จาก ประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ คนดินตรอก
โดย วีรพงษ์ รามางกูร
การ เมืองสำหรับประเทศไทยนั้น วิเคราะห์และใช้หลักการวิเคราะห์ยากมากกว่าประเทศอื่นใดในโลก เพราะไม่มีประเพณีและวัฒนธรรมการเมืองที่แน่นอน จะใช้ประเพณีการปกครองแบบอังกฤษหรือยุโรปตะวันตกก็ไม่ได้ เพราะพรรค การเมืองและผู้นำทางการเมืองไม่ได้ยึดถือประเพณีและวัฒนธรรมการปกครอง
เมื่อ มีความขัดแย้งทางการเมืองในประเด็นต่าง ๆ แทนที่จะใช้เสียงข้างมากในสภาตัดสิน ระบบของเราเป็นระบบรัฐสภา พยายามให้วินัยของพรรคเข้มแข็งแบบอังกฤษก็ใช้ไม่ได้ ผู้คนไม่ยอม ครั้นจะยุบสภาให้ประชาชนตัดสิน คนชั้นกลางระดับสูง หรือที่เรียกว่า upper middle class และสื่อมวลชน ก็ไม่เห็นด้วย เรียกร้องให้ลาออกอย่างเดียว
ถ้า ยุบสภาแล้วพรรคฝ่ายค้านเห็นว่าตนจะสู้ไม่ได้ ก็คว่ำบาตรการเลือกตั้ง ไม่ลงสมัคร แล้วก็หาทางให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ซึ่งไม่มีในตำรารัฐศาสตร์ เล่มใด
เมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ฝ่ายร่างรัฐธรรมนูญก็สัญญากับประชาชนที่มาลงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับร่าง ถึงขนาดบอกให้รับไปก่อนแล้วค่อยมาแก้ภายหลัง จนบัดนี้ก็ไม่ได้แก้ ก็ไม่มีใครว่าอะไร จนเร็ว ๆ นี้พรรคร่วมรัฐบาลกดดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็ไม่เกี่ยวอะไรกับที่รับปากไว้กับประชาชน และประชาชนสื่อมวลชนก็ไม่ว่าอะไร ลืมกันไปหมด
ประเทศที่ยึดถือ ประเพณีและวัฒนธรรมทางการเมืองค่อนข้างเคร่งครัด คือ ประเทศอังกฤษ เพราะอังกฤษไม่มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร รัฐสภาอังกฤษเป็นใหญ่ จะออกกฎหมาย อย่างไรก็ได้ บางเรื่องที่ปฏิบัติกันมา จนเป็นประเพณีก็ไม่จำเป็นต้องตรา เป็นกฎหมาย แต่เมื่อประเพณีบางอย่างเปลี่ยนไปก็ค่อยออกกฎหมายเปลี่ยน แปลงใหม่ กฎหมายก็เป็นพระราชบัญญัติธรรมดา ๆ
แต่ประเพณีและวัฒนธรรมทางการ เมืองของเราไม่มีหรือเกือบไม่มีคงจะเป็นเพราะระบอบการเมืองแบบรัฐสภาของเรา มีพัฒนาการที่ไม่ปะติดปะต่อมาอย่างต่อเนื่องเกือบค่อนศตวรรษ
ขณะเดียวกัน ก็เกิดประเพณีทาง การเมืองที่ไม่พึงปรารถนาเกิดขึ้นอยู่เสมอ คือ การรัฐประหาร
หลัง การรัฐประหารก็มีระเบียบแบบแผนเป็นประเพณีเป็นวัฒนธรรม เช่น ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 1 เป็นประกาศปฏิวัติยึดอำนาจ เพราะรัฐบาลที่เป็นอยู่ฉ้อราษฎร์บังหลวง หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ไม่ฟังเสียงประชาชน ไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินได้
ต่อไปก็เป็น ประกาศว่าจะยังคงระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข ยังคงยึดมั่นต่อกฎบัตรสหประชาชาติ และพันธกรณีกับนานาประเทศและ อื่น ๆ
ต่อไปก็ประกาศใช้รัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน กำหนดให้มีสภานิติบัญญัติ คณะรัฐมนตรีต่าง ๆ นานา
เมื่อ มีสภานิติบัญญัติซึ่งแต่งตั้งโดยหัวหน้าคณะปฏิวัติ มีการแต่งตั้ง นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี กฎหมายฉบับแรกที่สภาจะผ่านให้ก็คือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคณะปฏิวัติ แล้วก็ให้คำมั่นว่าจะตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญให้มีการเลือกตั้งภายใน 1 ปี นับแต่ที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร
ขบวนการรัฐประหารไม่มี กฎหมายรับรอง แต่เป็นประเพณีการปกครองประเทศในระบอบการปกครองแบบปฏิวัติรัฐประหาร ได้รับการยอมรับ จากสื่อมวลชนและประชาชนเป็น อย่างดี บ้านเมืองสงบเรียบร้อยราบคาบ เอกชน นายทุน สามารถทำธุรกิจได้ เป็นปกติ
ส่วน ประชาชนชั้นล่างที่เลือกสมาชิกสภาผู้แทนฯเป็นผู้แทนฯของตน ที่คอยวิ่งเต้นดึงงบประมาณมาลงในเขตของตนก็ดี คอยดูแลพวกตน ฝากลูกหลานเข้าโรงเรียน เข้าทำงาน หาเงินนอก งบประมาณนอกระบบมาดูแลก็จะขาดหายไป แต่ชาวบ้านชั้นล่างก็ยอมรับโดยดุษณีกลายเป็นประเพณีไป
อาจจะเขียน เป็นตำราหรือคู่มือได้เลยว่า เมื่อยึดอำนาจสำเร็จแล้วจะมี ขั้นตอนประกาศคณะปฏิวัติ ซึ่งต้องถือว่ามีฐานะเท่ากับพระราชบัญญัติ มีประเพณีที่ถือว่าคณะปฏิวัติกลายเป็น "องค์อธิปัตย์" วาจาของหัวหน้าคณะปฏิวัติกลายเป็นกฎหมาย
ขณะที่หัวหน้าคณะปฏิวัติมี ฐานะเป็น "รัฐ" หรือ "องค์อธิปัตย์" หรือ "รัฐาธิปัตย์" ถ้าระหว่างนั้นจะต้องมีการประกาศสงครามใคร จะเป็นผู้ลงนามในประกาศ หัวหน้าคณะปฏิวัติน่าจะเป็น ผู้ลงนามประกาศ
การรัฐประหารในเวลาต่อมา ไม่นิยมเรียกว่า "คณะปฏิวัติ" แต่นิยมเรียก ชื่ออย่างอื่น เช่น คณะปฏิรูปการปกครองบ้าง คณะปฏิรูปอื่น ๆ แต่ไม่ใช่คณะปฏิวัติ แต่ค่อนข้างสรุปได้ว่ามีประเพณีแบบแผนที่แน่นอนมั่นคงโดยไม่ต้องมีบทบัญญัติ กฎหมายถาวรใด ๆ ให้บัญญัติอำนาจไว้
ประเพณีหรือวัฒนธรรมที่สำคัญอีก อันก็คือ เมื่อมีการอนุญาตให้มีการตั้งพรรคการเมือง หลังการเลือกตั้งพรรคการเมืองใหญ่ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลไม่ได้ถือว่าตนเป็น สถาบันหนึ่งที่ต่างคนต่างมีหน้าที่ความรับผิดชอบใน การบริหารประเทศตามระบอบประชาธิปไตย แต่มีวัฒนธรรมว่าตนเป็นศัตรูของอีกฝ่าย ไม่ใช่ผู้ร่วมทำงานให้ประเทศในอีกฐานะหนึ่ง
เมื่อเป็นอย่างนั้นทั้ง สองฝ่ายต่างก็หาเรื่อง สร้างเรื่อง ปั้นน้ำเป็นตัว ทำลายกันและกัน ทั้งในสภาและนอกสภา พร้อม ที่จะทำทุกอย่างเพื่อโค่นล้มทำลายอีกฝ่ายหนึ่งให้ได้ เช่น การทำลายชื่อเสียงของอีกฝ่ายหนึ่ง รวมไปถึงการสร้างหลักฐานเท็จ เช่น สร้างหลักฐานเท็จว่านายบรรหาร ศิลปอาชา เกิดที่ประเทศจีน ประเพณีการกล่าวเท็จที่ไม่คำนึงถึงจริยธรรมดังกล่าวกลับเป็นที่ยอมรับของ สังคม ถือเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ
ส่วนการกล่าวหาว่ามีการฉ้อราษฎร์ บังหลวง คอร์รัปชั่นทั้ง ๆ ที่มีมูล เมื่อฝ่ายค้านยกขึ้นกล่าวหาในสภาแล้วรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องตอบชี้แจงจริง บ้างเท็จบ้าง ลงมติแล้วก็แล้วกันไป สังคมไม่กดดันให้สอบสวนหาข้อเท็จจริง ฝ่ายรัฐบาลก็ไม่ขวนขวาย ฝ่ายค้านก็ไม่กดดันให้ความเป็นจริงต่าง ๆ ปรากฏ
การ ประชุมสภาก็ไม่มีวัฒนธรรมที่จะแสวงหาความร่วมมือจากฝ่ายต่าง ๆ ไม่มีวัฒนธรรมกิริยามารยาทที่ดีงาม กลายเป็นแบบอย่างที่ผิด ๆ ให้กับเยาวชนคนรุ่นหลัง
ผู้นำพรรคการเมืองก็ไม่เคยสร้างวัฒนธรรมและ มารยาททางการเมือง ในทางตรงกันข้ามนอกจากสร้างวัฒนธรรมการพูดเท็จปั้นน้ำเป็นตัวแล้ว ยังสร้างวัฒนธรรมพูดจาเหน็บแนม ถากถาง ไม่ให้เกียรติผู้อื่น บริภาษคนอื่นว่าเป็นคนทำไม่ดี สามารถด่าคนอื่นว่าซื้อเสียง "ฉ้อราษฎร์บังหลวง" อย่าง สาดเสียเทเสีย ทั้ง ๆ ที่พรรคของตน ก็ทำหรือทำมากกว่าด้วยซ้ำ
ตลอดเวลาเกือบ 80 ปี ทางฝ่ายนักการเมืองและพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยไม่ได้สร้างประเพณีและ วัฒนธรรมทางการเมืองที่จะทำให ระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตยเลย นวัตกรรมทางการเมืองในทางสร้าง สรรค์ก็มีน้อย ส่วนนวัตกรรมทางการเมืองในทางทำลายระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยกลับมี อยู่ตลอดระยะเวลา
พรรคการเมืองไทยไม่เคยมีส่วนในการเรียกร้อง ประชาธิปไตย ไม่เคยมีส่วนร่วมกับการเมืองภาคประชาชน อาจจะเป็นเหตุที่พรรคการเมืองของเราไม่ เคยได้รับการยอมรับให้เป็นผู้นำทางความคิดในทางประชาธิปไตย ส่วนผู้นำทางฝ่ายที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย สามารถโน้มน้าวสื่อมวลชนและประชาชนให้มีความเห็นคล้อยตามได้ว่าระบอบการ ปกครองแบบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย นั้นดีกว่า
ขณะนี้ฝ่ายที่ไม่นิยม ประชาธิปไตยกำลังเรียกร้องให้ประชาชนไปลงคะแนน "งดออกเสียง" หรือ "No Vote" เพื่อ ปูทางไปสู่การขอพระราชทานนายกรัฐมนตรี โดยบทบัญญัติมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือการ "ปฏิวัติเงียบ" ปลุกปั่นอารมณ์ ความรัก ความเกลียดชัง โดยไม่ได้คำนึงว่าจะเป็นอันตรายต่อสถาบันทางการเมืองของชาติอย่างไร ไม่เข้าใจเจตนารมณ์ที่แท้จริง ไม่สามารถแปลได้ว่าระบอบดังกล่าวคือระบอบอะไร แต่สังคมก็ยังไม่ว่าอะไร ถ้าทำกัน บ่อย ๆ ก็จะกลายเป็นประเพณีการเมืองไป เมื่อใครไม่ชอบรัฐบาลแทนที่จะไปดำเนินการตามวิถีทางประชาธิปไตย กลับไปชุมนุมเรียกร้องขอพระราชทานนายกรัฐมนตรี
รัฐบาลประชาธิปัตย์ จะออกมาอธิบายขัดขวางก็ไม่ถนัด เพราะผู้นำพรรคการ เมืองก็เคยมีพฤติกรรมเช่นนี้ เป็นผู้มีส่วนร่วมในการสร้างประเพณีขอพระราชทานนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 7
วัฒนธรรม ทางการเมืองที่ไม่สร้างสรรค์และเป็นอันตรายอย่างยิ่งก็คือ วัฒนธรรมการผูกขาดความจงรักภักดี ใช้ความจงรักภักดีเป็นเครื่องมือทำลายฝ่ายตรงกันข้ามทางการเมือง ประชาชนคนไทยมีความจงรักภักดีเป็นพื้นฐาน อยู่แล้ว เมื่อมีคนมาจี้จุดความอ่อนไหวในหัวใจคนไทยทุกคนอยู่แล้วก็เกิดอารมณ์ได้ง่าย
การใช้เรื่องนี้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองจึงมีผลตามที่ต้องการได้ ในระยะสั้น โดยหารู้ไม่ว่าการกระทำเช่นนั้น ต่อไปก็จะกลายเป็นวัฒนธรรมและ ประเพณีทางการเมืองที่สร้างความ เสียหายอย่างใหญ่หลวง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเขียนไว้ในคอลัมน์ซอยสวนพลูว่า สมัยโบราณนั้น "ผู้ใดอ้างพระบรมราชโองการย่อมมีโทษประหารชีวิต" ประเพณีดี ๆ อย่างนี้ควรรักษาไว้ให้เคร่งครัด
ประเพณีและวัฒนธรรมทางการเมืองเป็นเครื่องวัดระดับการพัฒนาการเมือง