สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แกะรอยปริศนาขุมทองยูกันดา

จาก โพสต์ทูเดย์

นับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา สื่อตะวันตกพยายามล้วงตับอุตสาหกรรมเหมืองทองในยูกันดา หลังจากที่ระแคะระคายมาว่า อุตสาหกรรมทองคำในประเทศนั้นเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างผิดสังเกต.....

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

นับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา สื่อตะวันตกพยายามล้วงตับอุตสาหกรรมเหมืองทองในยูกันดา หลังจากที่ระแคะระคายมาว่า อุตสาหกรรมทองคำในประเทศนั้นเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างผิดสังเกต จากที่เคยผลิตทองคำได้เพียง 37 กิโลกรัม เมื่อปี 2536 มูลค่าส่งออกเคยต่ำเพียง 500 เหรียญสหรัฐเท่านั้น

ในปีถัดมาทองคำทำรายได้ให้ยูกันดาถึง 73.8 ล้านเหรียญสหรัฐ! จนถึงปี 2550 มูลค่าการส่งออกทองคำขยับขึ้นมากว่า 75 ล้านเหรียญสหรัฐ

เหตุทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2546 ปีเดียวกับที่กองกำลังต่างชาติที่รุกรานคองโก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือกองทัพยูกันดาพร้อมใจกันถอนทหาร ยังผลให้กลุ่มติดอาวุธในคองโกพร้อมใจกันประกาศสงครามขนาดย่อมๆ เพื่อแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติที่มั่งคั่ง กบฏกลุ่มหนึ่งประกาศก่อตัวเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลกลาง สามารถยึดภาคตะวันออก ซึ่งเป็นขุมทองคำและขุมเพชรในปริมาณและมูลค่ามหาศาล

ภาคตะวันออกของคองโกมีพรมแดนประชิดกับภาคตะวันตกและภาคเหนือของยูกันดา

สื่อตะวันตกจึงตั้งข้อสังเกตในทางเดียวกันว่า ทองคำจากยูกันดาต้องเป็นทองคำที่ลักลอบมาจากฐานที่มั่นของกลุ่มกบฏในคองโก พื้นที่ที่ประชาชนถูกเกณฑ์มาติดอาวุธเพื่อสังหารเพื่อนร่วมชาติ และถูกเกณฑ์เป็นแรงงานทาสเพื่อเสาะหาทองคำและเพชรพลอย และลักลอบขายแร่มีค่าเหล่านั้นเพื่อซื้อหายุทธปัจจัย เข่นฆ่ากันต่อไป

ทองคำจากคองโกจึงมีฉายาอย่างน่าพรั่นพรึงว่า ทองคำเปื้อนเลือด หรือ Blood Gold เช่นเดียวกับ เพชรโลหิต หรือ Blood Diamond จากประเทศเซียร์รา ลีโอน ซึ่งต่อมาถูกตีแผ่เป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกัน นำแสดงโดย ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ

แต่เรื่องราวอันเป็นปริศนาของทองคำสีเลือดจากคองโกถึงยูกันดา มีตัวเอกนำแสดงหลายคน กล่าวกันว่าหนึ่งในนั้นเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีของไทยรวมอยู่ด้วย และรวมถึงบุคคลอื่นๆ ทั้งที่เปิดเผย และที่เป็นปริศนาอีกนับไม่ถ้วน ตั้งแต่นักลงทุนจากรัสเซีย ไปจนถึงบุคคลที่ 3 ในดูไบ ซึ่งเคยรับซื้อแร่ทองจากยูกันดา เพื่อสกัดเป็นทองคำบริสุทธิ์ และจัดจำหน่ายต่อไป

ทองคำจากยูกันดาไม่ใช่ตัวปัญหา แต่เป็นทองคำจากคองโกที่มีปัญหา ทั้งยังเป็นปมความขัดแย้งระดับโลก

ด้วยความที่ทองคำจากคองโกเป็นทองที่ขุดขึ้นด้วยเลือดเนื้อและความตาย ประชาคมโลกจึงประณามผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับทองคำเปื้อนเลือด ถึงขนาดที่คณะผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติ (UN) เตือนว่า

“ใครก็ตามที่เกี่ยวข้องกับทองคำจากยูกันดา ซึ่งส่งมาจากคองโกอีกทอด ถือเป็นผู้มีส่วนร่วมกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง”

ด้วยข้อกล่าวหาสาหัสสากรรจ์ถึงเพียงนี้ รัฐบาลยูกันดาและนักธุรกิจในอุตสาหกรรมเหมืองทอง จึงพยายามยืนยันมาโดยตลอดว่า ทองคำจากยูกันดา เป็นผลิตภัณฑ์ Made in Uganda แท้ 100%

แหล่งทองคำในยูกันดา จึงกลายเป็นประเด็นครึกโครมอีกครั้ง เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ The Times ในอังกฤษเมื่อปลายปี 2552 โดยระบุถึงธุรกิจของตนในต่างแดน ซึ่งรวมถึงการได้รับสัมปทานออกลอตเตอรี่ในยูกันดา และสัมปทานเหมืองทองคำในประเทศเดียวกัน พ.ต.ท.ทักษิณ ยืนยันว่าได้ทำการสำรวจธุรกิจทองคำในยูกันดาอีกครั้ง เมื่อเดือน ก.พ. ปี 2553

เป็นเพราะความไม่กระจ่างของทองคำแห่งกาฬทวีป ทำให้วาจาของอดีตนายกฯ เป็นที่จับตาของชาวโลก โดยเฉพาะกลุ่มที่เปราะบางกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในคองโกมากเป็นพิเศษ

ในประเทศไทย บ้านเกิดอันเป็นที่รักและประเทศที่ต้องการตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มากที่สุด (ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม) เรื่องนี้ยังกลายเป็นประเด็นสืบเนื่องมาจนกระทั่งปัจจุบัน

ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ก่อนการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์จะเริ่มขึ้น ทองคำยูกันดา (หรือทองคำจากคองโก) ยังเป็นวาระที่ถูกหยิบยกขึ้นมาให้ติดตามด้วยความระทึกใจจนได้

ล่าสุด ทักษิณได้ให้สัมภาษณ์โพสต์ทูเดย์เร็วๆ นี้ ว่า ได้ทำธุรกิจเกี่ยวกับเหมืองทองใน 5-6 ประเทศ และที่มากที่สุดอยู่ในประเทศยูกันดาถึง 31 เหมือง นอกนั้นอีก 5 ประเทศ มีอย่างละ 1-2 เหมือง รวมมูลค่า 5.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งหักส่วนที่ต้องจ่ายค่าสัมปทานให้กับรัฐบาลประเทศนั้นๆ แล้ว ก็ยังมีรายได้เหลืออีกนับหมื่นล้าน

แต่คำกล่าวข้องต้นยังไม่ชวนให้หูผึ่งได้เท่าคำสัมภาษณ์ถัดๆ มา

เพราะเจ้าตัวยังแย้มคีย์เวิร์ดสำคัญอย่างยิ่งยวดด้วยว่า “พอผมไปเปิดอินเทอร์เน็ต คองโกสำรวจแล้วพบว่าสินแร่ที่มีมูลค่าเท่ากับค่าจีดีพีของสหรัฐอเมริกาและ ยุโรปรวมกัน แต่คนในประเทศแถบนี้ คุณภาพของคนนั้นไม่ได้”

แม้คำพูดนี้ไม่ได้ยืนยันว่า ทักษิณดั้นด้นไปใช้ยูกันดาเป็นฐานเพื่อขุดทองสีเลือดจากคองโก หรือรับซื้อทองจากคองโกผ่านยูกันดา ดังที่เป็นกระแสกังขา

เพราะการทำเหมืองทองในยูกันดาอาจหมายถึงการขุดสินแร่ทองคำจากสายแร่ทอง แนวเดียวกับของคองโก พูดง่ายๆ ก็คือ ทักษิณอาจขุดทองในยูกันดา แต่เจาะเข้าไปเจอสายแร่ที่พาดผ่านจากคองโกเฉียดเข้าไปในพรมแดนของประเทศ เพื่อนบ้าน

ปัญหาอยู่ที่ว่า กรณีเช่นนั้นมีความเป็นไปได้น้อยเพียงใด? และขุมทองยูกันดามีตัวตนอยู่จริงหรือไม่? หรือเป็นทองคำเปื้อนเลือดจริงดังข้อกล่าวหา?

จากรายงานประจำปี 2551 ของสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาของสหรัฐ หรือ USGS ทำให้ทราบว่า ยูกันดามีแหล่งทองคำอยู่จริง และเป็นแหล่งทองคำที่มีขนาดมหึมา โดยเฉพาะในพื้นสำรวจในโครงการมาชองกา ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศใกล้กับคองโก พบสายแร่ทองคำยาว 3 กิโลเมตร กว้าง 500 เมตร และยังเป็นแร่ทองคำคุณภาพสูง

ทางตอนกลางของประเทศ ซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างจากคองโกเช่นกัน รัฐบาลยูกันดาคาดการณ์ไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2008 ว่า พบแหล่งทองคำในเขตมูเบนดา ประเมินในชั้นต้นคาดว่าจะมีปริมาณมากถึง 500 กิโลกรัม ส่วนในเขตมูโกโนในภาคกลาง พบสายแร่ขนาด 300 X 700 เมตร แต่เขตนี้มีพื้นที่ค่อนไปทางภาคตะวันออก

กล่าวโดยสรุป ยูกันดามีทองคำจริงแท้แน่นอน ด้วยการยืนยันจากรัฐบาลยูกันดาเอง และจากรัฐบาลสหรัฐผ่านรายงานของ USGS

ที่น่าประหลาดใจยิ่งกว่า ก็คือ นอกเหนือจากพื้นที่ภาคตะวันตกซึ่งติดกับพรมแดนคองโกแล้ว ยูกันดายังพบสายแร่ทองคำในพื้นที่ภาคกลางค่อนไปทางตะวันออก ซึ่งห่างจากคองโกนับร้อยกิโลเมตร

แต่เรื่องไม่ได้จบลงแค่นี้

นักสิทธิมนุษยชนทั่วโลก รัฐบาลคองโก UN หรือแม้กระทั่งศาลโลก (ICJ) ยังไม่ปักใจเชื่อว่า ทองคำจากยูกันดาขุนมาจากผืนดินของยูกันดาทั้งหมด

แน่นอนว่า ช่วงเวลาที่ยูกันดารุกรานคองโก โดยอ้างว่าจะเข้าไปกวาดล้างกลุ่มกบฏที่หลบไปตั้งฐานในประเทศนั้น ยูกันดาได้ทำการปล้นสะดมทองคำ เพชรพลอย แร่สินในดินจากคองโกอย่างมหาศาล ทั้งยังทรมานทรกรรมชาวคองโกอย่างโหดเหี้ยม

เรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตได้รับการรับรองจากคำชี้ขาดของ ICJ แล้วว่า เกิดขึ้นจริงและประเทศที่ลงมือต้องรับผิดชอบ

แต่การ “ปล้นทอง” ในปัจจุบันกลับไม่แน่ชัดว่าเกิดขึ้นจริงๆ หรือไม่ หรือเป็นภาพลักษณ์ด้านลบที่ติดมากับเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว

เมื่อปีที่แล้ว ยูกันดาอ้าแขนรับนักลงทุนจากรัสเซียจากบริษัท Victoria Gold Star ให้เข้ามาเปิดโรงงานสกัดแร่ทองคำแห่งแรกของประเทศ ด้วยศักยภาพการผลิตทองคำได้ถึง 10 กิโลกรัมต่อวัน

ยูริ โบโกโรดิตสกี กรรมการผู้จัดการของบริษัท Victoria Gold Star ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNN ว่า ยูกันดามีแหล่งทองคำอย่างแน่นอน เพิ่งค้นพบเมื่อปี 2552 แต่เป็นแหล่งทองที่แตกต่างจากคองโกที่มีแหล่งทองคำใกล้พื้นผิวดิน

ส่วนทองคำของยูกันดาเป็นแหล่งที่ซ่อนอยู่ในชั้นใต้ดินที่ลึกมาก ทำให้ยากที่จะพบ และถึงหากพบแล้ว ก็ยากที่จะขุดเจาะ ยกเว้นได้อาศัยเงินทุนและเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

โบโกโรดิตสกี ไม่ได้เปิดเผยว่า ทองคำที่เพิ่งค้นพบมีปริมาณมากน้อยเท่าใด ซึ่งจะช่วยให้เปรียบเทียบได้ว่า ทองคำของยูกันดามีปริมาณการผลิตสอดคล้องกับมูลค่าการส่งออกที่สูงเกือบ 100 ล้านเหรียญสหรัฐหรือไม่

นักลงทุนจากรัสเซียเพียงแต่ยืนยันว่า นำเข้าทองคำจากคองโกจริง แต่ติดต่อทำสัญญาซื้อขายกับรัฐบาลโดยตรง ไม่ได้ลักลอบซื้อทองจากกลุ่มกบฏในคองโก

โบโกโรดิตสกี ยอมรับว่า หลังจากที่รัฐบาลคองโกระงับการส่งออกทองจากภาคตะวันออกเมื่อเดือน ก.ย. 2553 เนื่องจากกลุ่มกบฏเกิดแข็งข้อขึ้นมาอีก ทำให้ทองคำขาดมือไปบ้าง แต่ยังสามารถนำเข้าทองคำจากเคนยา และแทนซาเนียเป็นการทดแทนได้ในอนาคต เนื่องจากทั้งสองประเทศมีแหล่งทองคำอยู่ไม่น้อย

จากถ้อยวาจาของนักลงทุนรัสเซียและจากข้อมูลของรัฐบาลยูกันดา สามารถสรุปได้ว่า ยูกันดามีทองคำแน่นอน แต่จะปริมาณมากน้อยเพียงใด ยังไม่เป็นที่ยืนยันแน่ชัด ส่วนกรณีที่มูลค่าส่งออกทองคำสูงจนน่าตกใจ เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า มีการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน “อย่างถูกกฎหมาย” เพื่อเสริมฐานะของตนให้เป็นศูนย์กลางการสกัดแร่และการค้าทองคำแห่งแอฟริกา

ไม่ใช่ศูนย์กลางการค้าทองคำเปื้อนเลือดดังคำกล่าวหาของชาติตะวันตก

อ้างจากคำย้ำชัดของนักลงทุนจากรัสเซียที่กล่าวว่า “การปรากฏตัวของโรงงานสกัดแร่ที่นี่ คือข้อโต้แย้งที่หนักแน่นว่าเราไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพวกฉ้อโกง”

ประเทศนี้ คือแหล่งฟอกทองคำเปื้อนเลือดอย่างแนบเนียนหรือไม่ อาจฟันธงได้ยากจนกว่าสถานการณ์ในแอฟริกาตะวันออกจะสงบราบคาบ แต่ในห้วงเวลานี้ มีสิ่งหนึ่งที่ชัดเจนที่สุด

ยูกันดากำลังกลายเป็นขุมทองแห่งใหม่ ใจกลางความดำมืดแห่ง “กาฬทวีป”

Tags : แกะรอย ปริศนาขุมทอง ยูกันดา

view