สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คอป.ยันพร้อมร่วมงานรัฐบาลเพื่อไทยสร้างความปรองดอง

คอป.ยันพร้อมร่วมงานรัฐบาลเพื่อไทยสร้างความปรองดอง

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

"คณิต"พร้อมร่วมงานรัฐบาลเพื่อไทยสร้างความปรองดอง แต่ปัดตอบปมนิรโทษกรรม"ทักษิณ" อ้างจะทำให้กลับไปสู่ความขัดแย้ง
ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ - นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) แถลงข่าวกรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกรัฐมนตรี ระบุว่า จะให้คอป.ตรวจสอบข้อเท็จจริงของความขัดแย้งต่อไป ว่า คอป. ย้ำถึงข้อเสนอ  8 ข้อ ที่มีการเสนอมาก่อนหน้านี้   โดยเฉพาะเรื่องการคุมขังโดยไม่จำเป็น เช่น การสั่งขังในความผิดมั่วสุมเกิน 10 คน ขึ้นไป คดีใดที่ยังค้างอยู่ที่อัยการและยังไม่สั่งคดี ก็สั่งไม่ฟ้อง หรือกรณีที่สั่งฟ้องไปแล้วก็ให้ถอนคำสั่งซึ่งไม่เสียหายอะไร

ทั้งนี้ เชื่อว่าการทำงานของคอป.ที่ผ่านมาไม่ได้ล่าช้า แต่เป็นการทำงานท่ามกลางความขัดแย้งที่ยังไม่จบ หลังการเลือกตั้งเมื่อประชาชนส่งสัญญาณถึงบรรยากาศของความปรองดอง แล้ว คอป.จะทำหน้าที่สนับสนุนทางวิชาการและให้ ข้อเสนอแนะกับทุกฝ่าย เพื่อนำสังคมเข้าสู่ความสงบสุข 

ด้านนายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ กรรมการคอป. กล่าวว่า ตนยินดีที่ทุกฝ่ายต้องการให้เกิดความปรองดอง ซึ่งถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกันผลักดัน เชื่อว่าสังคมไทยจะก้าวข้ามปัญหาขัดแย้งไปได้ หน้าที่ของคอป. ซึ่งวางเป้าหมายไว้แต่ต้นที่จะวางแนวทางอย่างเป็นระบบ เอาองค์ความรู้ที่ได้ศึกษาจากต่างประเทศมาค้นหาความจริง วิเคราะห์วินิจฉัยว่าสาเหตุความขัดแย้งมีจากปัจจัยใด และเยียวยาไม่ให้ผู้ที่ถูกกระทำรู้สึกคับแค้น

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่ายินดีที่พรรคเพื่อไทยซึ่งชนะการเลือกตั้ง มีแนวโน้ม ให้ความสำคัญกับความปรองดองและจะให้คอป.ทำงานต่อ และยืนยันจะไม่แทรกแซงการทำงาน ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลปัจจุบันก็ไม่เคยแทรกแซง ได้ให้อิสระอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ การสร้างความปรองดอง ต้องทำให้สังคมเข้าใจก่อน   ไม่ใช่มาพูดถึงวิธีการก่อน เช่น เรื่องนิรโทษกรรม ควรต้องพูดถึง เป้าประสงค์ แนวคิดหลักการที่จะนำสังคมไทย ไปสู่ความปรองดองก่อน   หากหยิบประเด็นนิรโทษกรรมมา พูดวันนี้ โดยที่ยังไม่มีการทำความเข้าใจ ก็จะกลับไปสู่ปัญหาความขัดแย้งเดิมๆ

ด้านนายสมชาย หอมลออ กรรมการคอป. กล่าวอีกว่า การเลือกตั้งครั้งนี้   ส่งสัญญาณที่สำคัญมากต่อนานาชาติ ว่า สังคมไทยยังยึดมั่นในกระบวนการประชาธิปไตย และการเลือกตั้งซึ่งนานาชาติหวาดวิตกว่าจะเกิดความขัดแย้งและรุนแรง แต่ก็ไม่ได้เป็นอย่างที่คาด สังคมไทยไม่นิยมความรุนแรง การแสดงท่าทีและคำมั่นสัญญา ผู้นำทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล หรือฝ่ายค้านที่กำลังจะเป็นพรรครัฐบาล ได้เปิดประตูสำหรับความปรองดองของชาติ ทำให้มีความหวังและกำลังใจว่าจะสร้างความปรองดองได้ และหวังว่า ผู้นำทางการเมืองทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลเมื่อให้คำมั่นสัญญาแล้วจะตอบสนองต่อความเรียกร้องของประชาชน

ส่วนประเด็นนิรโทษกรรมพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั้น   ถ้าเกิดการปรองดองแล้ว ทุกอย่างก็ง่าย ถ้าปรองดองแล้วปัญหาก็ง่าย แต่ตอนนี้ประเด็นนิรโทษกรรมไม่ได้เกี่ยวกับการทำงานของคอป.

"ความปรองดองจะเกิดขึ้นหรือไม่คงไม่อยู่ที่คอป. ซึ่งเป็นเพียงกรรมการชุดเล็กๆ แต่ทุกส่วนในสังคมต้องเข้าใจ โดยเฉพาะคู่ขัดแย้ง แต่เมื่อมีสัญญาณปรองดองจากทุกฝ่าย คอป.ก็จะต้องทำหน้าที่ต่อไป ข้อเสนอแนะที่คอป.จัดทำมา เสนอให้ทุกรัฐบาลไม่เฉพาะรัฐบาลประชาธิปัตย์ แต่รวมทั้งรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่จะเข้ามาบริหารประเทศ และเป็นข้อเสนอต่อคนไทยทุกคนด้วย ดังนั้นเราหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่หน่วยงานของรัฐและสังคมจะช่วยกันพิจารณาและนำข้อเสนอของคอป.ไปปฏิบัติ" นายสมชาย กล่าว


คอป.กางบัญชี "91 ศพ" เจ็บนี้...ต้องชำระ!

สัมภาษณ์พิเศษ โดย พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์
จาก มติชนออนไลน์

(ที่มา หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 2 มีนาคม 2554)

 

"ผม เชื่อว่าที่สุดก็อาจต้องให้อภัยกัน แต่ทุกฝ่ายต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้ ความขัดแย้งไม่ใช่จะแก้กันได้ง่ายๆ แต่จากนี้ไปความรุนแรงเหล่านี้จะเริ่มน้อยลง เพราะทุกฝ่ายรู้แล้วว่าความรุนแรงเป็นต้นเหตุความเจ็บปวด"

เมื่อแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) 7 คน ถูกปล่อย หลายคนคิดว่า "ฝันร้าย" จากเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 ใกล้มาถึงจุดสิ้นสุด

และแม้บทบาทของ "คณิต ณ นคร" ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ และค้นหาความจริงเพื่อความสมานฉันท์ (คอป.) ทั้งบนดิน-ใต้ดิน จะมีส่วนสำคัญ ทำให้แกนนำคนเสื้อแดงได้รับการประกันตัว

ทว่าภารกิจของ คอป. เหมือนเพิ่งเริ่มต้น..

"สมชาย หอมลออ" กรรมการและเลขานุการ คอป. อธิบายวิธีชำระความคับแค้น-คลุ้มคลั่ง-และคดีฆาตกรรม ในเหตุการณ์ความรุนแรงที่ผู้เสียชีวิต 91 ศพ และบาดเจ็บอีกราว 2 พันคน ว่าจะต้องใช้ "ความจริง" เยียวยาผู้เสียหาย พร้อมดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดอย่างไม่มีละเว้น

เขา เริ่มกล่าวว่า ขณะนี้สังคมเริ่มไขว้เขว เพราะผู้นำบางคนชักจูงให้ทุกฝ่ายลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แลกกับความสมานฉันท์ในบ้านเมือง แต่ขอยืนยันว่าทำแบบนั้นไม่ได้!

"เชื่อ หรือไม่ว่าในเหตุจลาจลปี 2553 แม้แต่ผู้ที่เคยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 บางคน ก็ยังมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างความขัดแย้งครั้งนี้ เพราะบาดแผลที่เขาได้รับ เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้เขาเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับเหตุการณ์ ดังนั้น การให้อภัย โดยบอกว่าลืมกันเสียเถิด มันเป็นไปไม่ได้"

เพราะ 35 ปีผ่านไป เหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังไม่ได้รับการ "ชำระ" ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร และใครควรรับผิดชอบ

วาทกรรม "ให้ลืมๆ กันไป" จึงไม่ใช่แค่การ "ซุกขยะไว้ใต้พรม" แต่เหมือนกับ "กอดระเบิดเวลาไว้กับตัว"

ในมุมมองของ "สมชาย" ยารักษาแผลใจที่เต็มไปด้วยความคับแค้นของทุกฝ่าย จึงไม่มีอะไรที่ดีไปกว่า "ความจริง"

อนุกรรม การตรวจสอบและค้นหาความจริงที่เขาเป็นประธาน จึงกำหนดวันรับฟังข้อมูลข้อเท็จจริง (Hearing) ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์-19 เมษายน 2554 เพื่อให้ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ ไม่ว่าฝ่ายทหาร ผู้ชุมนุม และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ มานั่ง "เปิดใจ" พูดถึงสิ่งที่ได้เห็น-ได้ทำ-ได้คิด ระหว่างเหตุการณ์รุนแรงเหล่านั้น

การเปิดเวทีรับฟังข้อมูลที่ผ่านมา ไม่เพียงพบสิ่งที่น่าสนใจ เช่น นายทหารยศ "พันเอก" ผู้คุมกำลังในเหตุการณ์ที่สี่แยกคอกวัว เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 กล่าว "ขอโทษ" ผู้ชุมนุม ที่อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดความสูญเสีย ยังทำให้ "คู่ขัดแย้ง" ได้มาร่วมโต๊ะเจรจา-ปรับทุกข์

ภาพความเอื้ออาทรระหว่างคนเสื้อเขียว-เสื้อแดง จึงปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกบนเวทีแห่งนี้

"สมชาย" มองว่าสิ่งที่ต้องทำควบคู่กับการค้นหาความจริง คือการเยียวยาผู้สูญเสียทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งไม่ใช่เพียงการให้เงินชดเชยเท่านั้น

"การเยียวยาที่ผู้เสีย หายได้รับปัจจุบัน เป็นเพียงมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายปกติเท่านั้น ทั้งที่ความสูญเสียดังกล่าว เกิดขึ้นในเหตุการณ์ไม่ปกติ ทำให้คน 500-600 คน ถูกกีดกันไม่ได้รับเงินชดเชย ดังนั้น คอป.จะทำเรื่องให้รัฐบาลเข้าไปแก้ปัญหานี้"

เขาพบว่า 1 ในวิธีเยียวยาที่สุดคือ "ท่าที" ของอีกฝ่าย ทั้งการแสดงความเสียใจ หรือการเอ่ยคำขอโทษ ซึ่งถึงวันนี้ยังไม่เคยได้เห็นพฤติกรรมดังกล่าวทั้งจากแกนนำผู้ชุมนุม หรือคนในรัฐบาล!

ซึ่งอาจเป็นเพราะคนที่จะกล่าวคำขอโทษได้ต้องรู้สึกว่าตัวเองรู้สึกผิดก่อน?

"เรื่อง ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่ความถูกหรือผิด ขาวหรือดำเท่านั้น ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ทุกคนมีส่วนร่วมไม่มากก็น้อย ความรู้สึกร่วมต้องมี ความเสียใจต้องมี แต่นักการเมืองจะต่างจากชาวบ้าน ที่จะทำอะไรมักคิดถึงผลทางการเมืองก่อน เชื่อไหมว่าถ้าปิดห้อง คนพวกนี้จะคุยกันอีกแบบ คุยกันเหมือนเพื่อน เพราะเขารู้จักกันหมด แต่พอไมค์จ่อปากจะพูด เพราะคิดว่าทุกอย่างเป็นคะแนนเสียงได้"

แน่นอนว่าภารกิจสำคัญที่สุดของ คอป.ยังได้แก่การหาคำตอบ-คลายปริศนา "91 ศพ" เกิดขึ้นได้อย่างไร

แม้ด้านหนึ่ง คอป.จะดูเหมือนทำงานคู่ขนานไปกับการสืบสวนสอบสวนหาคนผิดมาลงโทษของ "กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)"

แต่ อีกด้าน คอป.จะลงลึกกว่าดีเอสไอ เพราะดูไปถึง "มูลเหตุจูงใจ" ว่าการ "เหนี่ยวไก" เป็นเพราะอะไร คิดว่าอีกฝ่ายเป็นศัตรู? สถานการณ์บีบคั้น? ลั่นกระสุนเพื่อป้องกันตัว?

แม้ระบบกฎหมายของไทยดีพอสมควร แต่การนำไปใช้ยังเป็นปัญหา เป็นเหตุให้หลายๆ คดี "คนผิด ลอยนวล"

"ปัญหา ส่วนใหญ่คือกฎหมายของเราถูกบิดเบือน ผมทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมา พบปัญหาการบังคับใช้กฎหมายบ้านเราคือ แนวคิดที่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐทำผิดไม่ต้องรับโทษ ดังนั้นเรื่องกระบวนการยุติธรรม เราก็จะตรวจสอบด้วย เหมือนกรณีที่ดีเอสไอส่งสำนวนให้ตำรวจชันสูตรพลิกศพ 13 ศพ แต่ไม่มีความคืบหน้า คอป.ก็จะเข้าไปตรวจสอบ"

ส่วนถ้า "ชุดความจริง" ของ คอป.ออกมาไม่ตรงกับดีเอสไอ สังคมจะเชื่อข้อมูลฝ่ายใด เป็นเรื่องที่เขาตอบแทนไม่ได้

ส่วนท่าที คอป.ที่ดูเหมือน "แอบแดง" เข้าข้างผู้ชุมนุม ทำให้หน่วยงานรัฐบางหน่วยยึกยักในการให้ข้อมูล เขาเผยว่าที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากดีเอสไอในระดับ "ดี" จากทหาร "พอสมควร" แต่ "ไม่ได้รับ" จากตำรวจเลย

เป็นเหตุให้ คอป.ต้องฟ้องรัฐบาลให้ "กระตุ้น" ผู้ใต้บังคับบัญชา

ที่น่าแปลกคือผู้ชุมนุมบางส่วนก็ไม่ให้ความร่วมมือ เพราะถูก "กีดกัน" จากผู้มีอิทธิพล-นักการเมืองบางคน?

เมื่อถามว่าถึงนาทีนี้ คอป.สรุปได้หรือยังว่าความรุนแรงเกิดจากอะไร?

"บาง คนเชื่อว่ามีการวางแผน แต่หลายคนเชื่อว่าเป็นปฏิกิริยาปิงปอง แต่ผมคิดว่าอาจเป็นได้ทั้งปฏิกิริยาปิงปอง และมีความตั้งใจผสมอยู่ด้วย" เขาตอบ

เขา ยกว่าทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีความคับแค้นอยู่ในใจ ฝ่ายเสื้อแดงเคยถูกปราบช่วงสงกรานต์เลือดเมื่อปี 2552 จึงมาแก้แค้น ฝ่ายทหารก็เจ็บใจที่ถูกหยามศักดิ์ศรี ถูกบังคับให้กราบในเหตุการณ์ที่สถานีดาวเทียมไทยคม เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2553 ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่-กระชับวงล้อม มีคนเจ็บตายจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากภารกิจ "บนดิน" คอป.ยังมีภารกิจ "ใต้ดิน" ซึ่งน้อยคนจะรู้ โดยอาศัย "คอนเน็คชั่นพิเศษ" ของกรรมการบางคน เดินสายเจรจาให้ทุกฝ่ายเดินเข้าสู่การเลือกตั้ง

แม้ "สมชาย" จะปฏิเสธให้รายละเอียด "คณะทำงานลับ" โดยบอกเพียงว่า "วงเจรจามีหลายวง" แต่ก็ฉายให้เห็นว่าการทำงานของ คอป.นั้น "ไม่ธรรมดา"

ทว่า ด้วยอำนาจที่มีเพียง "ค้นหาความจริง" ตามเป้าหมาย "เพื่อความสมานฉันท์" หลายฝ่ายจึงปรามาสว่า คอป. เป็นเพียงองค์กรปาหี่-ที่ตั้งมาเพื่อฟอกความผิดให้รัฐบาล?

เขาชี้แจง "ข้อครหาฉกรรจ์" ว่าแม้ คอป.จะไม่มีอำนาจสั่งลงโทษใคร แต่กระบวนการค้นหาความจริงที่ทำอย่างเปิดเผย จะทำให้สังคมไทยเกิดการเรียนรู้

"ผม เชื่อว่าที่สุดก็อาจต้องให้อภัยกัน แต่ทุกฝ่ายต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้ และยอมรับความจริงก่อน ความขัดแย้งในเมืองไทยเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่จะแก้กันได้ง่ายๆ อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี แต่จากนี้ไปความรุนแรงเหล่านี้จะเริ่มน้อยลง เพราะทุกฝ่ายรู้แล้วว่าความรุนแรงเป็นต้นเหตุความเจ็บปวดของทุกฝ่าย"

ถือเป็นเป้าหมายสูงสุดของ "9 อรหันต์ คอป." ที่จะไม่ให้เหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นอีก!!!


คณิต ณ นคร พูดถึงการนิรโทษกรรมทักษิณ ถ้าถูลู่ถูกังก็คงทำได้”

จาก ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทยไทย เพื่อการขยายการรับรู้และการมีส่วนร่วม
เขียนโดย พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์
วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน 2011 เวลา 14:51 น

ในฐานะคนกลาง ที่ถูกตั้งมาเพื่อเป็น “กรรมการห้ามมวย และสร้างกติกาชาติที่มีชื่อว่า ความปรองดอง

ความเห็นของผู้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการชื่อยาวอย่าง “คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.)” ต่อความขัดแย้งที่ยังดำรงอยู่ในสังคมไทยเวลานี้ จึงยังน่าสนใจอยู่

และยิ่งเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ เรื่องการอภัยโทษ-นิรโทษกรรม ที่ฝ่ายการเมืองหยิบไปช่วงชิงคะแนนเสียงในช่วงโค้งสุดท้าย ก่อนการเลือกตั้ง ในวันที่ 3 ก.ค.ด้วยแล้ว

ก็ยิ่งทำให้ความเห็นของอดีตอัยการสูงสุดที่ชื่อ “คณิต ณ นคร” ต่อการนิรโทษกรรมอดีตนายกฯที่ชื่อว่า “ทักษิณ ชินวัตร” ยิ่งน่าค้นหา

เพราะมีความเป็นไปได้สูงว่าประเด็นดังกล่าว อาจเป็นที่ถกเถียงต่อไปอีกหลายปีข้างหน้า

ขอเรียกน้ำจิ้มด้วยคำตอบต่อประเด็นร้อนดังกล่าวของกูรูกฎหมายรายนี้ว่า “ถ้าถูลู่ถูกังก็คงทำได้”!

..เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? ขอเชิญติดตาม ที่มาพร้อมกับข้อเสนอในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ที่เขามองว่า “คนซื่อบื้อ” ทำให้บุญเก่าวงการตาชั่งเริ่มหมดไป..

@ความเป็นมาของการนิรโทษกรรมในกระบวนการยุติธรรมไทย

ถามอย่างนี้ตอบยาก บ้านเรามันยังไม่แน่นอน นิรโทษกรรมกับอภัยโทษ เรายังปนเปกันไป

@มันต่างกันยังไง

เวลาเขามีการยึดอำนาจ เขาก็มีการนิรโทษกรรมการกระทำไม่ให้ผิดกฎหมาย ส่วนการอภัยโทษ คือเมื่อศาลลงโทษอะไร สามารถขออภัยโทษได้ แต่การอภัยโทษเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ หลักก็มีอยู่แค่นี้

@นายกรัฐมนตรีบอกว่าผู้ที่จะนิรโทษกรรมคือต้องรับผิดส่วนหนึ่งก่อน

ไม่ อย่างเวลามีการยึดอำนาจ คณะผู้ยึดอำนาจก็จะออกกฎหมายมาว่า การกระทำดังกล่าวไม่มีความผิด เพราะได้รับการล้างมลทินแล้วมันเป็น Practice (การปฏิบัติ) บ้านเรามากกว่า เพราะที่อื่นเขาไม่มีการยึดอำนาจ

@ในต่างประเทศมีคำนี้ไหม
มันก็มี เขาเรียกว่า Amnesty (นิรโทษกรรม) ซึ่งเท่าที่รู้ เขาไม่ค่อยใช้ เพราะประเทศเขา มันไม่มีการยึดอำนาจ แอมนาสตี้ แอมนาสแต้ มันไม่มีหรอก มีแต่การอภัยโทษ เช่นคนที่ศาลตัดสินให้จำคุกไปอยู่ในเรือนจำ แล้วก็มีการออกพ.ร.บ.อภัยโทษมา มันเป็นมาตรการในทางราชทัณฑ์มากกว่า ที่จะพยายามปลดปล่อยผู้ต้องขัง โดยใช้วิธีการลดโทษให้ เช่นถ้าประพฤติตัวดี เป็นนักโทษชั้นดี เขาก็จะลดให้ ถ้าเป็นชั้นเลว เขาก็ไม่ให้เรา จะเห็นได้ว่าคนที่ถูกพิพากษาให้จำคุก ไม่ค่อยได้รับโทษจำคุกตรงตามคำพิพากษา เช่นถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต อยู่ไม่นานก็ได้ออก

@เพราะสภาพในเรือนจำบ้านเรามันหนาแน่นเกนิไป

ก็เป็น จุดหนึ่งมันแน่นเกินไป คุณสังเกตเวลาเขามีวันเฉลิมพระชนมพรรษา เขาก็จะออกกฎหมายอภัยโทษ ของเราไม่ค่อยมีหลักเกณฑ์ เพราะจริงๆคนที่จะอภัยโทษได้ต้องประกอบคุณงามความดี จนเชื่อมั่นว่าจะไม่กลับมาทำผิดอีก แต่ของเรามันเป็นการลดประชากรในเรือนจำ ผมเคยอ่านเจอในหนังสือพิพม์ว่า คุกของเรามันหนาแน่นที่สุดเป็นอันดับที่ 8 ของโลก เพราะมีจำนวนนักโทษ 243,400 คน จากจำนวนทัณฑสถานทั่วประเทศ 143 แห่งที่มีความจุจริงๆแค่ 105,748 คน สองเท่ากว่า เพราะสภาพอย่างนี้ พอถึงเทศกาลต่างๆ ถึงปล่อยออก นอกจากนี้ตามระเบียบกรมราชทัณฑ์พื้นที่ของผู้ต้องขังต้องมีอย่างน้อย 2.5 ตร.ม.ต่อ 1 คน ให้พอนอนได้ แต่การที่มันล้นมากทำให้เหลือแค่ 1.1 ตร.ม.ต่อ 1 คน แปลว่าถ้าจะนอนได้ ก็ต้องตะแคง

@จึงต้องอภัยโทษเพื่อแก้ปัญหาที่ว่า

เฉพาะของเรา เมืองนอกใช้วิธีบริหารงานราชทัณฑ์ การแก้ปัญหาคนล้นคุกต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย ตอนผมกลับจากเมืองนอกใหม่เมื่อปี 2520 มีอธิบดีกรมราชทัณฑ์คนหนี่งบอกว่า ทุกวันท่านมีกำไรอยู่ 500 เพราะทุกวันจะมีผู้ต้องขังเข้าเรือนจำ 1,500 คน แต่ท่านสามารถปล่อยให้พ้นโทษได้ 1,000 คน ทำให้เหลือแหม่ะไว้ 500 คน เป็นกำไรที่ท่านไม่อยากได้ และผมเคยฟังว่าตำรวจ อัยการ ศาล นักวิชาการพูดยังไงเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้าง ปรากฎว่าเงียบหมด บอกว่าธุระไม่ใช่ เรื่องของคุณ! ทั้งที่ความจริงต้องธุระด้วยกัน ต้องช่วยกันแก้ การจะลดผู้ต้องขังมีหลักการของมัน เช่นถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็สั่งไม่ฟ้อง ชะลอการส่งฟ้อง หรือทำสมานฉันท์ได้ ทั้งในชั้นตำรวจ อัยการ และศาล แต่ทำกันแล้ว มันไม่ร่วมมือกันจริง

@ย้อนกลับไป แปลว่าการนิรโทษกรรมในไทย ที่ผ่านมาใช้กับคณะผู้ยึดอำนาจเพียงอย่างเดียว

เท่าที่ผมเห็น ที่อื่นไม่มี ยังไม่เคยได้ยินว่าสถาผู้แทนราษฎรจะออกกฎหมายแบบนี้สำเร็จ

@อาจจะเคยมีใครพยายามแต่อาจไม่สำเร็จไหม

ไม่แน่ใจว่ามีหรือเปล่า

@ทำไมช่วงเหตุการณ์ขัดแย้งที่ผ่านมาถึงมีคนพูดเรื่องการออกกฎหมายนิรโทษกรรม

มัน เป็นเรื่องการเมือง ถ้าถูลู่ถูกังก็คงทำได้ แต่จริงๆแล้วการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หลักคือต้องฟังเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่ต้องเคารพเสียงข้างน้อยด้วย ไม่ใช่ถือว่าคุณมีเสียงข้างมากแล้วถูลู่ถูกกังไป มันไม่ใช่ อย่างสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เขาอยากจะทำอะไรก็ทำหมด อย่างเนี้ยเรียกว่าถูลู่ถูกัง เข่นการแก้ประมวลกฎหมายอาญาในความผิดฐานก่อการร้ายโดยพ.ร.ก.แทนที่จะออกมา เป็นพ.ร.บ.เพื่อให้รัฐสภาได้พิจารณา ทั้งที่จริงๆ พ.ร.ก.ใช้กับเรื่องเร่งด่วน เช่นเรื่องภาษี แต่คุณทักษิณก็ทำ พอทำไปก็มีคนคัดค้าน ร้องว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน แต่ศาลรัฐธรรมนูญในขณะนั้นไปยอมรับว่า เร่งด่วน ทำได้

@การเลือกตั้งครั้งนี้พรรคเพื่อไทย (พท.) เสนอนิรโทษกรรมผู้ชุมนุมทุกสี ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ก็เสนอนิรโทษกรรมคดีการเมืองปล่อยบ้านเลขที่ 111+109

ผมถึงบอกว่าบ้านเมืองเรามันไม่มีหลัก

@ต่างฝ่ายต่างก็อ้างว่าเพื่อสร้างความปรองดอง

ปรองดองคืออะไร เห็นเหมือนกันหรือเปล่า ผมก็ไม่รู้

@ความหมายของอาจารย์คือ

เราต้องอยู่กันได้โดยสันติ แม้จะมีความเห็นแตกต่างกัน เพราะสังคมที่เห็นทางเดียวกันมันไม่มีหรอก คุณกับผมก็เห็นต่างกัน แต่อยู่กันได้ อยู่กันอย่างสันติ ด้วยความสงบ ในอดีตก็เป็นอย่างนี้ แต่ขณะนี้กลายเป็นว่าความเห็นที่ต่างกลายเป้นเรื่องที่ฟาดฟันกัน ซึ่งไม่ถูกเรื่อง

@นักการเมืองเลยเสนอว่าต้องยกโทษให้ จะได้เลิกตีกัน

มันก็พูดได้..แล้วแต่

@แต่คนที่ค้านก็บอกว่าเท่ากับไม่เคารพกระบวนการยุติธรรม

มันเป็นเรื่องการเมือง ผมตอบไม่ได้ เขาอยากจะทำอะไร ถ้ามีเสียงข้างมาก คิดว่าถูลู่ถูกังทำได้หรือเปล่า ถ้าทำได้ ก็ไม่ดี ถูกไหม

@คนเสื้อแดง พท. และพ.ต.ท.ทักษิณอ้างว่ากระบวนการยุติธรรมที่ผ่านมา เป็นสองมาตรฐาน จ้องเล่นงานพวกเขา ดังนั้นหากจะสร้างความปรองดอง ควรจะล้างคดีที่ติดตัวอยู่ไห้หมด บ้านเมืองถึงจะเกิดการปรองดอง

ไม่รู้เขาจะยอมกันหรือเปล่า คนในสังคมเขาจะยอมกันหรือเปล่า อยู่ๆจะเอาให้เจ๊ากัน ยอมกันหรือเปล่า ผมไม่รู้

@ถ้าพท.ชนะเลือกตั้งก้จะนำไปอ้างว่าคนส่วนใหญ่ยอมเพราะชูประเด็นนี้มาแต่แรก

ผมว่าคนในสังคมเรามีความผิดทางในทางอำนาจนิยม ทำงานกันโดยไม่ดูกติกา เอาเสียงข้างมากเข้าไปใช้จนเกิดขอบเขต โดยไม่เคารพเสียงข้างน้อย

@การเมืองเข้ามายุ่งกับทุกๆเรื่องและเข้ามาแตะกระบวนการยุติธรรมด้วย

กระบวน การยุติธรรมไม่ใช่สร้างขึ้นมาทันที ดังนั้นคนในกระบวนการยุติธรรมต้องระมัดระวัง การใช้กฎหมายควรจะใช้เพื่อแก้ปัญหา ไม่ใช่ใช้เพื่อเอาผิดเอาถูกอย่างเดียว บางทีผิดถูกมันอาจจะไม่แก้ปัญหาก็ได้ ผมเคยยเสนอตอนที่ฮึ่มๆกันว่า ที่มั่วสุมกันเกิน 10 คนมันผิดกฎหมายอาญา จะแบ่งยังไงว่าเป็นสิทธิในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเราต้อง Select (คัดเลือก) อย่างมาก ก่อนจะฟ้องจะต้องคิดแล้วคิดอีก ถ้าเราฟ้องหมดมันก็ไม่ดี ผมจึงเสนอว่าอัยการน่าจะสั่งไม่ฟ้องทั้งหมด

@ทำไม?

ตอนนี้มันทะเลาะกันในสังคม ถ้ารู้จักทำมันจะแก้ปัญหาและช่วยให้เกิดการปรองดองด้วย แต่ถ้าไม่แยกแยะ ผิดเป็นฟ้องๆ มันไม่ใช่ การฟ้องบางทีอาจจะไม่เกิดประโยชน์ก็ได้ แต่คนในกระบวนการยุติธรรมเราไม่ค่อยคิดเรื่องนี้ โดยเฉพาะตำรวจ อัยการ ชอบยึดหลักคือผิดว่าไปตามผิด มันอาจจะผิดในมิติหนึ่ง แต่ต้องดูบริบทของสังคมด้วย

@มีคดีไหนที่ทำให้บรรยากาศบ้านเมืองดีขึ้น เพราะช่วงหลังไม่ว่าคดีไหนมีผลออกมาก็จะมีทั้งเสียงเห็นด้วยและคัดค้าน

สมัย ที่มีการฆ่ากันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2519 มีการจับนักศึกษษไปขังเป็นพันคน ในข้อหามั่วสุมเกิน 10 คน แต่อาจารย์ประเทือง กีรติบุตร อธิบดีกรมอัยการสมัยนั้น สั่งไม่ฟ้องหมดเลย รัฐบาลพล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ก็มาอภัยโทษให้ ทำให้พวกที่อยู่ในป่าออกมา บ้านเมืองจึงสงบ จนถึงรัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก้มีคำสั่งสำนักนายกฯที่ 66/23 ทำให้ทุกอย่างคลี่คลาย

@ความวุ่นวายปี 2553 จะใช้โมเดลการแก้ปห.เมื่อปี 2519 มาทำให้สงบได้ไหม

มัน ต้องอาศัยหลายฝ่าย เหมือนหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯที่อัยการถือว่าเป็นส่วนสร้างความปรองดองในชาติ การชุมนุมในปัจจุบัน ถ้าเป็นไปโดยสงบและเปิดเผย มันทำได้ตามรัฐธรรมนูญ ความผิดฐานชุมนุมเกิน 10 คน การดำเนินคดีของอัยการชอบที่จะต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่ความผิดร้ายแรง ถ้าฟ้องหมดก็จะไม่แก้ปัญหา ผู้ที่เป็นนักกฎหมายจะต้องไม่ลืมว่า กฎหมายมีไว้สำหรับแก้ปัญหา แต่หากการใช้กฎหมายไม่ช่วยแก้ปัญหา ก็จะเป็นปัญหาของตัวกฎหมายหรือนักกฎหมาย อัยการมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ จึงสามารถใช้ดุลยพินิจในการสั่งไม่ฟ้องได้ เนี่ย ผมเขียนเตือนไว้ก่อนเหตุการณ์ แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครเอา ทั้งที่กระบวนการยุติธรรมถ้าใช้กฎหมายถูก ก็จะแก้ปัญหาได้ แต่เราก็ซื่อบื้อกัน ทำไปตามที่ยึดแค่ว่ามันผิดหรือถูกกฎหมาย

@แต่หลังเหตุการณ์เม.ย.-พ.ค.2553 กลายเป็นว่ายิ่งใช้กฎหมายกันหนักข้อขึ้น ทั้งคดีก่อการร้าย วางเพลิง ผิดพรก.

มัน กลายเป็นตรงข้ามกับที่ผมแนะนำ ถ้าเราแยกแยะดีๆ มันจะช่วยแก้ปัญหา เหมือนกรณี พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ อดีตส.ว.กทม.ไปต่อส.ว.อีกคนในสภา การที่คุณประทินเป็นผู้ใหญ่ ไปทำอย่างนั้น สังคมก็ตำหนิ ถ้าคุณไปฟ้องคุณประทิน ก็ได้เพียงแค่คำพิพากษามาเท่านั้น ไม่มีประโยชน์อะไรเลย แถมยังทำให้คดีรกโรงศาล หรือคดีผู้หญิงขโมยซาลาเปาไปเลี้ยงลูก มันผิดนะ แต่ทำไมเขาไม่ฟ้อง เพราะมันไม่เป็นประโยชน์

@ข้อเสนอของอาจารย์คือให้สั่งไม่ฟ้องเฉพาะคดีชุมนุมเกิน 10 คน

ถ้า คนกลุ่มนี้ไปก่อคดีอะไรที่มีโทษหนัก ไม่ใช่ว่าจะไม่สั่งฟ้องด้วย ต้องแยกแยะแต่ละกรณีไป บางกรณีอาจจะจำเป็น เพื่อแสดงความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย บางคดีอาจไม่ฟ้องได้ ผมถึงบอกว่าการเป็นตร.อัยการ จริงๆแล้วเป็นงานหนัก มันต้องคิดอย่างนี้ แต่ถ้าคุณไม่คิดอย่างนี้ งานคุณมันก็เบา ผิด ฟ้อง ไม่ผิด ไม่ฟ้อง เขาไมได้ต้องการอย่างนั้น เขาต้องการวุฒิภาวะที่สูง ไม่ใช่ว่าลักทรัพย์ 100 บาท ต้องจำคุก 1 เดือนอย่างเดียว มันไม่ใช่ คนที่ลักทรัพย์ คนหนึ่งกับอีกคนหนึ่ง สถานการณ์ไม่เหมือนกัน ความจำเป้น ความเป็นมาของชีวิต พวกเราใช้กฎหมายเถรตรงไปหน่อย มันก็ก่อปห.

@บางสถานการณ์อาจจะดี

เราต้องคิดมากกว่าปกติ แต่ของเรานี้ ปฎิบัติยังไงก็อย่างงั้น ไม่ใช่ว่ากฎหมายมันเสีย มันเป็นเรื่องของคน กฎหมายมันดี มีทางออกเยอะแยะ แต่คนมันไม่แยกแยก พอไม่แยกแยะมันทำงานสบายไง เรื่องเข้ามาเท่าไร ก็ว่าไปเท่านั้น ศาลจะลงโทษเท่าไรก็เรื่องของศาล ราชทัณฑ์จะล้นเท่าไรก็เรื่องของเขา มันต้องมองภาพรวม

@แปลว่าอัยการต้องมีดุลยพินิจ

ที่ผ่านมาอัยการไทย จะดูแค่ว่าเข้าตัวบท ถูกขั้นตอน ก็จะส่งฟ้องทันที ซึ่งมันไม่ใช่ อย่างนั้นใครก็เป็นได้ แต่การสั่งไม่ฟ้อง ต้องอธิบายได้ ไม่ใช่ว่าคุณกับผมรู้จักกันเลยสั่งไม่ฟ้อง เพราะเรื่องนี้มันเซ้นสิทีฟ อย่างกรณีพล.ต.อ.ประทิน ผมจะเขียนว่าคุณประทินเป็นผู้ใหญ่ ไปทำอย่างนั้น สังคมก็มองว่าไม่ดีอยู่แล้ว การฟ้องอาจไม่เกิดปย.ต่อส่วนรวม มันต้องอธิบายได้ ส่วนคนจะเห็นด้วยหรือไม่ เป็นอีกเรื่อง

@มองว่าการแยกแยะคดีจะทำให้เกิดความปรองดองมากกว่าไปนิรโทษกรรมหรืออภัยโทษ

นี่ คือหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรม หน้าที่ของอัยการ ศาล แม้จะผิดจริง แต่อาจให้รอการลงโทษได้ หรือให้รอการกำหนดโทษ คุมประพฤติได้ มันมีวิธีตั้งเยอะแยะ แต่เราไม่ค่อยใช้ ถ้าผิดต้องจำคุก มันก็ไปล้นเรือนจำ


หนุนใช้คอป.ทำงานปรองดอง
จาก เดลินิวส์ออนไลน์
วันอังคาร ที่ 28 มิถุนายน 2554 เวลา 11:10 น

เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการเสวนาวิชาการเรื่อง “องค์กรและกระบวนการปรองดอง หลังเลือกตั้ง” โดยกล่าวว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่เรื่องการเมือง แต่หยั่งรากลึกเป็นความขัดแย้งระดับประเทศ แนวทางสร้างความปรองดองจึงไม่ได้อยู่ที่ 2 พรรคการเมืองใหญ่ จะรวมกันได้หรือไม่ แต่ขึ้นอยู่กับการแก้ไขความแตกแยกของสังคม จึงขอสนับสนุนแนวทางสร้างความปรองดองโดยให้องค์กรที่มีภาพลักษณ์ที่ทุกคนยอม รับได้ อย่างคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เข้ามาทำหน้าที่ผลักดันความปรองดอง เพราะมีคุณสมบัติที่สอดคล้องกับการสร้างความปรองดอง 5 ข้อหลัก คือ ไม่เป็นคู่ขัดแย้งกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ทุกฝ่ายให้การยอมรับและวางใจ มีสาระทางวิชาการ มีการยอมรับผลการทำงาน และยอมรับจากสากล สำหรับกระบวนการทำงานหลังเลือกตั้ง ไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะได้เป็นรัฐบาล คอป.ต้องเข้าไปพบทุกพรรค ทุกกลุ่ม เพื่อสอบถามถึงแนวคิดความปรองดองแต่ละกลุ่ม จากนั้นจึงนำข้อเสนอมาวิเคราะห์หาจุดร่วม และเริ่มสร้างความปรองดองจากจุดที่แต่ละกลุ่มมีความเห็นตรงกัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าสามารถทำได้จริง ส่วนจุดต่างที่เหลือสามารถหาบุคคลที่เหมาะสมไปเจรจาหาข้อยุติ โดยไม่ควรสร้างเงื่อนไขต่อรองล่วงหน้า.


ดอกไม้และก้อนอิฐ ส่งถึง คปร.-คอป
จากไทยโพสต์
บทบรรณาธิการ    30 กรกฎาคม 2553 - 00:00

 เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายตามมาทั้งเชิงเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย กับข้อเสนอของสองคณะกรรมการที่เกิดขึ้น  หลังเหตุการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่าน มา
     นั่นก็คือ ข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศชุดอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เสนอเป็นมติของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศที่เสนอให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องทำการยกเลิกการประกาศและบังคับใช้พระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการ ประกาศใช้ในช่วงที่มีการแถลงข่าวท่าทีของกรรมการปฏิรูปประเทศ 16 จังหวัด โดยหลังข้อเสนอดังกล่าวมีการประกาศออกมาก็ไม่มีเสียงตอบรับจากนายอภิสิทธิ์ มากนัก ก่อนที่ต่อมาจะเกิดเหตุการณ์ระเบิดหน้าห้างบิ๊กซี ราชดำริ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม 2553
     จนทำให้มีผู้เสียชีวิตหนึ่งคนและบาดเจ็บอีกนับสิบคน จึงยิ่งทำให้สังคมส่งเสียงไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินมากนัก เพราะเห็นว่าขนาดกรุงเทพมหานครยังคงมีการใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ยังเกิดเหตุรุนแรงมีการระเบิดกลางเมืองหลวงเช่นนี้ หากยิ่งยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สถานการณ์จะไม่ยิ่งรุนแรงมากขึ้นหรือ
     อีกทั้งเห็นว่าหลายเดือนที่ผ่านมาที่กรุงเทพมหานครใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ก็ไม่ได้มีผลกระทบใดๆ ต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของคนกรุงเทพฯ แต่อย่างใด จึงมีสุ้มเสียงไม่เห็นด้วยกับการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินมากนัก แต่หลายจังหวัดที่ยังไม่มีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และพบว่าไม่มีสถานการณ์รุนแรงใดๆ ในพื้นที่ ประชาชน นักธุรกิจ หอการค้า ต่างก็เห็นด้วยกับข้อเสนอให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
     ส่วนอีกหนึ่งข้อเสนอที่ทำให้เกิดการพูดถึงตามมาอยู่ในเวลานี้ก็คือ ข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ชุดคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุดที่เสนอให้ยกเลิกการตีตรวนจำเลยที่ถูกคุมขังเพราะเป็นการ ละเมิดสิทธิมนุษยชน
     ซึ่งเป็นข้อเสนอของ คอป.ที่เกิดขึ้น หลังกรรมการเห็นภาพแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่เดินทางมาขึ้นศาลแล้วมีโซ่ตรวนติดอยู่ที่ขา ซึ่งมีการเผยแพร่ภาพออกไปผ่านสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศ
     หลังข้อเสนอดังกล่าวของ คอป.ถูกจุดประเด็นขึ้น ก็มีการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมไม่น้อย เช่น การตีตรวนดังกล่าวเกิดขึ้นมานานแล้วหลายสิบปี อีกทั้งตัวนายคณิต ณ นคร ก็เป็นอดีตอัยการสูงสุด อดีตอัยการที่ทำงานมาหลายสิบปีที่เป็นผู้รับผิดชอบในการสั่งฟ้อง ยื่นฟ้องดำเนินคดีกับผู้ต้องหา จำเลยในคดีความผิดอาญา ซึ่งก็มีการตีตรวนดังกล่าวที่เป็นเรื่องของการป้องกันไม่ให้นักโทษหลบหนีการ ถูกควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์
     แล้วเหตุใดในช่วงที่นายคณิตเป็นอัยการจึงไม่ออกมายื่นข้อเสนอดังกล่าวในฐานะ ที่อัยการเป็นหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมที่สำคัญในการชี้ถูก ชี้ผิด สั่งฟ้องคนกระทำผิดให้ตกเป็นจำเลยต่อศาลยุติธรรม เหตุใดนายคณิตจึงมาเสนอแนวคิดดังกล่าวต่อรัฐบาล กระทรวงยุติธรรมและสังคม หรือว่าเป็นเพราะ  คอป.คิดจะใช้เรื่องนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการทำให้คนเสื้อแดง แกนนำเสื้อแดง เครือข่ายเสื้อแดงให้การยอมรับการทำงานของ คอป. เลยใช้เรื่องนี้มาเสนอต่อรัฐบาลโดยใช้เรื่องที่สื่อนำเสนอภาพนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.ถูกตีตรวนเดินขึ้นศาล เพราะ คอป.รู้ดีว่าคนเสื้อแดงไม่ให้การยอมรับการทำงานของ คอป.มาตั้งแต่เริ่มต้น และคงไม่ยอมรับผลการทำงานของ คอป.แน่นอน ไม่ว่าจะสรุปผลการทำรายงานออกมาอย่างไร ทั้งที่การทำงานของ คอป.ที่ถือเป็นงานเฉพาะกิจเร่งด่วนเพื่อคลี่คลายและลดปัญหาความขัดแย้งภายใน ประเทศรวมถึงค้นหาความจริงในเหตุการณ์สลายการชุมนุมของรัฐบาลต่อคนเสื้อแดง เมื่อ 10 เมษายน 2553 และในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อันเป็นสิ่งที่ประชาชนกำลังจับตาอยู่รวมถึงประชาคมโลกและสื่อมวลชนต่าง ประเทศ คอป.จึงควรเร่งทำงานด้านนี้ไปก่อนไม่ใช่มาเสนอแนวคิดเรื่องนี้
     ซึ่งก็มีท่าทีจากคนในรัฐบาลต่อข้อเสนอดังกล่าวตามมาหลากหลาย เช่น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ที่ย้ำว่าคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่รัฐบาลแต่งตั้งขึ้น เมื่อเขามีความคิดเห็นอย่างไร  รัฐบาลต้องเคารพและรับฟัง เอามาพิจารณาดูว่าปฏิบัติได้หรือไม่ได้อย่างไร ถ้าปฏิบัติได้ก็ทำ แต่ถ้าไม่ได้ต้องชี้แจงเขาว่ามีอะไรที่เป็นปัญหาอุปสรรค
     อันสรุปได้ว่ารัฐบาลเองก็ยังมองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนอะไรที่จะ ไปรับลูก คอป. อย่างไรก็ตาม การทำงานของ คอป.ในช่วงที่ผ่านมา ได้ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ว่ากรรมการ คอป.กำลังวางกรอบการทำงานของตัวเองกว้างไกลเกินไปและทำงานแบบเหวี่ยงแหมาก เกินไปจนทำให้สุดท้ายอาจไม่ได้อะไรเลยกับการทำงานของ คอป. หากยังหลงประเด็นและไม่ชัดเจนในกรอบการทำงานของตัวเอง
     จากกรณีกรรมการปฏิรูปประเทศในเรื่องข้อเสนอให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ คอป.ที่เสนอให้ยกเลิกการตีตรวนนักโทษ จึงมีทั้งดอกไม้และก้อนอิฐจากผู้คนในสังคมพอสมควร อันเป็นสิ่งที่กรรมการทั้งสองชุดก็ควรต้องเปิดใจกว้างรับฟังด้วยว่า สังคมคิดและรู้สึกอย่างไร เพื่อทำให้การทำงานของกรรมการดีขึ้นและสังคมยอมรับเมื่อถึงวันสุดท้ายของการ ทำหน้าที่.

 

 


คณิต ณ นคร ชำแหละกลไกยุติธรรม "ตำรวจ-อัยการ-ศาล"
จาก มติชนออนไลน์
โดย หทัยรัตน์ พหลทัพ และ อริน เจียจันทร์พงษ์

สัมภาษณ์พิเศษ
    "...การ ใช้กฎหมายไม่อยู่กับร่องกับรอย นักกฎหมายเดี๋ยวนี้ก็ถูกสังคมมองไม่ค่อยดี ผมเคยปรารภ...ว่าสถาบันการศึกษากฎหมายต้องทบทวนว่า ทำไมคนไม่เชื่อฟัง ตีความคนละอย่างสองอย่าง"
    สภาพบ้านเมืองในรอบปีที่ ผ่านมา มีความวุ่นวายไร้ระเบียบ ส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายไม่สามารถทำได้เต็มเม็ด เต็มหน่วย แถมยังมีการใช้กฎหมายมาเป็นเครื่องมือจัดการกันทางการเมือง
    ปัญหา ของระบบกระบวนการยุติธรรมในภาวะที่สังคมแยกออกเป็นสองขั้วสองฝ่าย ต่างฝ่ายต่างมองด้วยสายตาที่เป็นอคติ มองว่ากระบวนการยุติธรรมเอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เป็นปัญหาที่หมักหมมมาตั้งแต่สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เรื่อยมาถึงรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์
    จน เมื่อมาถึงรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งรับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และมีแนวคิดที่จะตั้งกลไกพิเศษเพื่อมาหาทางออกให้กับเรื่องเหล่านี้
    ศ.ดร.คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด และ "อาจารย์ปู่" ด้านกฎหมายอาญาและกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของหลายสถาบันการศึกษามายาวนาน และเขาคือผู้หนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทยรวมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะปลีกตัวออกมาเมื่ออุดมการณ์ทางการเมืองไม่ตรงกัน
    ล่าสุดเมื่อเกิดเหตุการณ์เลือด 7 ตุลาคม 2551 ที่บริเวณหน้ารัฐสภา ก็ได้รับการติดต่อจากรัฐบาลให้เข้าไปเป็นคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงใน เรื่องที่เกิดขึ้น แต่เจ้าตัวก็ปฏิเสธที่จะเข้าไปรับเผือกร้อนอันนั้น
    ปัจจุบัน "อาจารย์คณิต" เป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
    "มติ ชน" ได้มีโอกาสปิดห้องพูดคุยกับ "อาจารย์คณิต" เพื่อวิพากษ์ปัญหาของกระบวนการยุติธรรมไทย ที่มีความน่าเป็นห่วง เพื่อที่หน่วยงานในส่วนกระบวนการยุติธรรมจะขบคิดปรับปรุง เพื่อให้เป็นหลักที่มั่นคงอยู่ในสังคมต่อไปได้ในอนาคต
    - การบังคับใช้กฎหมายในรอบปีที่ผ่านมา ในส่วนกระบวนการยุติธรรมโดนตั้งคำถามจากสังคมที่ไม่สามารถดำเนินการให้บ้าน เมืองสงบเรียบร้อยได้
    ปัญหาในบ้านเมืองเรา ผมมองว่า เรามีปัญหาด้านกฎหมาย คือการบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ และมีปัญหานักกฎหมาย ทั้งตำรวจ อัยการ ศาล นักวิชาการด้านกฎหมาย ที่ไม่ได้ลงลึกในรากเหง้าหรือรากฐานของกฎหมายเพียงพอ สอนให้จำในทางปฏิบัติ นักกฎหมายก็ทางปฏิบัติทำอย่างไรก็ทำกัน ซึ่งไม่เคยคิดว่ามันถูกหรือไม่ ทำให้ดีกว่านี้ได้หรือไม่ ทำให้การตีความกฎหมาย การใช้กฎหมายไม่อยู่กับร่องกับรอย นักกฎหมายเดี๋ยวนี้ก็ถูกสังคมมองไม่ค่อยดี ผมเคยปรารภกับ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าสถาบันการศึกษากฎหมายต้องทบทวนว่า ทำไมคนไม่เชื่อฟัง ตีความคนละอย่างสองอย่าง
    ประการ ที่สอง ผมคิดว่า เรายังเข้าใจกฎหมายไม่ลึกซึ้งพอ การบังคับใช้กฎหมายก็เลยสะเปะสะปะ ตัวอย่าง เราเข้าใจว่า ข้อหาคือฐานความผิด ความจริงข้อหาไม่ใช่ฐานความผิด แต่เป็นการกระทำที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งก่อขึ้น การแจ้งข้อหาต้องแจ้งว่า เขาทำอย่างนี้แล้วผิดอะไร แต่ของเราไม่ได้แจ้งว่า เขาทำอย่างนี้ แต่ไปบอกว่าเขาผิดอะไร พอผิดอะไรแล้วมันก็ยิ่งผิด ก็เกิดปัญหาเพราะคนที่จะต่อสู้คดีเขาไม่รู้ เช่น ไปหาว่ากลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นกบฏ เขาทำอะไรบอกเขาหรือเปล่า ก็ไม่ได้บอก ไม่รู้ว่าเหตุนี้หรือไม่ที่การออกหมายของศาลขัดแย้งกัน ศาลอาญาออกให้ในข้อหาที่เราเข้าใจว่ากบฏซึ่งความจริงไม่ใช่ พอเขาอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็กลับ การที่เราไม่เข้าใจกฎหมายลึกซึ้งพอมันบั่นทอนความเชื่อถือของกระบวนการ ยุติธรรม ตอนนี้ผมก็ยังมีความรู้สึก เอ! ทำไมศาลมากลับกันเองในเรื่องออกหมายจับ เข้าใจตรงกันหรือเปล่า
    - เมื่อกระบวนการยุติธรรมมีประสิทธิภาพต่ำมากจึงทำให้เรื่องมันเลยเถิด
    ใช่ เพราะทุกครั้งที่มีปัญหา กระบวนการยุติธรรมไม่ทำงาน อย่างกรณี 7 ตุลาคม 2551 มีคนจะตั้งผมเป็นกรรมการไปสอบ ผมถามว่า ไอ้นี่มันความผิดเกิดขึ้นแล้วทำไมตำรวจไม่ทำ ตำรวจทำเสร็จส่งอัยการจากนั้นไปศาลตามรูปแบบก็ไม่ทำ พอไม่ทำก็คาราคาซัง แล้วบางทีทำไปแล้วก็ไม่ได้ทะมัดทะแมง ซึ่งถ้ากระบวนการยุติธรรมดี บังคับใช้กฎหมายตรงไปตรงมา ถี่ถ้วนมีประสิทธิภาพ การยึดอำนาจไม่มี แต่ถ้ากระบวนการยุติธรรมประสิทธิภาพต่ำ แนวโน้มการยึดอำนาจก็มีอีก แต่ช้าหรือเร็วผมไม่รู้
    ทั้งนี้ การยึดอำนาจทุกครั้งเขาอ้างเรื่องทุจริต แล้วดูสิว่า การยึดอำนาจแต่ละครั้งเรื่องการทุจริตทำได้กี่คดี ก็ไม่มีเลย ครั้งนี้ก็เหมือนกัน ผมยังไม่เห็นเลยที่กล่าวหาว่าทุจริตออกหมู่ออกจ่า และประเทศที่ประชาธิปไตยพัฒนา เศรษฐกิจมั่นคง อย่าง ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี กระบวนการยุติธรรมเขาดี อดีตนายกฯญี่ปุ่นชื่อนายทานากะ ต้องหาคดี แกก็ยุบสภาแล้วก็เข้ามาแต่กระบวนการยุติธรรมของเขากัดไม่ปล่อย สุดท้ายศาลฎีกาตัดสินจำคุก แต่แกตายก่อนเลยไม่ติด หรือประธานาธิบดีของเกาหลีชื่อชุนดูฮวาน ตอนนี้ก็ไต้หวันกำลังดำเนินดคี อัยการเขาฟ้องคดีไหน คนนั้นรอดยาก แต่บ้านเราโอกาสรอดเยอะมาก ยิงกันในผับยังหลุดเลย ผมไม่ได้หมายถึงว่า เขาผิดหรือถูกนะ แต่กระบวนการยุติธรรมเราทำอะไรไม่ได้เลย ทำได้กับปลาซิวปลาสร้อย กับชาวบ้าน
    อีกส่วนคือคุณภาพของคนต่างกัน รัฐมนตรีญี่ปุ่นทุจริต เขาอยู่ไม่ได้ เขาฮาราคีรีตัวเอง แต่บ้านเราอย่างหนา ตราช้าง
    - ความไม่มีประสิทธิภาพที่เห็นชัดๆ ส่วนหนึ่งเกิดจากการเมืองหรือผู้มีอิทธิพลเข้าแทรกแซง ทำให้กระบวนการยุติธรรมไม่อิสระ
    เรา ทำกระบวนการยุติธรรมให้เป็นอิสระได้ไหมล่ะ ทำได้ ประเทศอื่นเขาก็ทำ กระบวนการยุติธรรมมี 2 ส่วน ส่วนแรกคือเจ้าพนักงาน อีกส่วนคือศาล ในส่วนศาลไม่ต้องพูดถึง เพราะอิสระ 1- % แต่ในส่วนเจ้าพนักงานทั้งตำรวจ อัยการ ดีเอสไอ ต่างคนต่างทำ ความจริงต้องร่วมมือกันทำงาน และโดยหลักอยู่ในร่มของอัยการ อัยการตามกฎหมายมีความเป็นอิสระมาก การเมืองมาเล่นงาน มาชี้นิ้วไม่ได้ แต่ของเราอาจจะโหนการเมืองขึ้นเป็นใหญ่ สมัยผมการเมืองก็เล่น ผมก็อยู่ได้แต่เกือบตายเหมือนกัน ...(หัวเราะ)
    กระบวน การตรวจสอบในชั้นเจ้าพนักงานสำคัญ แต่เรามีหน่วยงานเยอะและไม่ร่วมมือกันเลยทำงานกันอีเหละเขละขละ ถ้าที่อื่น อัยการดูแลหมด การที่อัยการลงไปดูแลให้ ทำให้หน่วยงานต่างๆ มีอิสระในการทำงาน เขาไม่จำเป็นต้องเป็นองค์กรอิสระที่เห่อกันหรอก เพราะเขาเป็นอยู่แล้ว
    - ฝ่ายตำรวจก็โหนกระแสการเมือง ส่งลูกไปอัยการเหมือนกัน
    ประเทศ ไหนบ้างที่ตำรวจไม่เล่นการเมือง แต่ตำรวจมี 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือที่เกี่ยวกับคดี นั่นขึ้นกับอัยการ อัยการคอยดูแลให้ทำงานอย่างสบายใจ กับอีกส่วนคือส่วนการใช้กำลังดูแลความสงบเรียบร้อย แต่ของเรามันปนอยู่ในคนคนเดียว ตำรวจเป็นเจ้าพนักงานที่การเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องได้ง่าย เขาต้องมีเกราะ นั่นคืออัยการ ต่างประเทศไม่มีประเทศไหนที่อัยการไม่มีอำนาจสอบสวน มีแต่ของเราเท่านั้น ส่วนการรับส่งลูก อัยการรับลูกดีหรือไม่ดีล่ะ อาจย้อมแมวมาก็ได้
    - ต้องผ่าตัดตำรวจหรือผ่าตัดอัยการ
    รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ พยายามทำไม่ให้รวมศูนย์ แต่ไม่สำเร็จก็แสดงว่าอิทธิพลตำรวจสูง ถามว่า ตำรวจที่ไหนบ้างเป็นตำรวจแห่งชาติ นอกจากประเทศที่ด้อยความเจริญ ตำรวจสหรัฐหรือเยอรมัน เป็นท้องถิ่น ไม่ใช่ตำรวจส่วนกลางแบบของเรา
    ส่วน อัยการไม่ต้องไปผ่าตัด แต่ไปควบคุมให้เขาอยู่กับร่องกับรอยเท่านั้นแหละ ไปจัดการเรื่องบริหารงานบุคคลของอัยการให้ดี สมัยผมใช้ข้อมูลในการบริหาร จะเลื่อนยศปลดย้ายขึ้นเงินเดือนมาพิจารณา เป็นระบบคุณธรรม ไม่ใช่ระบบพรรคพวก ถ้าระบบคุณธรรมดี คนที่ขึ้นสู่ระบบก็ทำงานได้สบาย การที่สื่อมาดูแลทำให้ผมทำงานสบาย แต่ข้าราชการไทยคิดอย่างนี้น้อย
    - หลังยึดอำนาจ สังคมเรียกร้องให้กระบวนการยุติธรรมมาจัดการปัญหา โดยเฉพาะศาล แต่บางเรื่องศาลบางศาลก็โดนตั้งคำถามความน่าเชื่อถือด้วย
    "จริงๆ ผมไม่เข้าใจคำว่าตุลาการภิวัตน์ เพราะตุลาการถ้าทำหน้าที่ของเขาโดยดีมันก็ภิวัตน์อยู่แล้ว ตุลาการต้องมีอิสระในการทำงาน เขาไม่ได้อยู่ในการบังคับบัญชาเป็นลำดับชั้นแบบราชการ แต่ปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ ผมถึงบอกในตอนแรกว่า การที่ศาลกลับไปกลับมาแบบนี้น่าห่วงในเรื่องยึดหลักอะไรในการทำงาน ถ้ายึดหลักเดียวกัน มันไม่ควรจะมีการกลับ เมื่อศาลชั้นต้นออกหมายแสดงว่ารอบคอบแล้ว ศาลข้างบนจะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นยาก แต่ถ้าเป็นข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย ก็เป็นไปได้ ศาลชั้นต้นอาจเห็นว่าผิด ศาลอุทธรณ์เห็นว่าไม่ผิด ก็เป็นไปได้ แต่เรื่องที่ยกตัวอย่าง ผมก็มองว่า ได้ดูกันอย่างรอบคอบหรือเปล่า"
    ที นี้ ถ้าเราไม่เชื่อศาล สังคมมันก็อยู่ไม่ได้ องค์กรตุลาการที่เป็นหลักของสังคมต้องสร้างความเชื่อถือ ต้องระมัดระวังในการทำงาน มีหลักมีเกณฑ์ สร้างความเชื่อถือไม่ได้สร้างวันเดียว สมัยปี 44-45 คดีซุกหุ้นภาคแรก ศาลรัฐธรรมนูญหมดความเชื่อถือเลย แต่ตอนนี้ก็ดีขึ้น กระบวนการยุติธรรมอยู่ได้เพราะความเชื่อถือของประชาชน
    - อย่างศาลรัฐธรรมนูญตอนนี้ก็ยังโดนวิจารณ์ในการตัดสินคดีต่างๆ ไม่ต่างจากอดีต เหมือนยุคใครยุคมัน
    ศาล ตัดสินทุกคนวิจารณ์ได้ โดยวิจารณ์คำพิพากษา การวิจารณ์คือการตรวจสอบทำให้การทำงานของศาลมีความระมัดระวัง ปัจจุบันยังดีที่ยังมีอย่างน้อยองค์กรหนึ่งพูดแล้วคนยังเชื่อ องค์กรใดที่เขายังเชื่อถืออยู่ก็ต้องสร้างความเชื่อถือต่อเนื่อง ตรงนี้สำคัญ
    - มองว่าช่วงที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมผีเข้าผีออก
    ไม่ นะ ไม่ เพียงแต่บางเรื่องอาจจะทำให้ถูกมอง เช่น รีบร้อนไปหรือเปล่า ฉะนั้นต้องรอบคอบ เพราะคำวินิจฉัยเป็นที่เชื่อถือ อยากพูดด้วยว่า ผู้พิพากษาตุลาการทุกคน แม้กระทั่งอัยการ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) บุคคลในกระบวนการยุติธรรม ไม่ควรให้สัมภาษณ์ใดๆ ทั้งสิ้นในเรื่องที่ตัวทำงาน ถ้าอยากรู้เรื่องเป็นอย่างไร ก็ไปอ่านในคำพิพากษา ถ้าเป็นอย่างนี้ คำพิพากษาต้องอ้างเหตุผลอย่างละเอียด ของเราตรงนี้อาจจะไม่เป็นไปอย่างที่ผมว่า หลายครั้งตัดสินแล้วมาให้สัมภาษณ์ ผมมองว่าไม่ถูก คำพิพากษาของต่างประเทศละเอียดรอบคอบมาก ไม่ใช่วางธงแล้วฟันฉัวะ ผมไม่เคยเห็นประเทศไหน ผู้พิพากษาตุลาการให้สัมภาษณ์มากเท่าบ้านเรา
    - อย่างคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เป็นหน่วยตรวจสอบ ก็ออกข่าวรายวัน ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ย้อนโจมตีว่าถูกกระบวนการยุติธรรมกลั่นแกล้ง ส่งผลความน่าเชื่อถือกระบวนการยุติธรรมโดยรวมหรือไม่
    ก็ ใช่ บุคคลในกระบวนการยุติธรรมต้องระมัดระวังในการให้สัมภาษณ์ เพราะบางทีมันไปกระทบสิทธิคนนั้นคนนี้เสียหายต่องานของเรา คตส.วันนี้โอนงานมาที่ ป.ป.ช. ก็ทำอย่างที่ผมว่า ทำงานไป ผลมันออกเอง ต่างประเทศจะให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่จะขึ้นสู่ศาล รวมถึงไม่รู้ด้วยซ้ำว่าใครสอบ ของเรานี่รับลูก มันเลยไปกันใหญ่ เอากันตั้งแต่วันแรก พยานหลักฐานแน่นหนาต่างๆ นานา สุดท้ายปรากฏอัยการไม่ฟ้อง หรือไปถึงศาลยกฟ้องอีก ซวยเลย... ฉะนั้นมันต้องทำให้ถึงแก่นจริงๆ ให้สุดท้ายไม่เผาก็ผัง ในญี่ปุ่นถ้าคดีไหนอัยการฟ้อง เขาลงโทษตั้ง 99.61% ของบ้านเราไม่รู้ แต่ที่เราลงโทษมากคือคดีที่จำเลยรับสารภาพ แต่คดีที่จำเลยให้การปฏิเสธ ผมเข้าใจว่า 50 ต่อ 50
    ส่วนความน่าเชื่อถือ ใครๆ ก็พูดได้ แต่ผมยังเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะทางศาลมีความน่าเชื่อถือ แต่ทางฝ่ายอื่นผมไม่รับรอง
    - กฎหมายถูกนำมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองห้ำหั่นกัน หรือใช้กฎหมายแบบไม่เสมอหน้า เช่น จัดการคนนี้ไม่จัดการคนนั้น
    กระบวน การยุติธรรมที่ทำอะไรแล้วกระทบสิทธิมันเพียงรู้สึกไม่ได้ แต่ต้องมีข้อเท็จจริงสมบูรณ์มากเพียงพอสร้างความชอบธรรมในการใช้ได้ แต่นี่หลายเรื่องก็เหมือนเล่นเกมกัน เช่น การประกาศภาวะฉุกเฉิน ที่มีแต่ความรู้สึก ไม่ได้มีข้อเท็จจริงที่สมบูรณ์ พอประกาศวันนี้พรุ่งนี้เลิก ใครจะเชื่อถือล่ะ
    ผมคิด ว่า สังคมเราไม่ค่อยจริงจัง มีอะไรก็หยวนๆ การบังคับใช้กฎหมายไม่มีความต่อเนื่อง เอาง่ายๆ เลยกรณี 7 วันอันตรายช่วงเทศกาล เราเอากันเต็มที่ช่วงนั้น พอพ้น 7 วัน ก็ปล่อยปละละเลย ไม่มีประเทศไหนทำกันหรอกบังคับวันสองวัน แต่มันต้องทำต่อเนื่อง รณรงค์ไปทุกวัน พอเทศกาลก็เข้มงวดขึ้นอีก ของเรา คราวนี้ตายน้อย ดีใจกันใหญ่ ผมว่าคนตายแม้เพียงคนเดียวก็ไม่น่าดีใจ ฉะนั้นเรื่องการบังคับใช้กฎหมายที่จริงจังต่อเนื่อง ไม่ว่าเรื่องใด รัฐบาลไหนๆ ก็ต้องทำ
    - ระบบกลไกพิเศษ พวกการตั้งกรรมการขึ้นมาเร่งรัดคดีการเมืองในช่วงที่ผ่านมาจำเป็นหรือไม่เพื่อความเสมอหน้า ลดความวุ่นวาย
    ถ้า มีหน่วยงานเยอะๆ มันก็เปลืองเงินภาษี ทำไมไม่พัฒนาสิ่งที่มีอยู่แล้ว อันไหนประสิทธิภาพหลักก็ไปพัฒนาตรงนั้นให้มันดี และร่วมมือกับส่วนที่เกี่ยวข้องทำงาน อย่างชั้นเจ้าพนักงานมีอัยการ ตำรวจ ดีเอสไอ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป้าหมายเดียวกันนะ แต่ที่ปรากฏคือต่างคนต่างทำ ส่วนกลไกพิเศษส่วนใหญ่มันก็ซ้ำซ้อนนั่นแหละ
    คือ...ผม คิดว่าสังคมวุ่นวาย เพราะตั้งแต่ซุกหุ้นภาคแรก ที่มีการหักดิบกฎหมาย ผมเคยเขียนบทความเรื่องนี้ไว้แล้ว และต้องการให้ดำเนินคดี พอมันไม่มีการรับผิดชอบ ปัญหามันเลยชอนไชไปเรื่อยๆ ถ้าเราทำตรงไปตรงมาคุณทักษิณไม่มีทางขึ้นเป็นใหญ่หรอก แต่นี่ผลผลิตมันก็งอกมาเรื่อยๆ ตอนนี้ก็ไม่รู้จะย้อนกลับอย่างไร แต่มันสามารถสร้างธรรมาภิบาล กระบวนการยุติธรรมมีส่วนสำคัญมากๆ อย่างญี่ปุ่นที่พัฒนามากก็เพราะตรงนี้แหละ ประเทศประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้วประเทศไหนแตกแยกอย่างของเรา มันไม่มีหรอก การประท้วงเป็นเรื่องธรรมดา แต่ของเรามันลงลึก แบ่งฝักแบ่งฝ่าย สังคมเราในอดีตโชคดีที่มีผู้ใหญ่บางคน ที่ได้รับความเชื่อถือจากสังคมสูง พูดอะไรมาแล้วคนฟังอย่าง อ.สัญญา ธรรมศักดิ์ เดี๋ยวนี้ล่ะ น่ากลัวนะ คือไม่ใช่ว่าฟังแล้วเชื่อนะ แต่ฟังเท่านั้นแหละ เพราะฟังแล้วจะคิด แต่นี่ไม่ฟังซะแล้ว มันก็ต่อต้านลูกเดียว ซึ่งอันตรายมาก

 


เปิดตัวคอป.คณิตตั้งธงรื้อใหญ่กระบวนการยธ.
จาก คมชัดลึกออนไลน์

 


เปิดตัวคอป.วันแรก “คณิต” ตั้งธงรื้อใหญ่ “กระบวนการยธ.” ชี้เป็นสาเหตุความขัดแย้ง ยกประเทศปชต. กลไกยธ.ต้องเข้มแข็ง เตรียมเปิดเวทีรับฟัง “เหยื่อ” ทั่วประเทศ ยันไม่เน้น “หาคนผิด” แต่จะขุดรากเหง้าความขัดแย้ง ปักหมุดตั้งแต่ “ปฏิรูปการเมือง 40” ข้องใจรธน.ดีแล้วทำไมยังยึดอำนาจ กรรมการมาไม่ครบ วันแรกหายไป 3 “คณิต” ยันไม่ร้าวเคลียร์แล้วทุกคนพร้อมร่วมงาน

ที่โรงแรมสยามซิตี้ เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 7 ก.ค.คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อแนวทางปรองดองแห่งชาติ(คอป.) ได้จัดแถลงข่าวเปิดตัวอย่างเป็นทางการหลังจากที่คณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบจำนวน 8 คน โดยมีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน แต่มีกรรมการที่มาร่วมการแถลงข่าวครั้งนี้เพียง 6 คน นำโดยนายคณิต นายมานิจ สุขสมจิตร ประธานสถาบันพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย น.พ.รณชัย คงสกนธ์ รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ร.พ.รามาธิบดี นายเดชา สังขวรรณ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นางจุฑารัตน์ เอื้ออำนวย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายกิตติพงษ์ กิตติยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ส่วนที่ไม่มาร่วมประกอบด้วย นายไพโรจน์ พลเพชร เลขาธิการสมาคมสิทธิเสรีภาพประชาชน นายสมชาย หอมลออ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน และนายสุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยนายคณิตชี้แจงว่ากรรมการที่ไม่ได้มาร่วมติดธุระแต่ทุกคนพร้อมที่จะทำงานในฐานะกรรมการคอป.ไม่มีใครถอนตัว

 นายคณิต กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดของกรรมการชุดนี้คือความศรัทธาจากประชาชน ส่วนหลักการที่คอป.ยึดถือในการทำงานคือ ความเป็นอิสระ ตรงไปตรงมา เป็นกลางโปร่งใส และซื่อสัตย์ และความหลากหลายทางสาขาวิชาการ ภายใต้ภารกิจ 3 ประการคือ 1.การตรวจสอบและค้นหาความจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรุนแรงทางการเมือง การละเมิดสิทธิมนุษยชน การสูญเสียชีวิต บาดเจ็บทางร่างกายและจิตใจ ความเสียหายทางทรัพย์สิน และความเสียหายที่เกิดขึ้นในห้วงเดือนเม.ย. - พ.ค. 53 ตลอดถึงประเด็นที่เป็นรากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งและเหตุการณ์ความรุนแรงในประเทศ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อให้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์และสร้างความเข้าใจร่วมกัน พร้อมกันนี้ยืนยันว่าจะไม่ซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการปฎิรูปที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน และน.พ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน

 นายคณิต กล่าวว่า ตนจะนำปัญหาที่เกิดจากการที่ได้เป็นกรรมการอิสระตรวจสอบ 2 เหตุการณ์มาเป็นบทเรียนคือเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 35 ซึ่งทำเสร็จเรียบร้อยแต่น่าเสียดายที่รายงานไม่ได้เปิดเผยรายงาน และกรณีการฆ่าตัดตอนในสงครามปราบยาเสพติดยุคพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มีคนตายไปกว่า 2 พันชีวิต มีการเผยแพร่ภายหลังแต่ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร เพราะมีการปรับเปลี่ยนรัฐบาล

 “จากการเป็นกรรมการอิสระมาแล้ว 2 คณะครั้งนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ยากที่สุดในชีวิต เพราะทั้งสองคณะกรรมการเหตุการณ์ได้ยุติไปแล้ว แต่ครั้งนี้เหตุการณ์ยังไม่สงบความขัดแย้งที่ยังดำรงอยู่ แต่จะนำบทเรียนที่ผ่านมาใช้ให้เกิดประโยชน์ คอป.จะไม่ปล่อยให้สังคมรอรายงานชิ้นสุดท้าย แต่เมื่อเราพบข้อเท็จจริงเมื่อไหร่จะเปิดเผยต่อสังคมทันทีเป็นระยะ ระเบียบการตั้งคอป.ชุดนี้ได้ระบุชัดเจนว่าคอป.มีหน้าที่รายงานผลต่อรัฐบาลและสาธารณชน ดังนั้นรัฐบาลจะไม่มีสิทธิปกปิดได้” นายคณิต กล่าว

 ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่คอป.ระบุว่าจะไม่หาคนผิดมาลงโทษจะทำให้เป็นบรรทัดฐานว่าการก่อความรุนแรงจะไม่มีความผิดหรือไม่ นายคณิต กล่าวว่า อาจจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับกระบวนการยุติธรรม แต่เราจะไม่เน้นเรื่องการหาคนผิด สังคมไทยยึดติดกับกระบวนการยุติธรรมเชิงลงโทษ ซึ่งเป็นมิติด้านลบ เช่นลงโทษข้าราชการที่ทำผิดวินัย ซึ่งนั่นไม่ใช่การแก้ปัญหา เราต้องยึดมั่นในมิติทางบวก เป็นกระบวนการยุติธรรมเชิงเยียวยา มีเป้าหมายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงต่อเนื่อง โดยจะจะเน้นการค้นหาสาเหตุของความขัดแย้ง ไม่ใช่ตรวจสอบทีละเหตุการณ์ เบื้องต้นจะปักหมุดในการตรวจสอบตั้งแต่ปี 2540 โดยจะวิเคราะห์สาเหตุว่าเพราะเหตุใดเหตุใดในเมื่อเรามีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนและมีการปฏิรูปการเมืองแล้ว แล้วการรัฐประหารยังเกิดขึ้น

 “สาเหตุความขัดแย้งส่วนหนึ่งเป็นเพราะกระบวนการยุติธรรมไทยอ่อนแอและแยกส่วนกันทำงาน ตัวอย่างเช่น ตำรวจ ดีเอสไอ ป.ป.ช. อัยการ ต่างคนต่างมีอำนาจทำงานต่างกัน ทั้งที่มีเป้าหมายการทำงานเหมือนกัน มีลักษณะอำนาจนิยมสูง จึงไม่สามารถดูแลสิทธิของประชาชนได้อย่างแท้จริง ถ้าผนึกกำลังกันได้ก็จะเป็นเรื่องดี ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยต้องมีกระบวนการยุติธรรมที่เข้มแข็ง กระบวนการยุติธรรมที่ดีจะต้องเป็นไปในลักษณะเสรีนิยม ยกตัวอย่างเช่น กรณีเกาหลีใต้ อดีตประธานาธิบดีฆ่าตัวตายเพื่อหนีความผิดเนื่องจากกลัวว่าหากมีชีวิตอยู่จะต้องถูกลงโทษ" นายคณิต กล่าว

 นายกิตติพงษ์ กล่าวว่า สำหรับกรอบเวลาการทำงานจะวางไว้ไม่เกิน 2 ปีและทุก 6 เดือนจะรายงานผลต่อครม. อย่างไรก็ตามเมื่อกรรมการคอป.มีข้อสรุปในเรื่องใดก็จะรายงานต่อสาธารณะในทันที คาดว่าการค้นคว้าสาเหตุของความขัดแย้งจะทำเสร็จไม่เกิน 1 ปีเศษเพื่อไม่ให้ขอต่ออายุกรรมการออกไป นอกจากนี้อาจจะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ องค์การสหประชาชาติเข้ามาร่วมดำเนินการด้วย ส่วนงบประมาณรัฐบาลแจ้งว่าพร้อมให้การสนับสนุน โดยเป็นไปโดยอิสระของคณะกรรมการ ซึ่งคอป.จะใช้งบประมาณเท่าที่จำเป็นและสามารถชี้แจงได้

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงท้ายการแถลงข่าวกรรมการคนอื่นๆได้ระบุถึงเหตุผลในการมาทำหน้าที่นี้ส่วนใหญ่เชื่อมั่นในความเป็นคนตรงไปตรงมาของนายคณิต นพ.รณชัย กล่าวว่า ขณะนี้ความขัดแย้งร้าวลึกไปถึงในครอบครัว ดังนั้นเป้าหมายของคอป.คือสร้างความปรองดอง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสังคมมีความจริงชุดเดียว ส่วนนายมานิจ ได้ขอความร่วมมือให้สื่อมวลชนส่งข้อมูล ภาพถ่ายให้คณะกรรมการเพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น

 หลังการแถลงข่าว นายคณิตให้สัมภาษณ์ โดยยืนยันว่ากรรมการที่ไม่มาร่วมแถลงข่าวโดยเฉพาะนายไพโรจน์ นั้นไม่ได้มีความขัดแย้งกัน ตนได้ทำความเข้าใจแล้วทุกคนพร้อมช่วยงานคอป. หลังจากนี้คณะกรรมการจะหารือภายในเพื่อกำหนดแผนงาน และจะมีการเปิดเวทีรับฟังประสบการณ์ของผู้ที่สูญเสียเป็นการเยียวยาจิตใจภายในมากกว่าการเยียวยาภายนอก


คณะกรรมการ คณิต ณ นครความจริงจุดเริ่มความปรองดอง
จาก คมชัดลึกออนไลน์

เป็นภาพที่ดีน่าประทับใจที่คุณคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป.

 วานนี้เดินสายไปพบผู้นำทางด้านความคิดด้านสังคมและการเมือง ช่วงเช้าไปพบกับคุณหมอประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส และกรรมการปฏิรูปประเทศที่โรงแรมรอยัล ปริ๊นเซส หลานหลวง

 จากนั้นก็จะนำคณะไปพบคุณสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่บ้านพระอาทิตย์ในช่วงเที่ยง

 คณะกรรมการชุดของคุณคณิตจะต้องหาความจริง และความจริงนั้นจะต้องสามารถปรองดองได้ แปลว่าคณะกรรมการของคุณคณิตนั้นจะต้องฟังทุกฝ่าย และจะต้องเอาความจริงรวมทั้งความจริงที่อาจจะน่าเจ็บปวดสำหรับบางฝ่าย เพราะว่าเมื่อเอาความจริงมาก็แปลว่าจะต้องมีคนที่ได้ประโยชน์และได้รับโทษด้วย

 แต่ความปรองดองจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าหากไม่เอาความจริงมานำเสนอต่อสาธารณชน และผู้ที่กระทำผิดก็จะต้องได้รับการลงโทษตามกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม นี่คือการปรองดองที่แท้จริง ไม่ใช่แปลว่าสมานฉันท์ หรือปรองดองแปลว่าเอาความจริงซุกไว้ใต้พรม ฉะนั้นคณะกรรมการชุดของคุณคณิตจึงมีภาระที่หนัก

 แต่ดูจากความพร้อมที่จะพูดจากับทุกฝ่าย ต้องถือว่าคณะกรรมการชุดนี้เดินตามเส้นทางที่ถูกต้องเหมาะสม แต่ไม่ง่าย เพราะว่ายังมีความรู้สึกลึกๆ ของบางฝ่าย ว่าจะสามารถให้ความเป็นธรรมต่อทุกๆ ฝ่ายได้จริงหรือไม่ และการปรองดองกับการนำความจริงมาพิสูจน์ จะประสานกับการปฏิรูปประเทศที่มีคณะกรรมการนำโดยคุณอานันท์ ปันยารชุน ได้อย่างไร หรือไม่

 ทั้งหมดนี้ต้องถือว่าคุณคณิตเสียสละและต้องเดินหน้าเพื่อให้ทั้งสังคมเห็นว่าการยื่นมือให้แก่ทุกฝ่าย และพร้อมที่จะเอาความจริงมาพิสูจน์กันนั้น ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการปรองดองของชาติบ้านเมืองแต่ประการใด

 อุปสรรคข้างหน้ามีมากมายแน่นอน แต่ถ้าสังคมไทยพร้อมที่จะร่วมมือกัน พร้อมที่จะเผชิญกับความเป็นจริง ไม่ว่าความจริงนั้นจะปวดร้าวขนาดไหน ก็เป็นจุดเริ่มต้นของความปรองดองได้

สุทธิชัย หยุ่น


กลุ่มแว้นแดงป่วนปชป.

 

จาก โพสต์ทูเดย์

กลุ่มเสื้อแดงขี่จักรยานยนต์ชูป้ายเบอร์ 1 วนเวียนหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนขับหายไป

เมื่อ 12.30 น. บริเวณที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ถ.เศรษฐศิริ มีเหตุวุ่นวายเล็กน้อย เมื่อมีกลุ่มคนเสื้อแดง ขี่จักรยานยนต์ ประมาณ  10 คัน  ชูป้ายเบอร์ 1 พร้อมตะโกน และ บีบแตรผ่านหน้าพรรคไปยังโรงพยาบาลวิชัยยุทธและวกกลับมายังหน้าพรรคประชา ธิปัตย์อีกรอบก่อนขับหายไป สร้างความแตกตื่นให้กับประชาชนที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว

 


 

“แก๊งแดง” แว้นเย้ย ปชป.หลัง พท.เตรียมจัดตั้งรัฐบาล

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

       “เสื้อแดง” ขับมอเตอร์ไซค์ป่วนหน้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ ชูป้ายเพื่อไทย เบอร์ 1 เย้ยหยัน หลังผลชนะคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.กินขาด เตรียมจัดตั้งเป็นรัฐบาล
       
       วันนี้ (4 ก.ค.) กลุ่มวัยรุ่นเสื้อแดงจำนวนหนึ่งขี่รถจักรยานยนต์ พร้อมธงสัญลักษณ์ของกลุ่มเสื้อแดง และป้ายหมายเลขเบอร์ 1 พรรคเพื่อไทย มายังถนนเศรษฐศิริ ผ่านหน้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมส่งเสียงตะโกนโห่ร้อง และชูป้ายเชียร์พรรคเพื่อไทย ที่พร้อมจะจัดตั้งเป็นรัฐบาลชุดใหม่ หลังผลนับคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.ชนะขาดพรรคประชาธิปัตย์ โดยกลุ่มวันรุ่นดังกล่าวได้ขี่จัรยานยนต์ผ่านไปมาจำนวน 2 รอบ ท่ามกลางความสนใจของประชาชนที่เดินผ่านไปมา ก่อนจะเคลื่อนจากไป

       

       

       


Tags : คอป. รัฐบาลเพื่อไทย ความปรองดอง

view