สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 ก.ค.2554 เป็นโมฆะ?

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

โดย : คมสัน โพธิ์คง สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช


อดีต กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ชี้ปมประชาชนวืดใช้สิทธิเลือกตั้ง 3 ก.ค.เหตุไม่ได้เปลี่ยนแปลงรายชื่อขอเลือกตั้งนอกเขต อาจทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ
หลังจากผ่านพ้นวันที่ 3 ก.ค.2554 ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป ได้มีปรากฏการณ์ที่ประชาชนจำนวนมากไปใช้สิทธิเลือกตั้งแต่ไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เพราะได้รับแจ้งจากคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำหน่วยเลือกตั้งว่าไม่ปรากฏชื่อ เนื่องจากไม่ได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงรายชื่อที่ได้ขอลงทะเบียนเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งที่ผู้นั้นมีสิทธิเลือกตั้งอยู่ ตามที่แจ้งการลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเนื่องจากมีภารกิจสำคัญเมื่อครั้งที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2550

ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้ เนื่องจากวันลงคะแนนเลือกตั้งในกรณีการเลือกตั้งนอกเขต คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้จัดผ่านพ้นไปแล้วเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2554 ทำให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้จำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านคนทั่วประเทศ

ทั้งนี้ เกิดจากการกล่าวอ้างตลอดเวลาว่า กกต.ปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการลงทะเบียนเลือกตั้งนอกเขตเองได้ หากผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ร้องขอเปลี่ยนแปลง

แต่ข้อเท็จจริงเหล่านี้ กกต.ล่วงรู้หรือไม่ว่าจะเกิดปัญหาเหล่านี้ตามมา คงต้องตอบว่าทราบปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างดี เพราะเมื่อวันที่ 2 ก.ค.2554 นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่า ที่ประชุม กกต.ได้หารือถึงปัญหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งในครั้งนี้ มีมติเห็นว่าจะมีการขอแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการจัดการเลือกตั้ง โดยเฉพาะพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯ ในมาตรา 97 วรรคสอง ที่เกี่ยวกับการลงทะเบียนใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัด และมาตรา 101 เรื่องการลงทะเบียนใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักร

ส่วนกรณีที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เคยมีความเห็นให้ผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิ์ให้มาใช้สิทธิ์ในวันเลือกตั้งจริงได้นั้น เรื่องนี้ กกต.ไม่สามารถออกระเบียบได้ มีเพียงทางเดียว คือ การแก้ไขกฎหมายโดยจะขอเสนอแก้ไขว่าการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าให้เป็นรายครั้ง และเมื่อเสร็จสิ้นการเลือกตั้งครั้งนั้นถือว่าการลงทะเบียนสิ้นสุดไปด้วย

อีกทั้ง กกต.จะขอเสนอแก้ไขกฎหมายให้ กกต.สามารถออกระเบียบเกี่ยวกับการเลือกตั้งล่วงหน้าได้ โดยประกาศเป็นการเลือกตั้งต่อครั้งไป เพื่อความเหมาะสมในสถานการณ์แต่ละครั้ง เนื่องจากครั้งที่ผ่านมามีการเลือกตั้งล่วงหน้าเหลือเพียง 1 วัน อีกทั้งมียอดผู้มาใช้สิทธิลงทะเบียนเป็นจำนวนมาก ทำให้การเลือกตั้งนั้นเป็นไปด้วยความลำบาก (ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น วันที่ 2 ก.ค.2554)

จากการให้สัมภาษณ์ของ กกต.ดังกล่าวแสดงว่า กกต.ทราบถึงปัญหาแล้วว่าจะมีประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบ ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลการลงทะเบียนเลือกตั้งนอกเขตในราชอาณาจักรและนอกราชอาณาจักรในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2550 (ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง) พบว่า ในการเลือกตั้งในราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 15-16 ธ.ค.2550 มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตล่วงหน้า 2,095,410 คน และมาใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งจำนวน 1,831,851 คน จังหวัดที่มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งลงทะเบียนขอใช้สิทธินอกเขตล่วงหน้ามากที่สุดคือ กรุงเทพมหานคร  (กทม.) จำนวน 903,899 คน และจังหวัดที่มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งลงทะเบียนขอใช้สิทธินอกเขตล่วงหน้าน้อยที่สุด คือ จ.อำนาจเจริญ จำนวน 869 คน 

จังหวัดที่มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งลงทะเบียนเลือกตั้งนอกเขตในหลัก 1 แสนคนขึ้นไปนอกจาก กทม.มี 3 จังหวัด คือ ชลบุรี (155,960) ปทุมธานี(114,392) และสมุทรปราการ (163,512) และจังหวัดที่มีจังหวัดที่มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งลงทะเบียนเลือกตั้งนอกเขตในหลักหมื่นคนขึ้นไปแต่ไม่เกิน 1 แสนคนมี 19 จังหวัด คือ ขอนแก่น (14,179) ฉะเชิงเทรา (24,862) เชียงใหม่ (34,045) นครปฐม (33,806) นครราชสีมา (19,743) นนทบุรี (69,849) ราชบุรี (10,241) ลพบุรี(10,299) ลำพูน (19,066) ประจวบคิรีขันธ์ (13,544) ปราจีนบุรี (14,770) พระนครศรีอยุธยา (60,514) พิษณุโลก (10,854) ภูเก็ต (30,394) ระยอง(60,155) ลงขลา (16,422) สมุทรสาคร (79,786) สระบุรี (22,241) และสุราษฎร์ธานี (11,007)

ในส่วนของการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในระหว่างวันที่ 3-16 ธ.ค.2550 มีการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรรวมทั้งสิ้น 65 ประเทศ มีที่เลือกตั้งจำนวน 90 แห่ง มีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร จำนวน 80,161 คน มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 58,807 คน ประเทศที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา จำนวน 7,683 คน รองลงมาคือ เยอรมัน จำนวน 6,062 คน ประเทศที่มีผู้ลงทะเบียนน้อยที่สุด คือ เปรู จำนวน 5 คน

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ มีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนเท่าใดที่ได้มายื่นคำขอเปลี่ยนแปลงการใช้สิทธินอกเขตเลือกตั้ง? มีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนเท่าใดที่ทราบถึงเรื่องดังกล่าว?

ผมเห็นว่า คงจะมีปัญค่อนข้างมากว่าปัญหาของกรณีนี้เกิดจากความผิดพลาดในส่วนใด เป็นเพราะ มาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 ขัดต่อหลักการของรัฐธรรมนูญตามที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ได้ไปยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน? หรือเป็นเพราะ กกต.วินิจฉัยข้อกฎหมายมาตรา 97 ดังกล่าวผิดพลาดกันแน่?

แต่โดยส่วนตัวแล้วผมเห็นความผิดพลาดในการวินิจฉัยปัญหาน่าจะเกิดจากการวินิจฉัยข้อกฎหมายที่คลาดเคลื่อนและฟั่นเฟือนจาก “หลักการอำนวยความสะดวก” ให้แก่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ตามมาตรา 72 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ด้วยเหตุผลที่สำคัญคือ

1.เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขใหม่ ทำให้เขตเลือกตั้งเดิมในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2550 ไม่ใช้เขตเลือกตั้งในวันที่ 3 ก.ค.2554 ได้ การลงทะเบียนเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งที่กระทำมาก่อนไม่สามารถนำมาใช้ได้ เพราะเขตเดิมไม่มีแล้ว

บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเมื่อปี พ.ศ.2554 ที่ให้เปลี่ยนแปลงจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 480 คน ที่มีที่มาจากระบบเขตเลือกตั้ง 400 คน และระบบบัญชีรายชื่อ 80 คน มีการแบ่งเขตให้มี ส.ส.ได้ไม่เกินเขตละ 3 คน และแบ่งเขตเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อออกเป็น 8 บัญชีตามกลุ่มจังหวัด 8 กลุ่มๆ ละ 10 คน  เปลี่ยนเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 500 คน ที่มีที่มาจากระบบเขตเลือกตั้ง 375 คน และระบบบัญชีรายชื่อ 125 คน มีการแบ่งเขตเลือกตั้งให้มี ส.ส.ได้ 1 คนต่อเขต และใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ส่งผลให้เขตเลือกตั้งในระบบใหม่มีจำนวนเขตเลือกตั้งในระบบเขตมากขึ้นแต่พื้นที่มีขนาดเล็กลง และเขตเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อใหญ่ขึ้นแต่เหลือเพียงเขตเดียว เท่ากับมีการเปลี่ยนเขตเลือกตั้งใหม่ทั้งหมด ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ได้ใช้สิทธิในเขตเลือกตั้งเดิมอีกต่อไป

2. กกต.วินิจฉัยบทบัญญัติมาตรา 97 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 โดยไม่สอดคล้องกับหลักการอำนวยความสะดวก ตามมาตรา 72 วรรคสาม และหลักความเสมอภาค ตามมาตรา 30 รวมทั้งละเมิดต่อหลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

การเลือกตั้งเป็นสิทธิทางการเมืองขั้นพื้นฐาน การตัดสิทธิเลือกตั้งหรือการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งต้องเป็นไปตามหลักการของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย แต่การวินิจฉัยของ กกต.เกี่ยวกับการใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งดังกล่าว ผมอ่านบทบัญญัติในมาตราเดียวกันแล้วไม่สามารถวินิจฉัยเหมือนกับ กกต.ได้ การวินิจฉัยของ กกต.มีลักษณะการเลือกปฏิบัติที่แตกต่างกันในการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป กับการเลือกตั้งซ่อมแทนตำแหน่งที่ว่าง

เนื่องจากการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปนั้น ต้องให้ประชาชนไปดำเนินการลงทะเบียนขอเปลี่ยนแปลงการใช้สิทธิเลือกตั้งก่อน รายชื่อจึงจะกลับเข้าไปอยู่ในเขตเลือกตั้งเดิมที่ตนมีสิทธิ แต่ในการเลือกตั้งซ่อม รายชื่อได้กลับเข้าไปอยู่ในเขตเลือกตั้งทันทีไม่ต้องมีการลงทะเบียนเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อเกิดการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปปรากฏว่า รายชื่อต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตทันที ก่อให้เกิดการไม่เสมอภาคและสม่ำเสมอในการใช้สิทธิเลือกตั้ง

ดังกรณีของการเลือกตั้ง ส.ส.แทนตำแหน่งที่ว่างในเขตเลือกตั้งที่ 9 กทม.เมื่อวันที่ 25 ก.ค.2553 ปรากฏรายชื่อของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่เคยขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตในทะเบียนรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งของเขตนั้น เพราะ กกต.ตีความในถ้อยคำในวรรคหนึ่งว่าเป็นการเลือกตั้งซ่อมไม่ใช่การเลือกตั้งทั่วไป การเลือกตั้งนอกเขตไม่นำมาใช้ ชื่อจึงกลับเข้าไปทันที และไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตได้เพราะไม่สถานที่ให้ลงคะแนนนอกเขต 

แต่ในการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในวันที่ 3 ก.ค.2554 บุคคลเหล่านั้นกลับไปมีหมายเหตุท้ายชื่อว่าต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งตามที่ได้ลงทะเบียนไว้ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2550 การวินิจฉัยดังกล่าวมีลักษณะของการวินิจฉัยที่เกิดผลประหลาดในทางกฎหมายและเป็นตัดสิทธิทางการเมืองพื้นฐานของประชาชนโดยกระบวนการดำเนินงานของ กกต.เอง โดยที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมายโดยชอบให้กระทำการเช่นนั้น

จำนวนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ลงทะเบียนเลือกตั้งนอกเขตและนอกราชอาณาจักรตามที่กล่าวมาข้างต้น จำนวน 2,095,410 คน และ 80,161 คน ตามลำดับ กกต.ต้องตอบต่อสาธารณชนอย่างถูกต้องว่า มีจำนวนเท่าใดที่มีการขอลงทะเบียนเปลี่ยนแปลงการใช้สิทธิ เพราะหากไม่สามารถตอบต่อสาธารณะได้ หรือปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีประชาชนจำนวน 2,175,571 คนไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ลองพิจารณานะครับว่า กทม.ที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุดถึง 903,899 คน ส่งผลต่อการเลือกตั้งทุกเขตอย่างแน่นอน

และหากพิจารณาถึงจังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนเกินหลักหมื่นขึ้นไป จำนวนกว่า 20 จังหวัด จะส่งผลกระทบต่อความเที่ยงธรรมในการดำเนินการจัดการเลือกตั้งของ กกต.ชุดนี้ในวงกว้าง จนถึงขนาดที่ทำให้การเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2554 เป็นโมฆะได้ หากได้รับการพิจารณาและวินิจฉัยโดยศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งตามบทบัญญัติมาตรา 219 วรรคสามของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กกต.จะแก้ไขเยียวยาอย่างไรครับ?

Tags : การเลือกตั้ง 3 ก.ค.2554 เป็นโมฆะ

view