ธรรมาภิบาลอยู่ที่ตัวบุคคล
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : อภิญญา มั่นช้อย
การที่พนักงานสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตั้งแต่ระดับปฏิบัติการ จนถึงผู้บริหารระดับสูง แต่งชุดดำ
ออกมาเรียกร้องให้ประธาน ก.ล.ต. "วิจิตร สุพินิจ" ให้ลาออกจากตำแหน่ง หลังมีข่าวระบุว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเจรจากรณีการเทคโอเวอร์บริษัทโทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ หรือทีทีเอ อย่างไม่เป็นมิตร ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างกว้างขวาง จนในที่สุด ประธาน ก.ล.ต.ทนแรงกดดันไม่ไหวต้องลาออกและมีผลในทันที ทั้งที่จะครบวาระตำแหน่งประธาน ก.ล.ต.ในวันที่ 14 กรกฎาคมนี้
ถือเป็นความสำเร็จของคน ก.ล.ต. ในการเรียกความเชื่อมั่นจากสังคม เพราะแม้จะยังไม่ได้ชี้ชัดว่านายวิจิตรจะมีการเกี่ยวข้องอย่างที่ถูกแอบอ้างจากผู้บริหารทีทีเอหรือไม่ แต่การออกมาแสดงจุดยืนของคนเหล่านี้ โดยที่ไม่เกรงกลัวอิทธิพลของอีกฝ่ายที่มีตำแหน่งถึงประธาน ก.ล.ต. สะท้อนให้เห็นจุดยืนที่ชัดเจนว่า หน่วยงานกำกับดูแลมีการแบ่งแยกกันอย่างชัดเจนระหว่างเรื่องขององค์กรและตัวบุคคล คนเข้ามาทำงานเมื่อครบวาระแล้วก็ต้องออกไป แต่ภาพลักษณ์องค์กรจะต้องมีจุดยืนที่ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องของธรรมาภิบาล ก.ล.ต.จะต้องมีความเข้มข้นกว่าหน่วยงานอื่น
สำนักงาน ก.ล.ต.ถือเป็นหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุน การที่มีพฤติกรรมส่อไปในทางเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะนอกจากจะส่งผลกระทบต่อองค์กรเสียหายแล้ว ยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
การตื่นตัวเรื่องธรรมาภิบาลของแวดวงตลาดทุนปะทุขึ้นมาทันที โดยเฉพาะบอร์ด ก.ล.ต. ได้มอบหมายให้คณะกรรมการตรวจสอบไปพิจารณาถึงความจำเป็นต้องปรับแนวทางธรรมาภิบาลและจรรยาบรรณ ก.ล.ต. ให้เป็นแนวปฏิบัติที่ชัดเจนยิ่งขึ้น และต้องมีข้อกำหนดที่เข้มงวดยิ่งขึ้นโดยห้ามมิให้กรรมการ ก.ล.ต. ไปดำรงตำแหน่งในกิจการที่เกี่ยวกับตลาดทุนหรือไม่
แม้กระทั่งผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ "จรัมพร โชติกเสถียร" ก็ออกมาระบุว่ากรณีนี้ถือเป็นอุทาหรณ์และตัวอย่างที่ตลาดหลักทรัพย์เองก็ต้องเพิ่มความระมัดระวัง โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดหลักทรัพย์กำลังแปรรูปตัวเองเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่อีกขาหนึ่งยังมีหน้าที่เป็นหนึ่งในองค์กรที่กำกับดูแลตลาดทุนด้วย ซึ่งถือเป็นความท้าทายของคนในองค์กรที่จะต้องรักษาเส้นแบ่งระหว่างฝ่ายจัดการ และฝ่ายกำกับดูแลให้ชัดเจน เพื่อเลี่ยงข้อครหาของสังคม
การทบทวนกฎเกณฑ์ไม่ให้กรรมการ ก.ล.ต. เข้าไปรับตำแหน่งต่างๆ ในบริษัทจดทะเบียนนั้น ไม่รู้ว่าเป็นการแก้ปัญหาตรงจุดหรือไม่ เพราะสุดท้ายจะทำให้ไม่มีใครกล้าที่จะเข้ามารับตำแหน่งใน ก.ล.ต. แต่เรื่องของธรรมาภิบาลขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบของแต่ละบุคคล ว่า รู้จักบทบาทของตัวเองหรือไม่ แม้การกระทำบางอย่างจะไม่ผิดหลักเกณฑ์ แต่หากผิดจรรยาบรรณก็ถูกตั้งคำถามจากสังคมแล้ว
แนะ ก.ล.ต.เร่งกู้ความเชื่อมั่น “วิจิตร” รับเสียใจและเสียดาย-ถูกสังคมตัดสินธรรมาภิบาล
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
“ปลัดคลัง” ห่วงกรณี “วิจิตร” กระทบความเชื่อมั่น ก.ล.ต.เผย ไม่ได้นิ่งนอนใจ หลังผลสอบมีความผิดแค่ธรรมาภิบาล เตรียมปรับปรุงคุณสมบัติประธาน ก.ล.ต.ใหม่ เพื่อให้เหมาะสม ส่วนการตรวจสอบคดีซุกหุ้นของ “ยิ่งลักษณ์” ต้องรอ “ธีระชัย” กลับจากนอก “วิจิตร” เปิดปากครั้งแรก หลังข่าวฉาว ยอมรับ รู้สึกเสียดายและเสียใจ ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรนี้ ยันรักชื่อเสียงหน่วยงานไม่น้อยไปกว่าพนักงาน ครวญถูกสังคมตัดสินให้ขาดธรรมาภิบาลrong>
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้าการทบทวนคุณสมบัติที่เหมาะสมสำหรับการดำรงตำแหน่งประธาน คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยระบุว่า หลังจากเกิดกรณี นายวิจิตร สุพินิจ อดีตประธาน ก.ล.ต. มีข่าวพัวพันการเทกโอเวอร์กิจการ บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA จนยื่นใบลาออกจากตำแหน่งแล้วนั้น ก็เป็นความรับผิดชอบของสำนักงาน ก.ล.ต.ที่จะต้องดูแลต่อไป ซึ่งในแง่ของความผิดของนายวิจิตร ทางกฎหมายไม่มี
“กรณีของ นายวิจิตร ที่มีปัญหาการเข้าไปเทคโอเวอร์บริษัทเอกชน ทางคณะกรรมการตรวจสอบของ ก.ล.ต.รายงานให้ทราบว่าไม่มีความผิดทางกฎหมาย แต่มีประเด็นเรื่องธรรมาภิบาลของการเป็นผู้บริการองค์กรกำกับไม่ควรเข้าไป ยุ่งเกี่ยวกับการดำเนินการของบริษัทเอกชน ซึ่งทางคณะกรรมการ ก.ล.ต.ได้มอบหมายให้คณะกรรมการตรวจสอบไปศึกษาวางกฎระเบียบให้มีความชัดเจน มากขึ้น”
อย่างไรก็ตาม จะต้องพิจารณาต่อไปว่าคุณสมบัติของประธาน ก.ล.ต.ต้องมีการปรับปรุงหรือไม่ โดยเฉพาะการเป็นกรรมการบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการทำงาน จึงได้มอบให้คณะกรรมการตรวจสอบของ ก.ล.ต.ไปดูเรื่องธรรมาภิบาล และคุณสมบัติของประธาน และกรรมการ ก.ล.ต.จะต้องมีการปรับปรุงอย่างไร เพราะต้องยอมรับว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของ ก.ล.ต.อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ส่วนกรณี นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการและอดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) และ นายแพทย์ ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำเครือข่ายกลุ่มเสื้อหลากสี ได้ขอให้ตรวจสอบ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในคดีซุกหุ้นนั้น ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ก.ล.ต.ยังไม่ได้รายงานเรื่องนี้ และยังไม่มีการประชุมเพื่อพิจารณาใดๆ ทั้งสิ้น แต่ทางเจ้าหน้าที่ได้เตรียมศึกษาข้อมูลแล้ว และคงจะมีการรายงานในการประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต.ครั้งต่อไป
“ตอนนี้ทาง ก.ล.ต.รอ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต.กลับมาจากต่างประเทศ เพื่อดำเนินการเรื่องนี้ และรายงานให้คณะกรรมการรับทราบว่า มีความผิดเกี่ยวข้องกับกฎหมาย ก.ล.ต.หรือไม่”
โดยวานนี้ นายวิจิตร สุพินิจ อดีตประธาน ก.ล.ต.ได้ออกมาเปิดใจครั้งแรก หลังเกิดปัญหาฮุบกิจการ TTA โดยยอมรับตนเองว่า รู้สึกเสียดายและเสียใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น แม้ว่าจะพยายามป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วก็ตาม ซึ่งผลที่ออกมาไม่ตรงกับความตั้งใจและกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะความเชื่อมั่นกับสำนักงาน ก.ล.ต.พร้อมระบุว่า ตนเองในฐานะผู้ร่วมจัดตั้ง ก.ล.ต.ก็รักหน่วยงานนี้ไม่น้อยกว่าพนักงาน ก.ล.ต.เช่นกัน
สำหรับกรณี TTA มีความพิเศษที่มีรายย่อยกว่า 2 หมื่นคน แต่ไม่มีผู้ถือหุ้นคนใดถือหุ้นเกิน 6% ปัญหาที่เกิดขึ้นนักลงทุนรายย่อยต้องการให้ไปช่วยประสานกับผู้บริหาร เพื่อหาทางช่วยกันฟื้นฟู TTA เนื่องจากตัวเองเป็นผู้ใหญ่ เป็นที่รู้จักนับถือของตลาดทุน และปัญหาของ TTA เป็นปัญหาใหญ่ที่ยืดเยื้อ หากไม่ดูแลรายย่อยจริงจัง จะทำให้ตลาดทุนไม่ประสบความสำเร็จในการขยายฐานนักลงทุน
สำหรับที่สังคมมองว่า นายวิจิตร ขาดธรรมาภิบาลมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เนื่องจากดำรงตำแหน่งประธาน ก.ล.ต.ในขณะนี้ แต่กลับไม่วางตัวเป็นกลางในปัญหาของ บจ.นั้น นายวิจิตร กล่าวว่า ตัวเองไม่มีผลประโยชน์ใดๆ และมีความตั้งใจจริงที่จะช่วยแก้ไขให้ถูกต้อง หากประสานให้ผู้ถือหุ้นรายย่อย และฝ่ายบริหารของบริษัทคุยกันได้ ความขัดแย้งจะไม่เกิด ทำให้บริษัทปรับตัวเดินหน้าต่อไปได้ ขณะเดียวกัน ผู้ถือหุ้นไม่ต้องการเข้าร้องเรียนโดยตรงต่อสำนักงานก.ล.ต. เพราะไม่ต้องการเปิดเผย หากคุยกันแบบสุภาพบุรุษแล้วไม่สำเร็จ ก็จบกันไปในโต๊ะประชุม
นายวิจิตร กล่าวเสริมว่า ตนเองมองเห็นปัญหาและหวังผลเลิศเกินไป โดยเห็นว่า TTA เป็นบริษัทที่มีความจำเป็นต่อเศรษฐกิจไทย และความสำคัญของผู้ถือหุ้นรายย่อยที่จะเสียโอกาสถ้าปล่อยให้ความขัดแย้ง เรื้อรัง จึงเข้าไปพบผู้บริหาร TTA 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 9 และ 10 พฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา และหลังจากนั้น 2 วัน ได้โทรศัพท์ไปหา ม.ล.จันทรจุฑา จันทรทัต กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แต่ติดต่อไม่ได้ เพื่อยืนยันว่า ตัวเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ TTA และขอให้พิจารณาไปตามเนื้อผ้า ต้องการให้เกิดผลสรุปที่เป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย
“ผมไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ใดๆ ยืนยันเลย ผมมีตำแหน่งต่างๆ อยู่ จะเข้าไปเป็นประธาน TTA มันตื้นเกินไปหรือเปล่า กรณีของ TTA มีความชัดเจนว่า เราไม่คำนึงถึงปัญหารายย่อย แต่ไปวิ่งตามกระแสที่มาจาก TTA ว่าจะมีการเทกโอเวอร์ ปัญหาธรรมาภิบาลที่พูดถึง ต้องย้อนถามกลับไปว่าใครกันแน่ไม่มี ตรงนี้ต้องดูว่าบริษัทที่เกี่ยวข้องมีหรือไม่ รายย่อยบอกผลประกอบการเสื่อมลง การลงทุนต่างประเทศไม่ส่งผลดีบริษัทเพิ่มผลตอบแทนผู้บริหาร ขณะที่ผลตอบแทนผู้ถือหุ้นลดลง”
อดีตประธาน ก.ล.ต.กล่าวอีกว่า สังคมส่วนรวมไม่ดูปัญหาให้ถ่องแท้ แต่ไปโอบอุ้มคนบริษัทที่ไม่มีธรรมาภิบาล ไม่ดูแลรายย่อย ทั้งที่นักลงทุนพยายามติดต่อผู้บริหาร แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง ความตั้งใจที่จะทำให้เกิดการร่วมมือแก้ไขเสียไป คิดว่า เรื่องที่จะกันไม่ได้ ทะเลาะกันเกิดขึ้นแล้ว มีผลกระทบยืดเยื้อ ที่สำคัญมีข้อกล่าวหาที่รุนแรงกับตัวผม ทำให้คิดว่ามีเจตนาแฝงหรือไม่ หรือมีการเมืองหรือไม่
“ผมตั้งข้อสังเกต มีอะไรซ่อนเร้นใน TTA ถึงกีดกันคนภายนอก นักลงทุนรายย่อยเข้าไปดีๆ ทำบริษัทแย่มานาน ให้ฟื้นตัวมีอนาคต กลับมาฟาดฟันอีกฝ่ายอย่างรุนแรง ไม่คาดฝัน น่าเป็นห่วงบริษัทที่มีการร้องเรียน ผมมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความยุ่งยากของTTA เป็นเรื่องที่น่าห่วงสำหรับรายย่อย”
ส่วนกรณีกรรมการ ก.ล.ต.ที่เข้าไปเป็นกรรมการ บจ.ไม่ใช่สิ่งเลวร้ายขัดผลประโยชน์รุนแรง หากกรรมการสามารถขจัดความขัดแย้งได้และมีจริยธรรม เนื่องจาก บจ.มีคณะผู้บริหารและฝ่ายตรวจสอบที่ดูแลการบริหารงานอยู่แล้ว
ส่วนปัญหา TTA ยังเป็นหนังที่จะต้องติดตามดูกันต่อไปโดยเฉพาะการจัดประชุมวิสามัญผู้ถือ หุ้นว่าจะมีข้อสรุปอย่างไรบ้าง รวมถึงหน่วยงานของรัฐ ทั้งสำนักงาน ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือผู้ถือหุ้นรายย่อยหรือไม่ ทั้งๆ ที่รู้ข้อมูลดีว่า ผู้บริหาร TTA ได้สร้างความเสียหายมโหฬารให้กับบริษัท และยังเพิกเฉยต่อเสียงเรียกร้องให้มีการปรับปรุงแก้ไขกิจการมหาชนแห่งนี้ให้ ดีขึ้น แต่หากปล่อยให้ปัญหานี้จบลงตามครรลองไปเรื่อยๆ สุดท้ายตลาดทุนไทยก็จะขาดความน่าเชื่อถือในสายตาสาธารณชน