เจตจำนงร่วม 2475
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : ไชยันต์ ไชยพร
ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คณะราษฎรเห็นว่าการปกครองที่อำนาจสูงสุดอยู่ในมือของบุคคลๆ เดียวนั้นเป็นความชั่วร้าย
และ “การที่จะแก้ความชั่วร้ายนี้ได้ ก็โดยที่จะต้องจัดการปกครองโดยมีสภา จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลายๆ ความคิด ดีกว่าความคิดเดียว” สำหรับรูปแบบการปกครองที่จะมาแทนที่ของเดิมนั้น คณะราษฎรมีตัวแบบการปกครองที่เป็นทางเลือกอยู่ 2 แบบ ระหว่างระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และระบอบประชาธิปไตยโดยไม่มีพระมหากษัตริย์
การที่ปรากฏแนวคิดการปกครองทั้งสองในหนังสือของคณะราษฎร เป็นเพราะ “ภายในคณะราษฎรนั้นมีหลายกลุ่ม และมีความเห็นไม่ตรงกัน” แม้ว่ามีผู้ที่เห็นว่า “ส่วนหนึ่งของคณะราษฎรมีอุดมการณ์สาธารณรัฐนิยมอย่างไม่ต้องสงสัย” (ดู ยาสุกิจิ ยาตาเบ, บันทึกของทูตญี่ปุ่นผู้เห็นเหตุการณ์ปฏิวัติ 2475 การปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงในประเทศสยาม) แต่ก็มีกลุ่มที่เห็นชอบกับการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบรัฐธรรมนูญราชาธิปไตย และคนกลุ่มนี้น่าจะมีอิทธิพลเหนือกลุ่มที่นิยมสาธารณรัฐ เพราะที่สุดแล้ว คณะราษฎรได้ตัดสินใจที่จะเลือกยื่นเงื่อนไขในการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างจริงจัง
ดังปรากฏในข้อความตอนหนึ่งของบันทึกของพลโทประยูร ภมรมนตรีว่า “คณะผู้ก่อการฯ 2475 ได้มีข้อตกลงเป็นเอกฉันท์ที่จะเทิดทูนพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของชาติ ถือหลักตามประเทศอังกฤษ” และ “ในการประชุมเปลี่ยนแปลงการปกครอง..ครั้งแรกที่บ้านข้าพเจ้า ...เมื่อวันที่ 5 กุมภาฯ 2467 ...ได้วางหลักการไว้ 3 ข้อ ประการแรก ได้วางรากฐานประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ปฏิเสธการสถาปนาสาธารณรัฐโดยเด็ดขาด” และนอกจากจะมีความจำเป็นจริงๆ แล้วเท่านั้นถึงจะมุ่งสู่ระบอบสาธารณรัฐ เพราะดังที่ปรากฏในบันทึกของพระยาทรงสุรเดชว่า ถึงแม้นว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมิทรงตอบรับที่จะเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ คณะราษฎรก็ “จะได้ตั้งพระองค์อื่นขึ้นแทน” มิได้จะคิดเปลี่ยนไปสู่ระบอบสาธารณรัฐโดยทันที
ดังนั้น เราจึงพบว่า ในประกาศคณะราษฎรที่เป็น “หนังสือที่ทูลเกล้าฯ ถวายถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เป็นการขอร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นระบอบรัฐธรรมนูญราชาธิปไตย” ดังที่ปรากฏในคำประกาศของคณะราษฎรอันมีใจความสำคัญบางส่วนว่า “....คณะราษฎรไม่ประสงค์ทำการแย่งชิงราชสมบัติ ฉะนั้นจึ่งได้ขอเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้..” แต่อย่างไรก็ตาม ในประกาศคณะราษฎรก็ยังได้มีการแสดงความคิดไว้ด้วยว่า “หากมีความจำเป็น ประเทศสยามอาจปกครองในระบอบสาธารณรัฐ และยังให้ข้อคิดอีกด้วยว่า ระบอบสาธารณรัฐดีกว่าระบอบรัฐธรรมนูญราชาธิปไตย” ซึ่งปรากฏให้เห็นในความแตกต่างระหว่างประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 และหนังสือกราบบังคมทูล
กระนั้น จากข้างต้น เราก็ยังมิอาจล่วงรู้แน่ชัดถึงเหตุผลที่แท้จริงของคณะราษฎรในการตกลงตัดสินใจเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นสำคัญเบื้องต้นก่อนระบอบสาธารณรัฐ แต่เหตุผลที่น่าจะเป็นไปได้อันเกิดจากการคาดเดามีดังต่อไปนี้คือ ประการแรก คณะราษฎรโดยส่วนใหญ่เห็นว่า ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญตามแบบของอังกฤษนั้นเหมาะสมเป็นประโยชน์กับสังคมไทยโดยรวมในขณะนั้นจริงๆ อย่างบริสุทธิ์ใจ และน่าจะเป็นทางเลือกที่ประนีประนอมที่สุดสำหรับทุกฝ่าย ประการที่สอง คณะราษฎรมิได้เห็นเช่นนั้นอย่างบริสุทธิ์ใจว่าระบอบดังกล่าวเป็นระบอบที่ดีเหมาะสมที่สุดสำหรับสังคมไทยโดยรวม แต่จากการประเมินสถานการณ์ด้านกำลังทหารแล้ว คณะราษฎรเห็นว่า ถ้ามุ่งหมายเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบสาธารณรัฐแล้ว อาจจะนำมาซึ่งการต่อสู้กันระหว่างคนไทยด้วยกันเอง นั่นคือ ระหว่างผู้ที่นิยมฝ่ายเจ้ากับฝ่ายที่นิยมคณะราษฎร อันจะนำมาซึ่งสงครามกลางเมืองที่จะมีการสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อมากมาย ดังที่ข้อความตอนหนึ่งในบันทึกของพลโทประยูร ภมรมนตรี ที่กล่าวถึงหลักการข้อที่ 2 ของคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงการปกครองว่า “....กำหนดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในลักษณะปฏิวัติไม่ใช่การจลาจลนองเลือด ให้งดเว้นการทำทารุณใดๆ ทั้งสิ้น”
ประการที่สาม ไม่ว่าคณะราษฎรจะมีความเห็นในแบบที่หนึ่งหรือสอง แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ คณะราษฎรเลือกแนวทางที่จะไม่ต้องการให้มีการเสียชีวิตเลือดเนื้อของคนไทยด้วยกันเอง ไม่ว่าฝ่ายใดจะชนะก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าที่คณะราษฎรจะเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิ.ย. 2475 ภายหลังการขึ้นครองราชย์ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เจ็ดทรงดำริถึงการปกครองที่เหมาะสมและทรงเลือกที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเสียเอง นอกจากนี้ ยังมี “พระราชดำริอีกเรื่องหนึ่งที่ยืนยันถึงพระราชประสงค์ของพระองค์ที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง คือ พระราชดำริในการพระราชทานรัฐธรรมนูญโดยช่วง 2474 พระองค์ทรงมอบหมายให้มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นและคาดว่าจะพระราชทานในวันที่ 6 เม.ย. 2475 แต่การณ์กลับปรากฏว่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญต่างคัดค้านการพระราชทานดังกล่าว อีกทั้งยังได้รับการคัดค้านจากอภิรัฐมนตรีสภาอีกด้วย พระราชดำริที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญจึงไม่บังเกิดผลแต่อย่างใด”
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะขัดแย้งแตกต่างกันด้วยเงื่อนเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อีกทั้งพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ต่างก็ถวายความเห็นไปในทางที่ไม่ยอมตามความกราบบังคมทูลของคณะราษฎรด้วยเชื่อว่าจะสามารถเอาชนะได้ไม่ยาก แต่ที่สุดแล้ว “พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงต้องตัดสินพระราชหฤทัยโดยเห็นแก่ประเทศและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง” โดยพระองค์ทรงยอมรับข้อเรียกร้องของคณะราษฎร โดย “ทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบหนังสือกราบบังคมทูลไปยังคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารของคณะราษฎรในวันที่ 25 มิ.ย. 2475 ว่า “ข้าพเจ้าเห็นแก่ความเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร์ ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อ กับทั้งเพื่อจัดการโดยละม่อมละไมไม่ให้ขึ้นชื่อว่าได้จลาจลเสียหายแก่บ้านเมือง และความจริงข้าพเจ้าก็ได้คิดอยู่แล้วที่จะเปลี่ยนแปลงทำนองนี้ คือมีพระเจ้าแผ่นดินตามพระธรรมนูญ จึงยอมรับที่จะเป็นตัวเชิด เพื่อให้คุมโครงการตั้งรัฐบาลให้เป็นรูปตามวิธีเปลี่ยนแปลงตั้งพระธรรมนูญโดยสะดวก...”
จากข้างต้น บทสรุปสำคัญที่เราควรจะตระหนักเป็นเบื้องต้นก็คือ สังคมไทยเราสามารถเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างสงบสันติ โดยไม่ต้องเสียชีวิตเลือดเนื้อคนไทยด้วยกัน ทั้งนี้เป็นเพราะเหตุผลสำคัญสองประการ นั่นคือ ประการแรก ในภาพกว้างๆ คณะราษฎรและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีจุดมุ่งหมายร่วมกันนั่นคือ ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้มีความเหมาะสมและทันสมัย นั่นคือ ต้องการเปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่อำนาจการตัดสินใจทางการเมืองอยู่ที่บุคคลๆ เดียวมาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้พลเมืองทั่วไปได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมือง ประการที่สอง แม้ว่าจะมีความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องของเวลาที่เหมาะสม แต่ทั้งฝ่ายคณะราษฎรและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวต่างก็ให้ความสำคัญกับการรักษาชีวิตเลือดเนื้อของคนในชาติเหนือความเห็นและความต้องการส่วนตัว
และนี่น่าจะเป็น “เจตนารมณ์ที่ต้องตรงกันของทั้งฝ่ายพระมหากษัตริย์และคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างสันติใน พ.ศ. 2475” ที่น่าจะถือเป็นเจตจำนงพื้นฐานสำหรับทุกคนในสังคมไทยทุกยุคทุกสมัย
(ส่วนหนึ่งของงานวิจัย ภายใต้โครงการพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2554 ความมั่นคงของมนุษย์ เรื่อง “การพัฒนาระบอบการเมืองประชาธิปไตยเพื่อความเป็นธรรมและเสมอภาคในกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย” (HS1068A) สนับสนุนโดย สกอ. ตุลา 2553-กันยา 2554)