สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผลตรวจโครงการฟื้นฟูเกษตรกร

อ่านฉบับย่อเพื่อให้รู้ว่าเขาใช้เงินกันอย่างไร
แต่ถ้าใครสนใจจะศึกษาวิธีการเขียนรายงานตรวจสอบภายใน ก็ดูฉบับเต็ม

บทคัดย่อ
                                ฉบับเต็มอ่านด้านล่าง

บทสรุปการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรหลังการพักชำระหนี้


โครงการฯ มีวัตถุประสงค์ คือ

    (1) เพื่อสร้างรายได้ สร้างงานให้กับเกษตรกร และ
    (2) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น ด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีและสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้ครอบคลุมเกษตรกรเป้าหมายทั้งหมด โดยให้เป็นไปตามความต้องการของเกษตรกร
การดำเนินงานโครงการฯ มีกิจกรรมหลักที่สำคัญ 2 ประการ คือ
    1. การถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยการฝึกอบรม ฝึกปฏิบัติ และศึกษาดูงาน เพื่อส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ให้กับเกษตรกร
    2. การลงทุนฟื้นฟูอาชีพ โดยการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการรวมกลุ่มผลิต / แปรรูป สระน้ำ และปัจจัยการผลิต

จากการตรวจสอบพบประเด็นข้อตรวจพบที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่

    1. การดำเนินงานมีแนวโน้มว่าจะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการฯ
    2. ความไม่พร้อมของศูนย์บริการฯ
    3. การติดตามและประเมินผลโครงการฯ
นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตเกี่ยวกับกิจกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยี (การฝึกอบรม) ตามโครงการฯ อีกด้วย

ผลการตรวจสอบตามข้อตรวจพบและข้อสังเกต สรุปได้ดังนี้


ข้อตรวจพบที่ 1
การดำเนินงานมีแนวโน้มว่าจะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการฯ
จากการตรวจสอบผลการดำเนินงานโครงการฯ ในปีงบประมาณ 2544 และ 2545 พบว่า การดำเนินงานตามกิจกรรมหลักที่สำคัญของโครงการฯ ทั้งกิจกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยี (การฝึกอบรม) และการลงทุนฟื้นฟูอาชีพ (การสนับสนุนปัจจัยการผลิต) ส่วนใหญ่มีแนวโน้มว่าจะไม่บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ทั้ง 2 ประการ
วัตถุประสงค์
1.เพื่อสร้างรายได้ สร้างงานให้กับเกษตรกร
2.เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น ด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีและสนับสนุนปัจจัยการผลิต
    เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น. การดำเนินงานตามแผนการลงทุนฟื้นฟูอาชีพ และมีโอกาสทางการตลาดให้สามารถที่จะชำระหนี้ เกษตรกรจะขยายการผลิตต่อไปหลังจากครบกำหนดพักชำระหนี้ตามนโยบายรัฐบาล

จากการตรวจสอบ พบว่า
    2.1 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น พบว่า การเบิกจ่ายเงินในปีงบประมาณ 2545 เป็นไปอย่างล่าช้า อาจไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นได้ภายในกำหนดเวลา
    2.2 การดำเนินงานตามแผนการลงทุนฟื้นฟูอาชีพ ให้เป็นไปตามความต้องการของเกษตรกรรายย่อย พบว่า แต่ละหน่วยงานที่ร่วมโครงการฯ ยังเน้นส่งเสริมในด้านที่หน่วยงานนั้นรับผิดชอบหรือถนัดเพื่อให้ได้เกษตรกรครบตามจำนวนเป้าหมายที่กำหนดไว้
    2.3 เพื่อฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรภายใต้กรอบอาชีพที่ส่งเสริมและมีโอกาสทางการตลาดให้สามารถที่จะชำระหนี้ พบว่าเกษตรกรจะประสบความสำเร็จทางการตลาดเป็นไปได้โดยยาก เนื่องจากเกษตรกรมีความชำนาญด้านการผลิตเป็นหลัก และปัญหาด้านการตลาดของสินค้าเกษตรเป็นปัญหาในภาพรวมระดับประเทศ ในขณะที่โครงการฯกำหนดให้หน่วยงานระดับจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ   
    สำหรับเรื่องการชำระหนี้ของเกษตรกร เกษตรกรส่วนใหญ่สามารถชำระหนี้ ธ.ก.ส. เมื่อสิ้นสุดโครงการฯ ได้อยู่แล้ว เนื่องจากเกษตรกรมีรายได้จากอาชีพเดิม ประกอบกับเงื่อนไขของ ธ.ก.ส. ที่กำหนดให้เกษตรกรต้องชำระหนี้เดิมก่อนที่จะกู้เงินใหม่ ส่งผลให้เกษตรกรต้องปฏิบัติตามเพื่อจะได้มีสิทธิกู้เงินจาก ธ.ก.ส. ได้
    2.4 เกษตรกรจะขยายการผลิตต่อไปหลังจากครบกำหนดพักชำระหนี้ตามนโยบายรัฐบาล พบว่า หากมีการขยายการผลิตอย่างต่อเนื่อง อาจไม่ได้เกิดจากผลของโครงการฯ โดยตรง
    ผลจากการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ย่อย 4 ประการข้างต้น น่าจะมีแนวโน้มว่าจะไม่บรรลุผลสำเร็จตามที่กำหนดไว้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของสำนักงานบริหารโครงการตามนโยบายซึ่งทำหน้าที่บริหาร กำกับ ดูแล อำนวยการและประสานงานการดำเนินงานโครงการฯของหน่วยงานต่าง ๆ ไม่สามารถสื่อสารหรือทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติงานตามโครงการฯ ให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทั้งในส่วนกลางและระดับจังหวัดเข้าใจการดำเนินงานโครงการฯ เป็นไปในทิศทางเดียวกันได้ นอกจากนี้ยังไม่มีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานโครงการฯ ในปีงบประมาณ 2544 ก่อนจะขยายเป้าหมายการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเป็น 6 เท่า ในปี 2545 และการดำเนินงานโครงการฯ ยังเน้นในเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพโดยให้ความสำคัญกับเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายที่พักชำระหนี้ทุกราย กอรปกับการดำเนินงานโครงการฯในระดับจังหวัดยังไม่เป็นลักษณะบูรณาการ และศูนย์บริการฯซึ่งเป็นกลไกสำคัญของการดำเนินงานยังขาดความพร้อมทั้งด้านสถานที่ตั้งและการจัดทำข้อมูลพื้นฐาน และด้านบุคลากร ซึ่งจะส่งผลกระทบให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณอาจเป็นไปอย่างไม่คุ้มค่า เพราะผลการดำเนินงานโครงการฯไม่สามารถเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและกระตุ้นเศรษฐกิจฯตามที่วัตถุประสงค์กำหนดไว้ได้ รวมทั้งเกษตรกรโดยทั่วไปหรือในภาพรวมของประเทศที่มีฐานะยากจนและไม่ได้เป็นลูกค้าธ.ก.ส.จะเสียโอกาสในการได้รับความช่วยเหลือตามโครงการฟี้นฟูอาชีพเกษตรกรหลังการพักชำระหนี้อีกด้วย

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน มีข้อเสนอแนะดังนี้
1.สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งทบทวนวิธีการที่จะเสริมสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรหลังการพักชำระหนี้ โดยไม่ควรให้การช่วยเหลือในลักษณะเดิม ๆ ที่เคยดำเนินการมา
2. การดำเนินงานโครงการในลักษณะนี้ ควรที่จะประสานงานกับหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้องด้วย
3. ให้พิจารณาคัดเลือกบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและเข้าใจในหลักการบริหารจัดการโครงการเป็นอย่างดี มาดำเนินการในโครงการฯนี้
4. สั่งการให้หน่วยงานต่างๆ ที่ร่วมโครงการฯ ในระดับจังหวัด ประสานงานในการวางแผนแบบบูรณาการ
5. หากมีการดำเนินโครงการลักษณะเช่นนี้อีกในอนาคต กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องให้ความสำคัญกับการพิจารณาคัดเลือกเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน และกำหนดหลักเกณฑ์ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ

ข้อตรวจพบที่ 2
ความไม่พร้อมของศูนย์บริการฯ
 ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2542 มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการพัฒนาการเกษตรโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมมากขึ้น และปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานของส่วนราชการ เพื่อให้สามารถบริการแก่เกษตรกรที่จุดเดียว (One Stop Service) และมีลักษณะเป็นบูรณาการ และการดำเนินงานโครงการฯ จะประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใดปัจจัยสำคัญ ซึ่งขึ้นอยู่กับความพร้อมของศูนย์บริการฯ ที่จะต้องการดำเนินการตามบทบาทหน้าที่
จากการสุ่มตรวจสอบศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลนั้นยังขาดความพร้อมในการดำเนินงานแต่ละด้าน ดังนี้
ด้านสถานที่ตั้งและการจัดทำข้อมูลพื้นฐานมีศูนย์บริการฯ ขาดความพร้อมโดยมีสาเหตุเนื่องจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่ได้กำหนดสถานที่ตั้งศูนย์บริการฯให้ชัดเจนว่าควรใช้สถานที่ใด และมีลักษณะอย่างไร เพื่อรองรับการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ
ด้านบุคลากรมีศูนย์บริการฯ เนื่องจากข้อจำกัดด้านโครงสร้างและอัตรากำลังของผู้อำนวยการศูนย์บริการฯ โดยผู้อำนวยการศูนย์บริการฯซึ่งมีไม่ครบถ้วนทุกตำบล ทำให้ผู้อำนวยการศูนย์บริการฯบางรายต้องรับผิดชอบศูนย์บริการมากกว่า 1 แห่ง และการคัดเลือกเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจะพิจารณาจากเกษตรกรลูกค้า
   กรณี ธ.ก.ส.ที่มีภาระหนี้เงินกู้คงเหลือทำให้เกษตรกรกลุ่มเป้าหมายในแต่ละตำบลมีจำนวนมากน้อยแตกต่างกันความไม่พร้อมด้าน บุคลากรดังกล่าวอาจทำให้การบริหารงานของผู้อำนวยการศูนย์บริการฯ เป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ

 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน มีข้อเสนอแนะดังน
1. พิจารณาด้านสถานที่ตั้งของศูนย์บริการฯให้เหมาะสมว่าควรใช้สถานที่ใด โดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อการดำเนินงานของศูนย์บริการฯ เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
2. ติดตามและประเมินผลความพร้อมในการดำเนินงานของศูนย์บริการฯในด้านต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
3. พิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหากรณีของผู้อำนวยการศูนย์บริการฯ ที่รับผิดชอบศูนย์บริการฯตั้งแต่ 2 แห่ง ขึ้นไป และมีเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายที่ต้องรับผิดชอบเป็นจำนวนมาก ให้สามารถให้บริการแก่เกษตรกรทุกคนในความรับผิดชอบได้อย่างทั่วถึง
4. เร่งรัดให้ศูนย์บริการฯมีการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ตามบทบาทหน้าที่และวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้อย่างสม่ำเสมอ โดยมีการวางแผนร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่แบบบูรณาการ
ี้
ข้อตรวจพบที่ 3
การติดตามและประเมินผลโครงการฯ
การดำเนินงานโครงการฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรหลังการพักชำระหนี้ เป็นการช่วยเหลือและแก้ปัญหาของเกษตรกรเป็นรายบุคคล จากการตรวจสอบพบว่า การติดตามและประเมินผลเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ เป็นรายบุคคลทุกรายขณะที่ตรวจสอบ เดือนกรกฎาคม 2545 ยังไม่บรรลุผลสำเร็จ ดังนี้
1.การติดตามและประเมินผลเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ปีงบประมาณ 2544 การติดตามและประเมินผลเกษตรกรของแต่ละหน่วยงานในครั้งที่ ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ โดยส่วนใหญ่มีปัญหาในด้านการรวบรวมข้อมูลที่ใช้ในการประเมินผลซึ่งมีความล่าช้าและไม่ครบถ้วนทุกราย
2.การติดตามและประเมินผลเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ปีงบประมาณ 2545 จากการตรวจสอบ พบว่า
- เครื่องมือที่ใช้ในการลงบันทึกข้อมูลของเกษตรกร คือ สมุดบัญชีฟาร์มซึ่งใช้บันทึกรายรับรายจ่ายในครัวเรือนของเกษตรกรไม่สามารถนำไปใช้ในการประเมินผลได้ โดยเกษตรกรส่วนใหญ่ร้อยละ 80 ยังไม่ได้มีการลงบันทึกบัญชีฟาร์ม และร้อยละ 99 ยังไม่ได้ลงบันทึกสมุดเยี่ยมของธ.ก.ส.
- และหากพิจารณาเครื่องมือที่ใช้สนับสนุน คือ ครูบัญชีเกษตรกรอาสาพบว่า การฝึกอบรมครูบัญชีเกษตรกรอาสายังไม่ครบถ้วนตามจำนวนเป้าหมาย และ ครูบัญชีเกษตรกรอาสาส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้บันทึกรายการบัญชีฟาร์ม ซึ่งตนเองรับผิดชอบได้ถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน
การติดตามและประเมินผลเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ เป็นรายบุคคลทุกรายของ ปีงบประมาณ 2545 ไม่บรรลุผลสำเร็จดังกล่าว ผลกระทบ
    ทำให้เกิดการสูญเปล่าของงบประมาณ คิดเป็นเงินประมาณ 32.22 ล้านบาท

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน มีข้อเสนอแนะดังนี้
1. สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนระบบการติดตามและประเมินผลใหม่ และควรให้ความสำคัญกับการประเมินผลโดยเฉพาะเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ของเกษตรกรให้กับ ธ.ก.ส.
2. เร่งรัดให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ ในแต่ละจังหวัดดำเนินการติดตามและประเมินผลเกษตรกรเป็นรายบุคคลให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนดไว้
3. สั่งการให้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ทบทวนวิธีการฝึกอบรมครูบัญชีเกษตรกรอาสา และการฝึกอบรมเกษตรกรให้รู้จักวิธีการบันทึกรายการบัญชีฟาร์ม

ข้อสังเกต
เกี่ยวกับกิจกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยี (การฝึกอบรม) ตามโครงการฯ
 จากการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการฯ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยีตามโครงการฯ โดยเฉพาะการฝึกอบรมของกรมส่งเสริมการเกษตรในปีงบประมาณ 2544 ซึ่งใช้งบประมาณถึง 133 ล้านบาท และการฝึกอบรมของแต่ละหน่วยงานในปีงบประมาณ 2545 ซึ่งใช้งบประมาณ1,400 ล้านบาท ว่าการใช้จ่ายเงินดังกล่าวอาจเป็นไปโดยไม่ประหยัดหรือเกิดความไม่คุ้มค่า มีรายละเอียด ดังนี้
1. การฝึกอบรมของกรมส่งเสริมการเกษตรในปีงบประมาณ 2544 ใช้งบประมาณจำนวน 133 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้
- การฝึกอบรมด้านการผลิต
- การฝึกอบรมด้านการแปรรูป โดยวิธีจัดจ้างบริษัทเอกชนเป็นผู้ดำเนินการ โดยให้เกษตรกรทั้งหมดมาฝึกอบรมร่วมกันที่จังหวัดนครนายกเพียงแห่งเดียว สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อสังเกตว่าการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อการฝึกอบรมที่ จ.นครนายก เพียงแห่งเดียว อาจเป็นไปโดยไม่ประหยัดและ ไม่คุ้มค่า พิจารณาได้จากกลุ่มเป้าหมายกระจายอยู่ทั่วประเทศ การจัดฝึกอบรมเพียงแห่งเดียวทำให้ต้องมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าที่พักเพิ่มขึ้นมากและหลักสูตรที่ฝึกอบรมอาจไม่สอดคล้องเหมาะสมกับวัตถุดิบ และวัสดุอุปกรณ์ที่เกษตรกรมีภูมิลำเนาอยู่ ส่งผลให้เกษตรกรที่เข้ารับการฝึกอบรมไม่สามารถนำความรู้ไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์และเกิดรายได้เพิ่มขึ้นได้
2. การฝึกอบรมของแต่ละหน่วยงานที่ร่วมโครงการฯในปีงบประมาณ 2545 ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 1,402.93 ล้านบาทน่าจะเป็นการฝึกอบรมที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และอาจจะไม่ประหยัดหรือไม่คุ้มค่า พบปัญหาอุปสรรคหรือข้อจำกัดหลายประการ เช่น
- เกษตรกรที่เข้ารับการฝึกอบรมส่วนใหญ่มีอายุมาก บางรายอ่านและเขียนหนังสือไม่ได้ บางรายเข้ารับการฝึกอบรมไม่ครบถ้วน
- จากการสอบถามเกษตรกรตามโครงการฯ พบว่า เกษตรกรเกือบครึ่งหนึ่ง ไม่สามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการฝึกอบรมไปใช้ประโยชน์ได้ หรือนำไปปรับใช้ได้น้อย เนื่องจากเนื้อหาตามหลักสูตรที่ฝึกอบรมส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เกษตรกรทราบและปฏิบัติอยู่เดิมแล้ว
- ระยะเวลาการฝึกอบรมที่จำกัดเพียง 1-2 วัน ในขณะที่เนื้อหาการฝึกอบรมมี หลากหลาย ทำให้เกษตรกรไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาการฝึกอบรม และนำไปปฏิบัติได้ทันทีที่จบการฝึกอบรม


อ่านฉบับเต็ม  


view