'เอ็กซิทโพลล์'เออเรอร์ถึงเวลาสังคายนา
โดย : ทีมข่าวการเมือง ktplt@nationgroup.com
วันที่ 3ก.ค.2554 สายตา "คอการเมือง" จดจ้องที่หน้าจอทีวีรอเวลา 15.00 น. เพื่อฟังการประกาศผลคะแนนการสำรวจหน้าหน่วยเลือกตั้ง "เอ็กซิทโพลล์"
คะแนนที่ออกมาเพื่อไทย "แลนด์สไลด์" ทั้งเอแบคโพลล์ สวนดุสิตโพล นิด้าโพล ศรีปทุมโพล
ยิ่งนักวิชาการที่จัดทำโพลล์ ระบุว่า ที่ผ่านมา "เอ็กซิทโพลล์" คลาดเคลื่อนแค่ร้อยละ 3 ยิ่งกระตุ้นอารมณ์ "กองเชียร์" ให้ตะเลิดเปิดเปิง
ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ สาเหตุที่ทำให้ "เอ็กซิทโพลล์" สำนักต่างๆ สรุปผลสำรวจการเลือกตั้งคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงค่อนข้างมากนั้น น่าจะเกิดจากขั้นตอนการจัดเก็บข้อมูล ซึ่งขนาดกลุ่มตัวอย่างอาจเป็นเพียงกลุ่มเล็กเกินไปเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมด อาทิเช่น ประชากร 10 ล้านคน แต่โพลล์กลับสำรวจความคิดเห็นของคนเพียง 1,000 คน ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะทำให้ผลการสำรวจกับความเป็นจริงมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก
"ผมมองในแง่ดีนะว่าผู้ทำโพลล์คงไม่เมคข้อมูลขึ้นมาเอง แต่ความผิดพลาดน่าจะเกิดจากขั้นตอนการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่ไม่กระจายเท่าที่ควร และขนาดของกลุ่มตัวอย่างเล็กเกินไปเมื่อเทียบกับจำนวนของประชากรทั้งหมด ซึ่งเมื่อสอบถามความคิดเห็นจากคนกลุ่มน้อยอาจตอบคำถามที่แตกต่างจากคนกลุ่มใหญ่ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ผลออกมาก็มีโอกาสที่จะความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงได้อย่างถล่มทลาย"
ดร.ยุกติ กล่าวย้ำว่า "ความผิดพลาด" ที่เกิดขึ้นถือเป็นบทเรียนของสำนักโพลล์ต่างๆ ที่จะต้องทบทวน "มาตรฐาน" ในการสำรวจกรณีศึกษาต่างๆ ซึ่งต้องกลับไปวิเคราะห์ว่าสาเหตุของความผิดพลาดที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุอะไร เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดในครั้งต่อไป เพราะหากไม่มีการแก้ไขก็จะทำให้สำนักโพลล์นั้นๆ ขาดความน่าเชื่อถือ
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ธุกิจบัณฑิตโพล กล่าวกับ “ สำนักข่าวเนชั่น ” กรณีความคลาดเคลื่อนของผลสำรวจเอ็กซิทโพล ว่า เป็นเรื่องธรรมดาของการทำผลสำรวจ แต่ทั้งนี้ความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นไม่ได้อยู่ที่หลักการทำผลสำรวจ แต่เป็นเพราะปัจจัยทางการสำรวจที่ควบคุมไม่ได้ ประกอบไปด้วย 1. กลุ่มตัวอย่างมีปัญหา กล่าวคือแม้จะมีการสุ่มตัวอย่างอย่างเป็นระบบ แต่อาจจะเป็นไปได้ว่าเมื่อทีมงานนำผลสำรวจไปให้ประชาชนลงความเห็น ประชาชนกลุ่มที่เป็นพลังเงียบที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ไม่กล้าที่จะตอบแบบสอบถาม แตกต่างจากกลุ่มเสื้อแดงที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย ที่มีความกล้าแสดงออกทางการเมืองสูง ดังนั้นถึงทีมงานจะพยายามสุ่มตัวอย่างหลากหลายแต่ผู้ที่ให้ความร่วมมือตอบแบบสอบถามอาจเป็นกลุ่มเสื้อแดงเสียส่วนใหญ่ ผลจึงออกมาในลักษณะดังกล่าว
ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวว่า 2. ความผันผวนในค่าตัวเลข ที่เชื่อมโยงต่อการรายงานข่าว ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ตนเคยชี้แจงมาแล้วในการทำผลสำรวจความนิยมก่อนการเลือกตั้ง ว่าแต่ละผลสำรวจจะออกมาจะมีสัดส่วนของความคลาดเคลื่อน รวมถึงในบางเขตเลือกตั้งที่ผู้มีคะแนนนำ ได้รับความนิยมมากกว่าฝ่ายตรงข้ามเพียงร้อยละ 1 - 5 เท่านั้น ซึ่งหมายความว่ายังไม่สามารถสรุปได้ว่าใครชนะ แต่เมื่อนำเสนอผ่านสื่อมวลชนกลับถูกฟันธงอย่างชัดเจน อาทิ ผู้สมัครพรรคเพื่อไทยมีคะแนนนำในการทำผลสำรวจเพียง 2% แต่กลับถูกสรุปในรายงานข่าวว่าชนะการเลือกตั้ง เป็นต้น ทั้งนี้หลังจากผลการเลือกตั้งออกมาทั้งในส่วนกรุงเทพฯ และทั่วประเทศคลาดเคลื่อนตนถูกสอบถามเป็นจำนวนมาก ตนก็วิเคราะห์ใน 2 ประเด็นดังกล่าว ที่สามารถใช้อธิบายได้ทั้งผลสำรวจก่อนหน้าการเลือกตั้ง และผลสำรวจเอ็กซิทโพล
“ ครั้งต่อไปหากมีการทำผลสำรวจการเลือกตั้ง หากมีเขตเลือกตั้งไหนที่มีคะแนนสูสี ขอเสนอว่าไม่ให้มีการฟันธงผู้ชนะอย่างชัดเจน แต่จะนำเสนอเป็นการประเมินโอกาสชนะการเลือกตั้งจะดีกว่า เพื่อไม่ให้มีความรู้สึกว่าผลสำรวจมีความผิดพลาดเช่นนี้ ” ดร.เกียรติอนันต์กล่าว
น.ส.นฤวรรณ เรืองโรจน์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายประกันคุณภาพ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต มองว่า ปกติผลโพลล์ ยังไม่สามารถตอบคำถามอะไรได้มากนัก เนื่องจากการทำโพลล์มีปัจจัยหลายๆ อย่างที่อาจส่งผลให้เกิดความคลาดเคลื่อน เช่น กระแสสังคมในช่วงนั้นๆ เป็นอย่างไร การเก็บข้อมูลทีมจัดทำโพลล์ไปสอบถามความคิดเห็นจากคนกลุ่มไหนเขาอยู่คนเดียวหรืออยู่กันหลายคน ซึ่งการที่อยู่คนเดียวอาจได้ข้อมูลที่แท้จริงกว่าการอยู่หลายคน เพราะ "ผู้ให้ข้อมูล" กล้าจะให้ข้อมูลตามความเป็นจริงมากกว่าเนื่องจากเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่ง
"เราก็รู้กันอยู่ว่าสังคมเราในขณะนี้มันเปราะบาง มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ในการที่ใครคนใดคนหนึ่งจะให้ข้อมูลอะไรออกมา โดยเฉพาะการเลือก ส.ส.บางครั้งหากเข้าไปขอข้อมูลที่กลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง คนที่ให้ข้อมูลอาจพูดข้อมูลที่เป็นเท็จจากความเป็นจริงเพื่อลดความขัดแย้งกันเองในกลุ่มก็เป็นได้ หรืออีกกรณีหนึ่งหากโพลล์ไปสำรวจก่อนการลงคะแนนตอนนั้นด้วยกระแสสังคม เรื่องนโยบายที่สวยงามก็คิดว่าเลือกพรรคหนึ่งไว้ในใจ แต่เมื่อถึงเวลาช่วงโค้งสุดท้ายอาจเปลี่ยนใจก็เป็นได้ โพลล์ที่ทำมาก็อาจมีความคลาดเคลื่อนก็เป็นได้"
น.ส.นฤวรรณ ย้ำว่า สาเหตุอีกอย่างที่ทำให้การทำเอ็กซิทโพลล์ครั้งนี้เกิดความ "ผิดพลาด" ค่อนข้างมาก เนื่องจากขั้นตอนการสอบถามข้อมูลจากผู้ที่เดินทางไปเลือกตั้งแล้วได้ข้อมูลไม่ตรงตามความเป็นจริง เนื่องจากผู้ให้ข้อมูลอาจ "กลัวกระแสเรื่องความปรองดอง" จึงไม่อยากจะบอกความคิดเห็นส่วนตัวแก่เจ้าหน้าที่ต่อหน้าคนอื่น ตรงนี้ดูได้จากโซเชียลมีเดียที่มีกลุ่มคนต่างตั้งกลุ่มแสดงความคิดเห็น แต่ก็มีคนบางกลุ่มแสดงความคิดเห็นเป็นกลางๆ เพื่อลดความขัดแย้ง
แต่หากความ "เออเรอร์" ของเอ็กซิทโพลล์เกิดจากการได้ข้อมูลจาก "ฐานข้อมูล" เดียวกัน ยิ่งเป็นสิ่งที่สำนักโพลล์ต่างต้องสังคายนากันครั้งใหญ่อย่าปล่อยให้โพลล์ที่ผิดๆ มาชี้นำสังคมอีกต่อไป
ผอ.ธุรกิจบัณฑิตฯ ปัดโพลมั่วนิ่ม แจงแดงกล้าตอบ
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ผอ.ธุรกิจบัณฑิตฯ" ปัดทำโพลมั่วนิ่ม แจงเหตุเอ็กซิทโพลคลาดเคลื่อนเพราะแดงกล้าตอบแบบสอบถาม-สื่อชอบฟันธง เสนอเพิ่มรายละเอียดรายงาน
นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ธุกิจบัณฑิตโพล กล่าวกับ“สำนักข่าวเนชั่น” กรณีความคลาดเคลื่อนของผลสำรวจเอ็กซิทโพล ว่า เป็นเรื่องธรรมดาของการทำผลสำรวจ แต่ทั้งนี้ความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นไม่ได้อยู่ที่หลักการทำผลสำรวจ แต่เป็นเพราะปัจจัยทางการสำรวจที่ควบคุมไม่ได้ ประกอบไปด้วย 1.กลุ่มตัวอย่างมีปัญหา กล่าวคือแม้จะมีการสุ่มตัวอย่างอย่างเป็นระบบ แต่อาจจะเป็นไปได้ว่าเมื่อทีมงานนำผลสำรวจไปให้ประชาชนลงความเห็น ประชาชนกลุ่มที่เป็นพลังเงียบที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ไม่กล้าที่จะตอบแบบสอบถาม แตกต่างจากกลุ่มเสื้อแดงที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย ที่มีความกล้าแสดงออกทางการเมืองสูง ดังนั้นถึงทีมงานจะพยายามสุ่มตัวอย่างหลากหลายแต่ผู้ที่ให้ความร่วมมือตอบแบบสอบถามอาจเป็นกลุ่มเสื้อแดงเสียส่วนใหญ่ ผลจึงออกมาในลักษณะดังกล่าว
นายเกียรติอนันต์ กล่าวว่า 2. ความผันผวนในค่าตัวเลข ที่เชื่อมโยงต่อการรายงานข่าว ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ตนเคยชี้แจงมาแล้วในการทำผลสำรวจความนิยมก่อนการเลือกตั้ง ว่าแต่ละผลสำรวจจะออกมาจะมีสัดส่วนของความคลาดเคลื่อน รวมถึงในบางเขตเลือกตั้งที่ผู้มีคะแนนนำ ได้รับความนิยมมากกว่าฝ่ายตรงข้ามเพียงร้อยละ 1 - 5 เท่านั้น ซึ่งหมายความว่ายังไม่สามารถสรุปได้ว่าใครชนะ แต่เมื่อนำเสนอผ่านสื่อมวลชนกลับถูกฟันธงอย่างชัดเจน อาทิ ผู้สมัครพรรคเพื่อไทยมีคะแนนนำในการทำผลสำรวจเพียง 2% แต่กลับถูกสรุปในรายงานข่าวว่าชนะการเลือกตั้ง เป็นต้น ทั้งนี้หลังจากผลการเลือกตั้งออกมาทั้งในส่วนกรุงเทพฯ และทั่วประเทศคลาดเคลื่อนตนถูกสอบถามเป็นจำนวนมาก ตนก็วิเคราะห์ใน 2 ประเด็นดังกล่าว ที่สามารถใช้อธิบายได้ทั้งผลสำรวจก่อนหน้าการเลือกตั้ง และผลสำรวจเอ็กซิทโพล
"ครั้งต่อไปหากมีการทำผลสำรวจการเลือกตั้ง หากมีเขตเลือกตั้งไหนที่มีคะแนนสูสี ขอเสนอว่าไม่ให้มีการฟันธงผู้ชนะอย่างชัดเจน แต่จะนำเสนอเป็นการประเมินโอกาสชนะการเลือกตั้งจะดีกว่า เพื่อไม่ให้มีความรู้สึกว่าผลสำรวจมีความผิดพลาดเช่นนี้" นายเกียรติอนันต์กล่าว