จริยธรรมทางธุรกิจ
กนกนภา เพิ่มบุญพา
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ช่วงนี้มีแต่ข่าวฉาวโฉ่ ในหลายแวดวงอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นแวดวงสื่อสารมวลชนระดับโลก อย่างนิวส์ คอร์ป ของรูเพิร์ต เมอร์ดอค
อาณาจักรสื่อยักษ์ใหญ่ ที่ขยับทีก็เป็นข่าว หรือแม้แต่แวดวงอุตสาหกรรมน้ำเมาอย่าง ไดอาจิโอ ที่ล่าสุด ยอมจ่ายเงินให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ของสหรัฐ เพื่อรอมชอมคดีติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐในหลายประเทศทั้งเกาหลีใต้ อินเดีย และไทย
เกิดอะไรขึ้นกับจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ หรือธรรมาภิบาล ที่ภาคเอกชนทั่วโลก พยายามแสดงจุดยืนอย่างแข็งขันมาตลอดว่า เป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ที่ต้องดำเนินการ เพื่อให้ธุรกิจเกิดความโปร่งใส ดำเนินธุรกิจอย่างมืออาชีพ และดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อชุมชน หรือสังคม
กรณีดักฟังข้อมูลทางโทรศัพท์ หรือการติดสินบน เพื่อเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่จะนำมาใช้ในการทำมาหากินของสื่อประเภทแทบลอยด์ในเครือนิวส์ คอร์ป จนทำให้หนังสือพิมพ์แทบลอยด์ฉบับที่ว่าต้องยุติบทบาทของตัวเองหลังจากสั่งสมชื่อเสียงมานานจนได้รับการยอมรับในฐานะเป็น "มือเก๋า" แห่งวงการ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า แม้แต่สื่อยักษ์ใหญ่อย่างนิวส์ คอร์ป ยังมีพฤติกรรมล่อแหลมต่อจริยธรรมขนาดนี้ แล้วสื่อระดับกลางถึงระดับเล็กในตลาดโลกเล่า ยังยึดมั่นในจริยธรรมของการดำเนินธุรกิจมากน้อยแค่ไหน
คดีนิวส์ คอร์ป ทำให้เจ้าพ่อสื่ออย่างรูเพิร์ต เมอร์ดอค ร้อนก้นอย่างแรง และต้องชี้แจงเรื่องนี้แบบถี่ยิบต่อคณะกรรมาธิการรัฐสภาอังกฤษ ในฐานะที่พฤติกรรมการล้วงข้อมูลอย่างไร้จริยธรรมที่เกิดขึ้น พัวพันกับบุคคลระดับเชื้อพระวงศ์และระดับผู้นำประเทศ
จึงเป็นหน้าที่โดยตรงที่เจ้าพ่อสื่ออย่างรูเพิร์ต เมอร์ดอค ต้องแสดงสปิริต ด้วยการยืดอกประกาศพร้อมร่วมมือกับกระบวนการสอบสวนคดีนี้อย่างไม่บิดพลิ้ว ก่อนที่จะเสื่อมเสียชื่อเสียงมากไปกว่านี้
ส่วนกรณี บริษัทไดอาจิโอ ในอังกฤษ ซึ่งเป็นบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใหญ่ที่สุดในโลกก็อื้อฉาวไม่น้อยหน้าไปกว่ากัน เพราะล่าสุด บริษัทยอมจ่ายเงินกว่า 16 ล้านดอลลาร์ เพื่อรอมชอมคดีแพ่งในสหรัฐ ตามข้อกล่าวหาที่ว่า บริษัทจ่ายเงินให้แก่เจ้าหน้าที่ในต่างประเทศ อันได้แก่ ไทย อินเดีย และเกาหลีใต้ ผ่านบริษัทในเครืออย่างไม่เหมาะสม ในช่วงปี 2546-2549
ก.ล.ต.สหรัฐ กล่าวหาว่า ไดอาจิโอ ละเมิดกฎหมายติดสินบน ในต่างประเทศ ผ่านบริษัทในเครือ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้วิสกี้แบรนด์ดัง อย่าง จอห์นนี่ วอล์คเกอร์ วินด์เซอร์ สก็อตช์ และแบรนด์อื่นๆ ได้รับประโยชน์ทางภาษีและทำยอดขายได้สูง
ซึ่งการประนีประนอมยอมความในคดีครั้งนี้ ครอบคลุมถึงการคืนผลกำไร 11.3 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งดอกเบี้ย 2.1 ล้านดอลลาร์ และค่าปรับ 3 ล้านดอลลาร์ด้วย
ไม่ว่าไดอาจิโอจะแก้ตัวอย่างไร แต่ ก.ล.ต.สหรัฐก็ได้ผลสรุปแล้วว่า ไดอาจิโอ หละหลวมในการกำกับดูแลและควบคุมข้อบกพร่อง จึงทำให้บริษัทในเครือใช้บุคคลที่สาม ใบแจ้งหนี้ที่ระบุตัวเลขสูงเกินจริง รวมทั้งเครื่องมือหลอกลวงอื่นๆ ปกปิดความจริงเกี่ยวกับการจ่ายเงินติดสินบนดังกล่าว
ทำผิดกันเอิกเกริกแบบนี้ จะให้ถามหาธรรมาภิบาล หรือจริยธรรมทางธุรกิจจากใครได้อีก