สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ กับคดีใหญ่ที่ ก.ล.ต. ยังไม่ได้ทำ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

โดย : สฤณี อาชวานันทกุล


สมดังคำโบราณว่า “ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก” - ผู้เขียนเพิ่งเขียนชมเจ้าหน้าที่และผู้บริหาร ก.ล.ต.
ที่ออกมาประท้วงประธานผู้ซึ่งตอนนี้กลายเป็นอดีตไปแล้วไม่ทันไร ก็มีเรื่องให้ผิดหวังกับ ก.ล.ต. อีกแล้ว (แต่อย่างไรก็ดี การตัดสินใจครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับพนักงานส่วนใหญ่ที่ออกมาแสดงสปิริตเมื่อสัปดาห์ก่อน)
 

แน่นอน ผู้เขียนกำลังพูดถึง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์เบอร์หนึ่งของพรรคเพื่อไทย กับคดีซุกหุ้น-ยึดทรัพย์ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นพี่ชาย
 

ข่าว ก.ล.ต. ฉบับที่ 50/2554 วันที่ 13 มิถุนายน 2554 จั่วหัวว่า “ตามที่ปรากฏข่าวการเคลื่อนไหวของเครือข่ายพลเมืองคัดค้านนิรโทษคอรัปชั่นทักษิณ (คนท.) ที่เรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง ก.ล.ต. ให้ดำเนินการกับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้เป็นไปตามผลของคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ก.ล.ต. ได้ตรวจสอบข้อมูลโดยละเอียดแล้ว ขอเรียนว่า ก.ล.ต. ได้ดำเนินการในเรื่องที่อยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่แล้ว”
 

ที่น่าผิดหวังมาก คือ เหตุผลของการ “ได้ดำเนินการในเรื่องที่อยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่แล้ว” ที่ ก.ล.ต. อธิบายนั้น ตั้งอยู่บนการตีความกฎหมายหลักทรัพย์และอำนาจของ ก.ล.ต. ตามกฎหมายหลักทรัพย์อย่างคับแคบชนิดศรีธนญชัยเรียกพี่ อ่านกฎหมายแบบ “ตรงเป๊ะ” ตามตัวอักษร แต่ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
 

ประเด็นที่ ก.ล.ต. ชี้แจงมี 2 ประเด็น ประเด็นที่น่าสนใจคือ กรณีที่ยิ่งลักษณ์แจ้งเท็จในหนังสือชี้แจงผู้ถือหุ้น ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SC) ว่า กองทุน วินมาร์ค, OGF และ ODF ซึ่ง ก.ล.ต. พบภายหลังว่าเป็นเพียง “กองทุนกล่อง” ของ พ.ต.ท. ทักษิณ นั้น ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับครอบครัวชินวัตร
 

ก.ล.ต. อธิบายเหตุผลที่ไม่ดำเนินการต่อในกรณีนี้ส่วนหนึ่งว่า “…ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 238 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ที่ครอบคลุมเฉพาะการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ โดยเจตนาให้ผู้อื่นสำคัญผิดในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน หรือเกี่ยวกับราคาซื้อขายหลักทรัพย์ แต่ข้อเท็จจริงกรณีนี้เป็นเรื่องเฉพาะที่เกี่ยวกับการถือหุ้น มิใช่ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับบริษัทหรือราคาซื้อขาย จึงไม่เข้าลักษณะความผิดที่กฎหมายหลักทรัพย์กำหนดไว้...”
 

ผู้เขียนคิดว่าการให้เหตุผลข้างต้นของ ก.ล.ต. นั้น คับแคบและไม่ดูบริบทแวดล้อมที่ควรดู คือบอกว่าสิ่งที่ยิ่งลักษณ์แจ้งเท็จต่อผู้ถือหุ้นนั้นเป็นข้อมูลเกี่ยวกับการถือหุ้น ไม่เกี่ยวกับบริษัทหรือราคาหุ้น จึงไม่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 238 แต่ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องคือ หลังจากที่ยิ่งลักษณ์แจ้งเท็จต่อผู้ถือหุ้นเพียงไม่กี่สัปดาห์ กองทุน OGF และ ODF ก็ได้ทยอยขายหุ้น SC ออกมาจนถึงเดือนสิงหาคม 2549 ระหว่างนั้นราคาหุ้นของ SC ตกลงเกือบร้อยละ 30 คือจากประมาณ 15 บาท ลงมาเหลือเพียง 11-12 บาท (ณ วันที่จดหมายแจ้งเท็จของยิ่งลักษณ์ปรากฏต่อสาธารณะ คือ 28 มีนาคม 2549 นั้น ราคาหุ้น SC ยังอยู่เหนือ 15 บาท)
 

การขายหุ้น SC ของ OGF และ ODF ส่งผลให้ราคาหุ้นตกลงอย่างมาก เนื่องจากกองทุนทั้งสองเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัท ชี้ให้เห็นว่าผู้มีอำนาจควบคุมกองทุนทั้งสองนี้ใช้ “ข้อมูลภายใน” (คือความรู้ที่ว่ากองทุนทั้งสองเป็นนอมินีของตัวเอง แต่คนอื่นยังไม่รู้) ลอบขายหุ้นออกไปก่อนอาจเป็นเพราะรู้ดีว่าการสอบสวนของ ก.ล.ต. จะสาวมาถึงตัวในที่สุด
 

ในเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏแล้วว่า OGF และ ODF ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ SC เป็นเพียงนอมินีของ พ.ต.ท. ทักษิณ และประธานกรรมการบริหารบริษัท SC ผู้แจ้งเท็จต่อผู้ถือหุ้นนั้นก็เป็นน้องสาวแท้ๆ แจ้งเท็จก่อนที่กองทุนทั้งสองจะขายหุ้นเพียงไม่กี่สัปดาห์ คำถามใหญ่ซึ่ง ก.ล.ต. ไม่ได้ถาม คือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีส่วนรู้เห็นหรือไม่เพียงใด ณ วันที่แจ้งเท็จว่า กองทุนทั้งสองจะทยอยขายหุ้น SC ออก อันเป็นการใช้ “ข้อมูลภายใน” เอาเปรียบผู้ถือหุ้นรายย่อย เข้าข่ายผิดมาตรา 241 ของกฎหมายหลักทรัพย์
 

ถ้ายิ่งลักษณ์รู้ล่วงหน้าว่า OGF และ ODF จะขายหุ้น การแจ้งเท็จต่อผู้ถือหุ้นในเดือนมีนาคม 2549 ก็จะเข้าข่ายผิดมาตรา 238 เพราะเป็นการแจ้งเท็จ “โดยเจตนาให้ผู้อื่นสำคัญผิดเกี่ยวกับราคาหุ้น” (คือหลอกให้ผู้ถือหุ้นคนอื่นตายใจว่าไม่มีอะไรต้องกังวล เข้าใจผิดว่า OGF และ ODF ไม่เกี่ยวกับตระกูลชินวัตร ทั้งที่เป็นของ พ.ต.ท. ทักษิณ และกำลังเตรียมขายหุ้นทั้งหมดออก อันจะทำให้ราคาหุ้นตกลงอย่างมาก)
 

ที่จริงยิ่งลักษณ์อาจเป็น “นอมินีสมบูรณ์แบบ” จริงๆ ก็ได้ คือไม่เคยรู้เลยว่าพี่ชายของตัวเองจะทำอะไรกับหุ้นที่ซุกไว้อย่างไร เมื่อไรบ้าง ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็จะไม่เข้าข่ายผิดมาตรา 238 และมาตรา 241 เพราะ “ไม่มีเจตนา” ที่จะทำให้คนอื่นเข้าใจผิด
 

แต่เราจะได้คำตอบ หรืออย่างน้อยก็เข้าใกล้คำตอบ ก็ต่อเมื่อ ก.ล.ต. เริ่มต้นตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจัง ไม่ใช่ตีความกฎหมายอย่างคับแคบโดยไม่ดูบริบทแวดล้อม แล้วก็บอกว่าทำหน้าที่ของตัวเองตามกฎหมายอย่างเต็มที่ครบถ้วนแล้ว
 

เปรียบเทียบให้เห็นภาพคือ สมมติมีโจรขึ้นบ้าน แทงเจ้าของบ้านตาย ต่อมามีคนพบมีดตกอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุ ตรวจดีเอ็นเอปรากฏว่าเลือดบนมีดเป็นเลือดของผู้ตาย ตำรวจแทนที่จะมองว่ามีดนี้เป็นเบาะแสสำคัญในคดีฆาตกรรม กลับไปตั้งเรื่องเป็นคดีลักทรัพย์ พอพบว่ามีดนี้ไม่มีใครขโมยมาก็ปิดสำนวนไม่ทำต่อ คดีฆาตกรรมก็ไม่คืบหน้าเพราะ “ยังหาอาวุธไม่เจอ”
 

ในภาพใหญ่ เรื่องที่ ก.ล.ต. ควรตรวจสอบเกี่ยวกับการแจ้งเท็จของยิ่งลักษณ์ เป็นเพียงส่วนเสี้ยวเดียวของคดีใหญ่ที่ ก.ล.ต. ยังไม่ได้เริ่มทำ นั่นคือ สืบสวนว่ากองทุนกล่องต่างๆ ซึ่งปรากฏชัดแล้วว่า พ.ต.ท. ทักษิณเป็นเจ้าของ ไม่ว่าจะเป็น แอมเพิลริช วินมาร์ค OGF และ ODF นั้น มีการ “ปั่นหุ้น” และ “ใช้ข้อมูลภายใน” ซื้อขายหุ้นของชินคอร์ปและ SC หรือไม่และเมื่อไรบ้าง ระหว่างปี 2544-2549 ที่ พ.ต.ท. ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะกองทุนเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้ถือหุ้นที่ซุกไว้นิ่งๆ แต่ส่งคำสั่งซื้อขายเป็นระยะๆ ทำให้น่าสงสัยว่าอาจมีการปั่นหุ้นและใช้ข้อมูลภายในมากกว่าหนึ่งครั้ง
 

ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็ไม่แปลก ถึงแม้จะน่าประณามและผิดกฎหมายร้ายแรง เพราะเจ้าของหุ้นตัวจริงอาจคิดว่า ไหนๆ ก็ลงทุนซุกหุ้นไว้ลึกมากแล้ว คอยหาจังหวะทำกำไรดีกว่า
 

คดีทุจริตของ “นักธุรกิจการเมือง” ในไทยไม่เคยจับตัวการใหญ่มาลงโทษได้สักที ข้อนี้จะชี้ปัญหา “สองมาตรฐาน” หรือ “ระบบกำกับดูแลหย่อนยาน (อย่างเป็นมาตรฐานหนึ่งเดียว)” กันแน่ ก็สุดแท้แต่จะเดา
 

คุณธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. ซึ่งกำลังจะหมดวาระปลายปีนี้ จะแสดง “กึ๋น” ของ ก.ล.ต. ให้ประชาชนเห็นได้หรือไม่ หรือท่านจะเสี่ยงกับการถูกคำปรามาส ว่า “ทำงานตามใบสั่ง” ติดตัวไปชั่วชีวิต?

Tags : ยิ่งลักษณ์ ทักษิณ คดีใหญ่ ก.ล.ต. ยังไม่ได้ทำ

view