การขอฟื้นสภาพนิติบุคคลของบริษัทที่เสร็จการชำระบัญชีแล้ว : ข้อกฎหมายที่ควรทราบ
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : สกล หาญสุทธิวารินทร์
บทความในคอลัมน์ ค้าๆ ขายๆ กับกฎหมายธุรกิจในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 21 มิถุนายน 2554 ได้กล่าวถึงกรณีที่ผู้ชำระบัญชีของบริษัท
ที่จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีรายหนึ่ง ร้องขอต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทให้เพิกถอนการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี เพราะปรากฏภายหลังว่ายังมีสิทธิเกี่ยวกับทรัพย์สินหลงเหลืออยู่ แต่นายทะเบียนปฏิเสธว่าไม่สามารถดำเนินการได้ ในที่สุดผู้ชำระบัญชีได้ฟ้องต่อศาลปกครอง และศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษา ที่ อ. 137/2552 ให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทที่ปฏิเสธการดำเนินการตามกล่าวคำขอนั้น และให้นายทะเบียนไปเพิกถอนการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีภายใน 90 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด จากคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวน่าจะถือเป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติงานของนายทะเบียนต่อไปได้ นั้น
คดีตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวมีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่น่าสนใจที่อาจใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการสำหรับการขอฟื้นสภาพนิติบุคคลของผู้ประสบปัญหาทำนองเดียวกันกับผู้ฟ้องคดีในคดีนี้ได้ โดยสรุป ดังนี้
ข้อเท็จจริง บริษัท ศ.จำกัด ได้เลิกกันตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น มีการชำระบัญชีจนเสร็จและได้ขอจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทได้รับจดทะเบียนไว้ตามคำขอ ต่อมานางสาว น. ผู้ชำระบัญชีพบว่า บริษัท ศ.จำกัด ยังมีสิทธิตามสัญญาเช่าสถานที่ในศูนย์การค้าแห่งหนึ่ง ยังมิได้นำผลประโยชน์แบ่งคืนให้ผู้ถือหุ้น แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะเสร็จสิ้นการชำระบัญชีแล้ว นางสาว น. ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี ศาลมีคำสั่งให้ยกคำร้อง เนื่องจากไม่ใช่กรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ร้องจะต้องใช้สิทธิทางศาล ต่อมา นางสาว น. ยื่นหนังสือขอให้นายทะเบียน เพิกถอนการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี นายทะเบียนปฏิเสธโดยอ้างว่าไม่มีอำนาจเพิกถอนการจดทะเบียนได้และให้ผู้ฟ้องคดีไปใช้สิทธิทางศาล นางสาว น. อุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียน ผลการพิจารณาอุทธรณ์ยืนตามความเห็นของนายทะเบียนว่าไม่มีอำนาจเพิกถอน ให้ไปใช้สิทธิทางศาล การที่นายทะเบียนปฏิเสธการขอเพิกถอนการจดทะเบียนถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิ นางสาว น. จึงยื่นฟ้องนายทะเบียนต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ แต่ศาลไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา เพราะเห็นว่าเป็นคดีอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง
นางสาว น. จึงนำคดีฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งรับจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีของนายทะเบียนและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ปฏิเสธคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี ผู้ถูกฟ้องคดียื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุด ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาแก้ เป็นให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนที่ปฏิเสธการดำเนินการเพื่อเพิกถอนการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี และให้นายทะเบียนไปดำเนินการเพิกถอนการรับจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีให้เสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันคดีถึงที่สุด
ข้อกฎหมาย 1. กรณีนางสาว น. ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ในครั้งแรก ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี ศาลมีคำสั่งให้ยกคำร้อง เนื่องจากไม่ใช่กรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ร้องจะต้องใช้สิทธิทางศาล เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะหุ้นส่วนบริษัท ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องนี้กำหนดไว้ มีแต่บทบัญญัติกรณีถูกถอนทะเบียนบริษัทร้าง และมีเหตุตามที่กำหนดไว้สามารถยื่นคำร้องต่อศาลให้สั่งให้จดชื่อบริษัทร้างกลับคืนสู่ทะเบียนได้ (ตาม ปพพ.มาตรา 1246 (6) (เดิม) หรือตาม ปพพ.มาตรา1273/4 ที่แก้ไขใหม่)
2. กรณีที่นางสาว น. ได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ในครั้งที่สองหลังจากถูกนายทะเบียนปฏิเสธคำขอซึ่งถือได้ว่าว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิ แต่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ไม่รับคำร้องเนื่องจากเห็นว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ต่อมานางสาว น.จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองกลาง จนที่สุดคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด กฎหมายหลัก ที่ศาลปกครองยกขึ้นใช้ในการพิจารณาคดีนี้ คือพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
คำวินิจฉัยของศาลปกครองในคดีนี้ได้ยกกรณี ตามมาตรา 54 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า เมื่อคู่กรณีมีคำขอ เจ้าหน้าที่อาจเพิกถอนหรือแก้ไขคำสั่งทางปกครองที่พ้นกำหนดอุทธรณ์ ได้ เมื่อมีกรณีตามที่บัญญัติไว้ และต้องเป็นกรณีที่ไม่ทราบถึงเหตุนั้นมาก่อนโดยไม่ใช่ความผิดของผู้นั้น และต้องยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รู้เหตุซึ่งอาจขอให้พิจารณาใหม่ได้ ในคดีนี้ศาลถือว่าการที่เพิ่งทราบว่าบริษัท ศ.จำกัด ยังมีสิทธิตามสัญญาเช่ายังมิได้จำหน่ายสิทธิดังกล่าวมาแบ่งคืนให้ผู้ถือหุ้น เป็นกรณี มีพยานหลักฐานใหม่ อันอาจทำ ให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ ตาม (1) ส่วนการนับอายุความศาลถือวันที่ไปยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ในครั้งแรกและศาลแพ่งกรุงเทพใต้ยกคำร้องอันแสดงให้เห็นว่าผู้ร้องได้มีการดำเนินการตลอดมา จึงถือได้ว่าผู้ร้องรู้เหตุซึ่งอาจขอให้พิจารณาใหม่ คือวันที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ยกคำร้อง จึงเป็นการดำเนินการภายในอายุความ
ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยในที่สุดว่า การที่นายทะเบียนปฏิเสธเพิกถอนการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี โดยไม่ดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องเสียก่อน เพียงแต่อ้างว่าไม่มีภาระหน้าที่จะต้องเพิกถอนการจดทะเบียน จึงเป็นการออกคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 และได้มีคำพิพากษาที่ อ. 137/2552 ดังกล่าวข้างต้น
ผลทางกฎหมายที่ตามมา เมื่อเพิกถอนการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีแล้ว บริษัทนั้นก็กลับสภาพมาเป็นบริษัทที่ยังคงตั้งอยู่เพื่อการชำระบัญชี ตาม ปพพ.1249 มีสิทธิและหน้าที่ตามบทบัญญัติของการชำระบัญชีดังเดิม และเมื่อเสร็จสิ้นการชำระบัญชีในรอบนี้แล้ว เมื่อไปจดทะเบียนเสร็จสิ้นการชำระบัญชีอีกครั้งหนึ่ง อายุความในการฟ้องเรียกหนี้ของเจ้าหนี้ตามาตรา 1272 ที่บัญญัติให้ฟ้องภายในสองปีนับแต่เสร็จการชำระบัญชีก็น่าจะเริ่มต้นใหม่ เจ้าหนี้ที่เคยฟ้องเรียกหนี้แต่ถูกยกฟ้อง เพราะฟ้องคดีเกินกำหนดสองปีนับแต่วันเสร็จการชำระบัญชีในครั้งแรก ก็น่าจะฟ้องใหม่ได้ เพราะเริ่มนับอายุความใหม่ และไม่น่าถือเป็นฟ้องซ้ำ เพราะข้อเท็จจริงเปลี่ยนไปจากเดิม