จาก โพสต์ทูเดย์
เป็นที่กังวลกันของหลายฝ่ายถึงผลกระทบจากการที่ไทยประกาศถอนตัวจากภาคีคณะกรรมการมรดกโลก
โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ
เป็นที่กังวลกันของหลายฝ่ายถึงผลกระทบจากการที่ไทยประกาศถอนตัวจากภาคี คณะกรรมการมรดกโลกขององค์การยูเนสโกอย่างกะทันหัน เนื่องจากปัญหายืดเยื้อกรณีพื้นที่ทับซ้อนบริเวณปราสาทพระวิหาร
ความกังวลที่เกิดขึ้นมีทั้งที่เกี่ยวข้องกับกรณีปราสาทพระวิหารโดยตรง ด้วยเกรงว่าการถอนตัวของไทยอาจเป็นเสมือนหนึ่งไฟเขียวให้ทั้งไทยและกัมพูชา เปิดฉากใช้กำลังทหารสะสางกรณีพิพาทอีกครั้ง โดยอ้างอธิปไตยเหนือพื้นที่ทับซ้อน
บ้างก็กังวลว่าไทยอาจสูญเสียผลประโยชน์ที่ได้รับจากการจดทะเบียนโบราณ สถานของชาติและพื้นที่ที่มีความสำคัญเชิงนิเวศวิทยา ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ด้านเงินช่วยเหลือเพื่อบูรณะฟื้นฟู และด้านการวิจัยเชิงวิชาการ ไปจนถึงผลพลอยได้จากธุรกิจการท่องเที่ยว ที่ติดตามมากับการมีชื่อเสียงเป็นถึงมรดกโลก
กล่าวได้ว่า ไม่ว่าถอนตัวหรือไม่ถอนตัวล้วนสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศทั้งสิ้น แต่ในอัตราที่แตกต่างกัน
ไม่ว่าการถอนตัวจะนำผลลัพธ์ใดมาให้ ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง คือ ไทยเป็นประเทศแรกที่ถอนตัวจากการเป็นภาคีสมาชิก
ตามมาตราที่ 35 ของอนุสัญญามรดกโลกระบุไว้ว่า ประเทศสมาชิกมีสิทธิที่จะปฏิเสธอนุสัญญา หรือถอนตัวจากการเป็นภาคีได้ (วรรค 1) และการถอนตัวจะมีผลบังคับใช้ภายหลัง 12 เดือนหลังจากที่มีการแจ้งไปยังองค์การยูเนสโก แต่การถอนตัวจะไม่กระทบต่อพันธะทางการเงินของประเทศนั้นๆ จนกว่าการถอนตัวจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ (วรรค 3)
หมายความว่า หากประเทศหนึ่งๆ ถอนตัวจากอนุสัญญา ยังมีเวลาให้ทบทวนอีกถึง 1 ปี และระหว่างนั้นจะไม่กระทบต่อประเด็นสำคัญอื่น โดยเฉพาะเรื่องการเงิน
อย่างไรก็ตาม ความช่วยเหลือทางการเงินไม่ใช่ประเด็นหลัก เพราะประเด็นหลักที่ผู้แทนฝ่ายไทยอ้าง คือเกรงว่าการร่วมมือกับคณะกรรมการมรดกโลกจะทำให้ไทยสูญเสียอธิปไตยเหนือ พื้นที่พิพาท
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามแต่ การขึ้นทะเบียนมรดกโลก ถือเป็นช่องทางในการกอบโกยและหากินกับมรดกของมนุษยชาติอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เพราะหมายถึงเม็ดเงินที่หลั่งไหลเข้ามามูลค่ามหาศาล
ว่าด้วยเงินช่วยเหลือเพื่อบูรณะและอนุรักษ์มรดกโลกจากองค์การยูเนสโกใน แต่ละปีมีเพียงหยิบมือเดียว แค่ราว 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่เม็ดเงินและผลประโยชน์จะมาจากการท่องเที่ยวและการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ มรดกโลกมากกว่า
เหตุผลนี้ ทำให้การขึ้นทะเบียนมรดกโลกกลายเป็นแฝงเร้นประเด็นทางการเมืองแทบทุกครั้ง ไม่เฉพาะแค่กรณีของไทยและกัมพูชาที่เกี่ยวข้องกับอธิปไตยทับซ้อนเท่านั้น แต่ความขัดแย้งเกี่ยวกับมรดกโลกยังเกี่ยวข้องกับอีกหลายประเทศ หรืออาจกล่าวได้ว่าเกี่ยวข้องกับทุกประเทศ เพราะเรื่องผลประโยชน์ที่ไม่เข้าใครออกใคร
เมื่อมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ประเทศที่มีภาษีดีกว่า หาทางให้มรดกของชาติกลายเป็นมรดกโลกให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นอิตาลีที่มีมรดกโลกถึง 44 แห่ง สเปน 41 แห่ง และฝรั่งเศสในปริมาณใกล้เคียงกัน ปัญหาก็คือ มรดกโลกส่วนใหญ่มักกระจุกตัวอยู่แต่ในประเทศตะวันตก เป็นที่ครหาว่า แค่ปราสาทเก่าๆ ในฝรั่งเศสหรือเยอรมนีก็เพียงพอแล้วที่จะขอขึ้นเป็นมรดกโลก
กลายเป็นว่าประเทศที่เป็นที่ตั้งของอู่อารยธรรมโลก ซึ่งเป็นมรดกร่วมกันของมนุษยชาติกลับมีมรดกโลกที่ถูกขึ้นทะเบียนเพียงไม่กี่ แห่ง รูปธรรมที่ชัดเจนคือ อิรัก ซึ่งเป็นที่ตั้งของแหล่งอารยธรรมแห่งแรกๆ ของโลก แต่มีมรดกโลกเพียง 3 แห่ง
นี่เป็นเพียงปัญหาระดับเรียกน้ำย่อยที่แสดงให้เห็นว่า กระบวนการคัดสรรมรดกโลกมีปัญหาเพียงใด และคณะกรรมการมรดกโลกมีความเกี่ยวพันกับผลประโยชน์เป็นตัวเงินพอๆ กับผลประโยชน์ด้านวัฒนธรรม
มีความพยายามที่จะอุดรูรั่วเหล่านี้ด้วยการกำหนดให้ประเทศตะวันตกเพลาๆ การเสนอชื่อมรดกโลก เพื่อเปิดทางให้ภูมิภาคอื่น ซึ่งต้องการความช่วยเหลือเพื่ออนุรักษ์อย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่ากรณีปราสาทพระวิหารจะถือเป็นเคสเฉพาะ
เพราะองค์การยูเนสโกพลาดตั้งแต่ก้าวแรกที่ปล่อยให้การขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหารนั้นเป็นไปโดยฝ่ายเดียวของกัมพูชาไป
ทั้งๆ ที่อยู่ติดชายแดนกับไทย และการปักปันเขตแดนยังคงเป็นปัญหาเรื้อรัง และยังดำเนินการไม่จบไม่สิ้น
ทั้งๆ ที่ตามปกติควรจะปล่อยให้ขึ้นทะเบียนร่วมกัน และจัดการผลประโยชน์ร่วมกัน
ซ้ำร้ายยังดูเหมือนว่าองค์การยูเนสโกจะปล่อยให้ผลประโยชน์ของบางชาติอยู่ เหนือเกินคำว่าอธิปไตยของไทยเสียด้วย ถ้าหากไทยยอมรับในแผนจัดการปราสาทพระวิหาร ก็ยิ่งทำให้ไทยเข้าใกล้คำว่า “เสียดินแดน” มากขึ้นทุกทีๆ
ทั้งๆ ที่รู้ แต่องค์การยูเนสโกก็ยังบีบให้ไทยยอมรับในแผนจัดการเจ้าปัญหา โดยไม่ตระหนักถึงผลที่จะตามมาที่จะก่อให้เกิดสงคราม มากกว่าคำว่าสันติภาพ ตามคำขวัญขององค์กร
ส่วนท่าทีของไทยก็ชัดเจนตามที่สุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้แทนฝ่ายไทย ที่กล่าวไว้ชัดเจนว่า
“ที่ประชุมบรรจุวาระ ผมไม่มีทางเลือกครับ คงต้องถอนตัว ผมได้เคยพูดกับสื่อไทยไปว่า หากสังคมใดดำเนินการตามใจตนเอง ไม่คิดถึงกฎระเบียบที่ลงมติโดยสมาชิกแล้ว ก็ไม่มีประโยชน์ใดๆ ที่เราจะอยู่ในสังคมแบบนี้”
แปลง่ายๆ อยู่ด้วยกันไม่ได้ ก็แยกทางกันซะ... ก็เท่านั้น !