จาก โพสต์ทูเดย์
รายละเอียดคำให้การของไทยและกัมพูชา ที่ขึ้นให้การต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ กรณีกัมพูชายื่นคำร้องให้ศาลตีความคำตัดสินปราสาทพระวิหารเมื่อปี พ.ศ.2505...
การไต่สวนของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ กรณีกัมพูชา ยื่นคำร้องให้ศาลตีความคำตัดสินปราสาทพระวิหารเมื่อปี พ.ศ.2505 และออกมาตรการชั่วคราวให้ไทยดำเนินการ 3 ข้อประกอบด้วย
1.ขอให้ไทยถอนกำลังทั้งหมดจากส่วนต่าง ๆ ของดินแดนกัมพูชาในพื้นที่ปราสาทพระวิหารทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข
2.ห้ามไทยมีกิจกรรมทางทหารใด ๆ ในพื้นที่ปราสาทพระวิหาร
3.ให้ไทยงดการกระทำหรือการดำเนินการใด ๆ ที่กระทบสิทธิของกัมพูชาหรือเพิ่มความขัดแย้งในคดีการตีความ จนกว่าศาลโลกจะดำเนินการตีความคำพิพากษาแล้วเสร็จ
การนัดคู่ความ ไทยและกัมพูชา ขึ้นให้การทางวาจา ครั้งแรก เมื่อวันที่ 30 พ.ค. ประเด็นสำคัญคือการพิจารณามาตรการชั่วคราวดังกล่าว
ฌอง มาร์ค โซเรล / วาร์คิมฮอง / ฮอร์นัมฮง
ในช่วงเช้า ตรงกับเวลาประมาณ 15.00 น.ตามเวลาในประเทศไทย หลังจากองค์คณะผู้พิพากษาศาลโลกทั้ง 17 คน อ่านคำร้องของกัมพูชาเสร็จสิ้น นายฮอร์นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศกัมพูชา เป็นผู้แถลงเปิดคำร้อง โดยกล่าวว่า ฝ่ายไทยได้ส่งกองกำลังติดอาวุธรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ข้อพิพาท ซึ่งก่อให้เกิดภัยคุกคามอย่างใหญ่หลวงต่อสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาค อย่าร้ายแรง
ฮอร์นัมฮงกล่าวว่า ความเคลื่อนไหวทางทหารของฝ่ายไทยนั้นมีขึ้นบนพื้นฐานของการตีความคำตัดสิน ของศาลโลกเมื่อปี พ.ศ.2505 เอง ซึ่งเป็นการตีความที่ เข้าใจผิดไปเอง และไม่อาจจะยอมรับได้
“ประเทศไทยได้ใช้การตีความคำตัดสินเพื่อเป็น เกราะป้องกันทางกฎหมายเพื่อบุกรุกดินแดนกัมพูชา ประเทศไทยไม่ได้เพียงแต่ท้าทายอธิปไตยของกัมพูชาในพื้นที่นี้เท่านั้น แต่ยังใช้การตีความของตัวเองด้วยการเข้าไปครอบครองพื้นที่ด้วยการก่อการ บุกรุกด้วยกองกำลังติดอาวุธ” รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชากล่าว
ฝ่ายกัมพูชาชี้แจงต่อไปว่า ทหารของทั้งสองฝ่ายได้เผชิญหน้ากัน และความก้าวร้าวจากฝ่ายไทยก็สามารถปะทุขุ้นได้ทุกเมื่อ
หลังจากนั้น นายวาร์คิมฮอง รัฐมนตรีอาวุโสรับผิดชอบกิจการชายแดนกัมพูชา ได้ขึ้นกล่าวว่า จำเป็นที่ศาลจะต้องออกต้องมาตรการชั่วคราวเพื่อยุติปัญหากระทบกระทั่ง ระหว่างกำลังทหารของทั้งสองประเทศที่เผชิญหน้าบริเวณชายแดน รวมทั้งอ้างถึงแผนที่ระวางดงรัก มาตราส่วน 1 : 200,000 ซึ่งกัมพูชาเคยใช้เป็นภาคผนวกที่ 1 (Annax 1) ประกอบคำฟ้องคดีปราสาทพระวิหารเมื่อพ.ศ.2502 ว่าได้กำหนดเส้นเขตแดนชัดเจนแล้ว ดังนั้นทหารไทยที่วางกำลังอยู่รอบพื้นที่ปราสาทพระวิหาร จึงอยู่ในเขตอธิปไตยกัมพูชา
วาร์คิมฮอง ย้ำว่า การยื่นคำร้องครั้งนี้ กัมพูชาจำเป็นต้องให้ได้สิ่งที่ยังไม่ได้รับจากคำพิพากษาเมื่อปี 2505 นั่นคือความชัดเจนในเรื่องเส้นเขตแดน
จากนั้น นายฌอง มาร์ค โซเรล ทนายชาวฝรั่งเศสของกัมพูชา ได้ขึ้นชี้แจงในประเด็นความจำเป็นที่ศาลจะต้องออกมาตรการชั่วคราว เนื่องจากมีสถานการณ์ตึงเครียดบริเวณชายแดน การออกมาตรการชั่วคราวจะช่วยทำไม่ให้เกิดสถานการณ์สู้รบขึ้นอีก
วีระชัย พลาศรัย
จากนั้นในช่วงเย็นวันเดียวกัน ตรงกับเวลาประมาณ 21.00 น.ตามเวลาในประเทศไทย คณะผู้ดำเนินคดีฝ่ายไทยจึงขึ้นให้การ
นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า การชี้แจงต่อศาลโลกของคณะผู้แทนไทย เริ่มจากนายวีระชัย พลาศรัย เอกอัคราชทูตไทยประจำประเทศเนเธอแลนด์ กล่าวคำแถลงเป็นภาษาฝรั่งเศส ในด้วย 5 ประเด็น ซึ่งประกอบด้วย
1.ย้ำว่าประเทศไทยในฐานะสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ได้ปฎิบัติตามคำพิพากษาเมื่อปีพ.ศ.2505 อย่างครบถ้วน
2.คำพิพากษาในปี 2505 เป็นเรื่องของอธิปไตยเหนือตัวปราสาทพระวิหาร มิใช่เขตแดน ซึ่งกัมพูชาเองก็ได้ยอมรับเรื่องเส้นขอบเขตพื้นที่บริเวณใกล้เคียงปราสาทพระ วิหาร ตามมติคณะรัฐมนตรีของไทยเมื่อวันที่ 10 ก.ค. พ.ศ.2505 โดยกำหนดขอบเขตปราสาท กล่าวคือทางทิศเหนือที่ระยะ 20เมตรจากบันไดนาคไปทางทิศตะวันออกจนถึงช่องบันไดหัก และทางทิศตะวันตกที่ระยะ 100 เมตร จากแกนของตัวปราสาทไปทางทิศใต้จนจรดขอบหน้าผา
3.ประเทศไทยปรารถนาที่จะอยู่ร่วมกันกับกัมพูชาอย่างสันติ ที่ผ่านมามีการพัฒนาบนพื้นฐานของความร่วมมือ ไม่มีเหตุใดๆ ที่ไทยจะสร้างความขัดแย้ง
4.ประเทศไทยไม่ได้เป็นฝ่ายเริ่มใช้ความรุนแรง ในการปะทะที่เกิดขึ้นทุกครั้ง แต่ประเทศไทยเป็นฝ่ายที่ถูกกัมพูชาโจมตีก่อน
5.กัมพูชาต้องการดินแดนในการทำพื้นที่กันชน (Buffer Zone) เพื่อให้การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกมีความสมบูรณ์
นายธานี เปิดเผยว่า จากนั้น ทนายความฝ่ายไทยอีก 3 คน ได้ขึ้นชี้แจงขยายความเพิ่มเติม เริ่มจาก
นายอลัง เปลเล่ต์ ชาวฝรั่งเศส ขึ้นชี้แจงว่า คดีปราสาทพระวิหาร ไม่เกี่ยวกับเส้นเขตแดน และไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาครบถ้วนแล้ว ศาลโลกไม่จำเป็นต้องตีความอีก
ต่อจากนั้นนายเจมส์ ครอว์ฟอร์ด ชาวออสเตรเลีย ขึ้นชี้แจงในประเด็นเขตอำนาจศาล โดยอ้างถึงคำร้องของกัมพูชาทั้งประเด็นการขอให้ให้ศาลตีความคำพิพากษาและการ ออกมาตรการชั่วคราว ล้วนอยู่นอกเหนืออำนาจศาล ไม่มีเหตุผลที่ศาลจะรับพิจารณา เพราะศาลโลกเมื่อปี 2505 ก็ไม่รับคำขอเพิ่มเติมของกัมพูชาที่ขอให้ศาลพิจารณาเรื่องแผนที่ อีกทั้งระยะเวลาหลังจากการพิพากษานั้นผ่านมาเนิ่นนานแล้ว ข้อเท็จจริงในประเด็นความเร่งด่วนนั้นไม่มี
และทนายความฝ่ายไทยที่ขึ้นชี้แจงเป็นคนสุดท้ายคือ นายโดนัลด์ เอ็ม แม็คเรย์ ชาวแคนาดา ซึ่งจะชี้แจงว่า มาตรการชั่วคราวที่กัมพูชาร้องขอนั้น ไม่มีความเร่งด่วน และไม่มีความสมดุลย์ อีกทั้งการแก้ไขปัญหาการปะทะในพื้นที่ชายแดน ก็มีความคืบหน้า ในเรื่องการส่งคณะผู้สังเกตุการณ์จากอินโดนีเซีย จึงไม่เป็นความจริงตามที่ฝ่ายกัมพูชากล่าวอ้างว่าการแก้ปัญหานั้นมีความ ชะงักงัน
นายธานีกล่าวว่า การขึ้นชี้แจงในวันที่ 31 พ.ค. จะเป็นการโต้แย้งคำให้การของแต่ละฝ่ายในวันแรก มีเวลาประเทศละ 1 ชั่วโมง โดยกัมพูชาจะขึ้นให้การก่อนในช่วงเช้า ตรงกับเวลา 16.00 น.ตามเวลาในประเทศไทย ส่วนไทยจะขึ้นให้การโต้แย้งกัมพูชาในช่วงเย็น ตรงกับเวลาประมาณ 22.00 น.ตามเวลาในประเทศไทย จากนั้นจะเสร็จสิ้นกระบวนการให้การทางวาจา และคาดว่าศาลจะใช้เวลาอีกประมาณ 3 สัปดาห์ จึงจะมี่คำวินิจฉัยว่า จะออกมาตรการชั่วคราวหรือไม่
กษิต ภิรมย์ และทีมเจ้าหน้าที่ไทยที่เข้าให้การต่อศาลโลก
ทีมทนายความของไทย: อลัง เปลเล่ต์ / โดนัลด์ เอ็ม แม็คเรย์ / เจมส์ ครอว์ฟอร์ด