สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดใจ ธาริต เพ็งดิษฐ์ DSI กับเผือกร้อนคดี ยิ่งลักษณ์

จาก ประชาชาติธุรกิจ

หลังจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำพิพากษา ให้ยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้ตกเป็นของแผ่นดินในคดีซุกหุ้นชินคอร์ป ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ปรากฏว่าเวลาผ่านมากว่า 1 ปี คดีนี้ก็ได้กลับขึ้นมาเป็นที่สนใจของสาธารณชนอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเครือข่ายพลเมืองคัดค้านนิรโทษคอร์รัปชั่นทักษิณ หรือ คนท.ได้ยื่นหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้ดำเนินคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับ 1 ของพรรคเพื่อไทย และพวก มีความผิดฐานเบิกความต่อศาลเป็นเท็จในคดีซุกหุ้น

ดีเอสไอจะดำเนินการอย่างไร เชื่อว่า จะเป็นหนึ่งในคำถามที่ประชาชนส่วนใหญ่อยากทราบ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ตอบคำถามนี้ระหว่างให้สัมภาษณ์ "ประชาชาติธุรกิจ” เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า เกี่ยวกับการดำเนินการในกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ฐานเบิกความต่อศาลเป็นเท็จ ดีเอสไอได้กำหนดแนวทางในการสืบสวนคดี โดยเบื้องต้นคงจะต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) คดีนี้มีมูลความผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ ถ้าตรวจสอบแล้วไม่มีมูล คดีนี้ก็ตกไป และ 2) หากพบว่ามีมูลความผิดจริง ก็จะต้องมาพิจารณาอีกว่าเป็นคดีพิเศษที่อยู่ภายใต้กฎหมายของดีเอสไอหรือไม่ ถ้าไม่อยู่ ก็ต้องเสนอให้คณะกรรมการของดีเอสไอพิจารณาว่า จะรับทำเป็นคดีพิเศษหรือไม่

ส่วนแนวทางในการสอบสวนคดีนี้ อธิบดีธาริตชี้แจงว่า ก่อนอื่นคงต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งผู้ยื่นคำร้องและผู้ถูกกล่าวหา ฐานะผู้ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมจะมาด่วนสรุปไปก่อนที่เจ้าหน้าที่จะลง มือสอบสวนคงจะไม่ได้ ผมจึงต้องตั้งคณะทำงานสืบสวนขึ้นมา เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้มาให้ปากคำ และเนื่องจากเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ต้องดำเนินการโดยเร็ว และคำนึงถึงความรอบคอบ คาดว่าจะใช้เวลาในการสอบสวนประมาณ 1 เดือน

“ส่วนผลออกมาเป็นอย่างไร ก็เป็นไปตามนั้น ถูกก็ว่าถูก ผิดก็ว่าผิด แต่ตอนนี้ขอผมทำงานก่อน อย่าไปฟันธงอะไรล่วงหน้าเลย ตามหลักของรัฐธรรมนูญ เราต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ถูกกล่าวหาบริสุทธิ์ จะไปพิพากษาก่อนล่วงหน้าเราไม่ควรทำ”

ความเป็นไปได้ที่กรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเข้าข่ายกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 หรือไม่นั้น อธิบดีดีเอสไออธิบายว่า มาตรา 177 กำหนดเอาไว้ผู้ใดเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาต่อศาล ถ้าข้อความอันเป็นเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ดังนั้น คดีเบิกความเท็จ หรือให้การเท็จต่อเจ้าพนักงานเป็นเท็จนั้น มีหลักในการพิจารณาอยู่ 3 องค์ประกอบ คือ 1) เป็นการให้การเท็จ 2) มีเจตนาพิเศษ และ 3) เป็นสาระสำคัญแห่งคดี

"คำว่าเป็นสาระสำคัญแห่งคดีนั้น ต้องดูว่าการให้การอย่างนี้ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญคดีนั้นหรือไม่ ตรงนี้ยังรีบตัดสินไม่ได้ ยกตัวอย่าง กรณีพยานเห็นเหตุการณ์คนถูกรถชน แต่เบิกความต่อศาลว่าไม่เห็น ถือเป็นข้อสำคัญในคดีได้ เพราะเป็นข้อความที่มีน้ำหนักต่อคำวินิจฉัยของศาล หรือ อาจจะมีผลทำให้แพ้ชนะคดีได้" 

อีกตัวอย่างหนึ่งเป็นฎีกาเมื่อปี 2543 จำเลยเบิกความในศาลว่า โจทย์ออกเช็คให้จำเลย เพื่อชำระหนี้เงินกู้ แต่แท้จริงเช็คที่ออกให้เพื่อยึดถือไว้เป็นประกัน อย่างนี้ถือเป็นข้อสำคัญในคดี หากศาลเชื่อจำเลย ศาลก็อาจจะตัดสินลงโทษจำคุกโจทย์ได้ จำเลยจึงมีความผิดฐานเบิกความเท็จ ขณะที่ถ้อยคำที่ไม่ใช่สาระสำคัญในคดี ก็เช่น เบิกความเท็จที่ไม่ทำให้คำวินิจฉัยของศาลเปลี่ยนไป หรือคำเบิกความที่ไม่มีน้ำหนัก ไม่มีผลทำให้คดีแพ้หรือชนะ หรือศาลวินิจฉัยตามพยานเอกสารที่มีน้ำหนัก ส่วนพยานบุคคลเป็นแค่พยานประกอบ ศาลไม่ได้หยิบขึ้นมาเป็นข้อสำคัญแห่งคดี อย่างนี้ไม่ใช่ข้อสำคัญในคดี ดังนั้นในการพิจารณาคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงไม่ง่ายนัก คงต้องดูคำเบิกความ และคำตัดสินทั้งหมดก่อน คือ ที่ผ่านมาศาลอาจจะไม่เชื่อคำเบิกความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์อยู่แล้วก็ได้ ศาลอาจจะพิจารณาแค่พยานหลักฐาน ก็มีน้ำหนักเพียงพอที่จะชี้ขาดว่า หุ้นที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ถืออยู่ เป็นหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ คณะทำงานคงต้องดูว่า ศาลพิจารณาหลักฐานประเภทไหนเป็นหลัก และต้องดูต่อไปว่า หากศาลเชื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์แล้วจะมีผลต่อคดีอย่างไร 

“นี่คือความยาก คดีนี้ต้องสืบสวนสอบสวนให้มากกว่านี้ ไม่ใช่พูดกันบนโต๊ะแล้ววินิจฉัยเลย อย่างนี้ถือว่าเอียงแล้ว ผมไม่ควรทำอย่างนั้น เราเป็นมืออาชีพ เราต้องไปเอาคำเบิกความ คำพิพากษาของศาลมาพิจารณา หากคำพิพากษาไม่มีพูดถึงคุณยิ่งลักษณ์เลยอย่างนี้ถือว่าเบาแล้ว แต่ถ้าศาลพิพากษาว่า แม้จำเลยจะมี น.ส.ยิ่งลักษณ์มาเป็นพยานเบิกความในศาล แต่ศาลวิเคราะห์แล้วเป็นข้อความที่ไม่น่าเชื่อถือ ตรงนี้ถือว่าศาลให้ความสำคัญกับคำเบิกความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อย่างนี้พอจะเป็นข้อสำคัญในคดีได้”

ต่อประเด็นที่ว่า วิตกกังวลหรือไม่ หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ชนะเลือกตั้งได้เป็นนายกรัฐมนตรี นายธาริตตอบคำถามด้วยน้ำเสียงปกติว่า "สิ่งที่จะพูดต่อไปนี้ ไม่ใช่ท้าทาย ในเมื่อบ้านเรา ฝ่ายการเมืองคือฝ่ายบริหาร สามารถย้ายข้าราชการประจำได้ เคาะเครื่องพิมพ์ดีดแค่ 10 นาทีเอาเข้า ครม.ก็ย้ายได้เลย ไม่ต้องขอความเห็นชอบจากใคร ในเมื่อกติกาเป็นอย่างนี้ ผมต้องยอมรับกติกา ก็พร้อม ถ้าถูกย้าย ถือว่าหมดภารกิจตรงนี้ไปทำภารกิจใหม่ ก็เท่านั้น ไม่ได้ท้าทาย แต่รับสภาพ ยอมรับชะตากรรม”

ในมุมมองของอธิบดีดีเอสไอ เขามั่นใจว่า ทุกสิ่งที่ดำเนินการไป เป็นการทำงานตามกฎหมาย ไม่ได้ทำงานตามนโยบายของใคร เพราะดีเอสไอเป็นหน่วยบังคับใช้กฎหมาย เรื่องความขัดแย้งทางการเมืองเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าฝ่ายการเมืองฝ่ายใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปัตย์ หรือเพื่อไทย หากล้ำเส้นเข้าไปทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเรียกว่า red zone ไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือดีเอสไอ ก็ต้องทำตามหน้าที่

"หากเราไม่ทำตามหน้าที่ แล้วใครจะทำ และถ้าเราไม่ทำ เราเองจะเป็นฝ่ายผิด ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง ปล้นสะดม ฆ่ากันตาย สะสมอาวุธ ก่อวินาศกรรม หรือพวกล้มเจ้า พวกนี้ถ้าเข้ามาอยู่ใน red zone ผมดำเนินคดีหมด แต่ผมไม่ได้บอกว่า พวก นปช.ผิดหมด มันเป็นเพียงคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้นที่เข้าไปอยู่ red zone ลุงป้าน้าอาที่เข้าไปนั่งฟังที่ราชประสงค์ ก็ไม่ใช่ว่าผิด แต่มีคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า hard core พวกนี้ต่างหากที่เข้าไปใน red zone ก็ต้องผิด ก็เหมือนตำรวจที่เข้าไปดำเนินคดีกับคนที่เข้าไปยึดสนามบิน เข้าไป red zone ก็ต้องผิด การทำตามหน้าที่ครั้งนี้ก็จะมีทั้งคนถูกใจและไม่ถูกใจเป็นธรรมดา แต่คราวนี้เป็นคดีการเมือง จึงมีคนที่ไม่ชอบดีเอสไอ หรือนายธาริตกว่า 10 ล้านคน ก็ช่วยไม่ได้"

เขากล่าวทิ้งท้ายว่า ก่อนหน้านี้ดีเอสไอเคยพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์ฯตามที่ ก.ล.ต.ส่งมาให้พิจารณาในช่วงปลายปี 2553 ผลออกมา ดีเอสไอก็สั่งไม่ฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณกับคุณหญิงพจมาน ชินวัตร พวกเสื้อแดงไม่เห็นพูดอะไรเลย ดีเอสไอทำงานแบบมืออาชีพ ไม่ใช่ว่าถ้าเป็น พ.ต.ท.ทักษิณแล้วต้องผิด ซึ่งยืนยันได้ว่า ไม่มีการกลั่นแกล้งกัน พิจารณาตามข้อเท็จจริง แต่พอถึงคดีก่อการร้าย ดีเอสไอฟ้องทักษิณเป็นจำเลยคนที่ 1 เลย ผิดก็คือผิด ดีเอสไอเป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ไม่มีการเหยียบเรือสองแคม ถูกก็ว่าถูก ผิดก็ว่าไปตามนั้น

ล้อมกรอบ

คดีชินวัตรในมือ ก.ล.ต.

จากการตรวจสอบมติ ก.ล.ต.ย้อนหลัง โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคดี บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น พบมีการลงมติดำเนินการในกรณีรวม 3 ครั้ง โดยในปี 2549 ซึ่ง ก.ล.ต.ได้มีการพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องของ บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น (SHIN ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อย่อหุ้นเป็น INTUCH) โดยฉบับที่ 11/2549 (15 ก.พ. 2549) คณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้พิจารณากรณีที่ขอให้นายพานทองแท้ ชินวัตร และนางสาวพินทองทา ชินวัตร จัดส่งเอกสารหลักฐานต่าง ๆ เพื่อยืนยันการโอนหุ้นบริษัท Ample Rich Investment Ltd. จาก พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ให้แก่นายพานทองแท้ และภายหลังมีนางสาวพินทองทาร่วมด้วยนั้น บุคคลทั้งสองได้จัดส่งเอกสารจากต่างประเทศที่มีผู้มีอำนาจยืนยันข้อมูล (notary public) มาให้สำนักงาน ก.ล.ต.เรียบร้อยแล้ว โดยจากข้อมูลที่ได้รับ คณะกรรมการเห็นว่ากรณีนี้มีแนวโน้มจะมีความผิดเกี่ยวกับการรายงานการถือหุ้น ซึ่งจะต้องมีการลงโทษโดยวิธีการเปรียบเทียบปรับ

หลังจากนั้น ฉบับที่ 22/2549 (10 มี.ค. 2549) หัวข้อ คณะกรรมการเปรียบเทียบมีคำสั่งเปรียบเทียบนายพานทองแท้ ชินวัตร กรณีรายงานการได้มาและจำหน่ายหุ้น SHIN ไม่ถูกต้อง และไม่ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทดังกล่าว ซึ่งเป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนมาตรา 246 และ 247 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 รวม 3 กระทง เป็นเงินค่าปรับ 5,982,000 บาท

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่ศาลฎีกา ได้มีคำวินิจฉัย ประกอบกับมีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากการตรวจสอบของสำนักงาน ก.ล.ต. ที่ปรากฏพยานหลักฐานน่าเชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมานเป็นเจ้าของที่แท้จริงของบริษัท วินมาร์ค จำกัด (Win Mark) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น SHIN ด้วย จึงเป็นเหตุให้เชื่อได้ว่า ในระหว่างปี 2542-2549 หุ้น SHIN ที่ พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมานถืออยู่ ในนามบุคคลในครอบครัว ARI และ Win Mark มีการเคลื่อนไหวรวมกันข้ามผ่านทุก 5% ของทุนจดทะเบียนที่เรียกชำระแล้วของบริษัท SHIN หลายครั้ง แต่ พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน ไม่รายงานการได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์ของกิจการ (แบบ 246-2) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายในวันทำการถัดจากวันที่ได้มาหรือจำหน่ายไป หรือรายงานข้อมูลเท็จ รวมทั้งไม่ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของกิจการเมื่อข้ามผ่าน 50% ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.กำหนดด้วย

จากคำวินิจฉัยดังกล่าว ทาง ก.ล.ต.จึงได้มีการดำเนินการกล่าวโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร์ (ชินวัตร) ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรณีกระทำความผิดที่เข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 246 และมาตรา 247 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ในวันที่ 28 เม.ย. 2553 (ข่าว ก.ล.ต.ฉบับที่ 24/2553)

สำหรับกรณี บมจ.เอสซี แอสเซท คอร์ปอเรชั่น (SC) พบว่า ก.ล.ต.ได้ออกข่าว ก.ล.ต.ฉบับ 31/2550 ระบุว่า ประเด็นความถูกต้องของข้อมูลโครงสร้างผู้ถือหุ้นในแบบแสดงรายการข้อมูลการ เสนอขายหลักทรัพย์ของ SC ไม่เพียงพอที่จะสรุปได้ว่ามีการกระทำผิดกฎหมายหลักทรัพย์หรือไม่ จึงได้ส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามอำนาจ หน้าที่ต่อไป และยังระบุด้วยว่าไม่พบกรณีการใช้ข้อมูลภายใน หรือการกระทำผิดกฎหมายในการขายหุ้น SHIN และการขายหุ้น ADVANC ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในช่วงก่อนที่จะมีการเปิดเผยการขายหุ้น SHIN แก่เทมาเส็ก

Tags : เปิดใจ ธาริต เพ็งดิษฐ์ DSI เผือกร้อน คดี ยิ่งลักษณ์

view