บริษัทที่เลิกกันจะสิ้นสภาพนิติบุคคลเมื่อใด ฟื้นคืนมาอีกได้หรือไม่
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : สกล หาญสุทธิวารินทร์
บริษัทเมื่อได้จดทะเบียนแล้วมีฐานะเป็นนิติบุคคลนับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียน เท่ากับเป็นการเกิดขึ้นของนิติบุคคลขึ้นมาอีกหนึ่งนิติบุคคล
บริษัทเกิดขึ้นได้ก็อาจเลิกกันได้
การเลิกบริษัท บริษัทอาจเลิกกันได้ดังนี้ คือ
- เลิกกันเองตามที่บัญญัติไว้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามมาตรา 1136 คือมีกรณีตามที่กำหนดในข้อบังคับ หรือตามเวลาที่จดทะเบียนไว้ หรือเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นเพื่อทำกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดและได้ทำกิจการนั้นเสร็จแล้ว หรือมีมติพิเศษของผู้ถือหุ้นให้เลิก
- เมื่อบริษัทล้มละลาย
- ถูกศาลสั่งให้เลิกตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1137
ผลการเลิกบริษัท
- ต้องมีการชำระบัญชี เมื่อบริษัทเลิกกัน ไม่ว่าเลิกเองตามมาตรา 1136 หรือที่ศาลสั่งให้เลิกตามมาตรา 1137 ต้องมีการชำระบัญชีเสมอ โดยปกติกรรมการของบริษัทจะเป็นผู้เข้าชำระบัญชี เว้นแต่ข้อบังคับของบริษัทจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น หรือมีกรณีเข้าสู่การพิจารณาของศาลให้ศาลตั้ง สำหรับกรณีล้มละลายให้จัดการให้เป็นไปตามกฎหมายลักษณะล้มละลาย
- ยังไม่สิ้นสภาพนิติบุคคลทันที กฎหมายถือบริษัทที่เลิกกันยังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชีตามาตรา 1249 คือสามารถสะสางการงานของบริษัทที่ค้างอยู่ให้เสร็จไป ซึ่งรวมทั้งการรวบรวมทรัพย์สิน จำหน่ายทรัพย์สิน ชำระหนี้ แบ่งกำไร ถ้ามี และคืนทุนของบริษัท ซึ่งในการนี้บริษัทสามารถดำเนินคดีที่ค้างอยู่เดิมต่อไปได้ และแม้จะฟ้องคดีใหม่ที่เกี่ยวกับหนี้สินเดิมที่ยังค้างอยู่ก็กระทำได้ รวมทั้งสามารถรับสิทธิตามสัญญาที่มีอยู่เดิมได้ เช่นรับค่าเช่า เป็นต้น
- ผู้มีอำนาจจัดการบริษัทที่เลิกกัน ผู้มีอำนาจจัดการบริษัทที่เลิกกัน คือผู้ชำระบัญชี ผู้ชำระบัญชีมีอำนาจเฉกเช่นอำนาจของกรรมการบริษัทที่มีอยู่เดิม หากกรรมการเดิมไม่ได้เป็นผู้ชำระบัญชีก็ไม่มีอำนาจจัดการบริษัท และเป็นหน้าที่ของผู้ชำระบัญชี จะต้องนำความไปจดทะเบียนเลิกบริษัทภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่เลิกกัน
- จดทะเบียนเลิกบริษัทแล้วขอเพิกถอนไม่ได้ บริษัทที่จดทะเบียนเลิกกันแล้วอยู่ระหว่างการชำระบัญชี เจ้าหนี้หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเลิกบริษัทให้กลับคืนเข้าสู่ทะเบียนดังเดิม นั้น ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานว่า บริษัทได้จดทะเบียนเลิกกันเองซึ่งทำถูกต้องตามขั้นตอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1236 แล้ว กรณีนี้ไม่ใช่การถอนทะเบียนบริษัทร้างที่จะร้องขอให้ศาลสั่งให้กลับจดชื่อเข้าสู่ทะเบียนตามมาตรา 1246 (6) จึงไม่สามารถสั่งให้นายทะเบียนเพิกถอนการจดทะเบียนเลิกบริษัทได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 5561/2541)
- การสิ้นสุดการชำระบัญชี เมื่อการชำระสะสางการงาน การจัดการทรัพย์สิน หนี้สิน แบ่งกำไร แบ่งทรัพย์สินของบริษัทที่เลิกกันเสร็จสิ้นลง และได้รายงานการชำระบัญชีเสนอต่อที่ประชุมใหญ่พิจารณาและอนุมัติแล้ว ผู้ชำระบัญชีต้องนำไปจดทะเบียน เมื่อจดทะเบียนแล้วเป็นอันที่สุดแห่งการชำระบัญชี บริษัทต้องมอบบรรดาสมุดและบัญชีและเอกสารทั้งหลายของบริษัทให้นายทะเบียนเก็บรักษา ไว้เป็นเวลาสิบปี ซึ่งในทางปฏิบัติจะเป็นที่เข้าใจกันว่า มีผลให้การเลิกบริษัทเป็นไปโดยสมบูรณ์
- ความรับผิดในหนี้ของบริษัทที่จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีแล้ว ตามบทบัญญัติของมาตรา 1272 ที่บัญญัติว่า ในคดีฟ้องเรียกหนี้สินซึ่งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทหรือผู้เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้น หรือผู้ชำระบัญชีเป็นลูกหนี้อยู่ในฐานเช่นนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี จากบทบัญญัติดังกล่าว หมายความว่าแม้จะจดทะเบียนเสร็จสิ้นการชำระบัญชีแล้ว หากบริษัทยังมีหนี้สินค้างอยู่ก่อนวันเสร็จการชำระบัญชี เจ้าหนี้ยังสามารถฟ้องบริษัทให้ชำระหนี้ได้แต่ต้องฟ้องภายในกำหนดสองปีนับแต่วันเสร็จการชำระบัญชี
การขอฟื้นสภาพนิติบุคคลของบริษัทที่จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีแล้ว ดังที่กล่าวมาแล้วว่า กฎหมายถือว่าบริษัทที่เลิกกันยังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นต้องชำระบัญชี แต่เมื่อการชำระบัญชีเสร็จสิ้นและได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีแล้ว สภาพนิติบุคคลของบริษัทก็คงต้องหมดไป อย่างไรก็ตาม หากยังมีหนี้ค้างอยู่ กฎหมายยังเปิดช่องให้เจ้าหนี้สามารถฟ้องได้ภายในสองปีนับแต่วันจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี แต่ถ้าปรากฏภายหลังว่าบริษัทนั้น ยังคงมีทรัพย์สิน หรือสิทธิในทรัพย์สินหลงเหลืออยู่ ก็เกิดปัญหาว่า จะดำเนินการกับทรัพย์สิน หรือสิทธิที่หลงเหลือนั้นอย่างไร เพราะทรัพย์สินหรือสิทธินั้นมีชื่อบริษัทเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่เจ้าของสิ้นสภาพนิติบุคคลไม่มีตัวตนแล้ว
กรณีดังกล่าวเคยมีผู้หารือกับนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทว่า จะเพิกถอนการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีได้หรือไม่ เมื่อพิจารณาแล้วไม่มีกฎหมายให้อำนาจนายทะเบียนดำเนินการเรื่องนี้ไว้อย่างชัดแจ้ง อาจเป็นทางตันที่นายทะเบียนได้แต่แนะนำด้วยความเห็นใจว่า ควรไปใช้สิทธิทางศาล
บัดนี้เรื่องดังกล่าวมีการผ่าทางตันที่ถือเป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติงานของนายทะเบียนได้แล้ว โดยคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีที่ผู้ชำระบัญชีของบริษัทที่จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีร้องขอต่อนายทะเบียนให้เพิกถอนการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี เพราะปรากฏภายหลังว่ายังมีสิทธิเกี่ยวกับทรัพย์สินหลงเหลืออยู่ จะจำหน่ายสิทธิดังกล่าวนำเงินแบ่งคืนให้ผู้ถือหุ้น แต่นายทะเบียนปฏิเสธว่าไม่สามารถดำเนินการได้ ในที่สุดผู้ชำระบัญชีได้ฟ้องต่อศาลปกครอง และศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษา ที่ อ. 137/2552 ให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทที่ปฏิเสธการดำเนินการตามกล่าวคำขอนั้น และให้นายทะเบียนไปเพิกถอนการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีภายใน 90 วันนับแต่วันพิพากษา ซึ่งเมื่อถอนเพิกถอนการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีแล้ว จะมีผลทำให้บริษัทนั้นกลับมามีสภาพนิติบุคคลที่อยู่ระหว่างการชำระบัญชีเช่นเดิม สามารถจัดการกับสิทธิในทรัพย์สินดังกล่าวได้
ในโอกาส ต่อไปจะได้กล่าวถึงข้อกฎหมายตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว และเรื่องเขตอำนาจศาลคดีที่เกี่ยวกับหุ้นส่วนบริษัทว่า คดีเรื่องใดอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม เรื่องใดอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง รวมถึงบทบัญญัติเรื่องการถอนทะเบียนห้างและบริษัทร้างที่ได้มีการแก้ไขปรับปรุงใหม่