเท็จ จึงคงมีประเด็นฟ้องเพิกถอนการจดทะเบียนจากรายงานการประชุมเท็จ เป็นคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง ต้องฟ้องต่อศาลปกครอง
 

7. มติของที่ประชุมอันผิดระเบียบไม่เสียและไม่โมฆะ มติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบอันเนื่องจากการนัดประชุม การประชุม หรือการลงมติที่ฝ่าฝืนกฎหมายหรือข้อบังคับนั้น ไม่ทำให้การประชุมใหญ่และมติที่เกิดขึ้นเสียไปหรือเป็นโมฆะ จนกว่าศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนมติที่ผิดระเบียบนั้น (คำพิพากษาฎีกาที่ 1538/2514 และคำพิพากษาฎีกาที่ 530 /2537) ดังนั้น หากไม่ผู้ใดร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันลงมติ หรือมีการร้องขอต่อศาลเลยกำหนดหนึ่งเดือน มติของที่ประชุมใหญ่นั้น ก็สามารถใช้ได้ต่อไป ผู้ใดจะมาอ้างว่ามตินั้นเป็นโมฆะหรือไม่มีผลไม่ได้

Tags : การร้องขอ ให้ศาลเพิกถอน มติที่ประชุมใหญ่ ผู้ถือหุ้น บริษัท

view