สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เมื่อนักบัญชีตื่นตัวสู่ความทันสมัย

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

โดย : ธงชัย สันติวงษ์


เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ที่ผ่านมา สภาวิชาชีพการบัญชีฯ ได้จัดให้มีการเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่ โดยมีทีมผู้สมัครลงแข่งขันถึง 3 ทีม
นัยว่ามีทั้งทีมสายธรรมศาสตร์ (โดยมีฝ่ายจุฬาฯ เป็นกรรมการอยู่ด้วยไม่น้อย กับ สายศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยรามคำแหงรุ่นแรก และ สายจุฬา ฯ ทำให้เป็นที่คึกคัก ยิ่งเป็นครั้งแรก
 

การลงคะแนนครั้งนี้ มีผู้มาออกเสียงมาก ต่างกับแต่ก่อนที่มีมาแค่ไม่กี่ร้อยคน นับว่ามากเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ ทราบมาว่าสมาชิกโดยรวมของสภาวิชาชีพการบัญชี ทั้งผู้สอบบัญชีและนักบัญชีมีจำนวนมากทีเดียว รวมแล้วมีถึงกว่าห้าหมื่นคน ซึ่งถือเป็นสภาวิชาชีพที่ใหญ่พอและโดยอาชีพก็มีความสำคัญต่อสังคมมาก
 

ยิ่งในยุคการเปลี่ยนแปลงและแข่งขันสูง พร้อมสภาพแวดล้อมโลกเปลี่ยน ที่มีทั้งไอที การเปิดเสรีการค้าและการเงิน กับการขยายตัวของตลาดทุนกับนโยบายรัฐบาลใหม่ ที่จะทำการแปรรูปรัฐวิสาหกิจครั้งใหญ่ พร้อมกับมาตรฐานการบัญชีที่จะต้องเปลี่ยนไปตามมาตรฐานสากล ทำให้วิชาชีพการบัญชีมีความสำคัญ ต่อฝ่ายจัดการที่จะต้องทำตามกระแสสากลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
 
 จากการไปออกเสียงและไปสังเกตเห็นกับได้ยินมาครั้งนี้ คือ ทุกฝ่ายถือเป็นนิมิตดีที่นักบัญชีได้สนใจต่อการสร้างความเจริญของวิชาชีพของตน และมาออกเสียงเลือกตั้งเพื่อผลักดันให้สภาฯต้องติดตามเพื่อบริหารยกระดับอาชีพให้สูงขึ้น ให้สมกับความสำคัญ พร้อมให้จัดกิจกรรมให้บริการแก่สมาชิกในการประกอบอาชีพให้มากขึ้นด้วย
 

ทั้งนี้ในปัจจุบัน จำนวนนักบัญชีได้เพิ่มจำนวนเพิ่มขึ้นมากมาย ตามการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่โตขึ้น ทำให้มีผู้สนใจเรียนการบัญชีและประกอบอาชีพนี้มากขึ้น โดยบางคนไปหาเรียนเป็นปริญญาที่สอง ด้วยเพราะ เชื่อว่า เศรษฐกิจยุคใหม่ทำให้กิจกรรมธุรกิจเอกชนขยายตัวโตไว และมีเงื่อนไขใหม่ เช่น การบริหารความเสี่ยงกับมาตรฐานการบัญชีใหม่ๆ ที่มีมากขึ้นกว่าแต่ก่อน
 

อะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับภาพที่เปลี่ยนไป คือ 
 

ก) สมาชิกสภาได้เพิ่มจำนวนมากขึ้น ทั้งในส่วนกลาง และภูมิภาคในต่างจังหวัดด้วย แต่ระบบเลือกตั้งกลับไม่ได้ปรับตัวขยายตามไปให้สมาชิกที่มีสิทธิออกเสียงได้ คนในต่างจังหวัดจึงไม่อาจมีส่วนร่วมในการผลักดันสภาฯ ด้วยการลงคะแนนได้ ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน 
 

ข) การมีช่องว่างที่ท้าทาย นายกสภาวิชาชีพฯ และกรรมการชุดใหม่ที่จะต้องเร่งดำเนินการปิด "ช่องว่างทางความรู้" และเกณฑ์ปฏิบัติใหม่ๆ ให้สมาชิกได้เรียนรู้และทำตามได้
 

ค) ที่ถือว่าสำคัญสุดๆ ก็คือ อาชีพนักบัญชีนี้เอง จะมีความสำคัญยิ่งต่องานการต่อต้านการคอร์รัปชันที่กำลังมีการรวมกันตั้งเป็นเครือข่าย ซึ่งกำลังเป็นงานสำคัญของชาติที่ภาคเอกชนไทยกำลังผลักดันแก้ไขให้หมดไป เพื่อประเทศไทยจะอยู่รอดและดีขึ้นได้
 

ในการนี้ ภารกิจของคณะกรรมการสภาฯ ชุดใหม่ จะต้องโชว์กลไกความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติของอาชีพที่จะเป็นกำลังสำคัญในการปกป้องการทุจริตได้มาก ตั้งแต่ภายในกิจการ ไปไกลจนถึงทุกฝ่ายที่มีประโยชน์เกี่ยวเนื่อง (Stakeholders) ทั้งหลาย ซึ่งการจะทำได้ นักบัญชี จะต้องเก่ง รักศักดิ์ศรี มีความรู้ กับขยายบทบาทในการสร้างประสิทธิภาพการจัดการด้วยการมีความทั้งรู้รอบและรอบรู้
 

จากอดีต อาชีพการบัญชีมีการบุกเบิกเปิดสอนพร้อมกันในสถาบัน 2 แห่ง ในปีพ.ศ. 2485 ทั้งที่จุฬาฯ และธรรมศาสตร์ ซึ่งเคยมีบทบาทเป็นต้นแบบวิชาการแก่การศึกษาวิชาชีพนี้ แล้วต่อมา เมื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยระบบปิด มหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงได้เข้าสวมบทบาทสร้างนักบัญชีในแบบตลาดวิชาแทน แต่ไม่เพียงเท่านั้น องค์กรเอกชน เช่น สภาหอการค้าฯ ที่มีสมาชิกเป็นกลุ่มก้อนก็ได้สนับสนุน จัดให้มีการสอนและบุกเบิกการศึกษาทางการบัญชีมาช้านานพร้อมคุณภาพที่คับแก้ว เช่น มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กับ มหาวิทยาลัยเอกชนอื่นๆ อีกหลายแห่ง
 

น่าสนใจว่า ถึงวันนี้คนรุ่นใหม่จำนวนมาก ต่างให้ความสนใจเรียนการบัญชีมากขึ้นเป็นกระแส เพราะเป็นอาชีพอิสระและตลาดมีความต้องการมากขึ้น ทั้งเป็นวิชาที่มีตรรกและเหตุผล แต่ภาพการพัฒนา การเรียนบัญชีเองกลับมีการพัฒนาที่ค่อนข้างช้า อาจด้วยเพราะ กระแสการเจริญเติบโตของการศึกษาการบริหารธุรกิจ หรือ MBA ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 
 

ปัญหาของวิชาชีพบัญชีที่ถือเป็นข้อด้อยของตนที่ติดตามได้ คือ
 

ก) คนเรียนบัญชีจำนวนมาก ต้องการเรียนและเรียนจบ แต่กลับไม่ยอมทำบัญชีเป็นอาชีพ ด้วยเพราะ ดูว่าเป็นอาชีพที่แคบ จำกัดอยู่วงใน ไร้โอกาสเติบโต กับขาดสังคม งานหนักเป็น “ไก่รองบ่อน” กับ ไม่ก้าวหน้า เพราะฝ่ายจัดการไม่ให้ความสำคัญอย่างที่ควร
 

ข) การพยายามก้าวเติบโตเป็นนักบริหารมีไม่มาก ด้วยเพราะ ผู้บริหารมักไว้วางใจ จึงกักตัวไว้ให้ทำหน้าที่เป็นนักบัญชีในที่เดิมไปนานๆ ไม่อยากเปลี่ยน ซึ่งอุปสรรคข้อนี้ ทำให้นักบัญชีจำนวนหนึ่งได้พยายามก่อตั้ง “ชมรมนักบัญชีหาร” ตั้งแต่เมื่อกว่าสามสิบปีที่แล้ว โดยผมได้รับเชิญในฐานะคณบดีและเป็นกลุ่มริเริ่มสอน MBA ให้ไปพูดในหัวข้อ “โอกาสที่นักบัญชีจะเป็นนักบริหาร” โดยเนื้อหาได้ถูกถอดเทปและพิมพ์เผยแพร่ในวารสารของนักบัญชีหลายแห่งในเวลาต่อมา
 

ค) การขาดการพัฒนา ซึ่งเกิดจากสภาพงาน ทำให้นักบัญชีถูกดูแคลนว่า แคบ ไม่เปิดกว้าง จึงปิดตัวเองมากจนขาดโอกาสโต ทำให้กลายเป็นปมด้อย จุดอ่อนที่ต้องจมปลักอยู่กับงานประจำและตัวเลข รายละเอียดต่างๆ มากมาย เมื่อเทียบกับโอกาสคนที่จบทางอื่นแล้วมาโตด้วยการเรียน MBA แล้ว นักบัญชีกลับได้เป็นแค่ Controller เท่านั้น ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้นักบัญชีพยายามหาทางออกโดยการใฝ่หาความรู้และงานด้านการบัญชีบริหาร กับการจัดการกลยุทธ์ต่างๆ รวมถึง การสร้างระบบการควบคุมทางบริหาร เพื่อโตได้ไวในอาชีพงานกับตำแหน่งนักบริหาร
 

จากปัญหาที่กล่าว ภารกิจของสภาวิชาชีพการบัญชีที่ต้องทำ จึงควรต้องทำดังนี้
 

ประการแรก สภาวิชาชีพจะต้องสร้างระบบการสื่อสารกับสมาชิก เพื่อการติดต่อสื่อสารในระหว่างกันอย่างต่อเนื่องและทั่วถึงรวมทั้งการใช้ให้ข่าวสารที่คล่องตัว และข่าวทันสมัยที่นักบัญชีต้องรู้
 

ประการที่สอง กับกลุ่มผู้สอบบัญชีที่เป็นวิชาชีพอาวุโส จะต้องมีการเสริมความรู้ในระดับสูง เพื่อให้ทราบถึงความทันสมัยของโลกธุรกิจยุคใหม่
 

ประการที่สาม กับกลุ่มนักสอบบัญชีรุ่นใหม่และบัญชีอาวุโส จะต้องพัฒนาความรู้ด้านกว้าง ให้ตามทันกับ การเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจและเศรษฐกิจ เพื่อให้เป็นผู้นำทางความรู้ในกิจการ เทียมบ่าเทียมไหล่ ไม่ด้อยกว่ากลุ่มงานด้านอื่นๆ หรือการมีสภาวะผู้นำทางความคิด และการเปลี่ยนแปลง กับตามทันกระแสใหม่ๆ กับมีบทบาททางสังคมด้วย
 

ประการที่สี่ คือ การต้องให้ความรู้ด้านเทคนิคและหลักเกณฑ์ทางการบัญชีใหม่ๆ ในเชิงลึก เพื่อให้มีความเชี่ยวชาญในทางวิชาชีพ พร้อมกับการติดตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของการบัญชีในระดับสากลได้ด้วย
 

ประการที่ห้า นักบัญชีควรได้รับการพัฒนาทักษะทางการจัดการใหม่ๆ เพื่อให้มีบทบาทในการพัฒนาศักยภาพความเข้มแข็งให้กับธุรกิจไทย รวมไปถึงการช่วยขจัดการทุจริตคอร์รัปชันให้หมดไป โดยการสร้างความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพและมีธรรมาภิบาลที่ดี พร้อมกับมีบทบาทกับการทำงานอย่างมีมาตรฐานในระดับสากลด้วย

Tags : นักบัญชี ตื่นตัว สู่ความทันสมัย

view