จาก ประชาชาติธุรกิจ
สถาบันคึกฤทธิ์
คอลัมน์ คนเดินตรอก
โดย วีรพงษ์ รามางกูร
วันที่นั่งเขียนต้นฉบับนี้คือวันที่ 20 เมษายน 2554 เป็นวันคล้ายวันเกิดของนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของไทยและของโลก
สมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดแพรคลุมป้ายอาคาร "สถาบันคึกฤทธิ์" ในวันฉลองวันคล้ายวันเกิดครบ 100 ปีของ ศาสตราจารย์ พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่อาคารสถาบันคึกฤทธิ์ ได้เลขบ้านสวยเสียด้วย คือเลขที่ 99/9
หัว แรงใหญ่ในการสร้างอาคารนี้ได้แก่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานน้าของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช งานสร้างอาคารสถาบันนี้เริ่มจากไม่มีเงินทองอะไรเลย มูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 ก็มีไม่มาก แต่ได้รับการสนับสนุนจากการร่วมแรงร่วมใจของบรรดาลูกหลาน ทั้งที่เป็นลูกในไส้และลูกนอกไส้ของท่าน ต่างยินดีช่วยคุณอุ๋ยหาเงินหาทองจนได้มาประมาณ 108 ล้านบาท มาทำจนสำเร็จลงได้อย่างงดงาม
อาคารตั้งอยู่ในสวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ติดด้านหลังของสมาคมธรรมศาสตร์ จะเป็นอาคารที่ใช้เป็นห้องประชุม ที่เก็บหนังสือของท่านอาจารย์ คึกฤทธิ์ ห้องสำหรับค้นคว้าเรื่องราว ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช
เมื่อทรงเปิดแพรคลุมป้าย อาคารแล้ว องค์ประธานในงานก็เสด็จขึ้นชั้นสองของอาคาร เพื่อทอดพระเนตรนิทรรศการชีวประวัติและผลงานของท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
ที่หน้าอาคารมีรูปปั้นขนาดใหญ่ของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์นั่งบน เก้าอี้ สวมใส่เสื้อผ้าชุดสบาย ๆ นั่งสบาย ๆ รูปนี้ ปั้นโดย พ.ท.นภดล สุวรรณสมบัติ หล่อที่โรงหล่อเอเชียไฟน์อาร์ต เพิ่งหล่อเสร็จและนำมาตั้งในเดือนเมษายนนี้เอง
บริษัท ห้างร้าน องค์กรของรัฐและผู้ที่ร่วมสมทบทุนจะได้รับรูปปั้นจำลองขนาด 9 นิ้ว สำหรับบริษัท ดั๊บเบิ้ลเอ (1991) จำกัด (มหาชน) ได้รับพระราชทานหมายเลข 28 รูปที่จำลองขนาด 9 นิ้ว จะมีทั้งสิ้นเพียง 99 รูปเท่านั้นเอง
หลัง จากนั้นก็ประทับเพื่อทรงฟังปาฐกถา โดย ฯพณฯ เอกอัครราชทูตจีน และ ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน ทั้งสองท่านได้พูดถึงบทบาทของอาจารย์คึกฤทธิ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณา จักรไทยในสมัยนั้น ที่ได้เปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2518 ว่ามีการริเริ่มมาอย่างไร ท่านทูตเล่าเรื่องทางด้านฝ่ายจีน ขณะเดียวกัน ท่านอานันท์เล่าเรื่องของฝ่ายไทย เป็นปาฐกถาที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ว่าง ๆ จะต้องขอต้นฉบับ จากท่านอานันท์และท่านทูตจีน ว่าจะเก็บเอาไว้เป็นหลักฐานอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ เพราะเป็นการประมวลประวัติศาสตร์ในเรื่องนี้อย่างย่อ ๆ แต่น่าสนใจที่จะจดจำเอาไว้เล่าต่อได้ เพราะสังเกตดู ทุกคนในห้องประชุมอเนกประสงค์ต่างตั้งใจฟัง ห้องเงียบกริบ ไม่มีใครหันหน้าไปคุยกันเลย ท่านทูตแสดงเป็นภาษาไทย ออกเสียงภาษา ไทยได้ชัดเจนดีกว่าคนไทยหลาย ๆ คนเสียอีก
ก่อนเสด็จกลับ องค์พระราชูปถัมภ์ของมูลนิธิ ทรงพระราชทานเลี้ยงอาหารกลางวันกับบรรดาแขกเหรื่อที่มาร่วมงานเป็นที่สำราญพระราชหฤทัย
สำหรับ ในชีวิตนี้ของผมนั้น โชคดี ได้ทำงานให้กับผู้ใหญ่ ที่ต้องถือว่าเป็นหลักชัยให้กับประเทศชาติ ราชบัลลังก์ถึง 2 ท่าน ท่านแรกคือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ในฐานะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี อีกท่านหนึ่งคือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในฐานะที่ปรึกษาประธานคณะกรรมการธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) นอกจากต้องนั่งติดกับท่านเวลาประชุมคณะกรรมการธนาคารเดือนละครั้งและร่วม โต๊ะอาหารกลางวันหลังการประชุม ยังมีหน้าที่ต้องไปรับประทานอาหารกลางวันกับท่านเพียง 2 คนที่บ้านซอยสวนพลูทุกวันพุธ เป็นเวลา 3 ปีกว่า
ท่านสั่งเอาไว้ว่า การมารับประทานอาหารกลางวันกับท่านทุกวันพุธนั้น ถือเป็นหน้าที่ของที่ปรึกษา มีอะไรจะได้สั่งงาน และปรึกษากิจการงานธนาคารกัน แต่เอาเข้าจริงก็ไม่เห็นท่านสั่งอะไร หรือปรึกษาอะไร แต่จะเป็นการพูดคุยด้วยเรื่องต่าง ๆ ทั้งการเมืองไทย การ เมืองนอก เศรษฐกิจ การเงิน ข่าวหนังสือพิมพ์ ประวัติศาสตร์ ประวัติของคนโน้นคนนี้ ส่วนใหญ่ท่านจะเป็นคนคุยเสียมากกว่า เมื่อเห็นท่านนิ่งไป เราก็มีหน้าที่คอยป้อนคำถาม หรือพูดสั้นๆ เพื่อให้ท่านได้เริ่มเรื่องใหม่ เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงที่นั่งรับประทานอาหารกับท่านรู้สึกผ่านไปอย่างรวดเร็ว
เรื่อง บางเรื่องสาธารณชนไม่เคยได้รับรู้ ท่านก็มาเล่าให้ฟัง เช่น ท่านคุยอะไรกับท่านประธานเหมา เจ๋อ ตุง หรือคุยอะไรกับท่านเติ้ง เสี่ยว ผิง ท่านประธานาธิบดี ท่านนายกรัฐมนตรี หรือผู้นำประเทศอื่นๆ ทั้งไทยและเทศ เช่น จอมพล ป.พิบูลสงคราม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คุณควง อภัยวงศ์ หรือแม้แต่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ท่านก็กรุณาเล่าให้ฟังแบบติดตลก บางเรื่องก็เล่าต่อได้ บางเรื่องก็เล่าต่อไม่ได้ เป็นของธรรมดาที่เราต้องใช้วิจารณญาณเอาเอง รวมทั้งประวัติบ้านซอยสวนพลู ประวัติของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ หนังสือพิมพ์สยามรัฐนั้น ท่านเล่าว่าเป็นโรงเรียนสอน นักหนังสือพิมพ์ดัง ๆ หลายคน รวมทั้ง คุณสมัคร สุนทรเวช คุณขรรค์ชัย บุนปาน คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ คุณสุทธิชัย หยุ่น คุณสมบัติ ภู่กาญจน์ นักการ์ตูน ชื่อดัง เช่น คุณประยูร จรรยาวงษ์ แห่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
ท่านมีอารมณ์เป็นศิลปินโดยแท้ วันหนึ่งท่านพาไปดูแปลงดอกทิวลิป ท่านบอกว่าท่านสามารถหลอกต้นไม้ก็ได้ เพราะท่านเอาหัวดอกทิวลิปมาจากเนเธอร์แลนด์ และท่านเอาหัวดอกทิวลิป มาใส่ไว้ในช่องแช่แข็งในตู้เย็นอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง หลอกมันว่าเป็นฤดูหนาวในเนเธอร์แลนด์ มีหิมะปกคลุมเป็นเวลา 3 เดือน แล้วค่อย ๆ เอามันลงมาชั้นล่าง คล้าย ๆ อากาศเริ่มอุ่นขึ้นแล้ว นำมันออกมาปลูกในเดือนธันวาคม พอเดือนมกราคม มันก็ออกดอก เพราะมันนึกว่าเป็นฤดูร้อนของเนเธอร์แลนด์ แล้วท่านก็หัวเราะชอบใจ ท่านบอกว่า ต้นไม้ ท่านยังหลอกมันได้ แล้วประสาอะไร จะหลอกคนบ้างไม่ได้
วัน หนึ่ง ผมจะขอลาการรับประทานอาหารกลางวันวันพุธ เพราะคุณ เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ จะให้ไปเป็น เจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันประธานธนาคารจากยุโรป ท่านสั่งให้คนมา บอกว่า "ให้ไปบอกไอ้ ดร.โกร่งมันว่า มันถือดีอย่างไร จะไม่มากินข้าวกับกู กูอุตส่าห์จะตำน้ำพริกปลาย่างที่กูได้มาจากเขมรให้มันกิน มันไม่มาได้อย่างไร ให้ไปจิกหัวมันมาเดี๋ยวนี้" ตั้งแต่นั้นมา ก็ไม่กล้าลาราชการ การรับประทานอาหารกลางวันกับท่านอีกเลย
มีหลายคน ไม่รู้ว่าท่านรู้โหราศาสตร์ด้วย ท่านแอบเอาดวงของท่านมาให้ดู ดวงท่านพระอาทิตย์ พุธ เสาร์ ราหู กุมลัคน์อยู่ในราศีเมษ ศุกร์เป็นเกษตรนำหน้าลัคน์ พระอาทิตย์เป็นปฐมอุจจ์ประมาณ 5 องศา ในดวงชะตาจะต้องเป็นผู้มีบุญญาบารมีสูงส่ง แต่เนื่องจากทั้งราหูและเสาร์ก็กุมลัคนานี้ด้วย ท่านจึงเป็นทั้งหัวหน้านักเลง และหัวหน้าโจรไปพร้อม ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นเสือโน้น เสือนี้ ล้วนต้องเข้ามาหาให้ท่านเป็นเล่าซือทั้งนั้น แล้วท่านก็บอกชื่อของเสือโน่นเสือนี่ให้ฟัง แล้วหันมาถามว่า ดร.ก็เรียนโหราศาสตร์มาเหมือนกัน ทำไมผมจึงไม่เป็นนักเลงและเป็นโจร ทั้ง ๆ ที่เสาร์กับราหูกุมทั้งอาทิตย์และลัคนา
ตกใจแทบแย่ เพราะท่านจะลองภูมิ ถ้าตอบเรื่อยเปื่อย ก็คงจะถูกท่านด่าเอาเป็นแน่ นึกถึงอาจารย์เทพย์ สาริกบุตร ผู้เป็นครูอาจารย์โหราศาสตร์ของตนว่าขอให้ช่วยลูกศิษย์ด้วย พิจารณาดูดวงท่าน แม้จะมีนักเลงและโจรมารุมล้อมอย่างที่ท่านอธิบายแล้ว แต่ดาวพฤหัสในดวงชะตาของท่านเพ็ญอยู่ในราศีตุล เล็งราศีเมษ พฤหัสเป็นดาวหัวหน้า ดาวศุภเคราะห์มาเพ็ญอยู่ในราศีตุล ท่าน จึงไม่ไปทางเสาร์ แต่มาทางพฤหัส ท่านจึงเป็นนักปราชญ์ เป็นซือแป๋ เป็นปรมาจารย์เกือบทุกเรื่อง เมื่อบอกท่านแล้ว ท่านก็ตบโต๊ะบอกว่าต้องยังงั้น เอาล่ะ เชื่อแล้วว่ารู้จริง รอดตัวไปได้อย่างหวุดหวิด
เรื่องพระเครื่องท่านก็รู้ วันหนึ่งขณะรับประทานอาหาร ท่านถอดสร้อยห้อยพระออกจากเสื้อคอกลมที่ท่านชอบสวมออกมาให้ดู ท่านถามว่า ดูซิ พระอะไร แท้ไหม หลังจากหยิบมาดูแล้วก็ตอบท่านว่า ดูไม่ขาดหรอก รู้แต่ว่าองค์กลางนั้นเป็นสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์พระประธาน ข้างขวานั้นเป็นพระรอด พิมพ์ใหญ่ เหนือขึ้นไปเป็นกำแพงเพชรลีลาเม็ดขนุน ทางซ้ายนั้นเป็นสมเด็จนางพญาพิษณุโลก พิมพ์เข่าโค้ง ขึ้นไปเป็นผงสุพรรณ พิมพ์หน้าแก่ ส่วนเนื้อนั้นจะแท้หรือไม่ ตาผมดูไม่ขาด ท่านตำหนิว่า เมื่อพระอยู่บนคอท่าน จะไม่แท้ได้อย่างไร น่าจะมีเชาวน์ดีกว่านี้ แล้วท่านก็หัวเราะชอบใจ
นอกจากท่านจะสั่งสอนเรื่องต่าง ๆ ในการสนทนาทุกวันพุธแล้ว บางครั้งท่านก็กรุณาแนะนำการวางตัว การพูดจาในที่สาธารณะด้วย วันหนึ่งมีชายหนุ่มคงจะสติไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เอาของปฏิกูลใส่ถุงพลาสติกไปขว้างปาใส่หน้าท่านอุทัย พิมพ์ใจชน แล้วก็ว่าท่านอุทัย พิมพ์ใจชน ซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พาดพิงมาถึง ดร.วีรพงษ์ ผมก็ตกใจ เกรงว่าท่านอุทัยจะเคือง ด้วยเป็นคนชอบพอกัน เพราะท่านอุทัยนั้นเป็นคนกล้าหาญ ท่านจึงถูกจอมพลถนอม กิตติขจร จับขังคุกพร้อมกับท่านบุญเกิด หิรัญคำ เพราะไปฟ้องจอมพลถนอมว่าเป็นกบฏ เพราะทำการปฏิวัติ ล้มล้างรัฐธรรมนูญ เมื่อไปปรึกษาท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ว่าจะไปขอโทษท่านอุทัยดีไหม ท่านบอกว่าอย่าทำ เพราะจะเป็นข่าวยืดยาวไปอีก ไม่ใช่ความผิดของเรา คุณอุทัยเป็นผู้ใหญ่ จะมาโกรธเคืองอะไรกัน ผมก็สบายใจ
ที่เป็น ประโยชน์มาก ก็คือท่านเล่าเบื้องหลังของหนังสือต่าง ๆ ที่ท่าน ประพันธ์ขึ้น ว่าท่านได้แรงบันดาลใจมาจากอะไร ทำไมท่านจึงสามารถเขียนเรื่องยาว ๆ อย่างเรื่อง "สี่แผ่นดิน" ได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเรื่องอื่น ๆ ด้วย
ไปงานวันนี้แล้วคิดถึงท่าน ท่านเป็นสถาบันจริง ๆ